12 ก.ค. 2020 เวลา 14:36 • สุขภาพ
สรุปประเด็นสำคัญความคืบหน้าวัคซีนจากศูนย์วิจัยจุฬา
1
สรุปประเด็นสำคัญความคืบหน้าวัคซีนจากศูนย์วิจัยจุฬา : AP
ช่วงเช้าที่ผ่านมามีการแถลงข่าวสำคัญครับ เกี่ยวกับความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีน COVID-19 โดยคนไทยจากศูนย์วิจัยวัคซีนจุฬาลงกรณ์
1
วัคซีนดังกล่าวอาศัยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียสหรัฐอเมริกา ใช้รูปแบบ mRNA vaccine เช่นเดียวกับบริษัทชั้นนำอย่าง Pfizer และ Moderna ที่ตอนนี้กำลังวิจัยระยะที่ 2-3 ในมนุษย์
หลังจากที่ประสบความสำเร็จการทดลองในลิงทางศูนย์วิจัยก็ได้เผยข้อมูลความคืบหน้าออกมาแล้วพร้อมทั้งแผนต่อไปในการวิจัยครับ
1. ผลวิจัยล่าสุดในลิงหลังกระตุ้นวัคซีนเข็มที่ 2
สรุปผลการวิจัยวัคซีนในลิงหลังจากได้รับวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 2 : งานแถลงข่าว
ลิงที่ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติได้รับวัคซีนเข็มแรกฉีดไปแล้วเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมาครับ และเข็มที่สองถัดจากนั้นอีก 1 เดือนให้หลังซึ่งมี 2 dose ที่ใช้ทดสอบคือ 5 และ 50 ไมโครกรัม
พอติดตามไป 15 วันพบว่าภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ระดับ 1:5120 บ่งชี้ว่าตัวอย่างเลือดเมื่อเจือจางไป 5120 เท่ายังคงสามารถยับยั้งเชื้อในหลอดทดลองได้ เป็นผลดีที่คาดหวังให้เป็นในการป้องกันโรค
ระดับภูมิคุ้มกันในลิงที่ได้จากวัคซีนก็ยังต้องรอการยืนยันในคนต่อไปครับ เพราะระบบภูมิคุ้มกันมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่ผลในเชิงบวกนี้เป็นพื้นฐานที่ดีในการพัฒนาต่อไปครับ
2. แผนการผลิตวัคซีนเพื่อวิจัยในคน
Timeline การพัฒนาวัคซีนของศูนย์วิจัยจุฬา : งานแถลงข่าว
วัคซีนต้นแบบที่เตรียมผลิตเพื่อเอามาวิจัยในคนตอนนี้มี 2 สูตรด้วยกันครับ ทางทีมวิจัยได้จองโรงงานผลิตตัววัคซีนและส่วนประกอบที่เป็นตัวห่อหุ้มพันธุกรรมไวรัสสำหรับกระตุ้นภูมิคุ้มกันไว้แล้วหากเป็นไปตามแผนที่วางไว้วัคซีนที่จะใช้วิจัยจะพร้อมในช่วงปลายปีนี้ครับ
นอกจากนี้โรงงานผลิตวัคซีนของเอกชนไทยชื่อ " Bionet Asia " จะเข้ามารับช่วงต่อการผลิตในประเทศในระดับที่ใหญ่ขึ้น หลังจากที่ลงทุนเครื่องไม้เครื่องมือเพื่อรอรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัทที่เราจ้างให้ผลิตในขั้นตอนวิจัย
ซึ่งคาดว่าจะเดินเครื่องการผลิตได้ประมาณช่วงกลางปีหน้าและสามารถผลิตวัคซีนได้สูงสุดถึงล้านโดสตลอดปี 2021
3. แผนการวิจัยในคนระยะที่ 1 และ 2
ทางทีมวิจัยวางแผนการวิจัยเป็น 2 รูปแบบครับคือ
1. ทดสอบในอายุ 18-60 ปีและ 2. ทดสอบในกลุ่มอายุ 60-80 ปี คาดว่าต้องใช้อาสาสมัครราว 100-200 คน
ขนาดที่จะทดสอบคือ 10,30 และขนาดสูงคือ 100 ไมโครกรัม นอกจากนี้ยังวางแผนลดการใช้วัคซีนในเข็มที่ 2 เป็น 10 ไมโครกรัมในกลุ่มที่ได้ 30 และ 100 ไมโครกรัม เพราะคาดว่าการกระตุ้นภูมิคุ้มกันจะเกิดได้มากแล้วซึ่งไม่จำเป็นต้องได้ขนาดเท่าเดิมในเข็มแรก ช่วยให้มีการเข้าถึงวัคซีนมากขึ้น
รูปแบบการวิจัยระยะที่ 1-2 : งานแถลงข่าว
แต่การวิจัยในมนุษย์ก็ต้องรอผ่านการอนุมัติจริยธรรมการวิจัยและการอนุญาตจากอย.ก่อนที่จะเข้าสู่ระยะที่ 1 ต่อไป ซึ่งทางอย.จะพิจารณาข้อมูลด้านความปลอดภัยในสัตว์ทดลองเป็นหลัก
สำหรับการวิจัยระยะที่ 3 นั้นคาดว่าไม่น่าจะทำที่ไทยได้ครับ เนื่องจากผู้ติดเชื้อในประเทศน้อยเกินกว่าจะทดสอบการป้องกันโรคของวัคซีน ทางทีมจึงวางแผนการวิจัยในต่างประเทศซึ่งที่มองไว้ก็มี อินโดนีเซีย อินเดีย หรือแม้กระทั่งบราซิลที่การระบาดยังคง active
ทั้งนี้เราอาจไม่จำเป็นต้องวิจัยระยะที่ 3 ให้เสร็จสิ้นก่อนนำวัคซีนมาใช้ครับ
ถ้าหากวัคซีนรูปแบบ mRNA ของประเทศอื่นๆมีการอนุมัติให้ใช้เป็นตัวแรกในของโลกเราสามารถอ้างอิงข้อมูลตรงนี้แล้วอนุมัติให้ใช้แบบ Emergency Use Authorization (EUA) อาศัยหลักการเป็นกรณีเร่งด่วนได้พร้อมกับเก็บข้อมูลไปคู่ขนานกัน
เหตุผลสำคัญที่ไทยเราต้องพัฒนาวัคซีนของตัวเองก็เพราะการรอซื้อหรือจองวัคซีนจากต่างประเทศจะทำได้ยากมากครับ ด้วยความต้องการที่มีสูงและอิทธิพลด้านการเมืองที่
เข้ามาเกี่ยวข้องจะส่งผลให้การกระจายวัคซีนอาจมีปัญหา ดังเช่นการระบาดของไข้หวัด 2009 ที่บ้านเรากว่าจะได้ใช้วัคซีนก็ตอนที่การระบาดจบลงไปแล้ว
ทางทีมวิจัยของจุฬาและภาคส่วนอื่นๆจึงเร่งพัฒนา เพื่อตั้งเป้าให้มีวัคซีนใช้ได้เร็วที่สุดในประเทศ คาดว่าจะเป็นช่วงครึ่งปีหลังของปี 2021 นอกจากนี้อาจใช้ความสำเร็จดังกล่าวผลิตและส่งออกวัคซีนไปยังประเทศเพื่อนบ้านข้างเคียงที่มีความต้องการอีกด้วยครับ
References :
งานแถลงข่าว"จุฬาฯ พัฒนาวัคซีนโควิด-19 หลังพบในลิงได้ผลดี เดินหน้าทดสอบในมนุษย์ (จิตอาสา)" วันอาทิตย์ที่ 12 กรกฎาคม 2563 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 1210 ชั้น 12 อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา