Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
สาระกฎหมาย by LawyerTon
•
ติดตาม
5 ส.ค. 2020 เวลา 18:57 • ข่าว
นายอรรถพล ใหญ่สว่าง ประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.)
ได้ออกหนังสือ ชี้แนะทางออกกรณีสั่งไม่ฟ้องต่อ
อัยการสูงสุด ในวันที่ 4 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา
เรื่อง : การแถลงข่าวผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง
ของคณะทำงานตรวจสอบการพิจารณาสั่งคดี
นายวรยุทธ อยู่วิทยา (บอส)
โดยมีข้อความว่า...
กราบเรียน อัยการสูงสุด
ตามที่คณะทำงานฯ แถลงข่าวเกี่ยวกับผลการตรวจสอบ
ข้อเท็จจริงการพิจารณาสั่งคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา
เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2563 ซึ่งสรุปความได้ว่า
คณะทำงานฯ เห็นว่า ในข้อหาขับรถโดยประมาท
เป็นเหตุให้ชนรถผู้อื่นเสียหายและมีผู้ถึงแก่ความตาย
น่าจะมีพยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดี
ตาม ป.วิอาญา มาตรา 147
อันจะทำให้พนักงานสอบสวนสามารถดำเนินคดีอีกครั้งได้
ภายในกำหนดอายุความ
และควรมีการแจ้งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่ผู้ต้องหา
ในข้อหาเสพยาเสพติดให้โทษประเภท 2 (โคเคน)
ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 เพิ่มเติมด้วย
ส่วนการดำเนินการเกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจของพนักงานอัยการ
ผู้ที่เกี่ยวข้องในการสั่งคดี
ควรพิจารณาดำเนินการตามนัยพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการ
ฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2553 ต่อไป
และมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปรับปรุงระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด
ว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2547
และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ในส่วนที่เกี่ยวกับการร้องขอความเป็นธรรมให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้นนั้น
ข้าพเจ้าได้พิจารณาแล้ว เห็นว่า ยังมีประเด็นอันควรพิจารณา
เกี่ยวกับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและ
ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดำเนิน
คดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่
ในการสั่งสำนวนของพนักงานอัยการ กรณีมีคำสั่งไม่ฟ้อง
และผลของการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องเพิ่มเติมอีก ดังนี้
1. กรณีพนักงานอัยการมีคำสั่งที่ไม่ฟ้อง และ
คำสั่งนั้นไม่ใช่คำสั่งของอัยการสูงสุด
เมื่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
หรือผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
ไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้อง จึงเป็นคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง
หากมีการแย้งคำสั่งของพนักงานอัยการให้ส่งสำนวน
พร้อมกับความเห็นที่แย้งไปยังอัยการสูงสุดเพื่อชี้ขาด
เมื่ออัยการสูงสุดชี้ขาดไม่ฟ้อง จึงเป็นคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง
คำสั่งในขั้นตอนต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น ต้องเป็นคำสั่งโดยถูกต้อง
ตามอำนาจหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ
ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายและระเบียบฯ ที่เกี่ยวข้องด้วย
จึงจะสมบูรณ์ตามกฎหมาย
ในกรณีที่เดิมพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องไว้แล้ว
แต่มีการกลับคำสั่งเป็นคำสั่งไม่ฟ้องตามระเบียบฯ ข้อ 6 กำหนดว่า
“ในกรณีที่เห็นควรกลับความเห็นหรือกลับคำสั่งเดิม
ให้เสนอตามลำดับชั้นจนถึงอธิบดีเพื่อพิจารณาสั่ง
เว้นแต่ ความเห็นหรือคำสั่งเดิมนั้นเป็นของอธิบดี
ให้เสนออัยการสูงสุดหรือรองอัยการสูงสุดผู้ได้รับมอบหมาย
เพื่อพิจารณาสั่ง”
2. กรณีคดีมีการร้องขอความเป็นธรรมระเบียบฯ ข้อ 48
(การสั่งคดีกรณีร้องขอความเป็นธรรม) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม
โดยระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดำเนิน
คดีอาญาของพนักงานอัยการ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2554
กำหนดว่า
“คดีที่มีการร้องขอความเป็นธรรม ในกรณีที่จะมีคำสั่ง
ไม่ฟ้องผู้ต้องหาทุกข้อหาหรือบางข้อหา
ให้เสนอสำนวนพร้อมความเห็นตามลำดับชั้นถึงอธิบดี
เพื่อพิจารณาสั่งกรณีที่มีคำสั่งฟ้อง
ให้ดำเนินการให้ได้ตัวผู้ต้องหามายื่นฟ้องต่อศาล
และให้รีบทำบันทึกส่งคำร้องขอความเป็นธรรม
สำเนาความเห็นและคำสั่ง พร้อมทั้งสำเนารายงานการสอบสวน
เสนออธิบดีเพื่อทราบ
กรณีดังกล่าวในวรรคก่อน หากเป็นกรณีที่ต้องกลับความเห็น
หรือกลับคำสั่งเดิม หรือต้องถอนฟ้อง
ให้นำความใน ข้อ 6 วรรคท้าย หรือ ข้อ 128
มาใช้บังคับแล้วแต่กรณี
3. กรณีตามคดีนี้ได้ความว่า
ในการร้องขอความเป็นธรรมหลายครั้งของนายวรยุทธ อยู่วิทยา ผู้ต้องหา
การร้องขอความเป็นธรรมในชั้นหลัง
ที่มีประเด็นพิจารณาถึงคำให้การ
รองศาสตราจารย์ ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม
และรายงานพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการกฎหมาย
กระบวนการยุติธรรม และกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติด้วย
อัยการสูงสุด (ร.ต.ต.พงษ์นิวัติ ยุทธภัณฑ์บริภาร)
ได้สั่งให้ยุติการพิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรมของผู้ต้องหาที่ 1 แล้ว
ดังนั้นต้องถือว่าคำสั่งฟ้องที่สั่งไว้มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย
4. หลังจากนั้น หากมีกรณีร้องขอความเป็นธรรม
เข้ามาสู่การพิจารณาของพนักงานอัยการอีก
การที่พนักงานอัยการคนใดจะหยิบยกเพื่อพิจารณาให้ความเป็นธรรม
โดยสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมและมีคำสั่งใดๆ ใหม่
ต้องมีคำสั่งจากอัยการสูงสุดก่อนจึงจะดำเนินการได้
เพราะอัยการสูงสุดได้วินิจฉัยไว้แล้ว
ให้ยุติการพิจารณากรณีร้องขอความเป็นธรรม
หากพนักงานอัยการผู้ใดมีการหยิบยก
การร้องขอความเป็นธรรมขึ้นพิจารณาอีก
และมีคำสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติม
โดยมิได้ขอความเห็นชอบจากอัยการสูงสุดก่อนไม่น่าจะกระทำได้
และจะมีผลการดำเนินการในขั้นตอนต่อๆ มาทั้งหลาย
ไม่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบฯ
ทำให้คำสั่งต่างๆ ที่มีตามมา
รวมทั้งคำสั่งไม่ฟ้องไม่อาจมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายได้
5. กรณีที่รองอัยการสูงสุด หยิบยกการร้องขอความเป็นธรรม
ขึ้นพิจารณาอีกครั้ง ทั้งที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งให้ยุติไปแล้ว
จึงมีนัยสำคัญที่ควรพิจารณาว่าเกิดผลตามที่กล่าวมาตามข้อ 4 หรือไม่
หากเป็นผลต้องถือว่าคำสั่งไม่ฟ้องยังไม่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบฯ
การส่งสำนวนพร้อมความเห็นไปให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
พิจารณาแล้วไม่แย้งคำสั่ง
ก็หาเป็นผลให้เกิดเป็นคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องที่ถูกต้องสมบูรณ์ตามกฎหมายไม่
และคำสั่งฟ้องเดิมของอธิบดีอัยการ
สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ ต้องถือว่ายังมิได้ถูกกลับ
และมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายอยู่
6. ในการพิจารณากรณีการร้องความเป็นธรรมครั้งหลัง
จากที่อัยการสูงสุดท่านเดิม (ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร)
มีคำสั่งให้ยุติการพิจารณาการร้องขอความเป็นธรรมก่อนหน้านั้นไปแล้ว
ดังนั้น พนักงานอัยการผู้มีอำนาจพิจารณาดำเนินการสั่งคดีดังกล่าวได้อีก
ก็แต่เฉพาะอัยการสูงสุดเท่านั้น
รองอัยการสูงสุดที่ได้รับมอบหมายหรือปฏิบัติราชการแทน
ไม่มีอำนาจสั่งคดีดังกล่าว
หากอัยการสูงสุดไม่ได้มีคำสั่งใด คำสั่งฟ้องของอธิบดีอัยการ
สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ ก็ยังคงใช้บังคับอยู่เช่นเดิม
แต่ถ้าอัยการสูงสุดสั่งให้พิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรมอีกครั้งหนึ่ง
อัยการสูงสุดก็มีอำนาจสั่งยุติการพิจารณาการร้องขอความเป็นธรรม
หรือสั่งสอบสวนเพิ่มเติม หรือกลับคำสั่งฟ้องตามความเห็นเดิม
เป็นสั่งไม่ฟ้องก็ได้ตามดุลพินิจที่เห็นว่าถูกต้องเหมาะสม
และสอดคล้องกับพยานหลักฐานในสำนวน
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา อนึ่ง เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ
และมีผลต่อความเชื่อถือศรัทธาที่ประชาชนมีต่อองค์กรอัยการ
จึงใคร่ขอนำความเห็นของข้าพเจ้าตามบันทึกนี้เผยแพร่ทางสื่อต่างๆ
ให้ประชาชนได้รับทราบด้วย”
นายอรรถพล ใหญ่สว่าง
ประธานคณะกรรมการอัยการ
บันทึก
1
8
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ข่าวสารกฎหมาย
1
8
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย