Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
โคลงชมวัด
•
ติดตาม
17 ส.ค. 2020 เวลา 22:55 • ประวัติศาสตร์
ช_๐๓๒_วัดแม่นางปลื้ม อยุธยา
รูปปั้นพระนเรศที่พระราชวังจันทร์ พิษณุโลก
รูปปั้นพระนเรศที่ดอนเจดีย์
...หลังจากสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จสวรรคตประมาณ ๕๐ ปีวันวลิต หรือเยเรเมียส
ฟาน ฟลีต พ่อค้าชาวเนเธอร์แลนด์ ของบริษัทดัตช์อีสต์อินเดียที่เข้ามาในรัชกาลต่อต่อมาได้เขียนบันทึกไว้ (มรว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ถอดความ)
...."แม่ปลื้มเป็นชาวบ้านธรรมดา อยู่ริมน้ำชานเมืองพระนครคนเดียวไม่มีลูกหลาน วันหนึ่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จพายเรือมาแต่พระองค์เดียวท่ามกลางสายฝน เมื่อเสด็จมาถึงเห็นกระท่อมยังมีแสงตะเกียงอยู่เวลานั้นค่ำแล้ว พระองค์จึงได้แวะขึ้นมาในกระท่อม เมื่อแม่ปลื้มเห็นชายฉกรรจ์เสื้อผ้าเปียกเดินขึ้นมา จึงได้กล่าวเชื้อเชิญต้อนรับด้วยความมีน้ำใจ แต่พระองค์ท่านเสียงดังตามบุคลิกของนักรบชายชาตรี แม่ปลื้มจึงได้กล่าวเตือนว่า ลูกเอ๋ย เจ้าอย่าเสียงดังนักเลย เวลานี้ค่ำมากแล้ว เดี๋ยวพระเจ้าแผ่นดินท่านทรงได้ยินจะโกรธเอา พระองค์กลับตรัสด้วยเสียงดังว่า ข้าอยากดื่มน้ำจัณฑ์ ข้าเปียกฝน ข้าหนาว อยากได้น้ำจัณฑ์ให้ร่างกายอบอุ่น พลันแม่ปลื้มยิ่งตกใจมากขึ้น เพราะว่าวันนี้เป็นวันพระ
..... แม่ปลื้มได้กล่าวว่าถ้าจะดื่มจริงๆ เจ้าต้องสัญญาไม่ให้เรื่องแพร่งพราย เดี๋ยวพระเจ้าแผ่นดินรู้จะอันตราย พระองค์รับปาก แม่ปลื้มจึงได้หยิบน้ำจัณฑ์ให้ดื่มพระองค์ได้เสด็จประทับค้างคืนที่บ้านแม่ปลื้มก่อนจะเสด็จกลับวังในตอนเช้าต่อมาพระองค์จัดขบวนมารับแม่ปลื้มไปเลี้ยงในวัง ด้วยความที่แม่ปลื้มเป็นคนมีเมตตา จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ หลังจากแม่ปลื้มได้เสียชีวิตลง สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้จัดงานศพให้อย่างสมเกียรติ ต่อมาพระองค์ได้บูรณะวัดให้แม่ปลื้ม ซึ่งเป็นวัดร้างอยู่และให้นามว่า “วัดแม่นางปลื้ม” "
+++++++++++++++++++++++++++++++++
....ไม่ว่าเรื่องเล่าของวันวลิตจะเป็นเรื่องจริงเท็จอย่างไร เพราะข้อมูลของวันวลิตเหมือนเขาเล่ามา
ในแง่ประวัติศาสตร์ถือว่าเป็นข้อมูลชั้นรอง ไม่ว่าเราจะดูภาพยนต์เกี่ยวกับพระนเรศอย่างเอาจริงเอาจังอย่างไร เราค้นคว้าเรื่องพระนเรศในระดับทั่วๆไป_แต่เรื่องเล่าดังกล่าวนี้ก็ถูกจดจำจนแทบจะกลายเป็นเรื่องจริงในประวัติศาสตร์เอาทีเดียว
.
๏๑.วิกาลมืดพายุคลุ้ม....ฝนสาด
เลียบเรือลอยลำวาด......ตลิ่งน้ำ
วิบแสงตะเกียงฉาด........ท้บน้อย
เปียกหนาวขัตติยะย้ำ.....พักพิง ฯ
๏๒.เจ้าบ้านอันใจแย้ม.....อารี
ดูแลแขกวิกาลอิง............พักเหย้า
"เบาหน่อยพ่อ"เสียงนี้......จะดัง
อันตรายตกแก่เจ้า..........ใกล้วัง (ลูกเอ๋ย) ฯ
๏๓.ผ่อนพักจนรุ่งแจ้ง......คืนเวียง
นเรศหวนเมตตายัง..........แม่ปลื้ม
รับบำรุงหล่อเลี้ยง............ราวแม่
ยามเสี้ยงเสก"แม่ปลื้ม".....นามอาราม ฯ
๏๔.ข่าวสารจากอดีตนี้..........พึงฟัง
"ประวัติศาสตร์"มองมุมตาม...เหตุเกื้อ
เหตุผลเรื่องเล่ายัง................ประมวล
จริงเท็จเฉกผ่านเยื้อ.............กึ่งก้ำ ฯ
.
หลวงพ่อขาว
......จดหมายเหตุของ วัน วลิต พ่อค้าชาวเนเธอร์แลนด์ ของบริษัทดัตช์อีสต์อินเดีย แกเป็นผู้อำนวยการการค้าของอีสต์อินเดียในกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ระหว่าง พ.ศ. 2176 ถึงพ.ศ. 2185 เป็นเหมือนบันทึกเหตุการณ์ที่ทำรายงานต่อผู้สำเร็จราชการของดัตช์ มีสามฉบับและฉบับหนึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับกษัตริย์ไทยในกรุงศรีอยุธยา จดหมายดังกล่าวถูกค้นพบที่เนเธอร์แลนด์หลังสงครามโลกครั้งที่สอง มีหลายต่อหลายตอนน่าสนใจ เพราะจริงๆจดหมายนี้เขียน เพื่อกลับไปยังเนเธอร์แลนด์รายงานเจ้านายไม่ได้เขียนเพื่อคนกรุงศรีอยุธยาอ่าน ท่าทีของฝรั่งที่ถือเป็นรุ่นแรกที่เข้ามาในอยุธยานี้น่าสนใจด้วยมีการบันทึกถึงรายละเอียดที่คนบ้านเราไม่กล้าบันทึก โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ยิ่งสมัยก่อนด้วยแล้วระบบราชาธิราชเข้มแข็งหลายอย่างวันวลิตก็เหมือนเอามาเขียนแบบเขาเล่าว่า ในบ้านเรายุคนั้นบางทีมีเรื่องแบบไสยศาสตร์หรือความเชื่อโดยเฉพาะเรื่องพระเจ้าอู่ทองของวันวลิตเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับพงศาวดารอื่นๆไปหมดราวกับไปฟังใครเล่ามาโดยไม่ได้สอบทาน เช่นว่าท่านเป็นเจ้ามาจากเมืองจีนเลย แต่ที่ละเอียดมากและน่าเชื่อถือคือการผลัดแผ่นดินมาเป็นพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งเป็นช่วงที่วันวลิตอยู่ในกรุงศรีอยุธยา จริงๆเรื่องพระนเรศก็เหมือนเป็นเรื่องบอกเล่าโดยเฉพาะความเฉียบขาดของพระนเรศ การปกครองที่เข้มงวดและการฆ่าฟันศัตรูและเหล่าทหารจากการปกครองซึ่งก็แน่นอนว่านักรบที่กอบกู้บ้านเมืองมาต้องอยู่ระเบียบวินัยที่เฉียบขาด มิฉะนั้นไม่สามารถกอบกู้บ้านเมืองได้
.....แต่มีที่ผมคิดว่าน่าสนใจคือตัวอาคารหรือสถาปัตยกรรมของวัดแม่นางปลื้มนั้น เป็นสไตล์ที่เราเรียกว่าวิลันดาหรือฮอลันดานั่นเอง มีอะไรต่อเนื่องมาหรือ เพราะกว่าวันวลิตจะไปถึงอยุธยาพระนเรศวรก็สิ้นพระชนม์ไปแล้ว๕๐ปี
.......รูปแบบวิลันดานี้ไม่มีเครื่องบนเช่นอาคารในรุ่นนั้นที่มีเครื่องลำยองแพรวพราว และดูจะส่งอิทธิพลมากับอาคารอีกหลายหลังในอยุธยาแต่ส่วนใหญ่จะดูเป็นวัดชาวบ้านมากกว่าวัดหลวงเช่นวัดเตว็จในอยุธยา และในหัวเมืองอีกหลายแห่งถือเป็นการผสมผสานงานระหว่างตะวันตกตะวันออกในยุคแรกๆเลย กระทั่งงานวัดวาอารามในรุ่นรัชกาลที่สามที่กล่าวว่ามีอิทธิพลมาจากจีนด้วยรูปทรงหน้าบันปูนปั้น เวลาดูผมก็ยังลังเลว่าต้นรากนั้นมาจากจีนหรือดัตช์กันแน่ และอาคารรุ่นนี้จะสร้างในรุ่นพระนเรศหรือเปล่าผมก็ยังไม่ทราบเหมือนกันแต่ไม่น่าใช่ดูน่าจะเป็นรุ่นหลังลงมาแล้ว
.
วัดวรเชษฐ อยุธยา
วัดหลวงสุนทราราม อ่างทอง
วัดชมพูเวก นนทบุรี
วัดเตว็จ อยุธยา
แต่ที่วัดแม่นางปลื้มแม้จะดูเป็นวิลันดาในรูปด้านหน้าด้านในของตัววิหารกลับโอ่อ่าใหญ่โตเช่นวัดในอยุธยาทั่วไป ความสูงของหลังคาเสาภายในนั้นสูงมาก ด้านหน้ามีการเจาะช่องฉลุอยู่สาม
ช่องโดยเฉพาะช่องกลางเป็นโค้งอาร์คอย่างฝรั่ง ใครคงไม่ว่าเป็นเปอร์เซียมาอีกน่ะครับพอกลับมาดูภาพรวมวิหาร(หรือโบสถ์)ปลายสุดคือด้านหลังตรงแนวแกนเป็นเจดีย์ที่มีสิงห์ล้อมเราคงจะข้ามเรื่องสิงห์ไปก่อนเพราะแนวความคิดของเจดีย์ตรงแกนนี้เป็นความคิดของงานอารามสุโขทัยทั่วไป ซึ่งหลายท่านก็คงจะบอกได้ทันทีว่าไม่เห็นแปลกอะไร เพราะพระนเรศนั้นท่านอยู่ในวงศ์ สุโขทัย และท่านก็ใช้ชีวิตอยู่ที่พิษณุโลกมาเป็นนาน แต่อย่าลืมว่าในอยุธยาก่อนนั้นอาจสืบต้นทางไปถึงรุ่นขุนหลวงพะงั่ว วงศ์สุพรรณภูมินี้ จะเป็นเจ้านครอินทร์หรือเจ้าสามพระยาที่เป็นลูกก็ดีล้วนแต่มีพระมเหสีเป็นพระธิดาจากกษัตริย์สุโขทัย สุโขทัยไม่ได้หายไปไหนแต่สุโขทัยก็อยู่ในอยุธยานั่นเอง ทั้งผู้คนและศิลปะสืบทอด กลับมาที่สิงห์ที่นี่ซึ่งดูเหมือนว่าอ้วนกว่าที่วัดธรรมิกราช แต่ดูรูปแบบก็น่าจะร่วมทางกันเดี๋ยวค่อยคุยเรื่องสิงห์ในตอนท้ายอีกครั้ง และที่ทำความงุนงงให้กับผู้ไม่รู้อย่างผมก็คือความผสมปนเปของงานโดยเฉพาะการมีพะไล*ด้านหน้า พอกลับไปอ่านประวัติเพิ่มเติมว่ามีการปรับปรุงในรุ่นรัตนะ หรือรุ่นรัชกาลที่สามนั่นเอง ทีนี้จะเป็นจีนหรือวิลันดาดีล่ะพ่อวันวลิต
*พะไล หรือระเบียงบังแดดฝนด้านหน้าทางเข้า น่าจะมาจากคำว่า Lanai ในภาษาฝรั่ง ส่วนใหญ่
งานปรับปรุงรุ่นรัตนะโดยเฉพาะรัชกาลที่สามจะใช้เทคนิคนี้ในการปรับปรุงอาคารเดิม ทำให้โบสถ์วิหารดูใหญ่หรือกว้างขึ้น
การปรับปรุงมาแต่ละยุคสมัย เมื่อเราตีความไปเรื่อยๆสำหรับผู้รู้ไม่จริง(แบบผม)ทำให้สับสนต้องวิ่งกลับไปอ่านแต่ในประดาเว็บไซด์ต่างๆ ท่านก็ไม่ค่อยมีเรื่องยุคสมัยของการสร้างนี้ เพราะต่างไปพูดถึงแต่เรื่องพระนเรศกับแม่ปลื้มเป็นเรื่องหลัก ทั้งๆที่เรื่องนี้เป็นเรื่องเล่า
.......เมื่อสิบกว่าปีที่แล้วกรมศิลป์ได้ทำการขุดแต่งและบูรณะจึงทราบว่าวัดนี้เป็นวัดรุ่นต้นอยุธยาราวพศว.19-20 จากชั้นดินมีการปรับเปลี่ยนระดับของพื้นและแนวกำแพงแก้วในรุ่นรัตนะ เจดีย์คงจะเป็นสิ่งก่อสร้างมาแต่ต้น การปรับปรุงคงมีมาเรื่อยๆตลอดโดยเฉพาะในปลายอยุธยากับรุ่นรัชกาลที่สาม อาจจะเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับวัดที่มีชีวิตซึ่งในความหมายของผมคือวัดที่ถูกใช้งานมาตลอดมีการดูแลบูรณะมาเรื่อย ไสตล์หรือรูปแบบกระทั่งชั้นพื้นชั้นดินก็ถูกกลบทับซ้อนมาเรื่อยๆ
บางทีการตีความของผู้เกือบรู้นี่อันตรายมากกว่าผู้ไม่รู้เสียอีก ลวดลายเครือเถาที่อยู่บนหน้าบันนั่นเป็นรุ่นรัชกาลที่สาม ตามโพยบอกว่าองค์พระประธานขนาดใหญ่นั้นเป็นงานรุ่นอู่ทอง แม้เราจะไม่ค่อยคุ้นหน้าคุ้นตาพระที่ลงสีขาวทั้งองค์นักด้วยมองในผาดแรกก็เห็นเป็นพม่ารามัญไปหมด แต่เมื่อดูองค์จริงกับแสงไฟในวิหารท่านก็งดงามจริงๆ
๏๕.กราบพ่อขาวด้วยใจ......ยินดี
งามเอยอู่ทองท่านตรึง.........ตามน้าว
เอื้อนเอ่ยอยุธเยศชี้.............ชมเชิง
อดีตยังสาดแสงก้าว............ย่ยมยล ๚ะ
๏๖. เรืองรุ่งอุทัยแม้น...........เจียนลับ
ฟุ้งอิฐประติมาวน.................ก่ำแก้ว
เสียดสูงเสาเทียมจับ............แม่นแมน
หายใจผ่านอยุธยาแพร้ว......พราวพราย ๚ะ
๏๗.โบสถ์วิหารอารามนี้........คือชีวิต
อุ่นไออาบอดีตอาย..............เรียงรุ้ง
อยุธยามิ่งแมนสฤษดิ์...........เพรียกศรี
เช่นเห็นก่อนชาวฟุ้ง.............เวียนวน ๚ะ
....เมื่อกลับออกไปด้านนอกที่องค์เจดีย์ด้านหลังของวิหาร เจดีย์เป็นทรงระฆังตั้งบนฐานสี่เหลี่ยมสองชั้นบนย่อระดับของฐานเหลี่ยมวางสิงห์เรียงรายทั้งสี่ด้าน สิงห์ลักษณะเดียวกันกับวัดธรรมิกราชแต่ตัวอ้วนกว่าดูหน้าดูตา น่าจะจะมาในรุ่นเดียวกัน ตำแหน่งที่วางสิงห์ยกขึ้นไปสูงกว่าที่วัดธรรมิกราช ที่ธรรมิกราชมีสิงห์อยู่ ๒๐ตัว ส่วนที่นี่ถ้าเต็มตรบจะมีอยู่๓๖ตัว ในทางพุทธจำนวนอาจจะดูไม่มีความหมายอะไรแต่พอเป็นอะไรที่ต่อเนื่องกับพราหมณ์หรือฮินดูก็ดูจะมีความหมายอย่าคิดมากเลยครับ ถ้าช้างเป็นตัวแทนของผู้อุปถัมภ์ค้ำจุนศาสนา สิงห์ล่ะเป็นตัวแทนของอะไรกษัตริย์พระราชาหรือ ความกล้าหาญ นักรบ เราเห็นสิงห์รุ่นแรกๆในบาบิโลน หัวเป็นคนมีปีกและตัวเป็นสิงห์ หรือสิงห์แห่งอัสสิเรียน และพัฒนาต่อมาในงานรุ่นโรมันกรีก ก้าวข้ามมายังอินเดียสิงห์บนเสาสูงของพระเจ้าอโศกในอินเดีย การเดินทางของสิงห์ ก็ยังไม่จบ ซึ่งดูจะวิ่งไปเป็น สองเส้นทาง เราเห็นสิงห์เขมร เป็นรูปหล่อสำริด ในพม่า ซึ่งคาดว่า พม่าจะนำมาจากอยุธยา กับอีกเส้นทาง คือสิงห์ของพม่าเอง ซึ่งน่าจะเป็นมอญ และก้าวออกไป เป็นสิงห์ของเชียงใหม่ ตลอดจนลาว
เอ เขียนเรื่องพระนเรศอยู่ดีๆ วิ่งไปที่หน้าบันวิลันดา แล้วมาจบเอาที่สิงห์ได้ยังไง
๏๘.สืบศรีสายสวัสดิเร้น.......เรื่องสิงห์
ตามคติทางใดก่น.................เรียกเย้า
ลมตะวันตกพัดวิ่ง.................เวียนฤา
หรือเช่นอินเดียเค้า................เจ้าอโศก ๚ะ
๏๙.ยังแต่ว่าเจ้าป่า.............เจ้าสัตว์
สื่อส่งพลังเหนือโลก...........เดชค้นน
รายเจดีย์ปกปักจัด.............ป้องพุทธ
อันใดเช่นเชิงช้นน..............วานบอก ๚ะ
สิงห์ล้านนาที่เชียงใหม่
ทางแก้ว
บันทึก
1
2
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
สายน้ำแห่งอยุธยา
1
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย