29 ก.ค. 2020 เวลา 23:09 • สุขภาพ
☀️1 เดือนแรก ไม่ต้องรีบปั๊มนม☀️
“🌺เลี้ยงลูกอยู่บ้านเดือนแรก ไม่ได้ไปไหน จำเป็นต้องปั๊มนมไว้ไหมคะ?”🌺
เป็นคำถามที่เจอได้บ่อยมาก ที่เครื่องปั๊มนมแทบจะกลายเป็น”อวัยวะ”พิเศษของแม่ยุคใหม่ไปแล้วค่ะ
หลายคนปั๊มกันตั้งแต่หลังคลอดอยู่โรงพยาบาล ทั้งๆที่ถ้าเอาลูกมาอยู่กับแม่ด้วยกันในห้องเดียวกัน ให้ดูดเต้ากันไป โดยไม่ต้องมีอุปกรณ์อะไรเลยจะสะดวกกว่า
☀️เราจะใช้เครื่องปั๊มนม ต่อเมื่อแม่กับลูกไม่ได้อยู่ด้วยกัน ☀️ เช่น
-ลูกคลอดก่อนกำหนด ลูกป่วยต้องแยกไปรักษา ไม่ได้มาดูดเต้า
-แม่กลับไปทำงาน
สำหรับแม่ที่ต้องกลับไปทำงาน หลังจากได้ลาคลอด 3 เดือน ก็จำเป็นต้องใช้เครื่องปั๊มน้ำนมเอาน้ำนมออกทุก 3 ชั่วโมง เมื่ออยู่ที่ที่ทำงาน เพื่อคงการสร้างน้ำนม และเก็บน้ำนมกลับมาให้ลูกกินในวันรุ่งขึ้น ช่วงเย็น กลางคืน ถึงเช้าที่แม่ลูกอยู่ด้วยกันก็ให้ลูกดูดนมแม่จากเต้า
ปั๊มนมในที่ทำงาน ภาพจาก https://www.amarinbabyandkids.com/pregnancy/breastfeedingandpumping/
🌸แต่ก็ไม่จำเป็นต้องเริ่มปั๊มตั้งแต่วันแรก ถ้าลูกที่คลอดออกมาแข็งแรงดี ครบกำหนด 🌸
ลูกได้มาอยู่กับแม่ตั้งแต่แรกคลอด ก็ให้ลูกได้ดูดจากเต้าโดยตรง ได้อุ้มกอด สัมผัสลูก ทำให้น้ำนมผลิตออกมาได้ดีกว่าค่ะ
🎈ลูก มีความสามารถดูดนมออกจากเต้า ได้มีประสิทธิภาพดีกว่าเครื่องปั๊มนมแน่นอนค่ะ🎈
เพียงแต่ให้โอกาสลูกได้ฝึก มีการประเมินการดูดนม เพื่อปรับการดูดให้เหมาะ ไม่เจ็บหัวนม และ ให้ลูกได้ดูดนมบ่อยๆตามความต้องการ ไม่ต้องดูเวลา
Info graphic จาก www.thaibf.com
ใน 1 เดือนแรก ก็ยังไม่ต้องรีบใช้เครื่องปั๊มนม (แค่อุ้มลูกเข้าเต้า เปลี่ยนผ้าอ้อม อาบน้ำให้ลูก แม่ยังแทบจะหาเวลากินข้าว เข้าห้องน้ำไม่ได้เลยค่ะ 😀)
เหตุผลก็คือ
1. 🎈ลูกจะได้ฝึกหัดการดูดเต้า🎈 ปากของลูก และเต้าของแม่แต่ละคน มีลักษณะเฉพาะ ที่แม่ลูกคู่นั้นๆจะต้องเรียนรู้ เพื่อหามุมการอุ้มให้นมที่ถนัดที่สุด ไม่ว่าจะเป็นท่านั่ง หรือท่านอน
การได้ทำอะไรบ่อยๆ ความชำนาญก็จะเกิดขึ้น
ถ้าไม่ได้ทำก็ ทำไม่ถนัดสักที
2.🎈ใช้เวลาช่วงลาคลอดอยู่กับลูกให้คุ้มค่ามากที่สุด 🎈ช่วงเวลาหลังคลอด แม่มีเวลาที่จะอยู่กับลูกจำกัดอยู่แล้ว เช่นลาคลอดได้ 3 เดือนเท่านั้น จะอุ้มจะกอดเต็มที่ก็ช่วงนี้แหละ ค่ะ ยังไม่ต้องพะวงกับเครื่องปั๊มนม
3.🎈ทำความรู้จักกับลูก🎈 ด้วยการสังเกต ลูกตื่นตอนไหน ทำท่าอย่างไรคือหิว แม่จะตอบสนองได้ตรง ถูกต้อง “รู้ใจ” กัน
4.🎈ลูกไม่สับสนหัวนม🎈เอาเข้าเต้า อย่างเดียวโดยไม่ต้องดูดจุกขวด ทำให้ลูกไม่สับสน
อีกอย่างคือ การดูดจากจุกจะต่างจากการดูดเต้า ถ้าใช้วิธีดูดจุกไปดูดเต้า น้ำนมจะไม่ออกค่ะ ควรให้ลูกดูดเต้าจนชำนาญก่อนใน 1 เดือนแรก หลังจากนั้นค่อยฝึกดูดนมแม่จากจุกถ้าแม่ต้องกลับไปทำงาน
แต่ถ้าแม่อยู่บ้านกับลูกตลอด ก็ให้ดูดเต้าอย่างเดียวใน 6 เดือนแรกได้เลยค่ะ (ไม่ต้องปั๊มนมเก็บ ไม่ต้องดูดจากจุก)
“🌺กังวลว่าน้ำนมจะหดหาย ถ้าไม่ปั๊มไปด้วย”🌺
อยากจะถามว่า แม่สมัยก่อนที่คลอดลูกแล้วให้ลูกดูดจากเต้าอย่างเดียว ไม่มีเครื่องปั๊มนม เขามีน้ำนมพอให้ลูกกินได้อย่างไรคะ?
❣️เราต้องเชื่อมั่นในร่างกายของเราเองค่ะ❣️
น้ำนมจะมามากขึ้นจากการเอาน้ำนมออกจากเต้า
ถ้าลูกดูดเอาน้ำนมออกไปมากเท่าไร เต้านมก็จะสร้างน้ำนมขึ้นมาใหม่แทนที่ได้พอดีๆกับความต้องการ
ดังนั้นถ้าลูกเอาน้ำนมออกได้ ดูดเต้าได้บ่อยๆ น้ำนมก็จะสร้างขึ้นมาได้เพียงพอค่ะ
ขึ้นกับว่า ☀️ลูกดูดเต้า โดยงับหัวนมลึกจนถึงลานนมหรือไม่. ☀️
ดูง่ายๆ คือ “🌸แม่เจ็บหัวนมไหม เวลาลูกดูด?”🌸
ถ้าเจ็บต้องรีบหาที่ปรึกษา เพื่อปรับการดูดนม ให้อ้าปากกว้าง และงับเต้าให้ลึกพอถึงลานนม
Info graphic จาก www.thaibf.com
“🌺ลูกอายู 1 เดือนกว่า กินนมแม่จากเต้าอย่างเดียว ช่วงแรกๆหลังคลอดเต้านมคัด ตอนนี้เต้าไม่คัด เลยกังวลว่าน้ำนมจะหดไหม ถ้าไม่ปั๊มหลังจากลูกดูดเสร็จ”🌺
กังวลว่าน้ำนมน้อย น้ำนมลดลง ไม่เห็นกับตาว่ามีน้ำนมเข้าไปในตัวลูกเท่าไร
☀️รู้ได้อย่างไรว่าน้ำนมพอสำหรับลูก?☀️
ก่อนอื่นต้องประเมินว่า ใน 1 เดือนแรกที่ผ่านมา ลูกได้น้ำนมพอไหม? โดยดูจาก
1.น้ำหนักที่ขึ้นได้ใน 1 เดือนแรก โดยเฉลี่ย 600-800 กรัม จากน้ำหนักแรกเกิด ถือว่าปกติ ได้น้ำนมแม่เข้าไปพอ
2.ดูอุจจาระของลูก  ใน 1-2 วันแรก ลูกจะอุจจาระเหนียวสีเขียวเข้มถึงดำ เรียกว่า ขี้เทา  หลังจากวันที่  3-4 หลังคลอด สีอุจจาระจะค่อยๆจางจากเขียวเข้ม เป็นสีเขียวปนเหลือง  และถ่าย 3-4 ครั้งต่อวัน
 
หลังจากวันที่ 4 ทารกที่กินนมแม่อย่างเดียวจะมีอุจจาระสีเหลืองทองนิ่มจนถึงเหลว มีน้ำปนค่อนข้างมาก และถ่ายอุจจาระ 3-4 ครั้งขึ้นไปต่อวัน  บางคนอุจจาระทุกครั้งที่ดูดนมแม่
หลังจากทารกอายุ  6 สัปดาห์ จะถ่ายอุจจาระจำนวนครั้งน้อยลงเหลือวันละ 1-2 ครั้ง แต่อุจจาระจะมีเนื้อมากขึ้น
3. ดูปัสสาวะของลูก   ปัสสาวะสีเหลืองอ่อนใส ในช่วง 5 วันแรกหลังคลอด ควรถ่ายปัสสาวะ3-5  ครั้งต่อวัน และหลังจากนั้น อย่างน้อยวันละ  6 ครั้ง
4.หลังจากลูกดูดนมแม่อิ่ม จะปล่อยหัวนมออกมาเอง  ลูกนอนหลับได้ ไม่งอแง  เมื่อหิวก็ตื่นขึ้นมาดูดนมแม่ใหม่ ในช่วงเดือนแรกนี้ ลูกจะตื่นขึ้นมาดูดนมแม่บ่อยๆ บางคนดูดทุก 1 – 2 ชั่วโมง ถือว่า เป็นเรื่องปกติธรรมชาติ ในการกระตุ้นการสร้างน้ำนมแม่
5.ก่อนให้นม จะรู้สึกว่าเต้านมหนัก และตึง  หลังจากลูกดูดเสร็จ เต้านมจะนิ่ม และรู้สึกเบาลง
ช่วงแรกๆหลังคลอด เต้าอาจจะรู้สึกคัดเต้า เต้าเต่ง เพราะร่างกายกำลังปรับการผลิตน้ำนม จึงอาจจะผลิตเกินๆไปบ้าง เมื่อถึงปลายเดือนแรก จะค่อยๆผลิตได้พอดี เท่ากับที่ลูกต้องการ จึงอาจจะไม่รู้สึกคัดเหมือนแรกๆ
แต่ลูกดูดได้น้ำนมเข้าไปค่ะ
Info graphic จาก www.thaibf.com
สำรับลูกอายุ เกิน 1 เดือนขึ้นไป ถ้าเช็คทุกข้อแล้วผ่านหมด ก็แสดงว่า ลูกได้น้ำนมแม่เข้าไปพอค่ะ ไม่จำเป็นต้องปั๊มน้ำนมหลังลูกดูด
เว้นแต่ว่า กรณีที่ลูกดูดเต้าเดียวแล้วอิ่ม แม่ก็อาจจะปั๊มน้ำนมอีกข้างหนึ่งเก็บเอาไว้ เผื่อใช้ในช่วงที่แม่กลับไปทำงานแล้วก็ได้ค่ะ
การดูดนมแม่ในเดือนแรก เป็นการฝึกลูกให้ดูดเต้าให้ชำนาญ ยังไม่ต้องตั้งหน้าตั้งตาปั๊มนมอย่างเอาเป็นเอาตาย ใช้เวลาอยู่กับลูกให้มากที่สุดดีกว่าค่ะ
เท่าที่เคยพบแม่ที่ปั๊มมากๆตั้งแต่เดือนแรก และป้อนนมแม่จากขวดด้วย จะมีปัญหาลูกไม่ยอมดูดเต้า เพราะ ดูดจากจุกนมสะดวกกว่า
และน้ำนมแม่จะเต็มตู้เย็นในเวลาอันรวดเร็วจนไม่มีที่เก็บ
ปัญหาท่อน้ำนมอุดตันก็จะตามมา เพราะ มีการผลิตมากเกินไป เอาน้ำนมออกไม่ทัน หัวนมมีจุดขาว ลานนมบวม เต้าเป็นก้อน ต้องตามแก้ไขกันวุ่นวาย
🌺ให้ลูกดูดจากเต้าอย่างเดียวใน 1 เดือน แรก ทำให้เต้าผลิตน้ำนมได้พอดีๆ ป้องกัน ภาวะลูกติดจุก และ ป้องกันท่อน้ำนมอุดตันด้วยค่ะ🌺
พญ ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา