5 ส.ค. 2020 เวลา 00:05 • ธุรกิจ
วงจรเงินสด สำคัญอย่างไรต่อนักลงทุนและนักธุรกิจ
เป็นอีกหนึ่งอัตราส่วนทางการเงิน ที่ยังไม่ได้ถูกกล่าวถึงจากบทความก่อนหน้านี้ แต่มีความสำคัญต่อการวิเคราะห์ธุรกิจ และถือเป็นความรู้พื้นฐานสำหรับคนทำธุรกิจและนักลงทุนทั่วไป ดังนั้น เรามาทำความรู้จักกับ วงจรเงินสด กันดีกว่านะคะ ตามมาเลยค่ะ
วงจรเงินสด หรือ Cash Cycle คือ ระยะเวลาที่กิจการจะได้รับเงินสดตั้งแต่วันที่จ่ายเงินเพื่อให้ได้สินค้ามา จนกระทั่งได้รับเงินจากการขายสินค้าออกไป หรือพูดง่ายๆ คือ ความสามารถในการหมุนเวียนเงินนั่นเองค่ะ
เงินสดถือเป็นหัวใจสำคัญของกิจการ เป็นเรื่องของสภาพคล่องในการดำเนินงาน กิจการที่มีเงินสดหมุนเวียนมากมักจะได้เปรียบในการบริหาร แม้แต่กิจการที่ขาดทุนก็อาจจะยืดเวลาล้มละลายได้นานหลายสิบปี หากกิจการนั้นยังมีเงินหมุนเวียนอยู่ แต่ถ้ากิจการไม่มีเงินสดแล้ว ก็อาจล้มละลายภายในหนึ่งเดือนก็เป็นได้ เพราะไม่มีเงินจ่ายเจ้าหนี้ ไม่มีเงินจ่ายพนักงาน ไม่มีเงินต่อทุน สุดท้ายทุกอย่างก็จะติดขัดเป็นคลื่นกระทบกันไปหมด
อาจจะดูตัวอย่างง่ายๆ จากธุรกิจ E-commerce ยักษ์ใหญ่ที่กำลังเติบโตอยู่ในขณะนี้ อย่าง Lazada และ Shopee ทั้งคู่ ล้วนมีผลประกอบการขาดทุนอย่างต่อเนื่องหลายปี แต่ด้วยลักษณะธุรกิจที่มีเงินสดหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลา จากการขายสินค้า ซึ่งมียอดขายเติบโตขึ้นหลายเท่า แต่ด้วยค่าใช้จ่ายที่มากกว่าจากการอัดแคมเปญและจัดโปรโมชั่นต่างๆ จึงยังทำให้ผลประกอบการเป็นขาดทุน แต่เมื่อกิจการมีเงินสดหมุนเวียนจากการขายสินค้าได้ จึงทำให้ยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น หรืออีกด้านหนึ่งอาจจะเรียกว่า มีสายป่านที่ยาวกว่า จึงมีความได้เปรียบ
ดังนั้นการวิเคราะห์เงินสดจึงเป็นเรื่องที่นักลงทุนต้องสนใจ และวงจรเงินสดก็เป็นตัวเลขหนึ่งที่นักลงทุนควรทำความเข้าใจ เพื่อช่วยตรวจสอบการดำเนินงานของกิจการว่า กิจการนั้นสามารถบริหารเงินสดได้ดีเพียงใด กิจการนั้นมีสภาพคล่องทางการเงินดีหรือไม่ และกิจการมีความจำเป็นต้องพึ่งพาเงินทุนจากแหล่งอื่นหรือไม่
โดยวิธีการคำนวณ หาวงจรเงินสด มีดังนี้
วงจรเงินสด (วัน)=ระยะเวลาถือสินค้า + ระยะเวลาเก็บหนี้ - ระยะเวลาจ่ายหนี้
ตัวอย่างการคำนวณวงจรเงินสด
ในการวิเคราะห์วงจรเงินสดที่เหมาะสม ขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมที่ขายส่งเป็นหลัก เช่น วัสดุก่อสร้าง สุขภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ มักจะมีวงจรเงินสดที่ยาว
แต่ถ้าเป็นอุตสาหกรรมค้าปลีก ที่มีลูกค้ารายย่อยเยอะๆ เช่น ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร โรงพยาบาล สื่อสาร โรงแรม ก็มักจะมีวงจรเงินสดที่สั้น
สำหรับการวิเคราะห์ วงจรเงินสดโดยทั่วไป
✓ ถ้าติดลบ ถือว่ายอดเยี่ยมมาก เพราะแสดงว่าบริษัทมีสภาพคล่องสูงมาก
สามารถเปลี่ยนสินค้าเป็นเงินสดได้เร็ว
✓ ถ้าค่าวงจรเงินสดต่ำว่า 90 วัน ถือว่าหมุนเวียนเงินได้ดี
✓ แต่ถ้าเกิน 90 วันขึ้นไป อาจต้องระวังมากขึ้น เพราะโอกาสที่เงินสดจะขาดมือง่ายถ้าธุรกิจสะดุด บริษัทแบบนี้ควรมีสถานะทางการเงินที่ดีเพื่อลดความเสี่ยง
จากวงจรเงินสด กิจการสามารถบริหารสภาพคล่องให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้โดย
📌 ลดระยะเวลาการถือสินค้าให้สั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้ (ยิ่งขายเร็ว ยิ่งดี)
📌 ลดระยะเวลาการเก็บหนี้ให้สั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้ (ยิ่งเก็บเร็ว ยิ่งดี)
📌 ขยายระยะเวลาการจ่ายชำระหนี้ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ (ยิ่งจ่ายช้า ยิ่งดี) *แต่อย่าช้าจนเสียเครดิตของบริษัทไป
หลักสำคัญที่สุดในการบริหาร คือ ค่าวงจรเงินสดควรมีค่าใกล้เคียงค่าเดิมหรือลดลงก็จะเป็นการดี แต่หากกิจการไหน มีค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่มีเหตุผลที่สมควร ก็ต้องระวังไว้ และควรหาสาเหตุว่าทำไมเงินจึงไหลเข้ากิจการช้าลง ซึ่งส่วนใหญ่ก็มาจากการเก็บหนี้ไม่ได้ หรืออาจเกิดจากความไม่โปร่งใสภายในบริษัทเองก็เป็นได้ค่ะ
เรียบเรียงโดย : ลงทุนในบัญชีและภาษี
ขอบคุณทุกๆ การไลค์ แชร์ และการติดตามนะคะ ^o^

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา