7 ส.ค. 2020 เวลา 00:13 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
น้อยหน่า น้อยโหน่ง และทุเรียนเทศมาจากไหน?
น้อยหน่า
น้อยหน่า (Sugar apple) [Annona squamosa] น้อยโหน่ง (Custard apple) [Annona reticulata] ทุเรียนเทศ (Soursop) [Annona muricata] และน้อยหน่าออสเตรเลีย หรือ เชอรีโมยา (Cherimoya) [Annona cherimola] เป็นชนิดพันธุ์ที่ใกล้ชิดกัน โดยอยู่ในสกุลเดียวกัน คือ สกุล [Annona] โดยเป็นพืชในวงศ์กระดังงา (Family Annonaceae) พืชทั้ง 4 ชนิดมีผลลักษณะคล้ายกันคือ ผลเป็นผลกลุ่ม มีเนื้อสีขาว เมล็ดสีดำ มีจำนวนมาก ถึงแม้ว่าผลของทุเรียนเทศจะมีลักษณะต่างจากพืชชนิดอื่น คือ มีหนามแหลมคล้ายกับทุเรียนก็ตาม
ผลน้อยโหน่ง (ที่มา โดย California Department of Food and Agriculture:http://www.cdfa.ca.gov/phpps/pe/page43)
ทุเรียนเทศ (ที่มา By Muhammad Mahdi Karim - Own work, GFDL 1.2, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=24517465)
น้อยหน่าออสเตรเลียหรือเชอรีโมยา (ที่มา By Hannes Grobe 21:22, 5 November 2006 (UTC) - Own work, CC BY-SA 2.5, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=1343754)
ถึงแม้ว่าเราจะพบพืชทั้งสี่ชนิดถูกปลูกในประเทศไทย แต่ว่าพืชทั้งสี่ไม่ได้มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยและไม่มีแพร่กระจายในธรรมชาติ แต่พืชสกุลนี้ถูกนำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยพื้นที่ที่พบน้อยหน่า น้อยโหน่งและน้อยหน่าออสเตรเลียแพร่กระจายในธรรมชาติคือ บริเวณอเมริกาใต้จนถึงหมู่เกาะเวสต์อินดีส ซึ่งบริเวณนี้ก็เป็นบริเวณที่พืชในสกุล [Annona] มีความหลากหลายสูงมากที่สุด ทำให้คาดว่าพืชสกุลนี้มีถิ่นกำเนิดในบริเวณนี้
น้อยหน่าออสเตรเลียถูกนำมาปลูกเพื่อเป็นพืชอาหารในทวีปอเมริกาใต้มาตั้งแต่โบราณ โดยเมล็ดของพืชชนิดนี้ถูกพบในพื้นที่แหล่งโบราณคดีในประเทศเปรูและพบรูปปั้นของผลไม้นี้ในหม้อโบราณก่อนยุคอินคาอายุ 2,000 - 3,000 ปี และหลังจากที่ชาวสเปนได้ล่าอาณานิคมในอเมริกาใต้ ชาวสเปนก็นำน้อยหน่าออสเตรเลียนี้ไปปลูกในพื้นที่ต่างๆ ทั้งในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน แอฟริกา และในเอเชีย
หม้อทรงเชอรีโมยาจากประเทศเปรู (ที่มา By Bkwillwm - Own work, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=8965153)
น้อยโหน่งพบแพร่กระจายมากในเขตร้อนในอเมริกาใต้ โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณชายฝั่งทางด้านตะวันออก และน้อยหน่ามีจุดกำเนิดในที่ราบต่ำของอเมริกากลางในประเทศเม็กซิโก และได้แพร่กระจายไปยังประเทศบราซิลในช่วงศตวรรษที่ 16 ทั้งน้อยหน่าและน้อยโหน่งถูกนำเข้ามาในทวีปเอเชีย ประมาณช่วง 500 ปีก่อน และถูกนิยมปลูกโดยเฉพาะในอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนถึงประเทศจีน จนทำให้น้อยหน่ามีความหลากหลายในประเทศอินเดีย และทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า น้อยหน่าเป็นพืชที่มีจุดกำเนิดในอินเดีย
ในขณะที่ทุเรียนเทศนั้นถูกพบแพร่กระจายในธรรมชาติในเขตตะวันออกของแอฟริกาในเขตประเทศแทนซาเนีย เคนยา และโมซัมบิก ทำให้เชื่อว่าต้นกำเนิดของทุเรียนเทศนั้นน่าจะอยู่ในแอฟริกามากกว่าในอเมริกาใต้เหมือนพืชชนิดอื่นๆ และถูกนำเข้าไปปลูกในประเทศบราซิลในช่วงศตวรรษที่ 16
ทำไมพืชที่มีความใกล้เคียงกัน 2 กลุ่ม มีจุดกำเนิดในการแพร่กระจายที่แตกต่างกัน ชนิดหนึ่งพบในแอฟริกา ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งพบในทวีปอเมริกาทั้งๆ ที่ทวีปทั้งสองห่างกันเกือบ 9,000 กิโลเมตร?
แผนที่โลกในยุคปัจจุบัน ระยะทางระหว่างทวีปแอฟริกากับทวีปอเมริกาใต้เท่ากับ 9,000 กิโลเมตร (ที่มา https://mapswire.com/world/physical-maps/)
นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการศึกษาหาต้นกำเนิดของพืชในสกุล [Annona] และพบว่าพืชกลุ่มนี้น่าจะมีจุดกำเนิดในทวีปแอฟริกา และอเมริกาใต้ในช่วงตอนปลายของยุคครีเทเชียส (100-66 ล้านปีก่อน) ในขณะที่สองทวีปนี้อยู่ใกล้ชิดกัน (ดูภาพข้างล่าง) จากนั้นพืชกลุ่มนี้มีการแพร่กระจายขึ้นไปทางเหนือ ซึ่งในยุคนั้นยังรวมกันเป็นทวีปใหญ่ที่เรียกว่า Laurasia (ทวีปยุโรป เอเชีย และอเมริกาเหนือในปัจจุบัน) โดยมีหลักฐานที่สนับสนุนคือ มีการพบฟอสซิลในสมัยอีโอซีน (56-33.9 ล้านปีก่อน) ของพืชกลุ่มนี้ในประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา แต่เนื่องจากพืชเหล่านี้เป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในเขตร้อน ทำให้ต่อมาพืชเหล่านี้สูญพันธุ์ไปจากพื้นที่เขตอบอุ่น เหลือแต่พบในเขตร้อนเท่านั้น
ทวีปในสมัยครีเทเชียสตอนปลายที่ทวีปแอฟริกายังใกล้กันกับทวีปอเมริกาใต้ (ที่มา Mannion 2013)
มีบทความเกี่ยวกับทุเรียนเทศ ก็มีบทความเกี่ยวกับทุเรียนเช่นกันครับ
เอกสารอ้างอิง
1. Pinto, A.C.Q. & Cordeiro, Maria Cristina & Andrade, Solange & Ferreira, F.R. & Filgueiras, H.A.C. & Alves, Ricardo & Kinpara, Daniel. (2005). Annona Species.
2. James A. Doyle, Hervé Sauquet, Tanya Scharaschkin, and Annick Le Thomas. Phylogeny, Molecular and Fossil Dating, and Biogeographic History of Annonaceae and Myristicaceae (Magnoliales)
International Journal of Plant Sciences 2004 165:S4, S55-S67
3. Mannion, P. D. (2013). "The latitudinal biodiversity gradient through deep time". Trends in Ecology and Evolution 29 (1). DOI:10.1016/j.tree.2013.09.012.
ผมมีเพจใน Facebook ด้วยนะครับ สามารถไปติดตามกันได้ที่ (ปกติจะโพสต์ลิงค์เข้ามาใน Blockdit ครับ)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา