14 ก.ค. 2020 เวลา 04:24 • ไลฟ์สไตล์
สุขภาพตัวเรา...ไม่รู้ก็ต้องรู้ วันนี้เสนอมีพุง ก็จะมีปวด
ที่มาภาพ https://www.reddit.com/r/FunnyandSad/comments/g491fu/the_only_thing_coming_out_during_the_quarantine/
สิ่งที่มักเกิดขึ้นได้บ่อยในคนที่มีพุง นั่นก็คือ อาการปวดที่มักเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นปวดหลัง ปวดสะโพก ปวดก้น ปวดเข่า ปวดขา ปวดเท้า
ทำไมถึงเกิดอาการปวดได้มากมายขนาดนี้กันนะ??
(1) การเสียสมดุลของกล้ามเนื้อระหว่างด้านหน้าและหลังของลำตัว ในคนที่พุงยื่น หลังแอ่น
อธิบายง่ายๆ เลย ในภาวะปกติร่างกายทางด้านหน้า (บริเวณหน้าท้อง) และทางด้านหลัง (บริเวณหลังส่วนเอว) เขาจะมีการรักษาสมดุลซึ่งกันและกัน
แต่อยู่มาวันหนึ่งเกิดมีอะไรมาถ่วงทางด้านหน้า นั่นก็คือ น้องพุง ก็เลยทำให้สมดุลที่เขาถ่วงดุลกันอยู่เสียไป พวกกล้ามเนื้อหลังเขาก็ต้องพยายามทำงานเพิ่มมากขึ้นเพื่อแบกน้ำหนักของน้องพุงที่ตกไปทางด้านหน้า
การสร้างสมดุลขึ้นมาใหม่ในครั้งนี้ คนที่เสียเปรียบและต้องทำงานหนัก คงจะหนีไม่พ้นพวกกล้ามเนื้อหลัง แต่ในความเป็นจริงมันยังโหดร้ายกว่านั้นอีกนะ
เพราะมันยังส่งผลต่อการหมุนของเชิงกรานไปทางด้านหน้า จึงเป็นที่มาของ "พุงยื่น หลังแอ่น" อย่างสมบูรณ์แบบ และส่งผลต่อการลงน้ำหนักผ่านข้อต่อและกล้ามเนื้อที่เกาะอยู่รอบต่างๆ ทำให้เขาเสียสมดุลกันไปเป็นแถบๆ ตั้งแต่หลังยันขาเลยนะเออ
เราจะสามารถเห็นลักษณะเช่นเดียวกันนี้ในคนที่ตั้งครรภ์ หรือมีบุคลิกภาพหลังแอ่นเป็นทุนเดิมด้วยครับ
ดังนั้นถ้าไม่รับมือกับน้องพุง เห็นทีคงจะเจ็บอีกหลายอย่างตามมานะครับ
(2) แก้ไขด้วยการลดพุง เสริมความแข็งแรง และปรับท่าทาง
แนวทางในการรับมือก็ต้องออกกำลังกาย โดยการออกกำลังกายควรทำทั้ง cardio (เพิ่มการเผาผลาญของร่างกาย) core stabilization exercise (เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลำตัวชั้นลึก) ยืดกล้ามเนื้อ และปรับท่าทาง ดังนี้
1. Cardio หรือการออกกำลังกายที่เน้นความต่อเนื่อง ของการทำงานของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ เช่น ว่ายน้ำ วิ่ง ปั่นจักรยาน เป็นต้น
ใน 1 สัปดาห์ ควรออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อย 150 นาที ความถี่ 3-5 วัน/สัปดาห์ , หรือ 1 วัน ควรออกกำลังกายต่อเนื่องอย่างน้อย 30 นาที
หากท่านใดสนใจเพิ่มเติม กลับไปอ่านได้จากบทความเก่าที่ผมเคยเขียนไว้ เดียวผมจะแปะลิงค์ให้ครับ
2. Core stabilization exercise ส่วนท่าในการออกกำลังกาย อันนี้ต้องพูดไว้นิดนึงก่อนครับ ว่าสำหรับผู้เริ่มต้นใหม่ควรได้รับคำปรึกษาจากนักกายภาพบำบัด หรือเทรนเนอร์ (Personal trainer) ก่อนนะครับ
แต่สำหรับท่าเบื้องต้น ผมเคยเขียนไว้ใน Blogger สามารถศึกษาเพิ่มเติมตามลิงค์ได้เลยครับ
3. ยืดกล้ามเนื้อ และปรับท่าทาง
ยืดกล้ามเนื้อหลังอย่างง่าย
(3) นอนหงาย งอเข่าและสะโพกหาลำตัว ใช้มือจับใต้เข่าดึงเข้ามายังบริเวณอก ค้างไว้ 15 วินาที ทำซ้ำ 5 ครั้ง และสลับข้าง
ปรับท่าทางด้วยการฝึกหมุนสะโพก
ท่า camel exercise
(4) ผู้ฝึกอยู่ในท่าคลาน จากนั้นโก่งหลังขึ้น อย่างช้าๆ และค่อยๆ กลับลงสู่ท่าเริ่มต้น ทำ 10-20 ครั้ง/รอบ 3-5 รอบ/วัน
ปรับท่าทางขณะนอน นั่ง ยืน
ท่านอน ควรมีหมอนรองตามจุดต่างๆ ในแต่ละท่า
(5) ควรวางตำแหน่งของหมอน (สีส้ม) ตามตำแหน่งของร่างกายในแต่ละท่าของการนอน
ท่านั่ง และท่ายืน ควรมีการแขม่วหน้าท้องนิดๆ เพื่อป้องกันการเกิดหลังแอ่นหรือหลังโก่งที่มากเกินไป
(6) นั่งหลังตรง อกผาย แขม่วหน้าท้องเล็กน้อย
(7) ยืนหลังตรง แขม่วหน้าท้องเล็กน้อย
โอเค สำหรับวันนี้ขอจบไว้ประมาณนี้ เดียวจะยาวไปและผิดวัตถุประสงค์ของซีรี่ย์ครับ หากท่านใดมีคำถามหรืออยากร่วมแลกเปลี่ยนแบ่งปันความรู้ ทางเพจ PT&Hydro พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในพื้นที่ของการเรียนรู้ครับ
ที่มารูปภาพ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา