4 ส.ค. 2020 เวลา 12:32 • กีฬา
NBA The Player Part 1: The X-Factor บทความพิเศษเพื่อระลึกถึง Kobe Bryant
โดย วิธพล เจาะจิตต์
ปี 2020 นอกจากจะถูกจดจำด้วยวิกฤติไวรัสที่โลกไม่เคยพบเจอมาก่อน วงการกีฬาได้รับผลกระทบจนลีกหรือทัวร์นาเมนต์ต้องปรับเปลี่ยนระบบการแข่งขันเพื่อให้เดินหน้าต่อได้ ปีนี้ยังเป็นปีที่วงการบาสเกตบอลได้สูญเสีย Kobe Bryant ผู้เล่นที่ต้องกลายเป็นตำนานก่อนเวลาอันควร
 
 
Kobe เป็นนักบาสเกตบอลที่ประสบความสำเร็จมากมาย สร้างผลงานและผลการแข่งขันที่น่าจดจำหลากหลาย นอกเหนือจากเข้าสู่ลีกด้วยการคัดเลือกตัวโดยตรงจากลีกระดับมัธยม เมื่อก้าวออกจากลีกก็ทำ 60 แต้มใส่ Utah Jazz ในนัดสุดท้ายของอาชีพ เรียกได้ว่ามีทั้ง Big Entrance และ Grand Exit กันเลยทีเดียว
 
 
ด้วยผลสำเร็จอันล้นหลามทำให้คนมองข้ามคุณสมบัติสำคัญที่สร้าง Kobe ให้แตกต่างจากผู้เล่นทั่วไป นั่นคือ ตัวตนของเขาที่หลอมรวมเอาความรักในสิ่งที่ทำ ความมุมานะ ความต้องการที่จะดีขึ้น และความตั้งใจที่จะพิสูจน์ตนเอง จนขับเคลื่อนให้เป็นปัจจัยที่สร้างความแตกต่าง ตามที่เรียกกันว่า X-Factor
 
 
เส้นทางชีวิตนักกีฬาบาสเกตบอลของ Kobe ไม่ได้ราบรื่นอย่างที่เห็นเขาประสบความสำเร็จ เขาต้องใช้ชีวิตวัยเด็กในอิตาลี เพราะติดตามพ่อผู้ไปเล่นบาสเกตบอลลีกอาชีพที่นั่น ซึ่งเป็นประเทศที่ฟุตบอลเป็นกีฬามหาชน บวกกับภาษาที่ไม่คุ้นเคย จนเขาสับสนในตัวตน และเกิดปัญหาหลายครั้ง
 
 
เมื่อกลับมาสหรัฐอเมริกา Kobe เข้าโรงเรียนมัธยม Lower Merion แถบชานเมือง Philadelphia เขาก็ทุ่มเททุกอย่างให้แก่กีฬาที่เขารัก พร้อมกับประกาศเข้าร่วมงานคัดตัวเข้าลีกในปี 1996 อย่างไรก็ตามใช่ว่า Kobe จะได้รับการยอมรับจากแมวมองของทุกทีมในระดับเดียวกับ Lebron James ตอนคัดตัว หลายคนยังสงสัยว่าเจ้าหนุ่มร่างผอมบางคนนี้จะสามารถยืนหยัดในลีกมหาหินเช่น NBA ได้จริงหรือ
ทว่า Jerry West ที่ในตอนนั้นเป็นผู้บริหารทีม Lakers กลับเห็นบางสิ่งที่คนอื่นไม่เห็น จึงจัดให้ Kobe ได้ลงซ้อมกับ Michael Cooper ผู้เล่นมือหนึ่งเกมป้องกัน หนึ่งในตำนาน Lakers ซึ่งเพิ่งจะเลิกเล่นไป หลังจบการซ้อม West ถึงกับกล่าวแสดงความเห็นใจต่อ Cooper ที่โดนเด็กอายุ 17 ถล่มเสียราบคาบ และหลังจากการซ้อมครั้งนั้น West ตั้งใจแน่วแน่ว่าจะต้องนำเด็กคนนี้เข้าสู่ทีมให้ได้ และเขาก็ทำสำเร็จ
West ตั้งใจให้ Kobe มาจับคู่กับ Shaquille O’Neal เซ็นเตอร์ระดับพระกาฬ เพื่อนำแชมป์กลับสู่เมืองนางฟ้าอีกครั้ง แต่ก็อย่างที่รู้กันว่าเส้นทางการทำงานร่วมกันของซูเปอร์สตาร์ทั้งสองคนไม่ราบรื่นเอาเสียเลย ทั้งเรื่องกระทบกระทั่งของอัตตา ทั้งกล่าวโทษกันในเรื่องความมุ่งมั่น การตัดสินใจผิดพลาดระหว่างแข่งขัน ขยายไปสู่การตำหนิกันเรื่องความเห็นแก่ตัว กระทั่งโค้ช Phil Jackson ก้าวเข้ามาปรับระบบทีม เสริมผู้เล่นใหม่ และปรับทัศนคติของดาวเด่นทั้งคู่ Lakers จึงก้าวสู่แชมป์ 3 ปีรวดระหว่างปี 2000-2002 ว่ากันว่าในช่วงนี้ Lakers มีผู้เล่นเก่งๆ เต็มทีม Kobe เป็นเหมือน X-Factor ที่ช่วยให้ทีมได้ไปต่อในช่วงเวลาคับขัน
 
 
แต่ความชื่นมื่นตลอดช่วงนั้นได้มลายหายไปในเดือนกรกฎาคม ปี 2003 เมื่อ Kobe ถูกตั้งข้อหาล่วงละเมิดทางเพศ การแปดเปื้อนจากคดีความทำให้ภาพลักษณ์ของเขาแย่ลงไปอีก ส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อครอบครัวเขาอย่างเลี่ยงไม่ได้ ต่อมาในปี 2004 เมื่อ O’Neal ย้ายทีมไป Miami Heats หลายคนตำหนิ Kobe ว่าเป็นต้นเหตุ บ้างก็ว่าความเห็นแก่ตัวของเขายังไม่ลดลง พร้อมกับโดนแฟนปรามาสด้วยว่าหากไม่มี O’Neal แล้ว Kobe จะไม่สามารถพา Lakers ถึงแชมป์ได้อีก คำสบประมาทดังกล่าวได้กลายเป็นภาระทางใจที่เขาจะต้องพิสูจน์ให้กระจ่าง
 
 
แม้เรื่องราวแย่ๆ ถาโถมเข้ามา พร้อมกับภาพลักษณ์ตัวร้ายที่สังคมสร้างขึ้น Kobe กลับน้อมรับสิ่งเหล่านั้นและแปรเป็นแรงบันดาลใจให้กับตนเอง ขณะที่ Magic Johnson ตำนานอีกคนของ Lakers เป็นที่จดจำเพราะใบหน้าเปื้อนยิ้ม (Smiling Face) ทว่า Kobe ในช่วงหลังปี 2005 กลับเป็นที่จดจำด้วยสีหน้าขาโหด (Mean Face) ว่ากันว่า Kobe กับ Michael Jordan เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือ ทัศนคติของทั้งคู่นั้นยอมรับความซื่อตรงอันโหดร้ายได้ (Brutal Honesty) หลายครั้งที่ทั้งสองปฏิบัติกับเพื่อนร่วมทีมอย่างก้าวร้าวและท้าทาย เพียงเพราะต้องการกระตุ้นให้คนอื่นได้พัฒนาและมีความกระหายชัยชนะ ภายหลังบางคนเรียกแนวคิดแบบนี้ว่า Mamba Mentality
ครั้งหนึ่งหลังสหรัฐอเมริกาเอาชนะสเปนรอบชิงชนะเลิศในโอลิมปิกปี 2008 Kobe เอาเหรียญทองที่ได้มา ไปคล้องไว้ที่ตู้ล็อกเกอร์ของ Pau Gasol ผู้เล่นทีมชาติสเปน จนทั้งสองเกือบจะวิวาทกัน เหตุการณ์นี้เป็นที่กล่าวขานกันในหมู่ผู้เล่น Lakers แต่หลังจาก Kobe พูดว่า “มาชนะด้วยกันเถอะ” Gasol ก็เข้าใจถึงเจตนาของการสร้างแรงกระตุ้นด้วยวิธีแบบวายร้ายของ Kobe ซึ่งต่อมาในปี 2009 และปี 2010 Kobe และ Gasol คว้าแชมป์ร่วมกันได้ในที่สุด โดยคราวนี้ Kobe เป็นแกนกลางที่ช่วยผลักดันทีมและพัฒนาเพื่อนร่วมทีม ไม่ใช่แค่ X-Factor ดังที่เคยเป็นมา
ความเห็นแก่ส่วนรวมของ Kobe เป็นสิ่งน่าชื่นชม แต่กลับถูกมองข้ามไปเพราะภาพลักษณ์การเอาตัวเองเป็นตัวตั้ง กล่าวคือ ในกีฬาโอลิมปิกปี 2008 เขาตัดสินใจร่วมทีมชาติสหรัฐอเมริกา เพื่อนำแชมป์บาสเกตบอลกลับสู่แผ่นดินแม่ โดยก่อนหน้านั้นในโอลิมปิกปี 2000 และ 2004 สหรัฐฯไม่ประสบความสำเร็จนัก ถ้านับรวมทัวร์นาเมนต์ชิงแชมป์โลกของ FIBA ในปี 2002 และ 2006 ด้วยแล้ว อเมริกันชนห่างเหินความสำเร็จระดับโลกมายาวนานจริงๆ ตอนที่ Kobe ปรึกษากับ Phil Jackson ว่าจะลงเล่นในปักกิ่งเกมส์ปี 2008 เขาได้รับคำตอบว่า เกียรติยศที่ได้มาอาจต้องแลกกับอาชีพที่สั้นลง 2-3 ปี เพราะการกรำศึก NBA มาทั้งฤดูกาล แล้วยังต้องลงแข่งทัวร์นาเมนต์ระดับโลกแทนที่จะได้พักในช่วงหน้าร้อน ร่างกายจะล้าเกินไป และเมื่อเขาถามถึงบทบาทของตัวเองในทีมชาติ คำตอบคือเขาจะไม่ใช่ตัวทำแต้มหลัก แต่ต้องเน้นทำทางกับวางรูปเกมให้คนอื่นทำแต้มแทน แม้จะได้รับคำตอบเช่นนั้น Kobe ยังตกลงใจเล่นให้ทีมชาติอยู่ดี และประสบความสำเร็จได้แชมป์กลับมา ทีมชุดนั้นมีชื่อเล่นว่า Redeem Team หรือทีมทวงคืน ที่เล่นคำพ้องเสียงกับชื่อ Dream Team ก่อนหน้า
Kobe ยังรับใช้ชาติต่ออีกในโอลิมปิกที่ลอนดอนในปี 2012 และหลังจากคว้าแชมป์ในปีนั้น ก็เจออาการบาดเจ็บรุมเร้าต่อเนื่อง จนช่วงท้ายของอาชีพเขาไม่สามารถลงเล่นได้อย่างสม่ำเสมอ ในช่วงที่ Lakers กำลังสร้างทีมใหม่ บางปีก็ไม่ได้เข้าเพลย์ออฟด้วยซ้ำไป แต่เขาไม่เคยกล่าวโทษผลพวงจากการรับใช้ชาติที่ส่งผลต่อสภาพร่างกายของเขาแม้สักครั้งเดียว
 
 
หลังจากปิดฉากชีวิตนักบาสฯ ด้วยการทำ 60 แต้มดับฝัน Jazz ที่ลุ้นเข้าเพลย์ออฟ เขาเริ่มบทบาทใหม่ของชีวิตด้วยทัศนคติเดิม คือ มุ่งมั่น ตั้งใจ พากเพียร และกระหายความสําเร็จ เขาเริ่มงานทุกอย่างได้ดี ไม่ว่าจะเป็นงานจัดการกองทุน Venture Capital หรือการนำบทกวีของตนเกี่ยวกับความรักในบาสเกตบอลมาเขียนเป็นบทภาพยนตร์ Animation ก็ได้รับรางวัลออสการ์อีกด้วย และแม้ว่าในอดีตจะเคยต้องคดีล่วงละเมิดทางเพศ แต่หลังจากเลิกเล่น Kobe ก็ทุ่มเทและเป็นที่ยอมรับในงานส่งเสริมวงการกีฬาหญิงให้พัฒนาต่อเนื่อง เขายังอุทิศตัวเองทำหน้าที่โค้ชให้กับลูกสาวและทีมของเธอด้วย อาจกล่าวว่าเขาเป็น X-Factor ของวงการกีฬาหญิงก็ได้
บทความนี้ตั้งใจยกย่อง Kobe Bryant ในฐานะบุคคล บุคคลที่ไม่ได้สมบูรณ์แบบ บุคคลที่ชีวิตไม่ได้ราบรื่น บุคคลที่ประวัติด่างพร้อย เคยถูกมองในทางลบ บุคคลที่เป็น X-Factor ของทีม บุคคลที่เอาแต่ก่นด่าเมื่อไม่มี X-Factor มาช่วยเขา บุคคลที่ท้ายที่สุดค้นพบ X-Factor ในตัวเอง และใช้มันเพื่อการสร้างทีม สร้างผลงานที่กว้างขวางกว่าวงการบาสเกตบอล บุคคลที่สร้างแรงบันดาลใจและความสุขให้ผู้คนจำนวนมาก บุคคลที่สุดท้ายแล้วสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตนเอง...บุคคลยอดเยี่ยมคนหนึ่งเท่าที่โลกกีฬาเคยมีมา
ตลอดชีวิตการเล่น 20 ปี Kobe เล่นให้กับ Los Angeles Lakers เพียงทีมเดียว เขาได้แชมป์ NBA 5 ครั้ง เป็นผู้เล่นทำแต้มสูงสุดของลีก 2 ฤดูกาล ได้เหรียญทองโอลิมปิก 2 เหรียญ เป็นผู้เล่นทรงคุณค่าของลีก และได้รับเลือกให้เล่นในเกมส์ All-Star 18 ครั้ง เป็นผู้เล่นทำแต้มสูงสุดในหนึ่งเกมตลอดกาลในลำดับที่ 2 โดยทำ 81 แต้มใส่ Toronto Raptors เขาเป็นผู้เล่นทำแต้มสูงสุดตลอดกาลของ NBA ในลำดับที่ 4 ที่ 33,643 แต้ม ในวันที่ 25 มกราคม 2020 Lebron James ทำสถิติแซงหน้าเขาไป Kobe ได้ส่งข้อความแสดงความยินดีกับ James และในวันรุ่งขึ้น Kobe Bryant ก็จากไปตลอดกาล
#LebronJames #KobeBryant #NBA #เล่นเป็นเรื่อง #PlayNowThailand
อัพเดตข่าวสารกีฬาก่อนใคร
พร้อมมีของรางวัลพิเศษให้ร่วมสนุกกันเป็นประจำ
ร่วมไลค์ ร่วมแชร์ Play Now Thailand

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา