25 ก.ค. 2020 เวลา 08:33 • ประวัติศาสตร์
““สิ่งมหัศจรรย์ทั้ง 7 แห่งโลกยุคโบราณ (Seven Wonders of the Ancient World) สิ่งมหัศจรรย์ในหน้าประวัติศาสตร์โลก” ตอนที่ 7
“ประภาคารฟาโรสแห่งอเล็กซานเดรีย (Lighthouse of Alexandria)”
ในยุคโบราณ ประภาคารที่ตั้งอยู่บนเกาะฟาโรส ใกล้กับท่าเรือเมืองอเล็กซานเดรีย ประเทศอียิปต์ ได้ทำหน้าที่นำทางเรือให้เทียบชายฝั่งอย่างปลอดภัย
4
และในบรรดาสิ่งมหัศจรรย์ทั้งเจ็ด เรียกได้ว่านี่เป็นสิ่งมหัศจรรย์เพียงแห่งเดียวที่มีประโยชน์ ใช้งานจริงได้ทุกวัน
332 ปีก่อนคริสตกาล “พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great)” ได้ทรงก่อตั้งเมืองอเล็กซานเดรีย โดยแต่ละเมืองที่พระองค์ยึดครองนั้น พระองค์ทรงตั้งชื่อเมืองตามพระนามของพระองค์เอง
พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great)
ทุกวันนี้ อเล็กซานเดรียก็ยังคงอยู่ และเป็นเมืองใหญ่ลำดับที่สองของอียิปต์รองจากไคโร
อเล็กซานเดรีย
แทนที่จะเลือกสร้างเมืองบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมแม่น้ำไนล์ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชทรงเลือกบริเวณทางตะวันออก ที่ดูจะเป็นชัยภูมิที่ดีเพื่อสร้างเมือง
ภายหลังพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชสวรรคต เมืองแห่งนี้ก็ได้ถูกสร้างต่อโดย “พระเจ้าปโตเลมีที่ 1 ซอเตอร์ (Ptolemy I Soter)” พระประมุของค์ใหม่แห่งอียิปต์
1
พระเจ้าปโตเลมีที่ 1 ซอเตอร์ (Ptolemy I Soter)
อียิปต์ภายใต้การปกครองของพระเจ้าปโตเลมีที่ 1 นั้นรุ่งเรืองและร่ำรวย มีเรือสินค้าเข้าออกเป็นจำนวนมาก และทำให้พระเจ้าปโตเลมีทรงคิดว่าอเล็กซานเดรียควรจะมีประภาคาร
270 ปีก่อนคริสตกาล พระเจ้าปโตเลมีทรงมีรับสั่งให้สร้างประภาคาร โดยงบประมาณนั้นมหาศาล หากตีตามค่าเงินปัจจุบันจะอยู่ที่ประมาณสามล้านดอลลาร์ (ประมาณ 90 ล้านบาท)
ประภาคารนี้ใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 20 ปี ซึ่งพระเจ้าปโตเลมีที่ 1 ก็ได้สวรรคตไปก่อนที่จะสร้างเสร็จ และในเวลานั้น ก็เป็นสมัยของ “พระเจ้าปโตเลมีที่ 2 (Ptolemy II)” พระราชโอรสของพระเจ้าปโตเลมีที่ 1
พระเจ้าปโตเลมีที่ 2 (Ptolemy II)
สาเหตุที่อเล็กซานเดรียจำเป็นต้องมีประภาคาร ก็เนื่องจากว่าอ่าวรอบๆ นั้นเต็มไปด้วยโขดหิน เรือกรีกและโรมันจำนวนมากได้ชนโขดหินเหล่านี้ทำให้เรือจม การสร้างประภาคารจึงน่าจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้
แต่ถามว่าประภาคารที่สร้างนั้นจำเป็นต้องยิ่งใหญ่เลิศหรูหรือไม่? คำตอบคือ “ไม่จำเป็น”
พระเจ้าปโตเลมีที่ 1 และพระเจ้าปโตเลมีที่ 2 ต้องการแสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของอเล็กซานเดรีย แสดงให้เห็นว่าไม่เพียงแต่เป็นเมืองการค้าเท่านั้น แต่อเล็กซานเดรียยังเป็นศูนย์รวมความเจริญต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านศิลปะ คณิตศาสตร์ดาราศาสตร์ หรือการแพทย์
1
การสร้างประภาคารที่ใหญ่โตย่อมทำให้ผู้คนเห็นถึงความยิ่งใหญ่ของเมืองนี้
ประภาคารนี้ตั้งอยู่ทางตะวันออกของเกาะฟาโรส โดยสร้างมาจากหินปูนขาว แต่เนื่องจากหินปูนขาวนั้นไม่แข็งแรงพอ ภายหลังจึงมีการปรับปรุงบางส่วนโดยใช้หินแกรนิต
1
จากบันทึกของนักเดินทาง เล่ากันว่าประภาคารนี้สูงระหว่าง 450-600 ฟุต ซึ่งเท่ากับตึกสูงประมาณ 40 ชั้น
1
ด้วยความสูงและคาดว่าสีของประภาคารน่าจะเป็นสีขาวทั้งตึก ทำให้ประภาคารนี้เห็นได้ชัด แม้แต่ในเวลากลางคืน ซึ่งเป็นผลดีต่อเหล่าเรือทั้งหลาย
ภายในนั้นมีขนาดกว้างและมีที่ลาดให้วัวขนไม้ขึ้นไปยังยอดของประภาคาร และมีหน้าต่างเพื่อให้แสงเข้ามาภายใน
บนยอดของประภาคารคือหลังคาทรงโดมที่ใช้จุดไฟให้แสงสว่าง ซึ่งจากบันทึกในสมัยโบราณ มีการใช้กระจกขนาดใหญ่เพื่อส่องแสงไปยังจุดต่างๆ แต่นักประวัติศาสตร์หลายคนก็ยังไม่เชื่อเรื่องนี้นัก
1
บนยอดสุดนั้นมีรูปปั้นของเทพเจ้ากรีก ซึ่งอาจจะเป็นเทพโพไซดอน (Poseidon) หรือไม่ก็เทพเฮลิออส (Helios)
ในเวลากลางวัน ควันไฟจากประภาคารจะช่วยนำทางเรือให้แล่นเข้ามาเทียบท่า ส่วนในเวลากลางคืน แสงไฟจากประภาคารก็จะช่วยให้เรือไม่ชนหิน
แม้แต่ในยุคโบราณ ประภาคารแห่งนี้ก็เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวที่สำคัญ และประภาคารแห่งนี้ก็ยืนยงมาเป็นเวลานานกว่า 1,600 ปี
แต่เมื่อสิ้นสุดศตวรรษที่ 10 ประภาคารแห่งนี้ก็เริ่มเสื่อมโทรม มีการปรับปรุงประภาคาร ทำให้ความสูงของประภาคารลดลง
8 สิงหาคม ค.ซ.1303 (พ.ศ.1846) ได้เกิดแผ่นดินไหวในอเล็กซานเดรีย ทำให้เมืองได้รับความเสียหายอย่างมาก รวมทั้งประภาคารเองก็ได้รับความเสียหาย
ประภาคารแห่งนี้พังลงมาอย่างถาวรในปีค.ศ.1375 (พ.ศ.1918) และเศษซากของประภาคารก็ยังคงกองอยู่ที่จุดเดิมจนถึงค.ศ.1480 (พ.ศ.2023) เมื่อมีการนำหินจากเศษซากประภาคารไปใช้ในการก่อสร้างป้อมปราการบนเกาะฟาโรส ซึ่งป้อมเหล่านั้นก็ยังคงอยู่จนทุกวันนี้
1
ในบรรดา 7 สิ่งมหัศจรรย์แห่งโลกยุคโบราณ ประภาคารฟาโรสแห่งอเล็กซานเดรียน่าจะเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่มีข้อมูลหลักฐานมากที่สุด
มีการนำรูปของประภาคารมาปั๊มลงบนเหรียญ และยังมีภาพโมเสกของประภาคารถูกค้นพบอีกเป็นจำนวนมาก
ได้มีการสำรวจซากประภาคารบางส่วนที่จมอยู่ใต้ท้องทะเลในปีค.ศ.1968 (พ.ศ.2511) และมีการสำรวจอีกครั้งในยุค 90 (พ.ศ.2533-2542) เมื่อนักประดาน้ำได้พบกับหินขนาดใหญ่ที่จมอยู่ใต้ท้องทะเล ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของอาคารใหญ่และยังพบรูปปั้นที่คาดว่าเคยยืนอยู่ที่ฐานของประภาคารอีกด้วย
1
ปัจจุบัน ถึงแม้ประภาคารนี้จะไม่เหลือความยิ่งใหญ่ให้ได้เห็นแล้ว แต่สำหรับชาวอเล็กซานเดรีย ประภาคารนี้คงเป็นความยิ่งใหญ่ที่ทุกคนไม่มีวันลืมและยังคงเล่าขานกันไปอีกนานแสนนาน
จบลงแล้วสำหรับซีรีส์ชุดนี้
สำหรับซีรีส์ต่อไปที่จะมาในวันจันทร์ นั่นคือ “มาร์โค โปโล (Marco Polo) นักเดินทางในตำนาน”
จะมาตอนแรกในวันจันทร์นี้ ฝากติดตามด้วยนะครับ
โฆษณา