5 ส.ค. 2020 เวลา 12:34 • ข่าว
สรุป((ยาว)) การแถลงข่าวของคณะทำงานตรวจสอบการพิจารณาสั่งคดี !!
รูปภาพจาก canva.com
เนื่องด้วย คำสั่งของอัยการสูงสุด ที่ พิเศษ / 2563
ได้แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบการสั่งคดี
ที่ต้องการให้คณะทำงานฯชุดนี้ ตรวจสอบการพิจารณาสั่งคดี
คำสั่งไม่ฟ้องคดี นายวรยุทธ อยู่วิทยา(บอส) นั้น
มีประเด็น ที่จะกล่าวดังต่อไปนี้
ประเด็นที่ 1.การสั่งคดีดังกล่าวเป็นไปตาม
“ข้อกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง” อย่างไร
ประเด็นที่ 2.บุคคลที่สั่ง(นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด)
มี “เหตุผลในการพิจารณาสั่งฯ” อย่างไร
ประเด็นที่ 3. เป็น “ความเห็น” ของคณะทำงานฯชุดนี้ทั้งหมด
หลังจากที่ได้ดำเนินการตรวจสอบในที่ข้อ 1 และ 2
แล้วมี”ข้อเสนอแนะ” หรือมี “แนวทาง” ควรที่จะดำเนินการคดีนี้อย่างไร
จะขอเริ่มด้วยในส่วนของ “ข้อเท็จจริง” เบื้องต้นในคดีนี้
คดีนี้พนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1
ได้รับสำนวนจากพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจทองหล่อ
เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2556 เป็นคดีระหว่าง
พ.ต.ท วิรดล ทับทิมดี เป็นผู้กล่าวหา
ส่วนผู้ต้องหา มี 2 คนได้แก่
ผู้ต้องหาที่ 1 นายวรยุทธ อยู่วิทยา(บอส)
ผู้ต้องหาที่ 2 ดาบตำรวจวิเชียร กลั่นประเสริฐ (ผู้เสียชีวิต)
ซึ่งในสำนวนมีการแจ้ง “ข้อกล่าวหา” ดังต่อไปนี้
ในส่วนของผู้ต้องหาที่ 1 นายวรยุทธ อยู่วิทยา(บอส)
ถูกแจ้ง 5 ข้อกล่าวหา
ข้อหาที่ 1 ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
ข้อหาที่ 2 ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุทรัพย์สินผู้อื่น
ได้รับความสียหาย (อายุความ 1 ปี) (ขาดอายุความ)
ข้อหาที่ 3 ขับรถชนแล้วไม่หยุดให้ความช่วยเหลือ
และไม่แจ้งเจ้าพนักงาน(อายุความ 5 ปี) (ขาดอายุความ)
ข้อหาที่ 4 ขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด
(อายุความ 1 ปี) (ขาดอายุความ)
ข้อหาที่ 5 ขับรถในขณะเมาสุรา (มีคำสั่งไม่ฟ้อง)
ซึ่งทั้ง 5 ข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวน
ลงความเห็นในสำนวนเสนอพนักงานอัยการ ว่า
“เห็นควรสั่งฟ้อง” 3 ข้อหา คือ ข้อหาที่ 1 - 3
“เห็นควรสั่งไม่ฟ้อง” 2 ข้อหา คือ ข้อหา 4-5 ตามลำดับข้างต้น
ในส่วนของผู้ต้องหาที่ 2 ดาบตำรวจวิเชียร กลั่นประเสริฐ (ผู้เสียชีวิต)
ถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่า
ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุทรัพย์สินผู้อื่นได้รับความสียหาย
แต่เห็นควรสั่งไม่ฟ้อง เพราะผู้ต้องหาถึงแก่ความตาย
เหตุคดีนี้เกิด เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2555 ในเวลา 05.20 น.
ในท้องที่คลองตันเหนือ เขตวัฒนา กทม.
บนถนนสุขมวิท ขาออกในช่องทางที่มุ่งหน้าไปทางพระโขนง
นี่คือข้อเท็จจริงเบื้องต้นในสำนวนที่พนักงานสอบสวน
ส่งมายังพนักงานอัยการฯ
จากนั้นทางสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1
ก็ได้ตั้ง “คณะทำงาน” เพื่อพิจารณาสำนวนคดีนี้
เนื่องจากเป็นคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน
ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของสำนักงานอัยการสูงสุด
จากนั้น “คณะทำงาน” ดังกล่าวก็ได้มีความเห็นและคำสั่งฯ
ในวันที่ 7 มีนาคม ฯ โดยมีความเห็นในสำนวนคดี ดังต่อไปนี้
ในส่วนข้อหาที่ 1 ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
ข้อหาที่ 2 ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุทรัพย์สินผู้อื่นได้รับความสียหาย
ข้อหาที่ 3 ขับรถชนแล้วไม่หยุดให้ความช่วยเหลือและไม่แจ้งเจ้าพนักงาน
เห็นควรสั่งฟ้อง ตามที่พนักงานสอบสวนเสนอมา
ในส่วนข้อหาที่ 4 ขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด
ที่พนักงานสอบสวน “เห็นควรสั่งไม่ฟ้อง”
แต่ทางพนักงานอัยการมีความเห็นแย้ง
“เห็นควรสั่งฟ้อง” ทั้งสองข้อหานี้ และ
ในข้อหาที่ 5 ขับรถในขณะเมาสุรา พนักงานอัยการเห็นด้วย
กับพนักงานสอบสวนที่มีความเห็น “เห็นควรสั่งไม่ฟ้อง”
เนื่องจากสำนวนคดีนี้ มีการสั่งไม่ฟ้องในบางข้อหา คือ
ข้อหาขับรถในขณะเมาสุรา ซึ่งตามระเบียบสำนักอัยการสูงสุด
จะต้องเสนอสำนวนตามลำดับชั้นไปถึงอธิบดีอัยการฯ
ให้เป็นคนสั่งสำนวนคดีนี้
พนักงานอัยการ(คณะทำงานฯ) สำนักงานอัยการพิเศษ
ฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 ก็ได้เสนอสำนวนไปยัง
“อัยการพิเศษฝ่าย” ซึ่งอัยการพิเศษฝ่ายก็เห็นพ้องด้วย
ในวันที่ 8 มีนาคมฯ(วันรุ่งขึ้น)
จากนั้นก็เสนอสำนวนต่อไปยัง “รองอธิบดีอัยการ”
ซึ่งก็เห็นพ้องด้วยในประมาณเดือนเมษายน
และสำนวนนี้ก็ยังเสนอไปยัง “อธิบดีอัยการ”
ซึ่งก็เห็นพ้องด้วยในวันที่ 2 พฤษภาคม
จะเห็นได้ว่ามีการสั่งในสำนวนเป็นในทิศทางเดียวกันทั้งหมด
ตามลำดับชั้นจนไปถึงอธิบดีอัยการ
และในส่วนข้อหาที่ “ไม่สั่งฟ้อง” คือ ข้อหาขับรถในขณะเมาสุรา
ก็ได้ส่งสำนวนต่อไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ซึ่งต่อมาในเดือนมิถุนายน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติก็เห็นพ้องด้วย
กับคำสั่งของพนักงานอัยการ จึงทำให้ข้อหาในส่วนนี้
(ข้อหาขับรถในขณะเมาสุรา) “เสร็จเด็ดขาด” ในส่วนของผู้ต้องหาที่ 1
ในส่วนผู้ต้องหาที่ 2 ซึ่งถึงแก่ความตาย
ตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด จะต้องสั่งยุติการดำเนินคดี
(เพราะเมื่อผู้ต้องหาถึงแก่ความตาย
สิทธิในการดำเนินคดีอาญาย่อมระงับสิ้นไป ตามปวิอ.มาตรา 39)
แต่ปรากฏว่าหลังจากสำนวนกลับมาจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ทางพนักงานอัยการก็ยังไม่สามารถฟ้องคดีได้
เพราะว่ายังไม่ได้ตัวผู้ต้องหา
เนื่องจากตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา(ปวิอ.)
ระบุไว้ว่า จะฟ้องผู้ต้องหาได้ก็ต้องเมื่อ
ได้ตัวผู้ต้องหาอยู่พร้อมกับอัยการที่จะไปส่งฟ้องต่อศาล
เพราะผู้ต้องหารายนี้(ผู้ต้องหาที่ 1) ยังไม่อยู่ในความควบคุมของศาล
เมื่อผู้ต้องหาที่ 1 นายวรยุทธ อยู่วิทยา(บอส) ก็ยังไม่มาพบ
ซึ่งในระหว่างนี้ทางฝ่ายผู้ต้องหาที่ 1
ก็ได้มีการยื่น “ร้องขอความเป็นธรรม”
จนกระทั่งข้อหาหลายข้อหาก็ได้ “ขาดอายุความ” ไปในระหว่างนี้
ได้แก่
ข้อหาที่ 2 ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุทรัพย์สินผู้อื่น
ได้รับความสียหาย(อายุความ 1 ปี)
ข้อหาที่ 3 ขับรถชนแล้วไม่หยุดให้ความช่วยเหลือ
และไม่แจ้งเจ้าพนักงาน(อายุความ 5 ปี)
ข้อหาที่ 4 ขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด
(อายุความ 1 ปี)
เพราะยังไม่ได้ตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดี
แล้วในท้ายที่สุดเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2563
นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด มีคำสั่งไม่ฟ้อง
ในข้อหาที่เหลืออยู่ คือ
ข้อหาที่ 1 “ขับรถโดยประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย”
และได้ส่งคำสั่งนี้ไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
โดยทางรักษาการแทนผู้บังคับบัญชาตำรวจแห่งชาติ
ก็ “ไม่แย้งคำสั่ง” ของพนักอัยการ
คำสั่งไม่ฟ้องในส่วนนี้จึง “เสร็จเด็ดขาด” ไปอีกข้อหา
ฉนั้นประเด็นที่ทางคณะทำงานตรวจสอบฯ
ได้ตรวจสอบนั้น จะอยู่ในกรอบของ((3 ประเด็น))ได้แก่
((ประเด็นที่ 1)) : การสั่งสำนวนของนายเนตร นาคสุข
ในประเด็น เรื่องกรอบอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย
และระเบียบที่เกี่ยวข้อง นั้น
มีอำนาจในการออกคำสั่งฯหรือไม่อย่างไร
เกริ่นนำ : สำนักอัยการสูงสุด มี
พระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553
มาตรา 7 วางกรอบว่า ให้มีการแบ่งส่วนราชการภายใน
สำนักอัยการสูงสุด
ต่อมาในปี 2554 ก.อ. ได้มีประกาศของคณะกรรมการฯ
แบ่งหน่วยงานภายในสำนักอัยการสูงสุด ออกเป็น 60 หน่วยงาน
ในสำนักงานอัยการสูงสุด
เช่นสำนักงานคดีอาญา
สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ สำนักงานคดีแพ่ง เป็นต้น
รวม 60 หน่วยงาน ซึ่งมีระดับอธิบดี
เป็นผู้บังคับบัญชาในแต่ละหน่วยงาน
ในการขึ้นรับตำแหน่ง อัยการสูงสุด
ซึ่งเป็นแนวทางปฎิบัติตลอดมาของสำนักอัยการสูงสุด
ก็คือว่า เมื่ออัยการสูงสุดขึ้นมารับตำแหน่ง ก็จะมอบหมาย
มอบอำนาจภารกิจทั้งหลายในแต่ละด้าน
ให้ระดับ “รองอัยการสูงสุด” ไปกำกับดูแลในแต่ละด้าน
ในสมัยปัจจุบันเมื่อปี 2562 อัยการสูงสุดได้มีคำสั่ง
ที่ 1515/2562 ได้มอบหมายและมอบอำนาจภารกิจ
ซึ่งในส่วน “งานร้องขอความเป็นธรรม”
ก็อยู่ภายใต้การรับผิดชอบดูแลของนายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด
นอกจากนี้ยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการทำงาน
ของพนักงานอัยการ ได้แก่
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2560 มาตรา 248 และ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2560
ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วย
การดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ. พ.ศ. 2547.
ข้อ 51 และ 52 (แบ่งอำนาจ ตามชั้นของอัยการ)
ยึดโยงกับมาตรา 248 ตามรธน.
ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด
ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด
และหาก “บุคคลที่เกี่ยวข้องในคดี”
ที่อยู่ในความรับผิดชอบของอัยการทั่วประเทศ เห็นว่า
ตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรมย่อมสามารถ
“ร้องขอความเป็นธรรมได้” ตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด
ว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ. พ.ศ. 2547. ข้อ 48
เพราะฉะนั้นในคดีนี้ นายบอส วรยุทธ อยู่วิทยา
ก็อยู่ภายใต้กรอบของระเบียบที่ว่าไปนี้
ดังนั้น เมื่อกระบวนการยึดโยงดำเนินมาถึงสุดท้าย
นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด ที่มีคำสั่งในคดีนี้
จึงเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องของ
สำนักงานอัยการสูงสุดทุกประการ
((ประเด็นที่ 2)) นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด
มีการพิจารณาสั่งสำนวนคดีนี้ อย่างไร ?
ณ เวลาที่เกิดเหตุ 3 กันยายน 2555
จนกระทั่งสำนวนมาถึงมือพนักงานอัยการ
4 มีนาคม 2556 (ประมาณ 6 เดือน)
พยานในสำนวน จะมีพยานที่สำคัญอยู่หลายปาก
ซึ่งในส่วนสำคัญคือประเด็น “ความเร็วของรถ” ซึ่งได้ความ
จากการสอบสวนจากพยานเรื่องความเร็วของรถ ว่า
ช่องทางเดินรถมี 3 ช่องทางโดย
รถของนายวรยุทธ์ อยู่วิทยา “อยู่ช่องขวาสุด” ติดกับเกาะกลางถนน
รถกระบะของนายจารุชาต มาดทอง “อยู่ช่องกลาง”
รถจักยานยนต์ของดาบตำรวจวิเชียร กลั่นประเสริฐ
(ผู้เสียชีวิต) “อยู่ช่องซ้ายสุด”
โดยนายจารุชาต มาดทอง ซึ่งได้ให้การสอบสวนทันที
ภายใน 3 วันหลังเกิดเหตุว่า เห็นรถของดาบตำรวจวิเชียร
ขับจากเลนซ้ายสุดมาบริเวณช่องกลาง
ตนเองเลยแตะเบรกแล้วหลบไปทางซ้ายแล้วแซงขึ้นไป
ได้ 3 วินาที ก็ได้ยินเสียงเฉี่ยวชนด้านหลังแต่ตนเองไม่เห็น
หลังจากที่มีเหตุชนกันเกิดขึ้น พยานในที่เกิดเหตุ
ในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญของตำรวจ ได้แก่
พ.ต.ท.สมยศ แอบเนียม และพ.ต.ท.สุรพล เดชรัตนวิไชย
ซึ่งได้ให้ความเห็นประมาณว่า จากการดูจากสภาพรถ
จากการชนไม่ได้เสียหายมากน่าเชื่อว่าไม่ได้ขับรถเร็ว
ต่อมาพยานที่เกี่ยวข้องอีกปากหนึ่งคือ พ.ต.ท.ธนสิทธิ์ แตงจั่น
เป็นตำรวจจากกองพิสูจน์หลักฐานกลางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
กับทีมงาน ได้ลงไปที่เกิดเหตุ ได้กล้องวงจรปิดวัตถุพยาน
จากนั้นได้ทำรายงานการตรวจพิสูจน์และลงความเห็นทางวิชาการ
ในฐานะผู้เชี่ยวชาญพิเศษว่า รถคันนี้วิ่งด้วยความเร็ว 177 ก.ม./ชั่วโมง
ซึ่งเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่เป็นเหตุผลที่พนักงานอัยการเชื่อ
จึงมี “คำสั่งฟ้อง” ในตอนแรก และ
ในสำนวนยังมีพยานหลักฐานอีกชุดหนึ่งคือ
นายวรยุทธ อยู่วิทยา(บอส) เข้ามามอบตัวในเวลา 16.00 น.
ในวันเกิดเหตุ แล้วส่งตรวจเลือดในโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
ผลค่าเลือดจะมี 2 ตัว ที่จะเป็นประเด็นสำคัญ ได้แก่
1. พบปริมาณแอลกอฮอล์ 68 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นเศษๆ
ซึ่งมีแพทย์(ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ)ได้ลงความเห็นว่า
ถ้าเลือดในเวลา 16 นาฬิกาวัดได้เท่านี้
หากเป็นการดื่ม ณ เวลาเกิดเหตุ
จะมีปริมาณแอลกอฮอล์สูงถึงประมาณ 380 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นเศษๆ
ไม่สามารถครองสติได้
((คือไม่สามารถจะมีสติสัปชัญญะที่จะขับรถได้))
และมีพยานในบ้าน เห็นว่านายวรยุทธ
ดื่มเหล้าก่อนที่จะมอบตัว(หลังเกิดเหตุ)
จึงเป็นที่มาของหลักฐาน ตำรวจและอัยการ เห็นพ้องกันส่วนนี้
ประกอบกับ “ไม่มีพยานหลักฐานพิสูจน์ได้” ว่ามีอาการมึนเมาในขณะขับรถ
“ไม่ใช่ยืนยันว่าไม่มีอาการมึนเมาในขณะขับรถ”
2. พบสารแปลกปลอมในเลือด
ซึ่งหากเป็น “โคเคน”
ซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 2
ตามพรบ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522
หากใครเสพย่อมเป็นความผิดตามมาตรา 58
และมีบทลงโทษตามมาตรา 91 อัตราโทษจำคุก 6 เดือนถึง 3 ปี
ดังนั้นพยานหลักฐานทั้งหมดที่รวบรวมมานี้
เป็นพยานที่อัยการชุดแรก
เชื่อว่าความเร็วรถที่ผู้เชี่ยวชาญพ.ต.ท.ธนสิทธิ์ แตงจั่น
ลงความเห็นว่ารถขับด้วยความเร็ว 177 กม./ชั่วโมง
เป็นหลักฐานที่น่าเชื่อถือมากว่า
แต่เนื่องจากผู้ต้องหาได้มีการ “ร้องขอความเป็นธรรม”
และมีการสอบสวนเพิ่มเติม ปรากฏว่า
“พ.ต.ท.ธนสิทธิ์ แตงจั่น” พยานผู้เชี่ยวชาญ
ได้มีความเห็นเปลี่ยนแปลงจากความเร็ว
จาก 177 กม./ชั่วโมง มาเหลือไม่ถึง 100 กม./ชั่วโมง
ซึ่งเป็นส่วนแรกที่เข้ามา และมีรวบรวมนำพยานหลักฐานมากมาย
เข้ามาในสำนวนนั้น
ไม่มีความเร็วรถของพยานปากใดนั้น
ที่ลงความเห็นว่า ความเร็วรถเกิน 100 กม.ต่อชั่วโมง
ดังนั้น คณะทำงานฯ จึงเห็นว่า
สิ่งที่ “นายเนตร นาคสุข” รองอัยการสูงสุด
หยิบเอามาประกอบการวินิจฉัยในสำนวน
เป็นพยานหลักฐานที่อยู่ในสำนวน ไม่ได้อยู่นอกสำนวน
((ประเด็นที่สาม)) ความเห็นของคณะทำงานฯ
คณะทำงานฯ ได้ตรวจสำนวนโดยละเอียดแล้ว
มีความเห็นดังต่อไปนี้
ประการแรก เรื่องการพบสารเสพติด
ผลการตรวจเลือด ตั้งแต่วันที่เกิดเหตุ พบสารโคเคน
อันเป็นสารเสพติดให้โทษประเภท 2
ถือว่าการกระทำในส่วนนี้ เป็นความผิด
ตามพรบ.ยาเสพติดให้โทษ ตามมาตรา 58
และมีอัตราโทษตามมาตรา 91
ข้อหาส่วนนี้ยัง “ไม่มีการแจ้งความดำเนินคดี” กับผู้ต้องหาที่ 1
คือ นายวรยุทธ อยู่วิทยา(บอส)
คณะทำงานฯ จึงมีความเห็นเสนอท่านอัยการสูงสุด
ให้แจ้งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีนาย วรยุทธ อยู่วิทยา(บอส)
ในข้อหานี้
และคดีนี้(ข้อหานี้) “ยังไม่ขาดอายุความ”
ประการที่สอง เรื่องความเร็ว
ซึ่งเดิมที “พ.ต.ท.ธนสิทธิ์ แตงจั่น”
พยานผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นว่ารถมีความเร็ว 177 กม./ชั่วโมง
แต่ต่อมามีความเห็นเปลี่ยนแปลงความเร็วลงมา
เหลือไม่ถึง 100 กม./ชั่วโมง
ซึ่งก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่นายเนตร นาคสุข(รองอัยการสูงสุด)
“สั่งไม่ฟ้อง”
ข้อกฎหมายของการ “สั่งไม่ฟ้อง” ของพนักงานอัยการ
เมื่อมี “คำสั่งไม่ฟ้อง” ของพนักงานอัยการ
แล้วได้ส่งไปยังผู้บังคับบัญชาสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว
“ไม่แย้ง” คำสั่งไม่ฟ้องนั้น ย่อม “เสร็จเด็ดขาด”
ในเรื่องการออกคำสั่ง
แต่!! คดียังไม่ถึงที่สุด (คดียังไม่จบ)
คำว่า “คดียังไม่ถึงที่สุด”(คดียังไม่จบ) หมายความว่า
หากมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีแล้ว ไม่ให้สอบสวนคดีนั้นอีก
เว้นแต่ “มีพยานหลักฐานใหม่อันสำคัญ”
ซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหานั้นได้ ตามปวิอ.147
ปรากฏว่าภายหลังจากที่ข่าวสะพัดออกไป
มีพยานหลักฐานสำคัญชิ้นหนึ่ง คือ
การให้ข้อเท็จจริงของพยานปากหนึ่ง
ที่ไปให้สัมภาษณ์รายการสื่อมวลชนหลายรายการ คือ
“ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์” ซึ่งมีใจความว่า
ซึ่งในขณะเกิดเหตุได้รับการว่าจ้างจาก
“กองพิสูจน์หลักฐานกลาง” ให้เป็นที่ปรึกษา
เกี่ยวกับคดีสำคัญๆ ซึ่งในคดีนี้
ได้รับการประสานงานจาก “พ.ต.ท.ธนสิทธิ์ แตงจั่น”
ให้ลงไปสถานที่เกิดเหตุด้วยกัน พร้อมกับ
ตรวจสอบกล้องวงจรปิดวัตถุพยาน แล้วก็ได้ทำรายงาน
ซึ่งทั้งสองคนก็ได้ความเร็วรถใกล้เคียงกันมากคือ
ประมาณ 170 กม./ชั่วโมง
แล้วตนก็ส่งรายงานให้ “พ.ต.ท.ธนสิทธิ์ แตงจั่น”
เพื่อเอาเข้าในสำนวน
แต่คณะทำงานฯของเราตรวจสำนวนโดยละเอียดแล้ว
“ไม่ปรากฏหลักฐานชิ้นนี้” !!! ของ“ดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์”
แต่หากมีพยานหลักฐานชิ้นนี้ของดร.สธน ก็จะเป็น
“พยานหลักฐานใหม่อันสำคัญ”
ซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหานั้นได้ ตามปวิอ.มาตรา 147
คณะทำงานฯ จึงมีความเห็นไปยังสำนักอัยการสูงสุด
ให้แจ้งไปยังพนักงานสอบสวน ให้เริ่มต้นสอบสวนคดีนี้ใหม่
เพื่อดำเนินคดี “ข้อหานี้” ต่อนายวรยุทธ ต่อไป
สรุปว่า แม้จะมี “คำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี” แต่คดียังไม่จบ
เพราะกฎหมายระบุไว้ว่า “หากมีพยานหลักฐานใหม่อันสำคัญ”
ปวิอ.มาตรา 147 ก็สามารถให้พนักงานสอบสวน
ดำเนินการสอบสวนต่อไปได้ ภายในอายุความที่เหลืออีก 7 ปี
ในส่วนของการเสพ “โคเคน” นั้น ยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา
ก็จะมีการแจ้งให้ดำเนินคดีควบคู่กันไป
**หมายเหตุ**
1. ได้มีการสอบสวนโดยขอความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ
“นายแพทย์วิชาญ เปี้ยวนิ่ม” ได้ให้ความเห็นว่า
หากได้กินยา “อะม็อกซี่ซิลลิน” ก็อาจจะเกิดสาร
เบนโซอิลเอคโกไนน์ (Benzoylecgonine) และ
โคคาเอธทีลีน (Cocaethylene) ที่พบในเลือดได้
ซึ่งสำหรับ เบนโซอิลเอคโกไนน์ ไม่ใช่สารเสพติด
แต่เป็นสารที่พบในร่างกาย เมื่อร่างกายทำปฏิกิริยากับโคเคน
ส่วน โคคาเอธทีลีน ไม่ใช่ยาเสพติดเช่นกัน
แต่จะพบในร่างกายเมื่อร่างกายทำปฏิกิริยากับโคเคน
ร่วมกับแอลกอฮอล์
ดังนั้นแพทย์จึงให้ความเห็นว่า สารทั้ง 2 ชนิดไม่ใช่สารเสพติด
แต่!! ทางด่าน “รศ.วีรชัย พุทธวงศ์” อาจารย์ภาควิชาเคมี
คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ยืนยันว่า
การที่ตรวจพบเบนโซอิลเอคโกไนน์ เป็นการยืนยันว่าร่างกาย
ได้รับโคเคนมาอย่างแน่นอน
ยกตัวอย่างเหมือนกับการที่เราตรวจพบน้ำตาลในเลือด
ซึ่งเท่ากับว่าร่างกายได้รับแป้งเข้ามา จะเกิดจากสาเหตุอื่นไม่ได้
“มันเป็นเมตาบอลิซึมจากโคเคนล้านเปอร์เซ็นต์
การตรวจเจอเบนโซอิลเอคโกไนน์เป็นผลจากโคเคน
ยิ่งพบโคคาเอธทีลีน ซึ่งเกิดจากโคเคนร่วมกับแอลกอฮอล์
ยิ่งใช่ เพราะส่วนใหญ่นิยมเสพกันแบบนี้”
2. และในเรื่องความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญ
“พ.ต.ท.ธนสิทธิ์ แตงจั่น”
ในเรื่องความเร็วรถที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงความเร็ว
จากเดิม 177 กม./ชั่วโมง ลดมาเหลือไม่ถึง 100 กม./ชั่วโมง
ตรงนี้พนักงานสอบสวนควรจะสอบสวนให้แน่ชัดว่าเกิดจากเหตุใด
แต่เนื่องจากเป็นดุลยพินิจในการสอบสวนของพนักงานสอบฝ่ายเดี่ยว
ที่จะสอบสวนต่อหรือไม่ จึงเป็นจุดที่สงสัยทำให้ยังไม่กระจ่างในส่วนนี้
3. กรณีร้องขอความเป็นธรรม : ที่เป็นปัญหาในคดีนี้เพราะ
มีการขอความเป็นธรรมหลายครั้งและหลายหน่วยงาน
ซึ่งไม่สามารถจะไปควบคุมให้ยุติหรือไปกำหนดกรอบเวลาได้
เนื่องจากเหตุผลเดียว “ความเป็นธรรม”
ซึ่งในจุดนี้เองทางสำนักงานอัยการสูงสุดก็ควรที่จะปรับเปลี่ยนใหม่
ซึ่งอาจจะให้ “ร้องขอความเป็นธรรม” ได้เพียงครั้งเดียว
และต้องมาพบอัยการทุกครั้ง
4. กรณีพยานผู้เชื่ยวชาญ ที่ให้การขัดแย้งกันจะดำเนินการกันอย่างไร ?
ที่มา : การแถลงข่าวผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง
ของคณะทำงานตรวจสอบการพิจารณาสั่งคดี
นายวรยุทธ อยู่วิทยา
ในวันอังคารที่ 4 สิงหาคม 2563

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา