Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
The Wild Chronicles
•
ติดตาม
20 ก.ค. 2020 เวลา 08:57 • ประวัติศาสตร์
*** ชีวิตใต้สงคราม ***
ขณะที่เรากำลังนั่งเล่นมือถืออย่างมีความสุขนี้ ที่ใดที่หนึ่งในโลกกำลังมีการรบราฆ่าฟันกันอยู่ สิ่งนี้ดำเนินมาตลอดในประวัติศาสตร์มนุษย์ชาติ แม้ปัจจุบันก็ยังมีคนนับสิบล้านคนอาศัยอยู่ใน "ประเทศที่ไม่มีอยู่จริง" ซึ่งถูกปกครองโดย "รัฐบาลที่ไม่ได้รับการยอมรับ" พวกเขาล้วนต้องทนทุกข์ท่ามกลางการต่อสู้ชิงความเป็นใหญ่ของนานาขั้วอำนาจ
1
ทางตอนเหนือของศรีลังกานั้นเคยถูกกองกำลังพยัคฆ์ทมิฬยึดครอง และสร้างสิ่งที่เรียกว่า "ประเทศอีแลม" อยู่นานกว่า 25 ปี (1983 - 2009) บทความนี้จะพูดถึงประสบการณ์ของคนที่เคยอาศัยในประเทศดังกล่าว ซึ่งผมได้ไปสัมภาษณ์มา จากการเดินทางไปเยือนดินแดนแห่งนี้นะครับ
สงครามกลางเมืองศรีลังกาเป็นการต่อสู้ระหว่างชนกลุ่มน้อยทมิฬ และชาวสิงหล มันได้คร่าชีวิตคนนับแสน และผลักดันให้คนนับล้านต้องอพยพหลบหนี
ภาพเด็กต่างเชื้อชาติยืนด้วยกันนี้เป็นภาพที่รัฐบาลอยากให้คนเห็น หากแท้จริงรอยร้าวของศรีลังกาบาดลึกนัก ง่ายที่สุดจากที่ผมเจอมาคือพวกเขาไม่ยอมเรียนภาษาของกันและกัน จะคุยกันด้วยภาษาอังกฤษ (ซึ่งในจุดที่ผมไปก็ไม่ค่อยมีใครเก่งอังกฤษแม้แต่คนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว สรุปมันคุยกันไม่รู้เรื่อง)
เมื่อสิบปีก่อน ศรีลังกาตอนเหนือเคยเป็นอีกประเทศหนึ่งเรียกว่าประเทศอีแลม มีประชากรราว 3 ล้านคน ปกครองโดยกบฏพยัคฆ์ทมิฬที่ต้องการแยกตัวจากสิงหล (update: อันนี้เป็นพื้นที่ๆอ้างสิทธิ์ ของจริงกบฏยึดได้แค่ทางเหนือนิดๆ ครับ)
พวกเขามีธงชาติ มีเพลงชาติ มีศาล มีธนาคาร มีตำรวจ มีทีมฟุตบอล มีวงการบันเทิง และอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่ประเทศหนึ่งควรมี
และเนื่องจากประเทศนี้พึ่งรบแพ้สงครามสิ้นชาติไปเมื่อสิบปีก่อน ดังนั้นทุกคนที่อายุเกินสิบขวบ และอาศัยอยู่ในดินแดนแถบนี้ ให้เดาได้เลยว่าเคยใช้ชีวิตอยู่ใต้การปกครองของกบฏมาแล้วทั้งสิ้น
ไกด์ของผมบอกว่าตอนอยู่ใต้กบฏนั้นลำบากกันมาก คืออีแลมถูกทัพศัตรูล้อมไว้ มันไม่มีไฟฟ้า น้ำมัน และยา... ที่สำคัญอาหารก็หายาก ต้องขุดเผือกขุดมันกิน
ของต่างประเทศที่นำเข้ามาได้ คือต้องใส่เรือดำน้ำลักลอบนำเข้ามาจากอินเดีย ซึ่งก็ยากเพราะต้องคอยหลบเรือลาดตระเวนของศรีลังกา กระทั่งบางทีอีแลมต้องส่งทัพเรือไปสู้เปิดทางให้เข้ามาได้ ดังนั้นทรัพยากรอันมีค่าเหล่านี้มักถูกจำกัดไว้ใช้ทางการทหารเท่านั้น
และเนื่องจากทรัพยากรถูกเอาไปใช้เพื่อการสู้รบ ก็ไม่ได้เอามาพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน (ซึ่งบางทียังถูกทิ้งระเบิดทำลายซะอีก) คนก็อดอยากยากจน
ทหารพยัคฆ์ทมิฬที่ปกครองอยู่มีการช่วยเหลือคนจนบ้าง โดยเรียกไปทำงานเช่นขนของ ขุดบังเกอร์แลกเงิน แต่ไม่ได้มีถึงขั้นเป็นนโยบาย
ความยากลำบาก (ที่ไม่น่าเชื่อ) อีกอย่างของประชาชนในเขตกบฏคือต้องเสียภาษีสองทาง โดยนอกจากเสียให้รัฐบาลอีแลมแล้วก็ยังต้องเสียให้รัฐบาลศรีลังกาด้วย ทุกคนยังต้องทำบัตรประชาชนสองใบ คือของอีแลมใบ ของศรีลังกาใบ
ทำไมยังต้องเสียภาษีให้ศรีลังกา? นั่นเพราะประชาชนในเขตกบฏยังต้องใช้บริการสาธารณะบางอย่างเช่นโรงเรียน ที่ดำเนินการโดยรัฐบาล
ทำไมกบฏถึงยอมให้เกิดสิ่งนี้? นั่นเพราะกบฏไม่มีปัญญาจัดทำบริการสาธารณะหลายๆ อย่าง จึงปล่อยให้รัฐบาลมาทำ รัฐบาลก็ยังมาเพราะต้องการช่วงชิงมวลชนและความชอบธรรมนั่นแหละ
ในทางปฏิบัติแม้โรงเรียนดำเนินการโดยครูที่กินเงินเดือนจากรัฐบาล แต่หลักสูตรต้องผ่านการคัดกรองจากคนที่ถือปืนอยู่แถวๆ นั้น นั่นก็คือกบฏ
พื้นที่ๆ มีการช่วงชิงสลับฝั่งไปมาบ่อยๆ ครูจะเปลี่ยนหลักสูตรไปตามผู้มีอำนาจ ทำนองอยากให้ตูสอนอะไรก็สอน ตูกลัวตาย (คุณพ่อของไกด์เป็นครู เลยมีประสบการณ์นี้)
พื้นที่ของรัฐบาลและกบฏนั้นเชื่อมกันหลักๆ ด้วยเส้นทาง A9 ที่ผมถ่ายรูปมานี้ (คนขับของผมเป็นชาวทมิฬที่นับถือคริสต์ เลยมีกางเขนบนรถ)
ในยามพักรบประชาชนสองฟากยังข้ามแดนไปมาได้ โดยต้องผ่าน ต.ม. ของอีแลม แล้วไปเข้า ต.ม. ศรีลังกา ต่อ (ด้วยเหตุนี้เลยต้องมีบัตรประชาชนสองใบ)
ตอนที่ปัจจัยขาดแคลนหนักๆ ไกด์ของผมเคยต้องขี่จักรยาน 300 กิโลไปกลับ เพื่อข้ามแดนไปซื้อของจากฝั่งรัฐบาล
โทรศัพท์เหรอ? โทรศัพท์แปลว่าอะไร? ถ้าอยากติดต่อคนผ่านเมืองก็ต้องฝากจดหมายไปกับจักรยานแบบเมื่อกี้ แต่การเดินทางดังกล่าวค่อนข้างอันตราย เพราะบางทีต้องผ่านพื้นที่ยังยิงกัน
ถามว่าถ้าข้ามไปฝั่งรัฐบาลที่มีสาธารณูปโภคดีกว่าได้ทำไมไม่ย้ายไปเลย? คำตอบคือย้ายไปก็กลัวกลายเป็นประชากรชั้นสองขาดงาน ขาดบ้าน อยู่ถิ่นกำเนิดยังมีบ้านมีไร่นาหากิน
ไกด์บอกว่าพวกคนชั้นกลางชั้นสูงที่มีปัญญาอพยพออกนอกศรีลังกานั้นย้ายไปหมดแล้ว และมักได้ไปประเทศดีๆ ที่เปิดรับผู้ลี้ภัยสงครามเช่นแคนาดา อังกฤษ ออสเตรเลีย พวกที่ยังอยู่อีแลมคือคนจนที่ไม่ค่อยมีทางเลือก
1
จนปัจจุบันยังมีเมืองฝรั่งหลายเมืองที่มีประชากรทมิฬมากพอกดดันนักการเมืองได้ พวกนี้ก็เคยกดดันให้ประเทศที่ลี้ภัยออกนโยบายต่างประเทศเอื้อต่อกบฏพยัคฆ์ทมิฬ
แต่เหนือสิ่งอื่นใดชาวทมิฬไม่อยากสวามิภักดิ์ต่อรัฐบาลก็เพราะถูกทำร้ายเอาไว้มาก เช่นภาพหนองน้ำในเมืองจาฟนาที่ผมถ่ายมานี้ เคยมีคนไปพบศพชาวทมิฬที่ถูกรัฐบาลอุ้มฆ่านับพันศพ ในนั้นมีศพเด็กไม่น้อย
ความคับแค้นทางเชื้อชาติทำให้พวกพยัคฆ์ทมิฬทำงานง่าย
พวกเขาสามารถดำเนินการประชาสัมพันธ์ต่างๆ ซื้อใจมวลชนทมิฬมาอยู่ฝ่ายตนได้สำเร็จ กลายเป็นผู้นำอย่างถูกต้องของทมิฬศรีลังกาทั้งหมดในยุคหนึ่ง
ธรรมดาบ้านเมืองยามสงคราม ชาวบ้านอีแลมจะได้รับการปลูกฝังให้รักชาติ และท่านผู้นำชื่อ เวฬุพิไล ประภาการัน
ประภาการันนับถือมาร์กซิส ไม่มีศาสนา แต่เพื่อยึดเหนี่ยวใจคนเขาได้สร้าง "ลัทธิบูชาคนตาย" ขึ้น โดยเน้นสดุดีวีรกรรมของทหารพยัคฆ์ทมิฬที่พลีชีพในการรบ
วันที่ 27 พ.ย. ของทุกปี ถือเป็น "วันวีรชน" (นับจากวันที่ทหารพยัคฆ์ทมิฬคนแรกพลีชีพ) จะมีการจัดการงานรำลึกอย่างใหญ่โต ชาวบ้านก็ถูกเกณฑ์มาบิวท์ให้อินไปด้วย
พวกพยัคฆ์ทมิฬสร้างสุสานทหารอย่างดี ให้คนมาเคารพบูชาเรื่อยๆ สุสานแบบนี้มีทั่วทุกเขตที่พวกเขาปกครอง
ตอนที่ผมไปถึงนั้น รัฐบาลทำลายสุสานทิ้งหมดแล้ว มีชาวบ้านเอาเศษซากที่เหลืออยู่มากองรวมกัน แล้ววันที่ 27 พ.ย. ก็แอบจัดงานรำลึกกันลับๆ จนเมื่อไม่กี่ปีมานี้รัฐบาลผ่อนปรนให้จัดแบบเปิดเผยได้แต่แค่เล็กๆ นะ
ชาวบ้านในเขตสงครามมีทางเลือกเพื่อชีวิตที่ดีกว่าไม่มาก หนึ่งในนั้นคือให้สมาชิกครอบครัวไปเป็นทหาร
นั่นทำให้พวกพยัคฆ์ทมิฬไม่ค่อยมีปัญหาในการเกณฑ์ทหาร พวกเขาจะคัดเลือกเอาแต่คนที่มีจิตใจเข้มแข็งกล้าหาญ จงรักภักดี ...การได้เป็นทหารเป็นของยากด้วยซ้ำ
ทหารพยัคฆ์ทมิฬเน้นคุณภาพ ให้หนึ่งสู้สิบได้ ทุกคนจะต้องมีฝีมือการรบดี มีระเบียบวินัย ทุกคนพกแคปซูลไซยาไนด์ไว้กับคอ ถ้าถูกจับให้กัดกินฆ่าตัวตาย เป็นความภาคภูมิใจของชีวิต
พวกเขาไม่เคยต้องบังคับเกณฑ์ทหารจนสองสามปีก่อนแพ้สงครามที่ขาดแคลนอย่างหนักจริงๆ ...ปัญหาหลักๆ จึงไม่อยู่ที่เขาบังคับเกณฑ์ ...แต่อยู่ที่พวกเขาใช้ทหารเด็ก
แม้การเกณฑ์เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีนั้นผิดหลักสากล แต่พวกพยัคฆ์ทมิฬได้ทดแทนข้อเสียเปรียบทางกำลังพลโดยการเกณฑ์ทหารเด็กมากถึงประมาณ 5,000 คน
เด็กเหล่านี้จะถูกนำตัวไปอบรมในค่ายทหาร โดยฝึกทั้งทางร่างกายให้แข็งแกร่ง และฝึกทางจิตใดโดยล้างสมองให้มีความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ พร้อมยอมตายเพื่อประเทศ
เมื่อฝึกเบื้องต้นเสร็จ พวกเขาจะถูกนำตัวไปปฏิบัติการในแนวหลังก่อน โดยให้ทำหน้าที่คนครัว พนักงานขนส่ง และพนักงานพยาบาล
ต่อมาเมื่อพวกทหารเด็กแก่กล้าขึ้น ก็จะถูกส่งตัวไปโจมตีหมู่บ้าน หรือชุมชนที่มีการป้องกันตัวต่ำ ให้ฆ่าชาวบ้านซึ่งส่วนมากเป็นผู้หญิงและเด็กด้วยกัน จนทุกคนมีใจหยาบอำมหิตได้ที่ เป็นอันจบการฝึกซ้อม
1
มีประวัติการส่งทหารเด็กเข้าต่อสู้ในสมรภูมิจริงมากมาย โดยพวกพยัคฆ์ทมิฬมักจะใช้เด็กเหล่านี้ผสมไปกับกองกำลังที่แข็งแกร่งที่สุด พวกเด็กๆ แสดงให้เห็นว่าสามารถทดแทนข้อจำกัดทางพลังกาย และประสบการณ์ได้ด้วยความกล้าหาญโหดเหี้ยม สู้แบบยอมตายถวายชีวิตเพื่ออุดมการณ์ที่ถูกล้างสมองมา
หน่วยรบที่ร้ายกาจที่สุดหน่วยหนึ่งของพวกพยัคฆ์ทมิฬคือหน่วยเสือดาวซึ่งเป็นหน่วยของทหารเด็กโดยเฉพาะ ครั้งหนึ่งหน่วยนี้เคยประกอบวีรกรรมสังหารทหารรัฐบาลไปกว่า 200 คนในการโจมตีครั้งเดียว
...ทุกคนภาคภูมิใจใน ไม่คิดว่าสงครามได้พรากความไร้เดียงสาไปจากพวกเขา...
ในตอนท้ายสงครามที่พยัคฆ์ทมิฬรบแพ้อย่างหมดรูปแล้ว พวกเขาเลือกกวาดต้อนประชาชนหนีทหารรัฐบาลไปเรื่อยๆ
เมื่อต้นปี 2009 พวกเขาหนีไปจนมุมที่ชายหาดของเมืองมุลไลติวูแห่งนี้ มันมีขนาดราวหาดพัทยา แต่มีประชาชนถูกกวาดต้อนไปแออัดเป็นแสนๆ คน ขาดทั้งน้ำ และอาหาร
ตอนนั้นเกิดวิกฤตทางมนุษยธรรมอย่างรุนแรงมาก ไกด์บอกว่าราคาของมะพร้าวลูกหนึ่งนั้นพุ่งสูงไปเท่ากับราคาของรถตุ๊กๆ สองคัน
การอยู่อย่างสกปรกแออัดทำให้เกิดโรคระบาด ไม่ต้องพูดถึงยา มันไม่เหลือของอย่างนั้นหรอก
นอกจากนั้นพวกเขายังต้องหลบการโจมตีของรัฐบาลเรื่อยๆ เช่นครอบครัวนี้กำลังร้องเรียกแม่ให้เข้ามาหลบในบังเกอร์ (ผมดูคลิปแล้วไม่สำเร็จนะครับ แม่เธอตายข้างนอก)
เดือน พ.ค. 2009 ในที่สุดทัพรัฐบาลก็ตีชายหาดนั้นแตก...
ผู้ต่อต้านถูกฆ่าล้างฝังลงหลุมศพรวม...
ประภาการันตายอย่างอนาถ...
และชาวบ้านทมิฬที่บาดเจ็บบอบช้ำก็ได้รับการ "ปลดปล่อย..."
พวกเขาถูกเอาไปขังรวมกันไว้ในค่ายกักกัน เมื่อรัฐบาลคัดกรองเอาพวกหัวรุนแรงออก และทำการ reeducation พวกที่เหลือแล้วก็ค่อยปล่อยพวกเขาออกมาจนหมด
...ตอนที่ผมไปนั้น ไม่ว่าจุดไหนของดินแดนนี้ก็มี "บาดแผล" หลงเหลืออยู่...
แต่ไม่ว่าพวกเขาจะชอบหรือไม่ก็ตาม การสิ้นสุดสงครามทำให้บ้านเมืองเจริญขึ้น และทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้นมาก...
มี KFC มาเปิด ...จานนี้คือเมนูข้าวหมกไก่ ออกแบบสำหรับทานสี่คน แต่กรุ๊ปผมหกคนทานได้แบบอิ่ม
รัฐบาลศรีลังกาพยายามลบความทรงจำอันเลวร้ายโดยการทำลายร่องรอยต่างๆ ของพวกพยัคฆ์ทมิฬ นอกจากสุสานที่แสดงไปก่อนหน้านี้ ภาพนี้คืออดีตบ้านของประภาการันซึ่งไม่เหลือซากแล้ว
และนี่คือบังเกอร์แห่งสุดท้ายของพวกพยัคฆ์ทมิฬที่เหลือรอดอยู่ มันอยู่ใต้โรงพยาบาล ไกด์ผมไปเจอได้ยังไงก็ไม่รู้ แต่เขาบอกว่าอันอื่นถูกทำลายหมดแล้ว
อย่างไรก็ตามความทรงจำเกี่ยวกับอีแลมไม่เคยหายไป ชาวทมิฬโพ้นทะเลยังคงแสดงการรำลึกถึงประเทศที่สิ้นชาติไปแล้วของพวกเขา...
ส่วนชาวทมิฬศรีลังกา แม้ถูกกดขี่ให้ลืม แต่พวกเขาก็ยังนึกถึงมันอยู่ อย่างอนุสาวรีย์เล็กๆ นี้คือสิ่งที่ชาวบ้านรวมกันแอบสร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงคนตายในชายหาดที่เป็นจุดแตกหัก
...บางทีก็ประสานรอยร้าวของชาติใดๆ นั้นอาจไม่ได้มาจากการบอกให้ลืม แต่มาจากการแสวงหาความจริง และรำลึกถึงมันด้วยความเข้าใจที่ดี ...ใช้ความเลวร้ายดังกล่าวเตือนตัวเองมิให้ทำซ้ำรอยเดิมอีกต่างหาก
::: ::: :::
สนใจเรื่องประวัติศาสตร์ สงคราม เรื่องต่างประเทศ กดติดตามเพจ The Wild Chronicles - เชษฐา
https://www.facebook.com/pongsorn.bhumiwat
ได้เลยครับ
facebook.com
The Wild Chronicles - เชษฐา
The Wild Chronicles - เชษฐา, Bangkok, Thailand. 247K likes. คุยเรื่องประวัติศาสตร์ สงคราม เรื่องต่างประเทศ และการท่องเที่ยวที่แปลกๆ ของผม
12 บันทึก
22
1
6
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
งาน ก.ค 2020
12
22
1
6
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย