Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ธรรม STORY
•
ติดตาม
18 ก.ค. 2020 เวลา 02:00 • ประวัติศาสตร์
พุทธประวัติ ตอนที่ 43
เสด็จป่าอิสิปตนมฤคทายวันพบปัญจวัคคีย์
ก็ในกาลนั้นท่านกล่าวไว้ว่า เป็นวันขึ้น 14 ค่ำเดือน 8
พระพุทธองค์ได้ทรงเสด็จเที่ยวโคจรบิณฑบาตในหมู่บ้านเสนานิคมและได้ทรงรับภัตตาหารจากประชาชนที่เห็นพระองค์แล้วเกิดความเลื่อมใส เมื่อพระองค์ทรง
กระทําภัตกิจเสร็จแล้ว จึงได้เสด็จพุทธดําเนินไปสู่เมืองพาราณสี อันเป็นเมืองหลวงแห่งกาสีชนบท สิ้น ระยะทางทั้งหมด
18 โยชน์ (288 กิโลเมตร)
เมื่อพระองค์เสด็จมาถึงช่วงระหว่างแม่น้ำ
คยาอันเป็นเขตแดนเมืองราชคฤห์ กับแดนศรีมหาโพธิ์ ในระหว่างทางนั้นพระองค์ได้พบกับอุปกาชีวกผู้หนึ่งที่กำลังเดินสวนทางมา...
ในขนะนั้นเองท่านอุปกาชีวกผู้นี้ครั้นเมื่อได้เห็นพระพุทธองค์ที่มีพระฉวีวรรณผ่องใสมีพระวรกายที่งดงามมากๆ ซึ่งผิดต่างกับนักบวชในสำนักอื่น ๆ ทั่วไปยิ่งนัก จึงทําให้ตนนั้นเกิดความสงสัย ประหลาดใจเป็นอย่างมาก จึงได้ตัดสินใจเข้าไปสอบถามกับพระพุทธองค์ในทันที
อุปกาชีวกยกพนมมือและถามว่า :
***เดี๋ยวก่อนท่านสมณะ ข้าพเจ้ามีข้อสงสัยบางประการ ขอท่านสมณะโปรดเมตตาข้าพด้วยเถิด***
พระพุทธองค์ทรงดุษณีหยุดนิ่ง แลทรงยืนรับคำถามจากอุปกาชีวกนั้น...
อุปกาชีวกยกพนมมือและถามว่า :
***ท่านสมณะ อันสรีรกายของท่านช่างงามบริสุทธิ์พร้อมสรรพ ผิวพรรณของ
ท่านก็ผ่องใส อีกทั้งกริยาอาการของท่านก็น่าเลื่อมใสยิ่งนัก
- ข้าแต่ท่านสมณะตัวท่านมีนามว่ากระไร ?
- ท่านบวชศึกษาเล่าเรียนธรรมจากสํานักไหน ?
- และใครเป็นอาจารย์ของท่าน ?
ขอท่านสมณะจงเมตตาบอกแจ้งแก่ข้าพเจ้าให้คลายสงสัยด้วยเถิด***
ซึ่งพระพุทธองค์ ท่านนั้นมีพระประสงค์ที่จะแสดงความที่พระองค์นั้น เป็นบรมครูแห่ง หมู่พรหม เทพ เทวดา และมนุษย์ทั้งปวง จึงได้มีพระพุทธดํารัสตรัสตอบอุปกาชีวกไปว่า...
***ดูก่อนอาชีวก เรานี้คือตถาคตเป็นผู้ตรัสรู้ธรรมเอง ดับสิ้นซึ่งกิเลสตัณหาและอุปาทานหมดสิ้นแล้ว มิมีผู้ใดเป็นครูอาจารย์แก่เรา เรามิได้ชอบใจในธรรมของผู้ใด และมิมีผู้ใดเป็นศาสดาของเรา***
อุปกาชีวกเมื่อได้ฟังคำตอบจากพระพุทธองค์แล้ว ก็ยิ่งมีจิตพิศวงนึกคิดอยู่ภายในใจขึ้นว่า ***พระสมณะองค์นี้นอกจากมีรูปกายที่งดงามแล้ว การพูดเจรจานั้นก็ไพเราะ งดงามมิแพ้รูปกายภายนอกเลยแม้แต่น้อย อีกทั้งคุณวุฒิคุณธรรมก็มาก ยากนักที่จักมีผู้อื่นผู้ใดมาเปรียบเสมอเหมือนกับท่าน***
อุปกาชีวกเมื่อคิดได้เช่นนี้ จึงเกิดความรู้สึกมีจิตโสมนัสปีติยินดีเป็นอย่างมาก
เพราะว่าตนนั้นมีวาสนาที่ได้มีโอกาสพบกับท่านสมณะที่บริบูรณ์พร้อมเช่นนี้
อุปกาชีวกจึงได้กล่าวถามพระพุทธองค์ขึ้นว่า...
***ข้าแต่ท่านสมณะ ที่ท่านกล่าวอย่างนั้น ตัวข้าพเจ้าก็ได้พิจารณาจากท่าทางกริยาอันสำรวมเรียบร้อย และการกล่าววาจาที่สุขุมไพเราะของท่าน สำควรแล้วที่ท่านจักได้นามว่า “อนันตชินะ” (คือผู้ที่ชนะสรรพสัตว์และกองกิเลสทั้งปวง) ดังนี้แล้วกล่าวสรรเสริญพุทธคุณ และหลังจากนั้นพระพุทธองค์ก็ได้ทรงตรัสพระธรรมแก่อุปกาชีวก แต่พอสังเขปเพื่อให้เป็นอุปนิสัยติดตัวไปในเบื้องหน้าแก่อุปกาชีวกท่านนี้...
เมื่อเสร็จการสนทนาทั้งหมดแล้วอุปกาชีวก จึงได้แสดง อาการสั่นศีรษะอันเป็นการยอมรับในคุณของพระพุทธองค์แล้วจึงได้เดินหลีกทางไปในเส้นทางอันควร...
***ตรงจุดนี้บางแห่งบางคนได้มีการ กล่าวว่า ที่อุปกาชีวกสั่นศีรษะนั่นเป็นเพราะ
ไม่เชื่อพระดํารัสของพระพุทธองค์ต่างหาก ในตรงจุดนี้การสั่นศีรษะของชาวชมพูทวีป(อ้างอิงอินเดียปัจจุบัน) ก็ไม่ได้หมายถึงการปฏิเสธ เหมือนคนไทย บางครั้งหมายถึงใช่หรือ มิใช่ก็ได้อยู่ที่สถานการณ์ครับ และข้อเท็จจริงคือท่านอุปกาชีวกผู้นี้ ภายหลังท่านได้มาบวชในพุทธศาสนา และสําเร็จเป็นพระอรหันต์อีกรูปหนึ่งครับ***
จากนั้นพระพุทธองค์ก็ทรงเสด็จดําเนินไปโดยลําดับ จนถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวันในเวลาเย็นนั้นเอง
***พบปัญจวัคคีย์และทรงเตือนสติ***
ในเช้าวันใหม่นี้ตั้งแต่เช้าตรู่ พวกเหล่าปัญจวัคคีย์ผู้เคร่งในความเพียรทั้งหลาย เมื่อได้ทํากิจวัตรประจําวันส่วนตัวกันจนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็นั่งสนทนาร่วมกันในเรื่องต่างๆ ทั้งเรื่องทั่วไป เรื่องข้อธรรมต่างๆ จนมาถึงเรื่องของเจ้าชายสิทธัตถะ
ซึ่งทั้ง 5 คนนั้นต่างมีใจคิดระลึกถึงพระมหาบุรุษที่พวกตนนั้นเคยปฏิบัติรับใช้อย่างใกล้ชิด และในบทสนตอนหนึ่งได้มีการตกลงพูดคุยกันว่า...
***ขณะนี้ พระมหาบุรุษตั้งแต่พวกเราทั้ง 5 ได้หนีจากมาแล้วพระองค์จักเสด็จไป ณ ที่ใด ประทับอยู่ที่ไหน จักระลึกถึงพวกเราบ้างหรือไม่ ประการใดหนอ เป็นต้น***
แต่ทว่าด้วยความที่เหล่าปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 นั้นก็ยังยึดมั่นถือมั่นว่าสิ่งที่ พระมหาบุรุษท่านได้ละทิ้งความเพียรในการทรมารร่างกายไปเสียแล้ว หันกลับมายึดติดในทางสบายเที่ยวบิณฑบาตอาหาร พระองค์นั้นหาได้สนใจบำเพ็ญตบะเพื่อค้นหาทางหลุดพ้นอย่างจริงจัง ด้วยเหตุนี้เองเหล่าปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 จึงได้พูดคุยตกลงกันดังนี้...
***ก็พระสมณโคดมนี้มีกลายเป็นผู้ที่มีความมักมาก หันกลับไปสู่วิถีทางโลก พระองค์นั้นบัดนี้ได้คลายความเพียรทางทุกรกิริยาไปเสียแล้ว สุดท้ายพระองค์ก็คงจักต้องเวียนวิถีทางกลับมาสู่ความเป็นคนมักมากในทางโลกอีกเป็นแน่แท้
เช่นนั้นแล้วพวกเราจักพึงกราบไหว้พระองค์ไปเพื่ออะไร.. ดังนั้นเมื่อไหร่ก็ตาม ถ้าหากว่าพวกเราได้มีโอกาสพบเจอกับพระองค์ผู้นั้น พวกเราทั้ง 5 จักมิพึงลุกขึ้นต้อนรับท่าน จึงมิพึงรับบาตรจีวรของท่าน.. เพียงแต่พวกเราจักแค่จัดอาสนะไว้ตามสมควรแก่พิธีเท่านั้น และเมื่อพระองค์ปรารถนาที่จักนั่งก็จงนั่งเถิด เหตุนี้เองปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ก็จึงได้ตกลงกันตามที่ได้สนทนาไปนั้นเอง***
ครั้นเมื่อยามสายใกล้เที่ยงในวันนั้น
ลําดับนั้นเองพระชินเจ้าก็ได้เสด็จใกล้ถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน และอยู่ห่างจากที่พักของเหล่าปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 มิได้ไกลนัก
ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ขณะกำลังทำกิจวัตรต่างๆ อยู่นั้น ก็ได้มองเห็นสมณะรูปงามผู้หนึ่งกำลังดำเนินมาทางที่พักของพวกตน และสมณะรูปงามผู้นั้นจักเป็นใครไปมิได้นอกจากพระมหาบุรุษที่พวกตนนั้นได้เคยปฏิบัติดูแลมาเมื่อแต่กาลก่อนนั้นเอง
และเมื่อเห็นว่าพระองค์เสด็จมาแต่ไกล ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ต่างก็จดจําคำที่ได้นัดหมายกันไว้เมื่อครั้นสนทนาว่าจักมิทำการเคารพพระองค์เหมือนดังเช่นแต่ก่อน...
แต่ทว่า...พอในเวลานั้นมาถึงจริงๆแล้ว
เมื่อพระพุทธองค์ทรงเสด็จมาถึงสถานที่พำนักของเหล่าปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 แล้วนั้น ก็ด้วยคุณบารมีของพระชินเจ้าที่มีพระวรกายที่งดงามและแผ่รัศมีสีทองพร้อมด้วยพระมหาปุริสลักษณะ 32 ประการ และอนุพยัญชนะ 80 ประการ ได้เสด็จมาอยู่ต่อหน้าของเหล่าปัญจวัคคีย์ทั้ง 5...
จึงทำให้ทั้ง 5 คนนั้น ต่างพากันลืมคำสัญญาที่เคยให้แก่กันไว้เมื่อก่อน แต่กลับทําการต้อนรับปฏิบัติกับพระองค์เป็นเหมือนอย่างประดุจดังที่เคยได้ทํามาสมัยก่อน...
แต่ด้วยเพราะทิฐิความยึดมั่นถือมั่นยังคงมีอยู่เหล่าปัญจวัคคีย์ จึงยังใช้คําทักทายว่า “อาวุโส” และ เรียกพระนามว่า “โคตมะ”
อันเป็นถ้อยคําแสดงการไม่เคารพแก่พระพุทธองค์...
-เกร็ดความรู้ของชาวพุทธ-
***ในพระบาลี คำว่า -อาวุโส-
(นั้นแปลว่า -ผู้มีอายุ-)
เป็นคําที่พระผู้ใหญ่หรือที่มีพรรษามากกว่าเรียก พระผู้น้อยหรือที่มีพรรษาน้อยกว่า หรือเป็นคำที่พระใช้เรียกคฤหัสถ์(ผู้ครองเรือน ชาวบ้านทั่วไป)
***ในพระบาลี คำว่า -ภันเต-
(นั้นแปลว่า -ผู้เจริญ-)
เป็นคําที่พระผู้น้อยหรือที่มีพรรษาน้อยกว่าเรียก พระผู้ใหญ่หรือที่มีพรรษามากกว่า หรือเป็นคำที่คฤหัสถ์(ผู้ครองเรือน ชาวบ้านทั่วไป)ใช้เรียกพระสงฆ์
(อ้างอิง : สำนักงานราชบัณฑิตยสภา)
และเมื่อพระองค์ได้ฟังคำกล่าวเช่นนั้นจากเหล่าปัญจวัคคีย์ พระพุทธองค์จึงได้ทรงห้าม แล้วตรัสขึ้นว่า...
พระพุทธองค์ :
***อย่าเลย... พวกเธอทั้งหลายอย่ากล่าวถ้อยคำเช่นนั้นเลย...
บัดนี้ตถาคตนั้น ได้บรรลุอมฤตธรรม ตรัสรู้ธรรมเองโดยชอบแล้ว กิเลสมารทั้งหลายตถาคตทำลายหมดสิ้นแล้ว เธอทั้งหลายคอยตั้งใจฟังธรรมอันประเสริฐนี้เถิด เมื่อเธอปฏิบัติตามธรรมเหล่านั้น มินานเลยพวกเธอทั้งหลายก็จักได้บรรลุอมฤตธรรมนั้น***
ปัญจวัคคีย์ทูลตอบกลับว่า :
***อาวุโสโคดม... ก็ขนาดแม้ท่านบําเพ็ญเพียรทุกรกิริยาเห็นหนักปานนั้น ตัวท่านก็ยังมิได้บรรลุธรรมพิเศษอันใดเลย มาบัดนี้ดูท่านสิ ตัวท่านนั้นหันมาปฏิบัติเพื่อความเป็นคนมักมากละทิ้งซึ่งความเพียรอย่างยิ่ง แล้วจักมาบรรลุธรรมพิเศษ ดังที่ตัวท่านนั้นกล่าวตรัสมาได้อย่างไร ?***
พระองค์ทรงดุษณีนิ่ง... แล้วจึงตรัสเตือนปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ให้ระลึกถึงความหลังเมื่อครั้งแต่ก่อน
พระพุทธองค์ :
***ดูก่อน เธอทั้งหลายจําได้หรือไม่ว่า
คำกล่าววาจาเช่นนี้ เราตถาคตเคยพูดกับพวกเธอบ้างหรือไม่***
ด้วยเหตุนี้เอง...
ทำให้เหล่าปัญจวัคคีย์ ได้สติเกิดนึกขึ้นได้ว่า ก็พระวาจาเช่นนี้พระองค์นั้นยังมิได้เคยตรัสกับพวกเรามาก่อนเลย เพียงแต่ทว่าพวกเรานั้นต่างก็พากันคิดปรุงแต่งจิตไปต่างๆนาๆ กันเองทั้งนั้น...
ก็ด้วยเพราะการเตือนสติของพระพุทธองค์นั้นจึงทำให้เหล่าปัญจวัคคีย์ คลายความยึดมั่นถือมั่นลง และพร้อมยินยอมที่จะรับฟังพระอมฤตธรรมเทศนานั้น ที่พระองค์ได้ทรงตรัสกล่าวไว้ก่อนนั้นแล...
เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้
***เจตนาเพื่อเป็นธรรมทานและต่อยอดสืบทอดพระพุทธศาสนาให้คงอยู่สืบไป***
หากมีข้อผิดพลาดประการใด ก็กราบขออภัย ท่านผู้อ่านไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
หากท่านผู้ใดชอบ ก็ขอฝากติดตามอ่านตอนต่อไปด้วยนะขอรับ ^-^
ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านผู้อ่านขอธรรมของพระพุทธองค์จงมีแด่ ท่าน สาธุครับ (ต้นธรรม)
***เอกสารอ้างอิง***
#หนังสือ.ปฐมสมโพธิกถา
#หนังสือพุทธประวัติตามแนวปฐมสมโพธิ (พระครูกัลยาณสิทธิวัฒน์)
#เพิ่มเติมเนื้อหาใหม่/ภาพประกอบ.ต้นธรรม
#ธรรมะ
#Facebook Page🔜 :
https://www.facebook.com/dhamstrory
2 บันทึก
13
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
พุทธประวัติ (ฉบับสมบูรณ์) *ยังไม่จบ
2
13
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย