31 ก.ค. 2020 เวลา 00:13 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
แพงพวยฝรั่ง ไม้ประดับมูลค่ามหาศาล
แพงพวยฝรั่งเป็นพืชดอกที่ไว้สำหรับประดับตกแต่งที่เราสามารถพบเห็นได้ทั่วไป เนื่องจากปลูกง่าย ออกดอกง่ายและดอกมีความสวยงาม นอกจากนั้นแล้วพืชชนิดนี้ยังมีสารกลุ่มอัลคาลอยด์ที่มีฤทธิ์เป็นยาได้ ทำให้แพงพวยฝรั่งนี้ถูกปลูกแพร่หลายมากขึ้นอีก
แพงพวยฝรั่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า [Catharanthus roseus] อยู่ในวงศ์ตีนเป็ดหรือวงศ์ไม้ลั่นทม พืชในวงศ์นี้มีลักษณะเด่นคือ ทุกส่วนของต้นพืชจะมีน้ำยางขาว โดยมีแพงพวยฝรั่งจะมีพืชร่วมสกุล [Catharanthus] อยู่ทั้งสิ้น 8 ชนิด โดย 7 จาก 8 ชนิดรวมทั้งแพงพวยฝรั่งจะพบแพร่กระจายอยู่เฉพาะบนเกาะมาดากัสการ์เท่านั้น ซึ่งเป็นเกาะขนาดใหญ่อยู่ในมหาสมุทรอินเดียทางตะวันออกของทวีปแอฟริกา ส่วนอีก 1 ชนิดที่เหลือพบในอินเดียและศรีลังกา
1
ตำแหน่งของเกาะมาดากัสการ์ (สีฟ้าเข้ม) ในทวีปแอฟริกา (สีฟ้าอ่อน) (ที่มา By Location_Madagascar_AU_Africa.png: Addicted04derivative work: Addicted04 (talk) - Location_Madagascar_AU_Africa.png, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=6701154)
แพงพวยฝรั่งถูกนำไปจากเกาะมาดากัสการ์ไปปลูกที่ประเทศต่างๆ ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 18 โดยเริ่มต้นจากเมล็ดของพืชชนิดนี้ถูกนำจากเกาะมาดากัสการ์ไปปลูกในเมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส และจากนั้นแพงพวยฝรั่งก็กระจายในทวีปยุโรป และในประเทศเขตร้อนต่างๆ เพื่อถูกใช้เป็นไม้ประดับ รวมทั้งในประเทศไทยด้วย
ถึงแม้ในประเทศไทยและในประเทศในเขตร้อนอื่นๆ จะมีการปลูกแพงพวยฝรั่งแพร่กระจายอยู่ทั่วไป แต่ว่าในแหล่งแพร่กระจายพันธุ์ตามธรรมชาติบนเกาะมาดากัสการ์กลับพบว่าแพงพวยฝรั่งมีจำนวนน้อยลง โดยมีการแพร่กระจายจำกัดและมีภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เนื่องจากการเผาและแผ้วถางพื้นที่ที่แพงพวยฝรั่งขึ้นเพื่อการเกษตรของคนบนเกาะ โดยในธรรมชาติแพงพวยฝรั่งมักจะขึ้นบริเวณชายฝั่งที่มีลักษณะเป็นดินทราย หรือบริเวณปากแม่น้ำหรือตามพื้นที่รกร้างที่ถูกรบกวนสูง เช่น ชายป่า ริมถนนพื้นที่ทิ้งร้างต่างๆ โดยพืชจะสามารถทนความเค็มและความแห้งแล้งได้ดี แต่ไม่ทนร้อนมากนัก
สายพันธุ์ต่างๆ 8 สายพันธุ์ ของแพงพวยฝรั่ง (ที่มา Makki et al., 2019)
นอกจากการปลูกเป็นไม้ประดับแล้ว แพงพวยฝรั่งยังถูกนำมาใช้เป็นยาอีกด้วย โดยส่วนที่งอกจากพื้นดินจะมีการผลิตยางที่มีสารที่ชื่อว่า vincristine และ vinblastine ซึ่งเป็นสารกลุ่มอัลคาลอยด์ ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นสารต้านมะเร็ง และสามารถนำมาใช้ในการทำเคมีบำบัดได้ ส่วนรากก็มีสาร ajmalicine ที่ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดได้ และถูกนำมาใช้ในการรักษาโรคในสมองและระบบประสาท โดยมูลค่าของยาที่ผลิตมาจากแพงพวยฝรั่งนี้มีสูงกว่าหลายร้อยล้านเหรียญต่อปี โดยราคาของยาที่ผลิตจากสาร vincristine และ vinblastine มีมูลค่าประมาณ 150-300 ล้านเหรียญต่อปี (ประมาณ 4,500 ถึง 9,000 ล้านบาท) ในขณะที่ยาจากสาร ajmalicine มีมูลค่ามากกว่า 4 ล้านเหรียญต่อปี (ประมาณ 120 ล้านบาท)
1
ในเมื่อเรามีแพงพวยฝรั่งแล้ว แพงพวยไทยหรือเปล่า?
ในประเทศไทย เราพบพืชอีกชนิดหนึ่งที่มีชื่อคล้ายๆ กับแพงพวยฝรั่งอยู่ในธรรมชาติ นั่นคือ แพงพวยน้ำ หรือผักพังพวย หรือผักปอดน้ำ [Ludwigia adscendens] ซึ่งพบแพร่กระจายในวงกว้าง ตั้งแต่ทวีปแอฟริกา เอเชีย ไปจนถึงออสเตรเลีย มีลักษณะใบและดอกคล้ายกันกับแพงพวยฝรั่ง แต่เป็นพืชคนละกลุ่ม โดยเป็นพืชในวงศ์พญารากดำ (Family Onagraceae)
แพงพวยน้ำ หรือผักพังพวย (ที่มา By Forestowlet - Own work, CC BY-SA 4.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=34476375)
สำหรับพืชที่มีสารออกฤทธิ์แปลกๆ อีกชนิด คือ มินต์ครับ ลองอ่านดูครับ แล้วจะรู้จักมินต์มากขึ้น
เอกสารอ้างอิง
4. Rania M. Makki, Areej A. Saeedi, Thana K. Khan, Hani M. Ali & Ahmed M. Ramadan (2019) Single nucleotide polymorphism analysis in plastomes of eight Catharanthus roseus cultivars, Biotechnology & Biotechnological Equipment, 33:1, 419-428, DOI: 10.1080/13102818.2019.1579671
5. PROTA, 2015. PROTA4U web database. Grubben GJH, Denton OA, eds. Wageningen, Netherlands: Plant Resources of Tropical Africa. http://www.prota4u.info
ผมมีเพจใน Facebook ด้วยนะครับ สามารถไปติดตามกันได้ที่
(ปกติจะโพสต์ลิงค์เข้ามาใน Blockdit ครับ)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา