21 ก.ค. 2020 เวลา 02:00 • ประวัติศาสตร์
ความจริงหลังปฎิวัติฝรั่งเศส ที่คุณรู้แล้วจะต้องร้อง เอ๊า!?
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย
0698966939
บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
เมื่อพูดถึงการปฏิวัติฝรั่งเศส เรานึกถึงอะไรบ้าง? หลายคนจะเห็นภาพ “กิโยติน” เครื่องประหารที่ตั้งใจผลิตขึ้นเพื่อความเสมอภาค หรือพระนางมารีอังตัวเน็ต พระราชินีของพระเจ้าหลุยส์ที่16 ที่มีประโยคอมตะอย่าง “Let them eat cake” หรือ “ไม่มีขนมปังก็ทำไมไม่กินเค้กกันล่ะ?” ซึ่งไม่มีหลักฐานใด ๆ ตรงไหนเลยว่าพระนางพูดแบบนั้นจริง ๆ
2
บางคนอาจจะนึกถึง “Do you hear the people sing” เพลงดังจากละคร Les Misérables ซึ่งอันที่จริง เหตุการณ์ที่ละครพูดถึงนั้นเป็นการลุกฮือต่อต้านรัฐบาลที่เกิดขึ้นภายหลังการปฏิวัติฝรั่งเศสถึง 43 ปีต่างหาก
1
มีความเข้าใจผิดกันเยอะว่าการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1789 ที่มีการล้มราชวงศ์บูร์บอง แล้วฝรั่งเศสก็ปกครองในระบอบสาธารณรัฐมาจนถึงปัจจุบัน อันที่จริง หลังการปฏิวัติฝรั่งเศสปี ค.ศ. 1789 นั้น ฝรั่งเศสเข้า ๆ ออก ๆ ระหว่างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ระบอบเผด็จการทหาร และ ระบอบสาธารณรัฐอยู่หลายรอบ กว่าที่จะเป็นสาธารณรัฐโดยสมบูรณ์และมั่นคง ใช้เวลาถึง 82 ปี ก็หลังการปฏิวัติฝรั่งเศสอันโด่งดังที่เรารู้จักกัน
แล้วหลังการปฏิวัติฝรั่งเศสที่เริ่มจากการบุกถล่มคุกบาสตีลล์ในวันที่14 กรกฎาคม ค.ศ. 1789 แล้ว เรื่องราวใน 82 ปีต่อมาเกิดอะไรขึ้นบ้าง
1
การปฏิวัติฝรั่งเศสเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ.1789 โดยใช้หมุดหมายการถล่มคุกบาสตีลล์ของประชาชนชาวปารีสเป็นสัญลักษณ์ แต่ความไม่พอใจต่อกษัตริย์ ขุนนางและระบบการปกครองนั้นคุกรุ่นมาก่อนหน้านั้นพอสมควรแล้ว ทั้งนี้ เรื่องที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของปากท้อง เศรษฐกิจ และการเก็บภาษีที่ไม่เป็นธรรม เศรษฐกิจของฝรั่งเศสเริ่มตกต่ำมาตั้งแต่รัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ ที่ 15 และที่ปรึกษาทางการคลังของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 นั้นโด่งดังมากในเรื่องความสามารถที่จะเก็บภาษีได้แบบมีประสิทธิภาพสุด ๆ ภาษีไม่มีกระเด็นหายไป กลุ่มคนที่ถูกเก็บภาษียิบย่อยและเก็บอย่างมากมายที่สุดก็คือประชาชนชั้นล่าง ชาวนาและผู้ใช้แรงงานทั้งหลาย ส่วนเหล่า ฐานันดรที่ 1 คือ ศาสนจักร และ ฐานันดรที่ 2 คือขุนนาง แทบไม่ต้องเสียภาษีเลย นอกจากนี้ ชนชั้นใหม่คือชาวบ้านที่ค้าขายจนเป็นคนเป็นเศรษฐีใหม่ หรือ นิวมันนี่ ที่เรียกกันว่าพวก บูร์ชวาส์ (Bourjoise) ก็มักจะหาทางหลีกเลี่ยงภาษีได้เหมือนกัน สรุปว่า ชาวบ้าน ชาวนาของฝรั่งเศสทำงานเลี้ยงเจ้าและขุนนางตั้งแต่เกิดยันตายนั่นล่ะ
2
พอเข้ารัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 สถานการณ์ก็สุกงอมพอดีเพราะนอกจากจะเสียภาษีกันจนประชาชนแทบจะไม่มีกินแล้ว ยังเกิดภัยธรรมชาติรุนแรงติดต่อกันหลายปี ข้าวสาลีที่จะใช้ทำขนมปังก็ขาดแคลน เมื่อไม่มีขนมปังและประชาชนโกรธแค้น ก็เลยเป็นที่มาของประโยค“ไม่มีขนมปังก็กินเค้กสิ” ที่กล่าวหากันว่าพระนางมารีอังตัวเน็ตเป็นคนพูด ความอดอยากทำให้ประชาชนที่ไม่พอใจเริ่มก่อการจลาจลในกรุงปารีส ร้านขนมปังถูกปล้น บางครั้งเจ้าของร้านก็ถูกจับแขวนคอเพราะชาวบ้านเชื่อว่ากักตุนข้าวสาลี มีความวุ่นวายและความรุนแรงเกิดขึ้นทั่วไป พระเจ้าหลุยส์ที่16 พยายามแก้ปัญหาโดยการเรียกประชุมสภาฐานันดร นั่นก็คือ ขุนนาง พระ และ ประชาชน ซึ่งสภาฐานันดรนี่ก็เป็นสภาที่ปรึกษาที่ตั้งเอาไว้แต่ไม่ได้ใช้ คือก่อนที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 จะเรียกประชุม ไม่มีใครเรียกประชุมสภานั้นมาเป็นเวลา 175 ปีแล้ว
อย่างไรก็ตามการเรียกประชุมสภาก็ไม่ได้เกิดประโยชน์ใด ๆ เพราะทั้งสามฐานันดร ต่างมีคะแนนเสียงเท่ากันเวลาโหวต พระและขุนนางมีจำนวนประชากรเพียง 2 % เท่านั้น แต่ฐานันดรที่3 คือประชาชนทั่วไป ซึ่งมีจำนวนถึง 98% ของประชากรทั้งหมดก็ได้รับสิทธิ์เท่ากันกับฐานันดรที่ 1 และ2 ก็หมายความว่าโหวตกี่ครั้งก็แพ้ เพราะฝ่ายที่ใช้ชีวิตอย่างสุขสบายก็ไม่ยอมโหวตให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะพวกเขาไม่ใช่คนที่กำลังจะอดตายและต้องเสียภาษีทุกอย่างเหมือนกับประชาชนฐานันดรที่ 3 เมื่อรู้สึกว่าการเจรจาไม่เป็นผล เหล่าฐานันดรที่3 จึงประกาศจัดตั้งสภาประชาชน(The National Assembly) นำโดยเหล่าผู้มีการศึกษา นักกฎหมาย และ นักปรัชญาต่าง ๆ มีประชาชนส่วนใหญ่เป็นฐานเสียงเพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับกษัตริย์และขุนนาง ไม่นานหลังจากการก่อตั้งสภาประชาชน พระเจ้าหลุยส์ที่16 ก็เรียกทหารมาล้อมรอบกรุงปารีส ทำให้ประชาชนเกิดความกลัวว่าผู้ปกครองจะเรียกทหารเข้ามาปราบปรามประชาชน ดังนั้นในวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1789 ประชาชนจึงเข้าปล้นโรงพยาบาลทหาร ได้ปืนมาเป็นจำนวนมาก แต่ด้วยความที่มีแต่ปืนไม่มีดินปืน ประชาชนจึงไปล้อมคุกบาสตีลล์ซึ่งเป็นคุกที่กษัตริย์ใช้ขังศัตรูและคนที่กระด้างกระเดื่อง ที่คุกบาสตีลล์นี้เชื่อกันว่ามีดินปืนเป็นจำนวนมาก การเข้ายึดคุกบาสตีลล์นี้เป็นจุดเริ่มต้นของความรุนแรงที่เรียกได้ว่าสยดสยองและป่าเถื่อนสุด ๆ ของการปฏิวัติฝรั่งเศส นั่นก็คือ การที่มีการตัดหัวผู้ดูแลคุกเอามาเสียบไม้แล้วเดินขบวนไปทั่วกรุงปารีส
3
นักประวัติศาสตร์หลายคนให้ความเห็นว่า นี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้การปฏิวัติฝรั่งเศสกลายเป็นการปฏิวัติที่นองเลือดที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ทั้งนี้ก็เพราะการที่สภาประชาชนเลือกที่จะไม่ประณามความรุนแรงของฝูงชนแต่แสดงออกด้วยการเห็นดีเห็นงามกับความรุนแรงในรูปแบบดังกล่าว เรียกว่าสุดท้ายก็ไม่มีการห้ามปรามกันเอง นอกจากนี้ยังมีนักเขียน ฌอง พอลล์ มาร่าต์ ซึ่งตีพิมพ์ข้อเขียนสนับสนุนการปฏิวัติโดยใช้ความรุนแรงด้วยเหตุผลที่ว่า หากประชาชนไม่รุนแรงกับผู้นำ ผู้นำก็พร้อมจะบดขยี้ประชาชนด้วยกำลังทหารอย่างไร้ความปราณี ซึ่งก็อาจจะเป็นเรื่องจริง แต่อย่างไรก็ตาม หนังสือพิมพ์ของ มาร่าต์ ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ประชาชน และ ต่อมามาร่าต์ก็กลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลอย่างมากคนหนึ่งในกระบวนการปฏิวัติ และ Reign of Terror ซึ่งคือการฆาตกรรมกันเป็นขนานใหญ่ด้วยกิโยติน ในปี ค.ศ.1792 - 1794 นั่นเอง
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย
0698966939
บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
สภาประชาชนถูกขับเคลื่อนด้วยกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “จาโคบิน” นำโดยนักกฎหมายชื่อ Maximilien Robespierre (แม็กซิมิลิยอง โรแบสปิแอร์) โรแบสปิแอร์ เชื่อว่ารัฐบาลปฏิวัติต้องประกอบไปด้วยคุณธรรมและความโหดเหี้ยม ความยุติธรรมต้องถูกแจกจ่ายอย่างรวดเร็ว คนผิดหรือผู้ที่ต่อต้านการปฏิวัติจะต้องได้รับโทษอย่างรวดเร็วและรุนแรง โรแบสปิแอร์ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งชื่อว่า คณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะ (Committee of Public Safety) เพื่อปกป้องการปฏิวัติจากทั้งศัตรูภายนอกและภายในประเทศ คณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจมากมายที่จะจับคนมาสอบสวน กักขังและกำหนดโทษได้ ซึ่งโทษเกือบทั้งหมดก็คือการประหารด้วยกิโยตินนั่นเอง ช่วงปี ค.ศ. 1792 - 1794 ซึ่งเรียกว่า Reign of Terror หรือ การปกครองด้วยความหวาดกลัวนี้ มีคนถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยกิโยตินอย่างเป็นทางการมากถึง16,594 คน ตัวอย่างความโหดที่ได้รับการพูดถึงอยู่เสมอก็คือ ในวันที่ 2 - 6 กันยายน ค.ศ. 1792 มีการประหารคนไปถึง 1,600 คนในคราวเดียว เริ่มต้นในบ่ายวันอาทิตย์จนถึงช่วงเย็นวันพฤหัสบดี โดยมีทั้งทหาร บาทหลวง ผู้หญิงและเด็ก
ฌอง พอลล์ มาร่าต์ เป็นคนสำคัญในขบวนการนี้โดยเป็นคนเขียนรายชื่อคนที่สมควรถูกประหาร มาร่าต์นั้นป่วยเป็นโรคผิวหนัง มีอาการที่ทำให้ต้องนั่งแช่น้ำอยู่ในอ่างเกือบตลอดเวลา แล้วก็เขียนหนังสือ เขียนรายชื่อ เขียนข่าว เขียนแถลงการณ์ต่าง ๆ ทั้งหมดนี้ในตอนที่แช่น้ำอยู่
AFP
มีภาพเขียนที่โด่งดังภาพหนึ่งชื่อว่า The Death of Marat โดย ฌากส์ หลุยส์ ดาวีด์ ซึ่งก็คือ ความตายของ มาร่าต์ นั่นเอง มาร่าต์ถูกหญิงสาวชื่อ ชาร์ลอตต์ คอร์เดย์ แทงตายเพราะเธอเชื่อว่า มาร่าต์ ต้องรับผิดชอบกับความตายของคนหลักพันที่ถูกประหารชีวิตในเดือนกันยายน ปี ค.ศ. 1792 ตัวศิลปินคือ ฌากส์ หลุยส์ ดาวีด์ นี่ก็เป็นหนึ่งในกลุ่มจาโคบินของโรแบสปิแอร์ เป็นสมาชิกของคณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะด้วย ดังนั้นภาพ ความตายของมาร่าต์ ก็เป็นภาพที่ตั้งใจวาดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่มาร่าต์ในฐานะวีรบุรุษของการปฏิวัติ ศิลปะรับใช้การเมืองมายาวนานมากเกือบเท่าอายุของศิลปะ การบอกว่าศิลปะไม่ควรเกี่ยวข้องกับการเมืองจึงถือเป็นคำพูดของคนที่ไม่ศึกษาประวัติศาสตร์
2
AFP
Reign of Terror จบลงด้วยการกิโยตินโรแบสปิแอร์ เพราะคนรอบข้างทนไม่ไหวกับเขาเลยจับตัดหัวด้วยอุปกรณ์ที่เขาใช้ประหารคนอื่น จบบทบาทของฝ่ายที่บ้าอำนาจและกระหายเลือด
คณะปฏิวัติฝรั่งเศสไม่ได้มีศัตรูเฉพาะภายในประเทศ คนที่ไม่เห็นด้วยกับการปฏิวัติก็มีจำนวนหนึ่ง ชาวบ้านในชนบทไกล ๆ ก็ไม่ได้รู้สึกว่าระบบกษัตริย์แย่อย่างไร คืออยู่ไกลจนไม่มีผลกระทบไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง แต่คณะปฏิวัติก็สร้างศัตรูภายในเยอะเพราะทำตัวเป็นปฏิปักษ์กับศาสนจักรคาธอลิกทำให้คนเป็นจำนวนมากรับไม่ได้ คณะปฏิวัติตัดหัวบาทหลวงไปหลายคนและยังยกเลิกปฏิทินคริสตศักราชแล้วตั้งปีปฏิทินของตัวเองขึ้นมา สร้างลัทธิใหม่ มีวันหยุด วันเทศกาลใหม่ ๆ จนชาวบ้านจำนวนมากรับไม่ได้ นอกจากนี้ศัตรูจากภายนอกประเทศก็มีมากมาย นั่นก็คืออาณาจักรต่าง ๆ รอบข้างฝรั่งเศสซึ่งล้วนปกครองโดยกษัตริย์ รู้สึกว่าถ้าไม่รีบจัดการกับพวกสาธารณรัฐในฝรั่งเศส ประชาชนของตัวเองก็จะเกิดไอเดียอยากเป็นสาธารณรัฐกันบ้าง ราชวงศ์ต่าง ๆ ที่เป็นญาติกันก็จะเดือดร้อนอีก ดังนั้นจึงมีการประกาศสงครามกับฝรั่งเศสหลายด้าน จนกลายเป็นความเครียดอย่างหนักของประชาชน
2
AFP
AFP
AFP
เนื่องจากมีศึกสงครามรอบด้านนี่เอง นายทหารหนุ่มฝรั่งเศสที่มีฝีมือชื่อ นโปเลียน โบนาปาร์ท ก็เลยโดดเด่นขึ้นมา นายทหารคนนี้อายุเพียง 28 ปี แต่รบเก่งมาก กองทัพอื่น ๆ ของฝรั่งเศสรบแพ้หลายต่อหลายครั้ง แต่กองทัพของนโปเลียนชนะตลอดและรุกคืบเข้าไปในดินแดนของศัตรูได้อีกต่างหาก นโปเลียน โบนาปาร์ท ก็เลยกลายเป็นคนที่ได้รับความนิยมมากในหมู่ประชาชนที่ไม่ได้ชนะอะไรมานานแล้ว และด้วยความเป็นที่นิยมนี้เอง นโปเลียนก็เลยตัดสินใจก่อการรัฐประหาร ยึดอำนาจในปี ค.ศ. 1799
3
สรุปว่า 10 ปี หลังการเข้ายึดคุกบาสตีลล์และก่อตั้งสาธารณรัฐ ฝรั่งเศสก็กลับเข้าสู่การปกครองโดยเผด็จการทหาร
นโปเลียนเข้าใจความอึดอัดของประชาชน ก็จัดการนำศาสนจักรคาธอลิกกลับมา อย่างน้อยปฏิทินก็กลับไปเป็นอย่างเดิมและนโปเลียนก็ยังคงรบชนะนานาศัตรูได้เรื่อย ๆ ในปี ค.ศ. 1804 นโปเลียนได้ก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง โดยแต่งตั้งตัวเองเป็น จักรพรรดิแห่งฝรั่งเศส กลับมาเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกครั้ง 15 ปี หลังจากการปฏิวัติฝรั่งเศส ล้มล้างราชวงศ์บูร์บอง คนฝรั่งเศสก็ได้จักรพรรดิมาแทน คือ จักรพรรดินโปเลียนนั่นเอง
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย
0698966939
บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
อย่างไรก็ตามการมีจักรพรรดิมาปกครองฝรั่งเศสก็ไม่ได้ทำให้ประเทศรอบข้างสบายใจขึ้นแม้แต่น้อย กลับทำให้ประเทศรอบข้างกลุ้มใจมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะนโปเลียนนั้น มีความชอบทำสงคราม ต้องการขยายจักรวรรดิฝรั่งเศสออกไปและยังรบเก่งด้วย ก็เลยก่อสงครามกับนานาประเทศรอบข้าง สงครามของนโปเลียนเรียกว่า Napoleanic wars กินเวลาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1803 - 1815 สงครามนโปเลียนสิ้นสุดเมื่อกองทัพของจักรพรรดินโปเลียนพ่ายแพ้กองกำลังของอังกฤษและปรัสเซียที่วอร์เตอร์ลู ซึ่งปัจจุบันอยู่ในประเทศเบลเยียม
1
จักรพรรดินโปเลียนถูกเนรเทศไปอยู่ที่เกาะเซนต์ เฮเลน่า จนเสียชีวิต อย่างไรก็ตามนโปเลียนเคยแพ้สงครามก่อนหน้านั้นและถูกเนรเทศไปอยู่เกาะอัลบาแล้วครั้งหนึ่ง ในระหว่างที่ถูกเนรเทศนั้น ฝ่ายสาธารณรัฐก็ไปเชิญ หลุยส์ที่ 18 มาครองราชย์ในระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ นโปเลียนหนีกลับมาจากเกาะอัลบา ประกาศกลับมาตั้งจักรวรรดิอีกครั้งอยู่ 100 วัน แล้วก็รบแพ้ที่วอร์เตอร์ลู หลุยส์ที่18 ก็ได้กลับมาครองราชย์อีกครั้งประมาณ10 ปี จนสวรรคต
กษัตริย์หลุยส์ที่ 18 ไม่มีทายาท จึงได้น้องชายมารับตำแหน่งต่อ เป็นกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 10 ภายใต้รัฐธรรมนูญเช่นกัน ชาร์ลส์ที่10 เป็นกษัตริย์ที่ไม่ได้รับความนิยมอย่างหนักเพราะความขวาจัด ไม่ยอมรับการแบ่งอำนาจ ไม่ยอมรับว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่กษัตริย์ได้รับอาณัติสวรรค์ให้ปกครองแต่เพียงผู้เดียวนั้นได้จบลงไปนานแล้ว ความขวาจัดตกขอบนี้ แม้กระทั่งหลุยส์ที่18 ยังเคยบ่นว่า น้องชายคนนี้เป็น รอยัลลิสต์ยิ่งกว่าพระเจ้าแผ่นดิน เสียอีก (“plus royaliste que le roi”) ("more royalist than the king”)
ทันทีที่ขึ้นครองบัลลังก์ในวัย 67 ปี ชาร์ลสที่ 10 ก็เริ่มเคลื่อนไหวเพื่อพาฝรั่งเศสกลับไปสู่ระบบเดิม หรือที่เรียกกันว่า Ancien Regime (อองเซียง เรจีม) มีการอวยยศให้เหล่าสมาชิกราชวงศ์ที่ถูกถอดยศไปในช่วงการปฏิวัติ ชาร์ลส์ที่ 10 ส่งร่างกฎหมายเข้าสู่สภาผ่านนายกรัฐมนตรีมากมาย มีการเพิ่มอำนาจให้ศาสนจักรคาธอลิก มีการเพิ่มโทษประหารชีวิตผู้ที่หมิ่นศาสนา นอกจากนี้ชาร์ลส์ ที่ 10 ยังพยายามกลับมาประกอบพระราชพิธีโบราณต่างๆ อีกหลายอย่าง แต่ด้วยความไม่เป็นที่นิยม นายกรัฐมนตรีแต่ละคนที่กษัตริย์ตั้งขึ้นก็มักจะพ่ายแพ้เวลาโหวต หรือเวลาเลือกตั้งอยู่ตลอด การงัดกันระหว่างสภาและกษัตริย์สร้างความตึงเครียดเป็นอย่างมาก กษัตริย์ประกาศยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ก็แพ้อีก จนในที่สุดชาร์ลส์ที่10 ก็ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ ประกาศยุบสภาที่เพิ่งได้รับเลือกเข้ามา ประกาศควบคุมการรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์ แก้กฎหมายเลือกตั้ง และประกาศวันเลือกตั้งใหม่
ทันทีที่หนังสือพิมพ์รายวันประกาศราชโองการดังกล่าว ประชาชนก็ออกมาชุมนุม เกิดการจลาจลไปทั่ว ทหารพยายามเข้ารักษาความเรียบร้อยแต่ทหารเป็นจำนวนมากก็ตัดสินใจเข้าข้างประชาชน หลังจากมีข่าวว่ามีผู้ชุมนุมเรือนหมื่นเตรียมจะบุกที่ประทับของกษัตริย์ ชาร์ลส์ที่ 10 ก็ยอมสละราชบัลลังก์และเสด็จออกจากฝรั่งเศสไปประทับที่อังกฤษหลังครองราชย์เกือบ 6 ปี หลังจากนั้นพระองค์และครอบครัวก็เร่ร่อนไปตามวังต่างๆ ของราชวงศ์ต่างๆ ในยุโรปเรื่อยๆ จนสิ้นพระชนม์ในประเทศสโลวิเนียในปัจจุบัน ชาร์ลส์ที่10 คือกษัตริย์องค์เดียวของฝรั่งเศสที่พระศพอยู่นอกประเทศฝรั่งเศสจนถึงปัจจุบัน
1
เหตุการณ์โค่นล้มกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 10 ถูกเรียกว่า July Revolution หรือการปฏิวัติเดือนกรกฎาคม มีภาพวาดที่โด่งดังมากภาพหนึ่ง ซึ่งถูกเข้าใจผิดอยู่เรื่อยว่าคือภาพที่ถูกวาดขึ้นในการปฏิวัติฝรั่งเศสปี 1779 ภาพนี้ถูกวาดขึ้นในปี 1830 โดย Eugène Delacroix เป็นภาพชื่อว่า Liberty Guiding the People คือ เสรีภาพกำลังนำประชาชนในการต่อสู้ ภาพนี้ดังและมีขนาดใหญ่มาก คือ กว้าง3 เมตร สูง 2.5 เมตรเลยทีเดียว ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ กรุงปารีส
หลังจากชาร์ลส์ที่ 10 สละราชบัลลังก์ สภาก็ตกลงเชิญ หลุยส์ ฟิลลีปที่ 1 ขึ้นครองราชย์ หลุยส์ ฟิลลีป เป็นเจ้าชายจากอีกสายหนึ่งของราชวงศ์ คือไม่ได้มาจากบ้านบูร์บอง แต่มาจากบ้านออร์ลีนส์ คือเป็นการเปลี่ยนสายการสืบราชสมบัติไปเลย กษัตริย์ หลุยส์ ฟิลลีป เป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเช่นกันและมีความเชื่อทางการเมืองเอนเอียงไปในทางเสรีนิยม และยังเป็นทหารร่วมรบในช่วงสาธารณรัฐที่ 1 ภายใต้การปกครองของสภาประชาชนด้วย
1
กษัตริย์ หลุยส์ ฟิลลีปที่ 1 ได้ชื่อว่าเป็นกษัตริย์ของประชาชน และต่อมากษัตริย์นักธุรกิจ ทรงเริ่มต้นรัชสมัยด้วยการแสดงความเป็นพวกเดียวกับประชาชน โดยเปลี่ยนตำแหน่งจาก King of France คือ กษัตริย์แห่งฝรั่งเศส เป็น King of The French คือกษัตริย์แห่งชาวฝรั่งเศส ซึ่งทำให้กษัตริย์ในราชวงศ์อื่น ๆ ในยุโรปโดยเฉพาะพระเจ้าซาร์ นิโคลัสที่ 1 แห่งรัสเซียทรงไม่พอใจเป็นอันมาก ถึงกับตัดเพื่อนกันเลย
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย
0698966939
บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
หลุยส์ ฟิลลีป ตัดพิธีกรรมและความเว่อร์วังต่าง ๆ ที่เคยเป็นสัญลักษณ์ของกษัตริย์มาแต่เก่าก่อน สร้างความชื่นชมแก่ประชาชนเป็นอย่างมากในต้นรัชสมัย นอกจากนี้ยังทรงสนับสนุนการค้าและนักธุรกิจขนาดกลางต่าง ๆ ทรงชื่นชอบพ่อค้าแต่ไม่ค่อยโปรดนักอุตสาหกรรมเท่าไหร่ อย่างไรก็ตามทรงเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จเช่นกัน ทรงรวยมาก ผิดกับตอนหนุ่ม ๆ ที่ต้องเร่ร่อนไปในยุโรปเพราะการปฏิวัติฝรั่งเศสที่ทรงยากจนมาก หาเลี้ยงชีพโดยการเป็นครูสอนโรงเรียนประจำ และพี่สาวของพระองค์ก็ต้องรับจ้างเย็บผ้า อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีภาพเป็นกษัตริย์ติดดิน แต่รัฐบาลของพระองค์ก็มีความเอนเอียงไปทางอนุรักษ์นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ความเหลื่อมล้ำระหว่างนายทุนกับประชาชนผู้ใช้แรงงานถ่างออกกว้างขึ้นเรื่อย ๆ และภัยธรรมชาติก็ทำให้ราคาอาหารและค่าครองชีพสูงขึ้น นอกจากภัยธรรมชาติก็ยังมีโรคอหิวาต์ซึ่งระบาดหนักในกรุงปารีสและระบาดหนักเป็นพิเศษในชุมชนคนจนและคนชั้นล่าง โดยมีผู้เสียชีวิตเฉพาะในปารีสเกือบ 2 หมื่นคน และ กว่า 1 แสนคนทั่วประเทศ ความตายของนายพล ฌอง ลาร์มาร์ค ซึ่งเป็นนายทหารและนักการเมืองที่สนับสนุนเสรีนิยมและสาธารณรัฐ ทำให้เกิดกบฏเดือนมิถุนายนในปี 1832 ซึ่งระเบิดขึ้นในขณะที่ประชาชนพากันออกมาร่วมขบวนงานศพของนายพลลามาร์ค ขบวนงานศพนี้เป็นซีนสำคัญมากในภาพยนตร์ Les Misérables ที่มีเพลง Do you hear the people sing เป็นเพลงประกอบ
1
ทั้งหมดที่พูดถึงมาเรื่องระบอบสาธารณรัฐ หรือ ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญก็ตาม คนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งมีเพียง 1% ของประชากร ซึ่งก็ได้แก่คนที่มีทรัพย์สิน มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง เป็นเจ้าของที่ดิน อะไรต่าง ๆ ข้อเรียกร้องของฝ่ายสาธารณรัฐคือให้ผู้ชายทุกคนมีสิทธิ์เลือกตั้งด้วยซ้ำไป กว่าที่ผู้หญิงฝรั่งเศสจะได้สิทธิ์เลือกตั้งอย่างสมบูรณ์ก็เกิดขึ้นในปี ค.ศ.1945 แล้ว เวลาเราพูดถึงประชาธิปไตยและสิทธิ
การกบฏเดือนมิถุนายนของขบวนการสาธารณรัฐถูกเรียกว่ากบฏเพราะล้มล้างกษัตริย์ไม่สำเร็จ ทั้งนี้น่าจะเป็นเพราะชาวปารีสส่วนใหญ่ไม่ได้ออกมาสนับสนุนการต่อสู้ในครั้งนี้ ทหารที่ถูกเรียกเข้ามาในปารีสเกือบ 4 หมื่นนายจึงปราบปรามได้อย่างราบคาบ นอกจากนี้คนที่ออกมาต่อสู้แปดสิบเปอร์เซ็นต์ คือชนชั้นแรงงานและลูกจ้างชั้นล่าง มีผู้เสียชีวิตฝั่งประชาชนราว 800 คน
AFP
หลังจากนั้นรัฐบาล ซึ่งก็มาจากการต่อสู้เพื่อการเป็นสาธารณรัฐก็พยายามตีตัวออกห่างจากขบวนการสาธารณรัฐ คือ แม้ว่าตัวเองจะมาจากการต่อสู้ล้มล้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ก็พยายามกลบประวัติศาสตร์นั้นไป หนึ่งในความพยายามก็คือการสั่งให้เก็บภาพ Liberty Guiding the People ของ Delacroix ลง ไม่ให้สาธารณชนได้เห็นอีก โดยให้เหตุผลว่า เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี ทั้งๆ ที่เหตุการณ์การปฏิวัติปี 1830 ที่ภาพนี้บันทึกไว้ คือเหตุการณ์ที่ทำให้กษัตริย์ หลุยส์ ฟิลลีป ได้ขึ้นครองราชย์
อย่างไรก็ตาม ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1848 ก็เกิดการปฏิวัติอีกครั้ง ชื่อว่า February Revolution เป็นผลให้กษัตริย์ หลุยส์ ฟิลลีปที่ 1 ต้องสละราชสมบัติและเสด็จไปลี้ภัยที่อังกฤษจนสิ้นพระชนม์ใน 2 ปีต่อมา February Revolution นี้นำโดยคนชั้นกลางและพ่อค้า หลังจากที่การกบฏเดือนมิถุนายนจบลง รัฐบาลก็ออกกฎหมายห้ามการชุมนุม ชนชั้นกลางและพ่อค้าที่อยากจะชุมนุมพบปะพูดคุยเรื่องการเมืองหรือคุยกับนักการเมืองก็เลยเริ่มจัดงานเลี้ยงระดมทุนที่จริง ๆ แล้วก็คือการชุมนุมทางการเมือง งานเลี้ยงประเภทนี้ก็นิยมมาก จัดกันทั่วประเทศจนรัฐบาลออกกฎหมายห้ามจัดงานเลี้ยงชุมนุมแบบนี้ ก็เลยเกิดการประท้วงขึ้นอีก การประท้วงครั้งนี้ค่อนข้างมีทุนช่วยเหลือ เพราะเริ่มขึ้นจากชนชั้นกลางและการปราบปรามก็เป็นไปได้ยากเพราะก็เพราะเป็นคนชั้นกลาง สุดท้ายนายกรัฐมนตรีลาออกและกษัตริย์ซึ่งก็ยังนึกถึงฉากสุดท้ายของลูกพี่ลูกน้องคือ พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ได้ ก็หนีออกจากฝรั่งเศสไปแบบเงียบ ๆ
หลังจากการปฏิวัติปี ค.ศ. 1848 ระบอบสาธารณรัฐที่เพิ่งจะตั้งไข่ก็ค่อนข้างง่อนแง่นเพราะการออกมาจลาจลของกลุ่มต่าง ๆ นั้นมีข้อเรียกร้องที่ไม่เหมือนกัน และหลาย ๆ กลุ่มก็ได้รับการสนับสนุนโดยพวกเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลต่าง ๆ ข้อเรียกร้องก็เลยไม่ค่อยเป็นสากลเหมือนเรียกร้องผลประโยชน์ของตัวเองมากกว่า แต่สาธารณรัฐที่ 2 ก็ถูกประกาศจัดตั้งขึ้นจนได้ มีรัฐธรรมนูญใหม่ ผู้ชายทั้งหมดได้รับสิทธิในการเลือกตั้ง หมายความว่า มีคะแนนเสียงเพิ่มขึ้นมาอีก 9 ล้านเสียงเลยทีเดียว
AFP
ในที่สุดก็มีการเลือกตั้งและคนที่ได้รับเลือกตั้งก็คือ นายหลุยส์ นโปเลียน โบนาปาร์ต หลานชายของ อดีตจักรพรรดินโปเลียน โบนาปาร์ต นั่นเอง หลุยส์ นโปเลียน นี้มีความพยายามจะกลับมาเป็นผู้ปกครองฝรั่งเศสหลายครั้งมาก พยายามนำทหารมายึดอำนาจมากกว่า 1 ครั้ง ติดคุก หนีคุก พยายามล้อบบี้มหาอำนาจอื่น ๆ ทางยุโรปเพื่อให้ได้รับแรงสนับสนุน และมีความสัมพันธ์ที่ดีเยี่ยมกับผู้นำอังกฤษ
หลุยส์ นโปเลียน โบนาปาร์ต ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐฝรั่งเศสในปี ค.ศ.1848 และในปี ค.ศ. 1851 เมื่อครบเทอมและไม่สามารถเป็นต่อได้อีก หลุยส์ นโปเลียนก็ยึดอำนาจ ทำการปฏิวัติอีกครั้งล้มระบอบสาธารณรัฐแล้วก็ตั้งตัวเองเป็นจักรพรรดินโปเลียนที่ 3
AFP
นโปเลียนที่ 3 เมื่อล้มระบอบสาธารณรัฐและยึดอำนาจก็ยังอุตส่าห์จัดให้มีประชามติ โดยมีคำถามคือ เห็นด้วยกับการล้มล้างการปกครองหรือไม่ ? ผลของประชามติคือ มีผู้เห็นด้วยเจ็ดแสนกว่าคะแนนเสียง และไม่เห็นด้วยหกแสนกว่าคะแนนเสียง ฝ่ายตรงข้ามก็ดิสเครดิตเรื่องโปร่งใสของการทำประชามติ แต่นโปเลียนที่3 ก็เชื่อว่านี่คือการยอมรับจากประชาชน ภายใต้จักรวรรดิฝรั่งเศสที่ 2 ยังมีรัฐสภาอยู่ มีการเลือกตั้งสมาชิก แต่อำนาจของสภานั้นถูกจำกัดมาก หนังสือพิมพ์ถูกเซ็นเซอร์อย่างหนัก และผู้ที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามก็ถูกจับขังคุกเป็นจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตาม โดยมากก็ได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมา
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย
0698966939
บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ก็ได้ทำตามแนวความคิดที่คิดไว้มานานแล้ว คือ มาพร้อมโครงการมากมาย กรุงปารีสได้รับการบูรณะปรับปรุงขึ้นใหม่อย่างงดงาม มีผังเมืองสมัยใหม่ ถนนที่กว้างขวาง โรงโอเปร่า สวนสาธารณะ ระบบรถไฟที่ล้าหลังถูกปรับปรุงอย่างรวดเร็วจนทัดเทียมกับอังกฤษและเยอรมัน รัฐบาลของนโปเลียนที่ 3 ส่งเสริมการค้าและการลงทุนเป็นอย่างมาก ห้างสรรพสินค้าแห่งแรกถูกสร้างขึ้น คือ เลอ บง มาร์เช่ และห้างสรรพสินค้าแพร็งต็องก็เป็นต้นแบบของห้างสรรพสินค้าทั่วโลก นอกจากนี้ในทางการเดินเรือ พาณิชย์นาวีของฝรั่งเศสได้รับการปรับปรุงและส่งเสริมจนมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก เป็นรองเพียงอังกฤษเท่านั้น นโปเลียนที่ 3 สนับสนุนและร่วมลงทุนในการขุดคลองสุเอช ซึ่งทำให้พาณิชย์นาวีของฝรั่งเศสได้รับผลประโยชน์อย่างมหาศาลในเวลาต่อมา นโปเลียนที่ 3 เป็นจักรพรรดิที่ใช้อำนาจได้คุ้มค่ามาก ๆ ในทางศิลปะก็ยังทรงส่งเสริมศิลปินที่ไม่ได้รับการยอมรับจากวงการศิลปะดั้งเดิมด้วย ตัวอย่างที่ดังมาก ๆ ก็คือ งานของเอดูอาร์ด มาเน่ต์ ที่ชื่อว่า มื้อเที่ยงบนสนามหญ้า ที่ออกมาแล้วไม่ได้รับอนุญาตให้แสดงในงานแสดงศิลปะประจำปี แต่จักรพรรดินโปเลียนทรงสั่งให้แสดงงาน แล้วให้ประชาชนตัดสินคุณค่าของงานเอาเอง
AFP
AFP
อย่างไรก็ตามการเมืองระหว่างประเทศเป็นตัวการก่อความสั่นคลอนความมั่นคงของจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ตลอดการครองราชย์ นโปเลียนที่ 3 มีการทำสงครามอย่างต่อเนื่อง ทั้งเพื่อความมั่นคงและเพื่อแผ่ขยายจักรวรรดิ แต่ความล่มสลายของนโปเลียนที่ 3 คือนายพลปรัสเซีย ออตโต วอน บิสมาร์ก
AFP
บิสมาร์กต้องการรวมอาณาจักรเยอรมันซึ่งเป็นภัยต่อฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม นโปเลียนที่3 พยายามหาพันธมิตรเพื่อรบกับบิสมาร์คแต่ก็ไม่สำเร็จ อังกฤษไม่ต้องการเข้าสู่สงครามเพราะรู้สึกว่ามีกองเรือที่สร้างความปลอดภัยให้อยู่แล้ว รัสเซียไม่ไว้ใจฝรั่งเศสเพราะเชื่อว่าฝรั่งเศสสนับสนุนโปแลนด์ให้กระด้างกระเดื่อง กษัตริย์อิตาลีแม้จะมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันก็ไม่กล้าฝืนอารมณ์ประชาชนชาวอีตาลีที่ไม่ชอบฝรั่งเศส ในช่วงนี้ นโปเลียนที่ 3 สุขภาพแย่ลง มีหลายโรครุมเร้า ในที่สุดก็เกิดสงครามกับปรัสเซีย จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 แม้จะป่วยและจิตใจย่ำแย่ก็ยังทรงเดินทางไปนำการรบด้วยพระองค์เอง และทรงถูกบิสมาร์คจับเป็นเชลย กรุงปารีสระส่ำระสาย จักรพรรดินีเสด็จลี้ภัยไปอังกฤษและจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ 2 ก็เป็นอันจบลง
AFP
รัฐสภาประกาศการเริ่มต้นของสาธารณรัฐที่ 3 ในปี ค.ศ.1871 Adolfe Thieres ผู้นำฝ่ายค้านได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐที่ 3 และหลังจากนั้นฝรั่งเศสก็ปกครองในระบอบสาธารณรัฐ มีประธานธิบดีเป็นประมุข และเป็นผู้นำฝ่ายบริหารตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ปัจจุบัน ฝรั่งเศส อยู่ในช่วงสาธารณรัฐที่ 5 หมายความว่ามีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญสาธารณรัฐครั้งใหญ่ ๆ มาอีก 2 ครั้ง แต่ไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองอีกเลย และทั้งหมดนั้นก็คือประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส 82 ปี หลังการปฏิวัติฝรั่งเศสปี ค.ศ. 1789
ร่วมเป็นผู้สนับสนุนให้เรามีกำลังผลิตงานต่อไปได้ทาง บัญชีกสิกรไทย
0698966939
บริษัท สโป๊คดาร์ค จำกัด
123RF

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา