27 ก.ค. 2020 เวลา 14:28 • หุ้น & เศรษฐกิจ
คัดหุ้นดี ด้วยวิธีอ่านงบการเงิน
พอเห็นคำว่างบการเงิน หลายคนอาจจะร้องยี้ เอาอีกแล้ว แต่ถ้าเราอยากจับปลา ก็ต้องเรียนรู้วิธีการใช้เครื่องมือจับปลา ถูกต้องไหมคะ 😉😉
การลงทุนให้ประสบความสำเร็จในระยะยาว งบการเงินเป็นข้อมูลสำคัญที่สะท้อนถึงฐานะทางการเงินและความมั่นคงของธุรกิจ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจของนักลงทุนค่ะ
แต่ปัจจุบัน ก็ยังมีนักลงทุนจำนวนไม่น้อยที่ตัดสินใจซื้อหุ้น โดยที่ไม่ศึกษาข้อมูลงบการเงิน ด้วยเหตุผลต่างๆ นาๆ เช่น อ่านงบยาก ไม่รู้จะเริ่มต้นตรงไหน มีความซับซ้อน ใช้เวลาศึกษานาน เป็นต้น
ดังนั้น นักลงทุนหลายคนยังคงซื้อหุ้นด้วยความประมาท จากการดูเพียงราคาหุ้นตัวนั้นๆ หรือด้วยอารมณ์ชั่ววูบ หรือจากคำแนะนำของเพื่อนบ้าง
บางครั้งบางคราว ก็อาจจะโชคดี เจอหุ้นตัวที่กำลังเป็นขาขึ้นพอดี ก็ได้ทำกำไรกันไป แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์ตรงกันข้าม อาจทำให้เสียหายได้ในชั่วพริบตานะคะ
ดังนั้น ในการเลือกหุ้นเพื่อการลงทุนระยะยาว สิ่งสำคัญนั้นก็คือ พื้นฐานหุ้นต้องดีในตัวของเค้าเอง ซึ่งเครื่องมือที่ใช้พิจารณา ก็คือ งบการเงิน นั่นเองค่ะ
สำหรับนักลงทุนที่ยังมองว่างบการเงิน เป็นเรื่องน่าเบื่อ เต็มไปด้วยตัวเลข อย่าพึ่งท้อใจไปนะคะ เพราะเรามีเทคนิคในการอ่านงบการเงินอย่างง่ายและตัดสินใจได้ว่า บริษัทนั้นมีสุขภาพทางการเงินเป็นอย่างไร และน่าลงทุนหรือไม่ ดังนี้ค่ะ
1. งบแสดงฐานะการเงิน หรือ งบดุล
ลำดับแรกที่ควรดูก็คือ รายการสินทรัพย์ โดยการแสดงสินทรัพย์จะเรียงตามสภาพคล่อง ดังนั้น เงินสดจะโชว์อยู่ในบรรทัดแรก เพราะมีสภาพคล่องสูงที่สุดและสามารถนำไปใช้จ่ายได้ทันที นั่นหมายความว่า บริษัทต้องมีสินทรัพย์ที่สามารถแปลงเป็นเงินสดได้ในทันที หรือเร็วที่สุด
ลำดับถัดมา ให้ดูหนี้สิน ซึ่งก็มีหนี้สินหมุนเวียนกับหนี้สินไม่หมุนเวียน โดยข้อมูลนี้จะทำให้เห็นสภาพคล่องด้านการเงิน เพราะบริษัทควรมีสินทรัพย์หมุนเวียน มากกว่าหนี้สินหมุนเวียน นั่นหมายความว่า เมื่อรวมสินทรัพย์กับรวมหนี้สินแล้ว ฝั่งสินทรัพย์ควรมีมากกว่า
ลำดับสุดท้าย ส่วนของผู้ถือหุ้นและกำไรสะสม ซึ่งบอกถึงเงินลงทุนตั้งแต่เริ่มจัดตั้งรวมกับกำไรสุทธิที่ทำมาหากินได้ (อาจจะฟังดูบ้านๆ ไปหน่อย แต่ผู้เขียนอยากให้คุณผู้อ่านเข้าใจง่ายค่ะ 😁)
หากมีกำไรสะสมสูงแสดงถึงความสามารถในการทำธุรกิจดีมีประสิทธิภาพและมีโอกาสที่บริษัทจะจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น อีกทั้งใช้ตรวจสอบถึงความมั่นคงของบริษัทได้อีกด้วย โดยผ่านอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio)
หากผลลัพธ์ D/E Ratio ออกมาสูง แสดงว่าบริษัทมีการกู้หนี้ยืมสินมาดำเนินธุรกิจมากจนเกินไป หากสนใจอยากลงทุนก็ควรเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะในอนาคตอาจจะมีปัญหาด้านสภาพคล่อง ดังนั้น อัตราส่วนนี้ “ยิ่งต่ำก็ยิ่งดี” ซึ่งโดยทั่วไปแล้วไม่ควรเกิน 2 เท่า
งบดุลจะบอกให้รู้ว่าสถานะหรือความมั่งคั่งของบริษัทเป็นอย่างไร หากบริษัทมีโครงสร้างฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ย่อมทำให้สามารถดำเนินธุรกิจสร้างการเติบโตได้ในระยะยาว
2. งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ
1
อย่างแรกที่ต้องดูคือ รายได้ บอกถึงการขายสินค้าหรือบริการได้มากน้อยแค่ไหน ส่วนที่สอง คือ ค่าใช้จ่ายจะบอกให้รู้ว่าในงวดนั้นๆ บริษัทมีประสิทธิภาพในการควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายดีแค่ไหน
งบนี้แสดงให้เห็นว่าในแต่ละงวดของการดำเนินงานของบริษัทเป็นอย่างไร บริษัทสามารถทำธุรกิจได้ดีแค่ไหน มีโอกาสเติบโตในอนาคตหรือไม่ และมีความสามารถในการทำกำไรสู้กับคู่แข่งได้หรือไม่
3. งบกระแสเงินสด
ในเบื้องต้น ช่วยให้เห็นถึงพฤติกรรมการได้มาและการใช้ไปของเงินทุน หากบริษัทใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพย่อมทำให้นักลงทุนมีความมั่นใจได้ว่าบริษัทจะเติบโตในระยะยาว
งบกระแสเงินสด บอกให้รู้ว่า บริษัทมีสภาพคล่องในการทำธุรกิจมากน้อยแค่ไหน มีแหล่งเงินทุนมาจากที่ไหนบ้าง และใช้เงินไปลงทุนอะไรบ้าง ซึ่งข้อมูลส่วนนี้จะมาจากกิจกรรมการดำเนินงาน การลงทุนและการจัดหาเงินทุน
4. อัตราส่วนทางการเงิน
1
เป็นสิ่งสำคัญในการใช้ตัดสินใจเลือกหุ้น เพราะเป็นการประเมินฐานะทางการเงินและความสามารถในการทำกำไร โดยส่วนใหญ่จะต้องทำการเปรียบเทียบกับคู่แข่งที่อยู่ในธุรกิจเดียวกัน เพื่อจะได้รู้ว่าแต่ละบริษัทมีข้อดี และข้อเสียต่างกันอย่างไร
2
ด้วยเทคโนโลยียุคใหม่ที่ทันสมัย สามารถใช้เครื่องมือ หรือแอพต่างๆ ที่ช่วยในการคำนวณอัตราส่วนทางการเงินได้ โดยไม่จำเป็นต้องคำนวณเอง ที่สำคัญคือ ต้องอ่านและวิเคราะห์ให้เป็นก็เพียงพอค่ะ 😉😉
5. EBITDA (กำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย, ภาษี, ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย)
ค่านี้ เพิ่งจะลงบทความล่าสุดก่อนหน้านี้เองค่ะ สามารถย้อนกลับไปหาอ่านได้ค่ะ ซึ่งมันมีความสำคัญที่ช่วยให้นักลงทุน ใช้ในการตัดสินใจเลือกหุ้นได้ดีเช่นเดียวกันค่ะ
 
โดยที่ประโยชน์ของ EBITDA ก็คือ ทำให้รู้ว่าเป็นกําไรจากการดําเนินงานที่เป็นเงินสด หรือใกล้เคียงเงินสดจริงๆ เป็นเท่าไร โดยได้จากการนำ EBIT มาบวกกลับด้วย DA (ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย)
สาเหตุที่ต้องนำ DA บวกกลับเข้า EBIT คืน เนื่องจาก DA ถือเป็นค่าใช้จ่ายทางบัญชี แต่บริษัทไม่ได้ควักเงินสดจ่ายออกไปจริง ดังนั้น ถ้าอยากรู้กำไรจากการดำเนินงานที่เป็นเงินสดจริงๆ ก็ต้องนำ DA บวกกลับเข้าไป
บางท่านอาจสงสัยว่า ค่าใช้จ่ายทางบัญชีที่บริษัทไม่ได้จ่ายเงินสดออกไปจริงก็มีอยู่หลายอย่าง ทำไมไม่นำมาบวกกลับไปด้วย คำตอบก็คือ เพราะค่าใช้จ่ายเหล่านั้นมีมูลค่าไม่สูงมากนัก ซึ่งต่างจาก DA ที่ค่อนข้างมีมูลค่าสูงจนถึงระดับที่ถือได้ว่ามีนัยสำคัญสำหรับธุรกิจบางประเภท
ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจที่ใช้เครื่องจักรมูลค่าสูงๆ ธุรกิจโรงแรม อสังหาริมทรัพย์ให้เช่า เป็นต้น ซึ่งโดยธรรมชาติแล้ว กิจการพวกนี้จะมี DA สูงมาก ทำให้บริษัทมีกำไรที่แฝงอยู่ในรูปเงินสดมากกว่ากำไรที่เห็นในงบการเงิน (EBIT)
จากข้อมูลที่กล่าวมา เป็นเพียงการศึกษางบการเงินในเบื้องต้นเท่านั้น หากต้องการเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จในระยะยาว ต้องศึกษาหาความรู้ลงลึกในรายละเอียดอีก ที่สำคัญต้องติดตามดูข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ เพราะงบการเงินเป็นข้อมูลสำคัญที่สะท้อนถึงฐานะทางการเงินและความมั่นคงของบริษัท จึงเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจของนักลงทุน
1
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากงบการเงินเป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต ที่อาจส่งผลต่อเนื่องไปยังอนาคตได้ ไม่ใช่เรื่องอนาคต แต่สามารถคาดการณ์อนาคตได้ด้วยข้อมูลในอดีตนั่นเอง (ฟังแล้วงงๆ ม่ะ 😂😂)
 
ดังนั้น นักลงทุน จึงควรศึกษาหาข้อมูล หรือสถานการณ์ปัจจุบันอื่นๆ มาช่วยประกอบด้วย เพื่อประสิทธิภาพในการใช้ข้อมูลและเพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้นะคะ
2
เรียบเรียงโดย : ลงทุนในบัญชีและภาษี
ขอบคุณสำหรับการติดตามนะคะ ^o^

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา