11 ส.ค. 2020 เวลา 12:25 • กีฬา
NBA The Player Part 2:
X-Factor ที่น่าสนใจใน NBA 2020
โดย วิธพล เจาะจิตต์
 
 
เมื่อ NBA ฤดูกาล 2019-2020 กลับมาแข่งใหม่ภายใต้รูปแบบ NBA Bubbles ตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม เราได้เห็นความน่าสนใจหลายอย่างที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความคิดสร้างสรรค์ของลีกในการให้คนดูทางบ้านมีส่วนร่วมกับเกม การใช้ดิจิทัลบอร์ดสร้างบรรยากาศเกมในบ้าน การจัดที่นั่งผู้เล่นสำรองและสตาฟโค้ชแบบ Social Distancing หรือบางเกมที่ให้อารมณ์แบบกระชับมิตรมากกว่า โดยเฉพาะเกมของทีมที่เข้ารอบแล้ว แต่ทีมที่ยังลุ้นเข้ารอบก็จัดเต็มเสียยิ่งกว่าการเล่นในรูปแบบเดิม
 
 
จะเห็นได้ว่าทีมหัวตารางของทั้ง 2 สายแพ้สลับชนะ โดย Bucks ชนะ 2 แพ้ 2 ส่วน Lakers ชนะ 2 แพ้ไปถึง 3 เกม ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่ค่อยเกิดขึ้น แต่ทีมแบบ Phoenix Suns ที่ต้องลุ้นเข้าเพลย์ออฟกลับชนะรวด 4 นัด หรือพูดได้ว่าแรงจูงใจของทีมบางทีมตอนนี้อยู่ที่การเข้ารอบเพลย์ออฟเป็นหลัก
 
 
นอกจากนี้บรรยากาศที่น่าเอ็นดูไม่น้อยคือมิตรภาพเอื้ออาทรระหว่างนักกีฬา พอมาอยู่รวมกันในสถานที่ตัดขาดทางกายภาพจากโลกภายนอก นักกีฬาย่อมสนิทกันมากขึ้น เราจึงไม่เห็นการมองหน้ากันแบบท้าทาย หรือการทำแต้มแบบ Dunk ใส่หน้า ยิ่งกว่านั้นในบางเกมพอบอลออกนอกสนาม ทีมคู่แข่งยังช่วยกันเก็บบอลให้ฝ่ายตรงข้าม มีน้ำใจยิ่งกว่าบาสเกตบอลระดับมัธยมเสียอีก เรียกว่าดูไปอมยิ้มไป
 
 
สิ่งหนึ่งที่คนมองข้ามคือ ด้วยอารมณ์เกมแบบนี้ ผู้เล่นที่เป็นอาวุธลับหรือพลังแฝงของทีม ซึ่งพร้อมเปลี่ยนเกมได้อย่างพลิกความคาดหมาย อย่างที่เราเรียกว่า X-Factor จะยิ่งมีโอกาสแสดงฝีมือและส่งผลต่อการแข่งขัน มากกว่าการแข่งในรูปแบบปกติเสียอีก
 
 
ตัวอย่างชัดเจนของผู้เล่นที่เป็น X-Factor ก็คือ John Paxson และ Steve Kerr ของ Chicago Bulls ยุค Jordan และ Pippen แม้ว่าทั้งคู่ไม่ได้เป็นมือหนึ่งของทีม แต่ก็เป็นผู้ยิงลูกตัดสินเกมและตัดสินซีรี่ส์รอบชิง NBA ในปี 1993 และ 1997 ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะคิดว่าลูกตัดสินเกมต้องยิงโดยมือหนึ่งของทีมเท่านั้น
สำหรับตัวอย่าง X-Factor ในยุคปัจจุบัน คือ Andre Iguodala สมัยที่ช่วย Golden State Warriors เป็นแชมป์ครั้งแรกด้วยการป้องกัน Lebron James หรือ Kawhi Leonard ที่เป็น X-Factor ของ San Antonio Spurs ที่ช่วยทีมให้ได้แชมป์ด้วยการป้องกัน Lebron James เช่นกัน ทั้ง Iguodala และ Leonard เป็นผู้เล่นทรงคุณค่ารอบชิงชนะเลิศ ไม่ใช่ Stephen Curry หรือ Tim Duncan ซึ่งเป็นผู้เล่นมือหนึ่งของสองทีมดังกล่าว
ส่วน X-Factor ของแชมป์ปีที่แล้วอย่างทีม Toronto Raptors ก็คือ Fred VanVleet และ Pascal Siakam โดยลูกยิง 3 แต้มของ VanVleet ร่วมกับการรีบาวด์เกมรุกและทำแต้มในโอกาสที่สอง (2nd Chance Points) ของ Siakam ได้ตัดทอนกำลังใจของ Warriors ไม่ให้กลับเข้าสู่เกมได้อีก
สำหรับปีนี้มีผู้เล่นรายใดเป็น X-Factor ที่น่าสนใจบ้าง ผมอยากชวนให้ติดตามกัน โดยจะขอเริ่มจาก X-Factor ของทีมเต็งก่อนนะครับ เพราะว่ากันว่าแชมป์ทุกทีมต้องมีคุณสมบัติข้อนี้
ทีมเต็งทีมแรก Milwaukee Bucks ซึ่งในปีนี้ทำสถิติน่าภูมิใจก่อนที่ฤดูกาลจะหยุดไปคือ มีผลต่างแต้มเฉลี่ยที่ 11.2 ต่อเกม ซึ่งถือว่าเยอะมากนะครับ คือชนะทีมอื่นด้วยคะแนนเฉลี่ยมากกว่า 10 แต้ม ทีมนี้มีผู้เล่นทรงคุณค่าฤดูกาลที่ผ่านมาคือ Giannis Antetokounmpo ทั้งมีโค้ชยอดฝีมือ และทีมมีพัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ปีที่แล้วกลับแพ้ Raptors ที่ขับเคลื่อนทีมด้วยความต้องการพิสูจน์ตนเองของนักกีฬาหลายคน ผนวกกับประสบการณ์ที่มากกว่าในรอบเพลย์ออฟ
 
 
จุดด้อยที่ทำให้ Bucks ไปไม่ถึงฝั่งฝันในปีที่แล้วคือ แม้ว่าผู้เล่นจะมากประสบการณ์ใน NBA แต่โอกาสเล่นในรอบเพลย์ออฟกลับน้อยอย่างน่าแปลกใจ อย่างพี่น้อง Robin และ Brook Lopez ผู้เล่นตำแหน่งเซ็นเตอร์ของทีม มีประสบการณ์ในลีก 12 ปี แต่ประสบการณ์เล่นรอบเพลย์ออฟมีแค่ 28 เกม หรือ Giannis ที่เล่นในลีกมา 7 ปี แต่เล่นเพลย์ออฟไปแค่ 34 เกม
 
 
อธิบายให้ผู้อ่านที่อาจยังไม่คุ้นกับกีฬาบาสเกตบอลได้เห็นภาพนะครับ การแข่งขันฤดูกาลปกติของ NBA ก็เหมือนการเล่นฟุตบอลลีกแบบ English Premier League หรือ Bundesliga แต่เมื่อ NBA เข้าสู่รอบเพลย์ออฟจะเปลี่ยนเป็นแข่งกันแบบทัวร์นาเมนต์ ดังนั้นทีมที่ได้แชมป์ลีกก็ไม่จำเป็นว่าจะเล่นได้ดีในการแข่งทัวร์นาเมนต์เสมอไป
 
 
แม้ว่า Bucks มีความด้อยประสบการณ์ในรอบเพลย์ออฟ ทว่าทีมก็มี X-Factor ที่จะช่วยลดจุดอ่อนนั้นได้ นั่นคือผู้เล่นน่าสนใจอย่าง Khris Middleton และ Eric Bledsoe
โดยพื้นฐานแล้ว Bledsoe เป็นผู้เล่นที่ถูกคัดเลือกตัวเข้าสู่ลีกในรอบแรก เป็นที่ยอมรับในฐานะผู้เล่นเกมป้องกันที่ดี กัดไม่ปล่อย และอยู่ในระดับใกล้เคียงผู้เล่น All-Star แต่ยังต้องพัฒนาตัวเองอีกมากในการจัดการแรงกดดันในรอบเพลย์ออฟ สิ่งบ่งชี้ฝีมือของเขาในฐานะการ์ดจ่ายคืออัตราส่วนการช่วยทำแต้มต่อการเสียบอล (Assist-to-Turnover Ratio) ซึ่ง Bledsoe พัฒนามาอย่างต่อเนื่องจาก 1.76 เป็น 2.04 แต่สิ่งที่เขายังต้องพิสูจน์ตนเองคือ การช่วยแบ่งเบาภาระมือหนึ่งของทีมอย่าง Giannis ในการทำแต้ม
 
 
หากดูจากรอบเพลย์ออฟ 2 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขเฉลี่ยการทำแต้มต่อเกมของเขาอยู่ที่ 13.7 แต้ม แต่ปีที่แล้วสิ่งที่เป็นตราบาปในรอบชิงแชมป์สายคือ การทำแต้มเฉลี่ยต่อเกมของเขาลดเหลือ 10.2 แต้ม ความแม่นยำในการทำแต้ม (Field Goal Percentage) ลดลงเหลือ 30% และความแม่นยำในระยะ 3 คะแนนเหลือแค่ 16% ถือว่าห่างชั้นมากเมื่อเทียบกับการ์ดจ่ายบอลที่เข้าชิงแชมป์สาย ซึ่งความแม่นยำจะอยู่ในระดับมากกว่า 45% สำหรับระยะ 2 คะแนน และมากกว่า 40% สำหรับระยะ 3 คะแนน
 
 
ในฤดูกาลปกติปี 2019-20 จนถึงปัจจุบัน เขาทำแต้มเฉลี่ย 15.2 แต้มต่อเกม ความแม่นยำระยะ 2 คะแนนอยู่ที่ 48% และระยะ 3 คะแนนอยู่ที่ 35% ส่วนอัตราส่วนการช่วยทำแต้มต่อการเสียบอลอยู่ที่ 2.16 จิตใจเขาในตอนนี้คงจดจ่อรอเวลาที่จะพิสูจน์ตัวเองอีกครั้งในเพลย์ออฟที่กำลังจะมาถึง
ส่วน Khris Middleton เป็นผู้เล่นดาวรุ่งที่มีฝีมือระดับ All-star และติดทีมชาติรุ่นแข่งชิงแชมป์โลกในทัวร์นาเมนต์ FIBA 2019 เรื่องมาตรฐานฝีมือคงไม่ต้องพูดถึง ค่าเฉลี่ยรวมในรอบเพลย์ออฟของเขาก็ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยปีที่แล้วค่าเฉลี่ยทำแต้มอยู่ที่ 16.9 แต้มต่อเกม ดีกว่า Playoff ก่อนหน้าที่อยู่ในระดับ 14.7 แต้มต่อเกม ที่ระดับความแม่นยำ 42% ในระยะ 2 แต้ม (ซึ่งยังคงต่ำในมาตรฐานการ์ดทำแต้มหรือ Shooting Guard) และระดับ 44% ในระยะ 3 แต้ม ซึ่งอยู่ในระดับที่ดีใช้ได้ แต่ก็ยังห่างชั้นกับมือปืนแนวหน้าแบบ Splash Brothers
 
 
เรื่องน่าตกใจคือในรอบชิงแชมป์สายปีที่แล้ว สถิติของเขาเหลือเพียงแต้มเฉลี่ยต่อเกม 13.7 ความแม่นยำระยะ 2 แต้มลดเหลือ 41% ส่วนระยะ 3 แต้มเหลือ 35% ที่น่าประหลาดใจที่สุดคือ ความแม่นลูกโทษเหลือ 55% เรียกว่าแม่นพอๆ กับพวกนักบาสตัวโตมือใหญ่ยิงโทษแย่แบบ Shaq - Shaquille O'Neal ในอดีต
 
 
อย่างไรก็ตามในฤดูกาลปกติปีนี้ Middleton มีสถิติที่ดีที่สุดตั้งแต่เล่นมา มีแต้มเฉลี่ยต่อเกม 21.1 แต้ม ความแม่นยำระยะ 2 แต้มที่ 55% ระยะ 3 แต้มที่ 42% และยิงโทษที่ 92% แถมยังเป็นคนยิงลูกตัดสินเกมหลายครั้ง เขาเป็นอีกคนหนึ่งที่รอเวลาพิสูจน์ตนเองเช่นกัน
ในเพลย์ออฟปีนี้ Giannis คงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทั้ง Bledsoe และ Middleton คงก้าวขึ้นมาเป็นมือซ้ายมือขวาที่เข้มแข็ง และนำความชื่นใจมาสู่รัฐ Wisconsin เหมือนกับที่ Greenbay Packers เคยทำได้ในอเมริกันฟุตบอล
 
 
ตอนหน้าผมจะมาเล่าเรื่อง X-Factor ของ Lakers ทีมมากประสบการณ์ตัวเต็งจากสายตะวันตกบ้างครับ
#KhrisMiddleton #LebronJames #NBA #เล่นเป็นเรื่อง #PlayNowThailand
อัพเดตข่าวสารกีฬาก่อนใคร
พร้อมมีของรางวัลพิเศษให้ร่วมสนุกกันเป็นประจำ
ร่วมไลค์ ร่วมแชร์ Play Now Thailand

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา