Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
สาระกฎหมาย by LawyerTon
•
ติดตาม
3 ส.ค. 2020 เวลา 16:31 • ข่าว
ช่วงนี้ผมได้ยินข่าว เกี่ยวกับปัญหาเกี่ยวกับ "มิวสิควีดีโอ" เพลงหนึ่ง
ซึ่งมีข้อโต้แย้งกัน ก็ตามที่ปรากฏกันในข่าวต่างๆ ในขณะนี้
ผมอยากจะมาลองสมมุติเหตุการณ์ว่า
หากเราเป็นคนที่กำลังเผชิญกับเหตุการณ์นี้
เราจะดำเนินการอะไรได้บ้าง ในทางกฎหมาย
เช่น กรณีหากมีการตกลงกันด้วยวาจา
หรือเรียกกันง่ายๆว่า สัญญาใจ นั้น
ในทางกฎหมายสามารถบังคับกันได้หรือไม่เพียงใด
ซึ่งในเรื่องนี้ในเบื้องต้นเราต้องดูลักษณะของการตกลงกัน
ของทั้งสองฝ่ายว่า...
ข้อตกลงที่ทั้งสองฝ่ายนี้ได้ตกลงกันนั้น
เข้าข่ายของ ลักษณะสัญญาประเภทใด ?
ซึ่งหากระบุประเภทสัญญาได้ว่าเป็นสัญญาประเภทใด
เราก็จะสามารถทราบได้ว่า สัญญาดังกล่าวนั้น
เป็นสัญญาที่กฎหมายได้ระบุไว้ให้ต้อง "ทำตามแบบ" หรือไม่
เพราะหากเป็นข้อสัญญาที่ "กฎหมายระบุให้ต้องทำตามแบบ"
เราก็จะต้องทำตามแบบที่กฎหมายกำหนดเอาไว้
เช่น ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน , ทำเป็นหนังสือ เป็นต้น
หากเราไม่ทำตามแบบที่กฎหมายระบุไว้
สัญญาดังกล่าว ก็อาจเป็นโมฆะ หรือใช้บังคับกันไม่ได้ เป็นต้น
แต่หากข้อตกลงดังกล่าวกฎหมาย "ไม่ได้" ระบุไว้ให้ต้องทำตามแบบนั้น
ก็แสดงว่าสัญญาดังกล่าวก็สามารถใช้บังคับระหว่างคู่สัญญากันได้
แม้ไม่มีการทำสัญญาเป็นหนังสือหรือลายลักอักษรก็ตาม
และยังสามารถฟ้องร้องคดีต่อศาลเพื่อให้บังคับตามสัญญาได้อีกด้วย
ดังนั้น หากเทียบกับกรณีที่เป็นข่าว ซึ่งฝ่ายหนึ่งได้มีการอ้างว่า
ได้มีการตกลงกัน ให้ช่วยกันทำมิวสิควีดีโอ โดยแบ่งหน้าที่กันทำ
เมื่อทำเสร็จแล้วหากนำไปเผยแพร่ หากมีรายได้
จะแบ่งผลประโยชน์กัน 70/30 ซึ่งลักษณะดังกล่าว
น่าจะเข้าข่ายลักษณะของสัญญาร่วมลงทุน
หรือสัญญาร่วมกันประกอบกิจการโดยแบ่งผลประโยชน์
ซึ่งกฎหมายไม่ได้กำหนดแบบของสัญญาประเภทนี้ไว้
จึงไม่จำเป็นต้องทำเป็นหนังสือลายลักษณ์อักษร
ก็สามารถฟ้องร้องใช้กันบังคับได้
ฉะนั้นคำว่า สัญญาใจ หรือ สัญญาวาจา หรือ ลมปาก
ใช้บังคับกันไม่ได้ อาจจะใช้กับกรณีดังกล่าวนี้ไม่ได้
เพราะหากได้มีการตกลงกันจริง แม้จะด้วยวาจาก็ตาม
ก็สามารถใช้บังคับกันได้
เพียงแต่!! แม้ดูผิวเผิน จะดูเป็นเรื่องง่ายๆและสะดวกนั้น
แต่ในความเป็นจริงในด้านคดีความนั้น
ก็นับว่าเป็นเรื่องค่อนข้างลำบากเหมือนกันครับ
ที่จะพิสูจน์ให้ได้ว่าการที่ทั้งสองฝ่ายคนนั้นตกลงกัน
มีใจความอย่างไร หรือตกลงกันอย่างไรกันบ้าง
และจะเชื่อได้อย่างไรว่า มีการตกลงกันแบบนี้จริงๆ
ซึ่งหากมีการ บันทึกวีดีโอ หรือ บันทึกเสียง ก็แล้วไป
แต่หากไม่มีอะไรบันทึกไว้เลย ก็ต้องดูว่าใน “ขณะ” ที่ทั้งสองฝ่าย
มีการตกลงกันนั้น
มีใคร ? อยู่ในเหตุการณ์นี้และได้ยินข้อความที่ตกลงกันหรือไม่
หากมีก็อาจใช้เป็นพยานเพื่อสนันสนุนข้ออ้างได้
แต่หากไม่มีใครเป็นพยานได้ยินที่ทั้งสองคนคุยกันเลย
ก็อาจจะมีความลำบากพอสมควรที่จะให้ศาลเชื่อว่า
ทั้งสองฝ่ายมีการตกลงกันอย่างนั้นจริงๆ
อ่านถึงตรงนี้ ท่านผู้อ่านก็น่าจะพอทราบเบื้องต้นว่า
หากเรามีการตกลงอะไรกัน หากเป็นเรื่องที่กฎหมายไม่ได้ระบุแบบเอาไว้
การตกลงด้วยวาจา หรือสัญญาใจ ก็แล้วแต่ดังกล่าวนั้นก็อาจผูกพันเราได้
ซึ่งหลายๆเรื่องก็ไม่จำเป็นต้องทำเป็นหนังสือ
หรือทำสัญญาลายลักษณ์อักษรก็ได้
ก็เป็นอันจบประเด็นเรื่อง ตกลงวาจาหรือสัญญาใจไว้ อย่างคร่าวๆครับ
คราวนี้ตามกรณีที่เกิดขึ้น เราจะมีประเด็นไหนในทางกฎหมาย
สามารถ ดำเนินการอีกได้บ้าง ?
ก็จะมีเรื่อง “ลิขสิทธิ์” (Copyright)
ในมิวสิควีดิโอ ในส่วนของ "สิทธิของนักแสดง"
ซึ่งในมิวสิควีดิโอเพลงหนึ่งๆนั้น จะว่ากันแล้วมีงานลิขสิทธิ์แฝงอยู่หลายตัว
ซึ่งหากจะแยกกันจริงๆ แต่ละตัวก็มีเจ้าของงานลิขสิทธิ์ที่แตกต่างกัน
เช่น เจ้าของงานลิขสิทธิ์ของ...
การขับร้อง , ทำนอง , เนื้องเพลง , การเต้น ,การแสดงเรื่องราว ฯลฯ เป็นต้น
หรือแม้แต่ร่วมกันขับร้อง หรือ Featuring(feat.)
ก็ตาม ก็มีส่วนที่ตนเองมีลิขสิทธิ์
ซึ่งในส่วนของ “สิทธินักแสดง” ตามกฎหมาย พรบ.ลิขสิทธิ์ฯ
มาตรา 44 , 45 นั้น
ก็รวมถึงบุคคลผู้ที่เข้าไป ร่วมขับร้อง , ร่วมเต้น ,
หรือเรียกอีกอย่างว่า Featuring(feat.)
ซึ่ง "สิทธินักแสดง"
มีความหมายตามพรบ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 4 ว่า...
"ผู้แสดง นักดนตรี นักร้อง นักเต้น นักรำ และผู้ซึ่งแสดงท่าทาง ร้อง กล่าว พากย์
แสดงตามบทหรือในลักษณะอื่นใด"
แต่ มาตรา 44 และตามบทนิยามมาตรา 4 ที่กล่าวมานั้น
ก็มิได้บัญญัติให้ชัดเจนว่าสิ่งที่แสดงและได้รับความคุ้มครอง
ในฐานะสิทธินักแสดงควรเป็นเช่นไร..
แต่ถ้าเราพิจารณาตามเจตนารมณ์ของกฎหมายลิขสิทธิ์
และเนื้อความจากบทนิยามในมาตรา 4 จะเห็นได้ว่า...
"สิทธิของนักแสดง" เป็นการที่นักแสดงได้นำงาน เช่น "ดนตรีกรรม"
หรืองาน "นาฏกรรม" อันได้แก่ การเล่นดนตรี การร้อง หรือการรำ
การเต้น การทำท่า หรือการแสดงที่ประกอบเป็นเรื่องราว
ที่เป็นงาน “อันมีลิขสิทธิ์”
มาแสดงให้ปรากฏต่อผู้อื่น หรือนำคุณค่าของงานอันมีลิขสิทธิ์ดังกล่าว
มาแสดงให้บุคคลอื่นชื่นชม
โดยที่นักแสดงนั้น "มิใช่" ผู้สร้างสรรค์งานหรือเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เอง
ซึ่งการนำเสนองานดังกล่าวนักแสดงนั้น ได้ใช้ความวิริยะอุตสาหะ
ทำให้เกิดมีคุณค่าอันควรได้รับความคุ้มครองต่อเนื่องจากผู้สร้างสรรค์
หรือเจ้าของงานอันมีลิขสิทธิ์
แต่อย่างไรก็ตาม
"มิใช่"ว่าทุกอย่างที่เป็นการกระทำสิ่งใด ๆ ของนักแสดงแล้ว
ก็จะทำให้ได้ "สิทธิของนักแสดง" เสมอไปโดยไม่มีข้อจำกัด..
ซึ่ง "สิทธิของนักแสดง" ที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์นี้
จะต้องมี "องค์ประกอบ" ที่บุคคลที่จะแสดงนั้นเป็นไปตาม
บทนิยามคำว่า “นักแสดง” ในมาตรา 4 ตามพรบ.ลิขสิทธิ์ฯ
และสิ่งที่แสดง หรือ การกระทำอันเกี่ยวกับการแสดงของนักแสดง
ที่จะได้รับความคุ้มครองนั้น จะต้องเป็น “งานอันมีลิขสิทธิ์” ด้วย
ย้ำ!! นะครับ จะต้องเป็น “งานอันมีลิขสิทธิ์” ด้วย
ที่มา : คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13159/2555
ฉะนั้น หากพิจารณาดูตามฎีกาข้างต้นนี้ จะได้ความว่า
หากเราพิสูจน์ได้ว่า การร้อง การเต้น การแสดงของเรานั้น
มีการทำท่าที่ประกอบขึ้นเป็นเรื่องราวในลักษณะเป็น
“งานอันมีลิขสิทธิ์” อย่างไรแล้ว ?
เราก็จะได้รับความคุ้มครองในส่วนของ "สิทธิของนักแสดง"
ที่เราสามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากการละเมิดผลงานอันมีลิขสิทธิ์
ทั้งทาง “แพ่ง” และทาง “อาญา” ได้ ตามมาตราพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ
เช่น ห้ามเผยแพร่ , หรือเรียกร้องค่าเสียหายจากการละเมิดลิขสิทธิ์ได้
เป็นต้น
แต่อย่างไรก็ตาม หากมีการทำละเมิดลิขสิทธิ์ตามพรบ.ลิขสิทธิ์
ผู้เสียหายก็ต้องรีบดำเนินการภายในกำหนดอายุความ
มิฉะนั้น คดีจะขาดอายุความ
โดยใน “คดีแพ่ง” ในคดีละเมิดลิขสิทธิ์ จะมี “อายุความ 3 ปี”
นับแต่วันที่ เจ้าของลิขสิทธิ์ หรือ”สิทธิของนักแสดง”
"รู้ถึง"การละเมิดและ "รู้ตัวผู้กระทำ" ละเมิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ มาตรา 63
ส่วนใน “คดีอาญา” หากเป็นความผิดตาม
1. มาตรา 69 วรรคแรก จะมีโทษ “ปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท”
2. มาตรา 69 วรรคสอง(เพื่อการค้าหรือหากำไร) จะมีโทษ
“จำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสี่ปี” หรือ “ปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงแปดแสนบาท”
ที่มา : คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3332/2555
** หมายเหตุ**
คดีอาญาตามพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ
“เป็นความผิดอันยอมความได้”
ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ มาตรา 66
สาระน่ารู้ :
"ค่าปรับ"ที่จำเลยได้ชำระตามคำพิพากษาในคดีอาญาละเมิดลิขสิทธิ์นั้น
กฎหมายระบุไว้ ให้จ่ายแก่ เจ้าของลิขสิทธิ์หรือ”สิทธิของนักแสดง”
เป็นจำนวน "กึ่งหนึ่ง" ด้วย
ฉะนั้น เจ้าของลิขสิทธิ์ หรือ”สิทธิของนักแสดง” ก็มีสิทธิที่จะได้รับเงิน
จากฝ่ายผู้ละเมิดที่ต้องถูกให้จ่ายค่าปรับด้วย
แถมยังไม่ตัดสิทธิ์เราที่จะเรียกร้องทางแพ่งได้อีก
สำหรับส่วนที่เกินจำนวนเงินค่าปรับ
ตามมาตรา มาตรา 76 พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ
บันทึก
1
9
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ข่าวสารกฎหมาย
1
9
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย