6 พ.ย. 2020 เวลา 03:34 • ประวัติศาสตร์
พุทธประวัติ ตอนที่ 44
ธัมมจักกัปปวัตนสูตร
หลังจากที่เหล่าปัญจวัคคีย์ ได้มีสติหวนระลึกกลับคืนมาแล้ว ก็ด้วยที่พระพุทธองค์ได้ทรงเมตตาตักเตือนสติที่พวกเขาได้เคยหลงลืมไป ก็เป็นเหตุทำให้ปัญจวัคคีย์ทั้งห้า ได้มีใจกลับมาอ่อนน้อมและคลายความยึดมั่นถือมั่นที่เคยเข้าใจผิดต่อพระพุทธองค์ แล้วกลับมาอุปฐากพระพุทธองค์เหมือนดังเช่นสมัยเมื่อครั้งแต่ก่อนอีกครั้ง ครั้นแล้วก็ได้กราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์ให้ทรงประทับอยู่ที่นั้น เพื่อที่พวกตนนั้น จะได้รอสดับรับฟังพระธรรมเทศนาอันประเสริฐสุดเหล่านั้น...
ก็ในวันรุ่งขึ้นนี้ ตามตำราท่านกล่าวไว้ว่าเป็นวันอาสาฬหปุรณมีดิถี เพ็ญเดือนห้า ครั้นเมื่อแสงอรุณเริ่มเปล่งทอแสงรัศมีอ่อนๆ เสียงเหล่าสกุณาต่างๆ ก็ได้ขับร้องตามภาษาของตน ท้องนภาวันนี้ปลอดโปร่ง สายลมอ่อนโชยพัดมาเป็นลำดับมิให้มีความร้อนใดๆ เกิดขึ้นเลย...
ลำดับนั้น
เหล่าปัญจวัคคีย์ เมื่อได้ถวายภัตตาหารน้ำดื่มน้ำฉัน แก่พระพุทธองค์เสร็จแล้ว ก็ได้จัดเตรียมปูอาสนะไว้ในที่อันควร
ครั้งเมื่อพระพุทธองค์ทรงเสร็จภัตกิจต่างๆ แล้ว ก็ได้เสด็จไปประทับที่อาสนะ ที่เหล่าปัญจวัคคีย์ได้จัดเตรียมไว้ดีแล้วแก่พระองค์
เวลานั้น...
พระองค์จึงได้ทรงตรัสเรียกปัญจวัคคีย์ให้มาประชุมพร้อมกัน ซึ่งในตอนนั้นก็ได้มีเหล่าเทวดาพรหมมารอเข้าเฝ้า ที่จะขอรับฟังพระธรรมของพระพุทธองค์อยู่ด้วยเช่นกัน ครั้นเมื่อทุกอย่างพร้อมดีแล้ว พระพุทธองค์จึงทรงตรัสประกาศ พระสัพพัญญุตญาณ โดยการยังวงล้อแห่งพระธรรมให้เกิดขึ้น เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ชาวโลกทั้งหลาย...
ซึ่งวงล้อแห่งธรรมอันนั้นก็คือ
***พระธัมมจักกัปปวัตนสูตร***
ซึ่งได้เกิดขึ้นเป็น ***ปฐมเทศนา*** ครั้งแรกในโลก
โดยมีเนื้อพระธรรมเทศนาโดยสังเขปดังนี้
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสพระธัมมจักกัปปวัตนสูตร :
***ตอนนี้เป็นเวลาอันสมควรแล้วแก่การฟังพระธรรม ขอเธอทั้งหลายจงตั้งจิตตั้งใจ ยังสมาธิให้เกิดขึ้นตั้งมั่นในดวงจิต และพิจารณาข้อธรรมต่างๆ โดยมีสติกำกับอยู่ตลอด บัดนี้เราตถาคตจักแสดงพระธรรมที่เราได้ตรัสรู้มาแล้ว แทงตลอดทุกอย่างด้วยปัญญาจนจบครบสิ้นแล้ว ขอให้เธอทั้งหลายจงตั้งใจฟังพระธรรมที่เราตถาคตจักกล่าวนี้ให้ดีเถิด...
ก็ในโลกนี้ มีทางอันลามก 2 ทาง ซึ่งบรรพชิตที่ปรารถนาจักเข้าถึงโลกุตรธรรมนั้น มิควรเสพ คือ ทางที่หนึ่ง หย่อนยานเกินไปมุ่งแสวงหาแต่กามสุข และทางที่สองตึงสุดโต่งเกินไป ปฏิบัติตนให้ลําบากเปล่าๆ ไร้ซึ่งประโยชน์ที่แท้จริง
ทางที่หนึ่ง
ก็ทางที่หย่อนยานนี้ (กามสุขัลลิกานุโยค) คือการที่เธอเขาไปพัวพันยึดติดความสุขในกามคุณ 5 คือ ติดรูป ติดเสียง ติดกลิ่น ติดรส และติดสัมผัส (โผฏฐพพะ) เหล่านี้จัดเป็นกิเลสกาม
ส่วนวัตถุกามนั้น มีสองประเภทใหญ่ๆ คือความปรารถนาอยากใน...
ทรัพย์ที่มีวิญญาณ (สวิญญาณกทรัพย์) เช่น ทาส ช้าง ม้า วัว ควาย
ทรัพย์ที่ไม่มีวิญญาณ (อวิญญาณกทรัพย์) เช่น บ้านเรือน แก้ว แหวน เงิน ทอง
ซึ่งวัตถุกามเหล่านี้จัดว่าเป็นธรรมอันเลว เป็นเหตุให้ตั้งบ้านเรือน เป็นกิจของคนมีกิเลสหนา มิใช่กิจของพระอริยะ มิใช่ ทางตรัสรู้ หาประโยชน์มิได้
ทางที่สอง
ทางที่ตึงเกินไป (อัตตกิลมถานุโยค)
คือการที่บุคคลได้พิจารณามองเห็นโทษในกามคุณต่างๆ ในเพศฆราวาสแล้ว และเห็นว่าอานิสงส์ในการบรรพชาประเสริฐกว่ามีคุณมากกว่า จึงได้พากันออกบวชในลัทธิเดียรถีย์ต่าง ๆ แต่ก็มุ่งปฏิบัติกันไปผิดทาง คือทําตนให้ลําบาก
เช่น ทําตนเป็นชีเปลือยบ้าง บางพวกก็ฝึกแต่การทรมานแต่ร่างกายไปนอนแช่น้ำในฤดูหนาวบ้าง ยืนขาเดียวบ้าง กลั้นกายใจบ้าง อดอาหารบ้าง เน้นหนักไปทางทุกรกิริยาอย่างสุดโต่ง...
1
บางพวกก็บูชาไฟบ้าง บางพวกก็เอาศรัทธาไปไว้ที่เทวดาบ้าง ต้นไม้บ้าง พระอาทิตย์ พระจันทร์บ้าง บางพวกก็กราบไหว้สัตว์เดรัชฉานบ้าง พญานาคบ้าง
พญาครุฑบ้าง ยักษ์บ้าง สิ่งเหล่านี้หาใช่ที่พึ่งอันแท้จริง...
บางพวกก็บริโภคแต่ของดิบ ๆ บางพวกก็บริโภคแต่ใบไม้และผลไม้ บางพวกบริโภคแต่ข้าวสารและรําข้าว บางพวกก็เอาเปลือกไม้ แผ่นกระดาน หรือหญ้าแฝกมา
ทําเป็นผ้านุ่ง บางพวกก็นุ่งผ้าที่ทอมาจากผมมนุษย์ บางพวกก็นอนบนขวากหนาม นอนบนแผ่นเหล็กบ้าง เป็นต้น ซึ่งเป็นการประกอบกรรมที่ทําตนนั้นได้รับความลําบาก ความ ทุกข์ทรมาน เป็นการกระทําที่เหนื่อยเปล่า เพราะเป็นการฝึกทางร่างกายภายนอกเท่านั้น มิได้เข้าลึกมาฝึกทางจิตเลย จึงมิได้ทำให้เกิดปัญญา มิใช่ทางที่จักทําให้เป็นพระอริยะ ทางเหล่านี้ล้วนไร้แก่นสารหาประโยชน์มิได้ เพราะมิใช่หนทางแห่งการหลุดพ้นที่แท้จริง
ดูก่อน...
เมื่อเธอทั้งหลายลองพิจารณาดูแล้วด้วยสติและปัญญา เธอทั้งหลายจึงควรเลิกละทิ้งวิธีปฏิบัติทั้งสองอย่างนี้เสีย (ย่อน และ ตึง) ก็ที่เธอทั้งหลายได้เคยปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน จนยึดติดถือมั่นเอาเป็นประเพณีสืบต่อกันมาว่าสิ่งเหล่านี้เป็นของดี เป็นของจริง ซึ่งแท้จริงแล้วทางเหล่านั้นเป็นของปลอม มิใช่เส้นทางแห่งการหลุดพ้นเลย...
แต่เส้นทางที่จักเข้าถึงการหลุดพ้นที่แท้จริงคือ ***ทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา)*** เท่านั้น ซึ่งเป็นการปฏิบัติฝึกฝนตนเองให้เป็นกลาง ๆ
มิย่อหย่อนจนเกินไป และมิตึงสุดโต่งจนเกินไป ซึ่งทางสายนี้เป็นทางสายเดียวเท่านั้น ที่จักพาเธอสู่เส้นทางของอริยะได้ และมรรคที่เธอทั้งหลายควรจักดําเนินตามนั้น คือทางสายกลาง ที่เรียกว่า ***มรรคมีองค์แปด***
1
เส้นทางที่หนึ่ง
เธอทั้งหลายจักต้องมีความเห็นที่ถูกต้อง (สัมมาทิฏฐิ)
โดยจักต้องพิจารณาญาณ คือ ปัญญาที่รู้ชัดแจ้งเข้าใจในอริยสัจ 4 โดยละเอียดถูกต้อง
1
เส้นทางที่สอง
เธอทั้งหลายจักต้องมีความคิดที่ถูกต้อง (สัมมาสังกัปปะ)
โดยจักต้องพิจารณาที่จักออกจากกามทั้งหลาย ความไม่พยาบาท และการไม่เบียดเบียน
เส้นทางที่สาม
เธอทั้งหลายจักต้องใช้วาจาที่ถูกต้อง (สัมมาวาจา)  
การเว้นจากการพูดเท็จ หยาบคาย ส่อเสียด และไม่มีสาระ
เส้นทางที่สี่
เธอทั้งหลายจักต้องปฏิบัติตนในทางที่ถูกต้อง (สัมมากัมมันตะ)
เจตนาละเว้นจากการฆ่า การเอาของที่เจ้าของไม่ได้ให้ และการประพฤติผิดในกาม
เส้นทางที่ห้า
เธอทั้งหลายจักต้องหาเลี้ยงชีพที่ถูกต้อง (สัมมาอาชีวะ)
คือ เว้นจากการประกอบอาชีพในทางที่ผิดทั้งหลาย
เส้นทางที่หก
เธอทั้งหลายจักต้องมีความเพียรที่ถูกต้อง (สัมมาวายามะ)
คือ ความพยายามป้องกันอกุศลที่ยังไม่เกิด ละอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ทำกุศลที่ยังไม่เกิด และดำรงรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้ว
เส้นทางที่เจ็ด
เธอทั้งหลายจักต้องมีสติที่ถูกต้อง (สัมมาสติ)
คือ ใคร่ครวญพิจารณาสติ ปัฏฐาน 4 อยู่เสมอ คือ พิจารณา กาย เวทนา จิต และธรรม ให้เห็นเป็นแต่สักว่ากาย เวทนา จิตและธรรมส่วนหนึ่ง ๆ เท่านั้น หาใช่ สัตว์ บุคคลตัวตน เรา เขา หญิง ชายที่ไหนเลย ควรถอนความยินดียินร้ายในสิ่งเหล่านี้เสียให้ หมดสิ้น ความตั้งจิตไว้ชอบ คือทําจิตให้สงบจาก กามารมณ์ และสิ่งที่เป็นอกุศล ทั้งหลาย ด้วย การเจริญสมาธิ เป็นต้น
เส้นทางที่แปด
เธอทั้งหลายจักต้องมีสมาธิที่ถูกต้อง (สัมมาสมาธิ)
คือ ทำจิตใจให้สงบในกามารมณ์ และสิ่งที่เป็นอกุศลทั้งหลาย ด้วยการเจริญศีล สมาธิ ปัญญา
ดูก่อนเธอทั้งหลาย...
***มัชฌิมาปฏิปทา คือ มรรคอันประกอบด้วยองค์ 8 ประการ*** นี้แล จักเป็นหนทางดำเนินชีวิตที่เป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้จริง เพื่อพระนิพพาน
แลอีกอย่างหนึ่งนั้น...
ความจริงอันประเสริฐของพระอริยะนั้นมีสี่อย่าง เรียกว่า อริยสัจ 4
ดูก่อน... เธอทั้งหลายจงยังดวงจิตและสมาธิให้ตั้งมั่น แล้วพิจารณาไตร่ตรองให้ละเอียดเถิด...
ธรรมข้อที่หนึ่ง คือ ทุกข์
สัตว์ทั้งหลายที่อยู่ในสังสารวัฏ ล้วนแต่มีความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความแห้งใจพิไรรําพัน ความเสียใจ คับใจ การได้ พบสิ่งไม่เป็นที่รัก การพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รัก ความปรารถนาไม่สมหวัง เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นทุกข์ทั้งสิ้น ใช่หรือไม่ เธอทั้งหลายจงพิจารณาไตร่ตรองให้ละเอียดเถิด...
ธรรมข้อที่สอง คือ สมุทัย
คือ เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ได้แก่ ตัณหาความกําหนัดรักใคร่ในภพที่บังเกิดนั้น
มี 3 ข้อคือ
ข้อแรกกามตัณหา คือ ความปรารถนาในกิเลสกามและวัตถุกาม อันเป็นอารมณ์ที่น่ารักน่าใคร่ น่าพอใจ และความปรารถนาบังเกิดในกามภพ
ข้อสองภวตัณหา คือ ความปรารถนาบังเกิดในรูปภพและอรูปภพ ประกอบ ด้วยสัสสตทิฏฐิ ถือมั่นว่ารูป และอรูปนั้นเป็นของเที่ยง อยากให้มีให้เป็นอยู่อย่างนั้น
ข้อสามวิภวตัณหา คือ ความปรารถนาบังเกิดในพรหมโลกทั้งสองนั้น (รูปภพ-อรูปภพ) แต่ประกอบด้วยอุจเฉททิฏฐิ ถือมั่นว่าบังเกิดในรูปภพแล้วขาด
สิ้นสังขารธรรมปรินิพพานในพรหมโลกนั้น ๆ ไม่จุติปฏิสนธิอีก เป็นความอยากในความไม่อยากมีไม่อยากเป็น เป็นเหตุแห่งความทุกข์ อย่างหนึ่ง
สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเหตุแห่งทุกข์ทั้งสิ้น เธอทั้งหลายควรละทิ้งเสีย อย่าได้พาใจเข้าไปข้องแวะ เธอทั้งหลายจงพิจารณาไตร่ตรองให้ละเอียดเถิด...
ธรรมข้อที่สามคือ นิโรธ
คือ ความดับทุกข์ (พระนิพพาน) ได้แก่ความดับสูญแห่งตัณหาทั้ง 3 นั้น ไม่มีความอาลัยในตัณหา สิ้นกิเลสทั้งปวง และทำตนฝึกฝนตนเองให้เข้าถึงการบรรลุสู่โลกุตรธรรม 9 ประการ คือ มรรค 4 ผล 4 นิพพาน 1 ความทุกข์จักมิเกิดขึ้นอีกต่อไปสะอาดหมดสิ้น นี่คือจุดหมายของพระอริยะ คือพระนิพพาน เธอทั้งหลายจงพิจารณาไตร่ตรองให้ละเอียดเถิด...
ธรรมข้อที่สี่คือ มรรค
คือ ข้อปฏิบัติให้เข้าถึงความดับทุกข์ ได้แก่
อริยมรรคมีองค์ 8 อันเป็นอุบายให้ได้ตรัสรู้มรรคผลนิพพาน ดับกิเลสมีราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้น อันเป็นเหตุที่จักทำให้ความทุกข์ทั้งปวงหมดสิ้นหายไป ธรรมข้อนี่เป็นการปฏิบัติที่เธอทั้งหลายควรยึดถือเดินตามและทำให้สมบูรณ์ เธอทั้งหลายจงพิจารณาไตร่ตรองให้ละเอียดเถิด...
ดูก่อนเธอทั้งหลาย...
จตุราริยสัจธรรมนี้ เป็นเหตุทําให้โสดาปัตติผลคือดวงตาแห่งธรรม ปัญญาญาณและแสงสว่าง ได้เกิดขึ้นแก่ตถาคต ซึ่งตถาคตนั้นมิเคยได้ยินได้รู้ธรรมเหล่านี้มา ก่อนเลยว่า...
- ข้อนี้ทุกข์ ควรกําหนดรู้ และเราได้กําหนดรู้แล้ว (ปริญญากิจ)
- ข้อนี้สมุทัย ควรละเสียให้สิ้น และเราได้ละแล้ว (ปหานกิจ)
- ข้อนี้นิโรธ ควรทําให้แจ้ง และเราทําให้แจ้งแล้ว (สัจฉิกาตัพพกิจ)
- ข้อนี้มรรค ควรทําให้เกิด และเราทําให้เกิดแล้ว (ภาเวตัพพกิจ)
ดูก่อนเธอทั้งหลาย ...
ปัญญารู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริงในอริยสัจ 4 ประการนี้ เราตถาคตได้ใช้ปัญญาแทงตลอดจนหมดสิ้นดีแล้ว ตถาคตจึงยืนยันได้ว่า :
***ตถาคตนี้เป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ*** มิมีการตรัสรู้ใดอื่นยิ่งไปกว่าในโลกนี้อีกแล้ว แลการเกิดครั้งนี้ของเราตถาคตเป็นครั้งสุดท้าย จักมิมีการเกิดกำเนิดใหม่อีกต่อไป...
เมื่อพระบรมศาสดาแสดงพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตรจบลง..
ท่านโกณฑัญญะก็ได้ดวงตาเห็นธรรมในทันที...
(ดวงตาเห็นธรรมหรือ ธรรมจักษุ คือ ดวงตาเห็นธรรมที่สะอาดปราศจาก
ธุลีมลทิน)
1
ในตอนนั้นท่านโกณฑัญญดาบสหัวหน้าปัญจวัคคีย์ได้กราบทูลพระพุทธองค์ว่า :
***ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดก็ ย่อมมีความดับไป เป็นธรรมดา ทุกๆอย่างล้วนเป็นเช่นนั้นเองพระพุทธเจ้าข้า***
เหตุนี้พระพุทธองค์ก็ทรงทราบแล้วว่า โกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคลในพระพุทธศาสนาแล้ว จึงทรงเปล่งพุทธอุทาน ด้วยความปีติยินดีอย่างยิ่ง และทรงดํารัสว่า :
***อัญญาสิ วะตะ โภ โกณฑัญโญ***
***โกณฑัญญะ ได้รู้แล้วหนอ โกณฑัญญะ ได้รู้แล้วหนอ***
ด้วยพระพุทธดํารัสนี้ คําว่า “อัญญา” จึงเป็นคํานําหน้าชื่อของท่าน โกณฑัญญะตั้งแต่นั้นมา จนเป็นที่รู้ทั่วกันว่านี้คือชื่อของท่านในพระพุทธศาสนา “พระอัญญาโกณฑัญญะ” นั้นแล...
เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้
***เจตนาเพื่อเป็นธรรมทานและต่อยอดสืบทอดพระพุทธศาสนาให้คงอยู่สืบไป***
หากมีข้อผิดพลาดประการใด ก็กราบขออภัย ท่านผู้อ่านไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
หากท่านผู้ใดชอบ ก็ขอฝากติดตามอ่านตอนต่อไปด้วยนะขอรับ ^-^
ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านผู้อ่านขอธรรมของพระพุทธองค์จงมีแด่ ท่าน สาธุครับ (ต้นธรรม)
***เอกสารอ้างอิง***
#หนังสือ.ปฐมสมโพธิกถา
#หนังสือพุทธประวัติตามแนวปฐมสมโพธิ (พระครูกัลยาณสิทธิวัฒน์)
#เพิ่มเติมเนื้อหาใหม่/ภาพประกอบ.ต้นธรรม
#ธรรมะ
#Facebook Page🔜 :
#Blockdit Page🔜 :
โฆษณา