1 ส.ค. 2020 เวลา 02:40 • การศึกษา
บังคับคดีใน 10 ปี ?
รูปภาพจาก pixabay.com
หลายๆท่านอาจสงสัยว่าหากเราฟ้องคดี และได้คำพิพากษาแล้ว
ต้องบังคับคดีภายใน 10 ปี นั้นเป็นอย่างไร
หากบังคับคดีแล้ว ลูกหนี้มีฐานะดีขึ้นจะขออายัดเงินเพิ่มอีกได้มั้ย ?
หากลูกหนี้มีทรัพย์สินเกิดขึ้นใหม่ภายหลัง 10 ปี จะบังคับคดีได้มั้ย ?
เรามาดูกันครับ
การที่เราจะบังคับคดีได้เราต้องผ่านการฟ้องร้องกันต่อศาล
และศาลได้มี "คำพิพากษา" ให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีแล้ว
ตามหลัก จำเลย ซึ่งเป็น "ลูกหนี้ตามคำพิพากษา" จะต้อง
ชำระเงินตามคำพิพากษา
แต่หากจำเลย ไม่ชำระเงินตามคำพิพากษาหรือชำระไม่ครบถ้วนนั้น
โจทก์ซึ่งมีฐานะเป็น "เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา" จะมี "หน้าที่"
ที่จะต้องดำเนินการ "บังคับคดีภายใน 10 ปี"
ซึ่ง "หน้าที่" ของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่ต้องกระทำมี 3 อย่าง ได้แก่
1. ยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลเพื่อให้ "ออกหมายบังคับคดี"
2. แจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบว่าศาลได้ออกหมายบังคับคดีแล้ว
3. แถลงให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดี (ยึด/อายัด)
กับทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา
ซึ่ง "หน้าที่" ดังกล่าวข้างต้นของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา
ต้องกระทำภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาของศาล"ชั้นที่สุด"ในคดีนั้น
ตามฎีกาที่ 10731/2558
แล้วหากเจ้าหนี้ฯ ตั้งเรื่องบังคับคดีตามข้างต้นไปแล้ว เช่น
เจ้าหนี้สืบทราบว่า ลูกหนี้ทำงานกับบริษัทเอ มีเงินเดือน 30,000 บาท
เจ้าหนี้จึงขออายัดเงินเดือน 10,000 บาท ต่อมาลูกหนี้ทำงานไปได้อีก 7 ปี
(ยังไม่เกิน 10 ปี)
เจ้าหนี้ทราบว่าลูกหนี้มีเงินเดือนเพิ่มเป็น 50,000 บาท เจ้าหนี้สามารถ
ขอเพิ่มวงเงินอายัดได้มั้ย ?
คำตอบ คือ เจ้าหนี้ก็สามารถขอเพิ่มเงินอายัดได้ เช่น อาจจะขอเพิ่ม
จาก 10,000 เป็นขออายัด 30,000 บาท
แต่ประเด็นมีอยู่ว่า หากภายหลังผ่านพ้นไป 10 ปีแล้ว เจ้าหนี้สืบทราบว่า
ลูกหนี้มีเงินเดือนเพิ่มเป็น 90,000 บาท เจ้าหนี้สามารถขออายัดเงินจำนวน
ที่เกินกว่า 10 ปีได้หรือไม่ ?
คำตอบคือ เจ้าหนี้ฯขออายัดได้ เพราะว่าเป็นการใช้สิทธิเดิมที่เจ้าหนี้มีอยู่
เพื่อบังคับให้ลูกหนี้ฯ ชำระหนี้ที่เหลือซึ่งเจ้าหนี้ฯมีสิทธิจะได้รับตั้งแต่แรก
ตามนัยฎีกาที่ 7985/2557
แต่หากกรณีภายหลัง 10 แล้วลูกหนี้ "ถูกให้ออกจากงาน" ซึ่งลูกหนี้
จะได้รับเงินค่าชดเชยฯ และเงินได้อื่นๆ ซึ่งเงินจำนวนนี้เจ้าหนี้ฯ
จะสามารถขออายัดได้มั้ย ?
คำตอบ คือ เจ้าหนี้ฯไม่สามารถขออายัดได้ เนื่องจากไม่ใช่เงินค่าจ้าง
ที่เจ้าหนี้ฯขออายัดไว้ตั้งแต่แรก
(ง่ายๆ ก็คือ ค่าชดเชยฯหรือเงินอื่นๆฯนั้น เป็นเงินหรือทรัพย์สินใหม่
ที่เกิดขึ้นมาภายหลัง 10 ปี) ซึ่งเจ้าหนี้ฯไม่ได้ตั้งเรื่องขอยึด/อายัด
ไว้ตั้งแต่แรก(ภายใน10ปี)นั้นเอง
ตามนัยฎีกาที่ 7985/2557
สาระน่ารู้ : ทราบหรือไม่ว่า
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มีการแก้ไขกฎหมายครั้งใหญ่
ในภาคบังคับคดี
ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
(ฉบับที่ 30) พ.ศ.2560
เป็นอย่างไรกันบ้างครับ หวังว่าพอจะเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้อ่านบ้างนะครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา