5 ส.ค. 2020 เวลา 04:06 • การศึกษา
📕ชั้นประถม 1✏️:เนื้อหาการเรียนคณิตศาสตร์ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ตามหลักสูตรสิงคโปร์
หลังจากจบเรื่องคณิตศาสตร์สิงคโปร์ระดับชั้นอนุบาลในบทความตอนที่ 1, 2, 3 และ 4 ในบทความนี้ Bmum จะพาส่องดูเนื้อหาการเรียนคณิตศาสตร์หลักสูตรสิงคโปร์ ชั้นประถม 1ว่าเขาเรียนอะไรกันบ้างและมีวิธีการเรียนการสอนอย่างไร โดยรีวิวมาจากหนังสือเรียน แต่ขอไม่ใช้ภาพถ่ายโดยตรงจากหนังสือมากนักเพราะเกรงจะผิดเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์
…ก่อนอื่นต้องขอทบทวนคร่าวๆถึงโครงสร้างของหลักสูตรคณิตศาสตร์สิงคโปร์ ชั้นประถมศึกษา(Syllabus Organisation)ว่าประกอบด้วยแกนหลักอะไรบ้าง…
จากหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์ชั้นประถมศึกษา เนื้อหาการเรียนวิชาคณิตศาสตร์จะแบ่งออกเป็น 3 หัวข้อหลัก คือ
• จำนวนและพีชคณิต(Number and Algebras)
• การวัดค่าและเรขาคณิต(Measurement and Geometry)
• สถิติ(Statistics)
ซึ่งนักเรียนจะเรียนรู้เนื้อหาเหล่านี้ไปพร้อมๆกับที่ครูพยายามจะสร้างทักษะต่างๆที่สำคัญให้เกิดขึ้นมา เช่น ทักษะการคิด(thinking),การใช้เหตุผล(reasoning), การสื่อสาร(communication), การนำไปประยุกต์ใช้(applications), และการใช้สัญชาตญาณและสามัญสำนึก(heuristics) โดยการเรียนการสอนจะเน้นให้เด็กฝึกแก้ปัญหา(problem solving)เป็นวิธีการสำคัญที่ใช้ในชั้นเรียน
หลังจากที่นักเรียนได้ผ่านการปูพื้นฐานมาอย่างแน่นหนาด้านจำนวนและตัวเลข,รูปร่างและรูปทรงเรขาคณิตต่างๆ รวมถึงแพทเทิร์นและลำดับก่อน-หลัง ด้วยการให้เล่นและหยิบจับกับวัตถุของจริงให้มากที่สุดในชั้นอนุบาลแล้ว คราวนี้พอเด็กขึ้นชั้นประถม 1 ก็ถึงเวลาเริ่มเป็นรูปแบบการเรียนจริงจัง
✏️เนื้อหาการเรียนคณิตศาสตร์ชั้นประถม 1 ตามหลักสูตรสิงคโปร์✏️
🔴หัวข้อการเรียนรู้เรื่องจำนวนและตัวเลข🔴
1. จำนวนถึง 100
#วัตถุประสงค์การเรียนรู้#
•นับจำนวนของวัตถุที่ให้มาได้
•บันทึกค่าจำนวนได้ทั้งหลักหน่วยและหลักสิบโดยวาดภาพหรือทำสัญลักษณ์
•อ่านและเขียนตัวเลข,คำศัพท์แทนจำนวนได้
•เปรียบเทียบค่าจำนวนตั้งแต่สองชุดขึ้นไปได้
•เรียงลำดับจำนวนจากน้อยไปมากได้
•เข้าใจแพทเทิร์นของจำนวนและตัวเลข
•เข้าใจเรื่องลำดับที่
•สามารถใช้ number bonds ของจำนวนได้ถึง 10
#กิจกรรมการเรียนรู้#
•ใช้number bonds และสร้างนิทานจำนวน(number stories)จาก number bonds ได้ถึง 10
•จัดกลุ่มจำนวนเป็น 10(ชุดสิบ)และนับเศษที่เหลือหลักหน่วยต่อไปได้
•ใช้วัตถุจริงแสดงภาพจำนวนหลักสิบและหลักหน่วย และเปรียบเทียบด้วยคำว่า มากกว่า น้อยกว่า เท่ากัน ได้
•เล่นเกมโดยใช้การ์ดจุดจำนวนและการ์ดรูปภาพ, การ์ดตัวเลขและการ์ดคำศัพท์จำนวน
•ให้บรรยายแพทเทิร์นของจำนวนที่ลดและเพิ่มทีละ 1,ให้ลองต่อแพทเทิร์นให้ยาวขึ้น และทายว่าสิ่งที่หายไปจากแพทเทิร์นคืออะไร
#ตัวอย่าง#
- การนับจำนวนในชั้นเรียนประถม1 นี้จะเริ่มเปลี่ยนจากวัตถุของจริง มายังรูปภาพ และฝึกให้เด็กเขียนจุดแทนจำนวน(•), ตัวเลข(1)และคำศัพท์ที่ใช้เขียน(หนึ่ง)
- ความสามารถนับจำนวน,วาดรูปแทนจำนวนและเขียนตัวเลขต้องทำได้ถึง 100 เด็กจะเข้าใจระบบการเขียนตัวเลขโดยสังเกตหาแพทเทิร์นการเรียงลำดับของหลักสิบและหลักหน่วย เช่นการนับเพิ่มทีละสิบจะเขียนตัวเลขตัวแรกเพิ่มทีละ1(1,2,3…10)แล้วต่อท้ายด้วยเลข0 (10,20,30,…100) เป็นต้น
- จะมีการฝึกให้เด็กกะจำนวนก่อนนับจริง(subtizing) เช่นลองมองเป็นภาพกลุ่มจำนวน 5 ว่ามีกี่กลุ่ม จะทำให้กะง่ายขึ้น
- มีการนำเส้นจำนวน(number line) มาใช้สอนเพื่อให้เข้าใจการเพิ่มและการลดลงของจำนวน และ number bonds เพื่อให้เข้าใจเรื่องการแบ่งส่วนของจำนวน(part-whole relationship) โดยเด็กต้องเขียนnumber line และ number bonds ได้อย่างน้อยถึงจำนวน 10 ขึ้นไป
- ต้องมีการใช้ของจริงหรือรูปภาพในการตั้งโจทย์ปัญหาเรื่องแพทเทิร์นของจำนวนตามหลักการ CPA(Concrete-Pictorial-Abstracts) ที่Bmumเคยพูดถึงในบทความตอนที่ 1 เช่นโจทย์คำถามในรูปนี้ว่าตัวเลขถัดไปคืออะไร(6,5,4,?) เด็กจะสังเกตเห็นแพทเทิร์นการลดลงทีละ1ลูกของลูกปัด เด็กจะหาคำตอบโดยการใส่ลูกปัดลงไปในแท่งไม้ที่ว่างอยู่เพื่อเป็นการต่อแพทเทิร์น แล้วนับจำนวนลูกปัดออกมา จะได้คำตอบเท่ากับ 3
- ให้เด็กฝึกเปรียบเทียบจำนวนว่า มากกว่า น้อยกว่า เท่ากัน มากสุด หรือน้อยสุด โดยเปรียบเทียบจากทั้งของจริง, รูปภาพ,จุดแทนจำนวน และสัญลักษณ์ตัวเลขในที่สุด
- มีการสอนเรื่องตัวเลขที่ใช้แสดงลำดับที่ด้วย ไม่ได้แปลว่าจำนวนมากน้อยต่างกันแต่หมายถึงการเรียงลำดับจากก่อนไปหลัง หรือหมายถึงการเรียงลำดับจากตำแหน่งหน้าสุด ตรงกลาง ไปตำแหน่งหลังสุด
2. การบวกและการลบ
#วัตถุประสงค์การเรียนรู้#
•เข้าใจหลักการของการเพิ่มขึ้นและลดลงไปของจำนวน
•ใช้เครื่องหมาย +,-และ =ได้
•เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างการบวกและการลบ
•การบวก,ลบเลขหนึ่งหลักสองจำนวนขึ้นไป
•การบวกและลบจำนวนไม่เกิน 100
•การบวกและลบโดยใช้ algorithms
•การแก้โจทย์ปัญหาชั้นเดียวเรื่องบวกและลบที่จำนวนไม่เกิน 20
•เริ่มฝึกการคำนวณบวกและลบในใจ(จำนวนไม่เกิน20,เลขสองหลักและหนึ่งหลัก,เลขสองหลักและจำนวนเต็มสิบ)
#กิจกรรมการเรียนรู้#
•แบ่งกลุ่มช่วยกันแต่งนิทานเกี่ยวกับการบวกและลบจำนวนโดยใช้วัตถุจริงหรือรูปภาพ และหัดเขียนสมการที่มีเครื่องหมาย +,-,=
•เขียนสมการบวกและลบได้จากnumber bonds ที่ให้มา
•ฝึกกลยุทธ์ในการบวกลบเช่นนับไปข้างหน้า,นับถอยหลัง,จัดกลุ่มให้เป็นชุดสิบก่อน ให้คล่องแคล่วชำนาญจนเริ่มกลายเป็นความจำ(memmory)
•เปรียบเทียบจำนวนสองจำนวนที่มีค่าไม่เกิน20ว่าต่างกันเท่าไหร่ โดยใช้วิธีการลบออก
•ฝึกฝนการบวกลบเลขจำนวนไม่เกิน20ให้คล่องชำนาญผ่านการเล่นเกมต่างๆที่หลากหลาย
•ใช้โมเดล “ชุดสิบ” เพื่อให้เด็กเข้าใจalgorithmsของการบวกลบเลขสองหลัก
#ตัวอย่าง#
- ใช้ number bonds ให้เข้าใจความสัมพันธ์ของการบวกและลบ ว่าจำนวน5และ3 รวมกันเป็น 8 (5+3=8) ดังนั้นเมื่อเอาจำนวน5 ออกไปจาก 8 ก็ย่อมเหลือ 3(8-5=3)และเมื่อเอาจำนวน3 ออกไปจาก 8 ก็ย่อมเหลือ 5(8-3=5)เป็นต้น
- อธิบายจากภาพถึงหลักการเพิ่มขึ้นของจำนวน ให้เด็กฝึกใช้เส้นจำนวนและเขียนสมการที่มีเครื่องหมาย + และ =
- สอนการลบออกให้เข้าใจ ด้วยการให้เด็กลองใช้กากบาทขีดทับรูปจำนวนที่เอาออกไปแล้วนับจำนวนที่เหลือ และใช้เส้นจำนวนนับถอยหลังแทนการลดลงของจำนวนทีละ 1
- ฝึกให้ใช้ number bonds ในการลบออกและหัดเขียนสมการที่มีเครื่องหมาย -,=
- ใช้โมเดล “ชุดสิบ” มาสอนแพทเทิร์นการเพิ่มขึ้นและลดลงของจำนวน คือการเห็นภาพของตัวเลขสองหลัก ว่าหลักสิบคือมีแถวของจำนวนสิบ มารวมกับเศษที่เหลือเป็นหลักหน่วย เพื่อให้สามารถเข้าใจalgorithm หรือแพทเทิร์นในการบวกลบเลขสองหลักได้ต่อไป
- สอนalgorithmการบวกลบเลขสองหลักโดยอิงจากระบบ “ชุดสิบ” คือพยายามจัดระเบียบจำนวนให้เป็นชุดสิบก่อนค่อยนับคำตอบเป็นชุดสิบ+หลักหน่วยที่เหลือ นำไปสู่การคำนวณในใจ(mental calculation)ด้วยการเห็นภาพในสมองเป็น “ชุดสิบ”
- เด็กได้นำสิ่งที่เรียนมาประยุกต์ใช้ด้วยการแต่งนิทานหรือเล่าเกี่ยวกับการบวกลบจำนวน
3. การคูณและการหาร
#วัตถุประสงค์การเรียนรู้#
•เข้าใจหลักการเรื่องการคูณและหารว่าคืออะไร
•เริ่มลองใช้เครื่องหมาย x
•การฝึกคูณจำนวนไม่เกิน 40
•การฝึกหารจำนวนไม่เกิน 20
•การแก้โจทย์ปัญหาชั้นเดียวเกี่ยวกับการคูณและหารโดยใช้รูปภาพแทนจำนวน
#กิจกรรมการเรียนรู้#
•ให้วางวัตถุจำนวนเท่ากันเป็นชุดๆและฝึกการนับเพิ่มเป็นชุดๆ เช่น มีของชุดละ 5 อยู่สองชุด รวมกันเป็น 10
•ฝึกแจกของให้เพื่อนเท่าๆกันแล้วนับดูว่ารวมทั้งหมดเป็นเท่าไหร่เพื่อทำความเข้าใจเรื่องการคูณ และมาอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
•ฝึกแบ่งของออกให้เป็นกองละเท่าๆกัน พูดคุยแลกเปลี่ยนกันในกลุ่มเพื่อทำความเข้าใจเรื่องการหาร
#ตัวอย่าง#
- ใช้วัตถุจริงและรูปภาพเพื่อสอนให้เด็กเข้าใจหลักการของทวีคูณ(double) และการแบ่งครึ่ง(half)
- ให้ฝึกนับจำนวนด้วยการจับคู่วัตถุที่มีจำนวนเท่ากันเป็นทวีคูณก่อนแล้วค่อยนับเศษที่เหลือ
4. เงิน
#วัตถุประสงค์การเรียนรู้#
•การนับจำนวนเงินได้ เข้าใจค่าและหน่วยของเงิน
•ทำความรู้จักชนิดของเหรียญและธนบัตร
•สามารถแก้โจทย์ปัญหาชั้นเดียวอย่างง่ายๆเรื่องการรวมค่าของเงินจากเหรียญและธนบัตรและการทอนเงิน
#กิจกรรมการเรียนรู้#
•ลองพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่องการใช้จ่าย ซื้อของกับเพื่อนๆ
•รู้จักและจำค่าของเหรียญและธนบัตรชนิดต่างๆได้ สามารถเรียงลำดับจากค่าน้อยสุดไปมากสุดได้
•สามารถจับคู่ธนบัตรและเหรียญต่างๆที่มีมูลค่าเงินเท่ากันได้
•เข้าใจว่าเหรียญที่มีตัวเลขมากกว่าไม่ได้แปลว่ามีมูลค่าเงินมากกว่า เช่นเหรียญห้าสิบสตางค์จะมีมูลค่าน้อยกว่าเหรียญ1บาท
•เล่นซื้อขายของและฝึกการทอนเงินกับเพื่อนๆโดยใช้เงินเด็กเล่น
#ตัวอย่าง#
- ฝึกการเรียนรู้เรื่องค่าของเงินจากเหรียญและธนบัตรชนิดต่างๆ
- ลองหาราคาของจากภาพเหรียญและธนบัตรที่ต้องใช้แลก
- ฝึกเตรียมเหรียญและธนบัตรให้มีมูลค่าพอดีกับราคาของ
🟢หัวข้อการเรียนรู้เรื่องการวัดและเรขาคณิต🟢
1. การวัดความยาว
#วัตถุประสงค์การเรียนรู้#
•ฝึกวัดความยาวของวัตถุด้วยหน่วยวัดที่ไม่มาตรฐานเพื่อให้เข้าใจความหมายของ “หน่วยวัดความยาว”
#กิจกรรมการเรียนรู้#
•แบ่งกลุ่มช่วยกันวัดความยาวของวัตถุด้วยสิ่งของรอบตัว เช่นคลิปหนีบกระดาษ สีเทียน มือ ให้อธิบายว่าทำไมถึงเลือกหน่วยวัดนี้ และทำการวัดอย่างไร
•ให้ลองกะความยาวของวัตถุก่อนวัดจริงและฝึกใช้คำพูดว่า “ยาวประมาณ”
#ตัวอย่าง#
- การวัดด้วยหน่วยวัดความยาวที่ไม่มาตรฐาน
- ทำความเข้าใจความหมายของความสูง(tall) กับ ตำแหน่งที่สูง(high) ว่าแตกต่างกัน
- เปรียบเทียบความยาวด้วยคำว่า สั้นกว่า,ยาวกว่า,สั้นที่สุด,ยาวที่สุด
- เปรียบเทียบความสูงด้วยคำว่า เตี้ยกว่า,สูงกว่า,เตี้ยที่สุด,สูงที่สุด
- เปรียบเทียบตำแหน่งที่สูงด้วยคำว่า อยู่ต่ำกว่า,อยู่สูงกว่า,อยู่ต่ำที่สุด,อยู่สูงที่สุด
- เรียงลำดับจากสั้นสุดไปยาวสุด,เตี้ยสุดไปสูงสุด และตำแหน่งต่ำสุดไปตำแหน่งสูงที่สุดได้
ตัวอย่างการประยุกต์ใช้ความรู้เรื่องความยาว
- นอกจากเรื่องการวัดความยาวตามหลักสูตรแล้ว ในหนังสือเรียนยังมีเกริ่นนำเรื่องการวัดและเปรียบเทียบน้ำหนัก,มวลสารอย่างง่ายๆ
- ถึงไม่ได้กำหนดในหลักสูตรแต่ในหนังสือเรียนก็เริ่มมีการสอนเรื่องปริมาตรและความจุเบื้องต้นโดยใช้หน่วยวัดที่ไม่มาตรฐาน เช่นใส่ลูกแก้วลงไปได้กี่ลูก และปริมาตรของเหลวเช่น เต็มเหยือก,ครึ่งเหยือก,ว่างเปล่า และให้ฝึกเปรียบเทียบความจุว่าภาชนะใดมีความจุมากกว่า น้อยกว่า หรือเท่ากัน
2. เวลา
#วัตถุประสงค์การเรียนรู้#
•บอกเวลาเป็นหน่วยชั่วโมงและครึ่งชั่วโมงได้
#กิจกรรมการเรียนรู้#
•บอกเวลาจากหน้าปัดนาฬิกาและเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันได้ เช่นกินข้าวกลางวันตอน 11 โมงเช้าและกินอาหารกลางวันตอน บ่าย 3 โมง
•เรียงลำดับเหตุการณ์ตามเวลาเกิดก่อน-หลังได้ เช่นวันจันทร์มาก่อนวันอังคาร, กลางวันมาก่อนกลางคืน,เรียงลำดับวันในสัปดาห์และเดือนในหนึ่งปีได้
#ตัวอย่าง#
3. รูปร่างสองมิติและรูปทรงสามมิติ
#วัตถุประสงค์การเรียนรู้#
•จำ บอกชื่อและแยกประเภทของรูปร่างสองมิติ(สี่เหลี่ยมผืนผ้า,สี่เหลี่ยมจัตุรัส,วงกลม,สามเหลี่ยม) และรูปทรงสามมิติ(ทรงสี่เหลี่ยมมุมฉาก,ทรงลูกบาศก์,ทรงกลม,ทรงปิรามิด,ทรงกรวย,ทรงกระบอก)ได้
•สร้างและต่อแพทเทิร์นของรูปร่างเรขาคณิตสองมิติโดยใช้ 1-2 คุณลักษณะ เช่นขนาด รูปร่าง สี ทิศทางของรูป
#กิจกรรมการเรียนรู้#
•เด็กเห็นภาพหรือของจริงของรูปร่างสองมิติและรูปทรงสามมิติแล้วจำได้,บอกชื่อถูกต้อง
•วาดเส้นตามขอบนอกของวัตถุสามมิติออกมาเป็นรูปร่างสองมิติได้
•จำรูปร่างและรูปทรงได้แม้จะมีขนาดแตกต่างกันไปหรือหมุนเปลี่ยนทิศทางไปจากเดิม
•ตัดกระดาษเพื่อทำรูปร่างสองมิติได้
•ทายรูปร่างสองมิติออกมาได้จากการบรรยายรูปร่าง เช่น รูปที่มีมุมแหลมสามมุม มีด้านสามด้าน คืออะไร?
•บอกได้ว่ารูปร่างสองมิติที่เห็นมีคุณสมบัติอะไรที่แตกต่างกัน เช่น ด้าน มุม ขนาด สี
•ให้ช่วยกันแยกรูปร่างสองมิติออกเป็นหลายกลุ่มและอธิบายว่าใช้อะไรเป็นเกณฑ์ในการแบ่งกลุ่ม เช่นแบ่งตามจำนวนมุม ขนาด สี
•สร้างและต่อแพทเทิร์นของรูปร่างเรขาคณิตโดยใช้ 1-2 คุณลักษณะ เช่นชนิดของรูป ขนาด รูปร่าง สี ทิศทาง
•แบ่งกลุ่มสร้างแพทเทิร์น ให้กลุ่มอื่นมาเล่นเกมหาชิ้นส่วนที่หายไปในแพทเทิร์นที่สร้าง และ อธิบายได้ว่าเป็นแพทเทิร์นชนิดไหน เรียงแพทเทิร์นตามคุณลักษณะอะไร
#ตัวอย่าง#
- จำชื่อของรูปร่างสองมิติได้ทั้งรูปภาพและวัตถุจริง
- เริ่มทำความเข้าใจเรื่องความสมมาตรของรูปร่างสองมิติด้วยการลากเส้นตรงแนวแบ่งครึ่งของภาพ ถ้านำกระจกมาวางตรงเส้นจะเกิดภาพที่สมบูรณ์ (Bmumไม่เห็นว่ามีหัวข้อนี้ในหลักสูตรแต่กลับพบในหนังสือเรียน เหมือนให้เด็กทำความเข้าใจเบื้องต้นไปก่อน)
- จำและบอกชื่อของรูปทรงสามมิติได้ ทั้งจากภาพและวัตถุจริง
- แยกประเภทของรูปร่างเรขาคณิตได้ เช่น แยกตามชนิดรูปร่าง ตามขนาด ตามสี
- ฝึกสร้างแพทเทิร์นจากรูปร่างเรขาคณิต และทายชิ้นส่วนที่หายไปจากแพทเทิร์นได้ รวมถึงอธิบายเหตุผลได้ว่าทำไมถึงคิดว่ารูปนี้เป็นชิ้นส่วนที่หายไป
🟡หัวข้อการเรียนรู้เรื่องสถิติ🟡
1. แผนภูมิรูปภาพ
#วัตถุประสงค์การเรียนรู้#
อ่านและวิเคราะห์ผลจากแผนภูมิรูปภาพ(และไดอะแกรมรูปภาพ)ได้
#กิจกรรมการเรียนรู้#
•แบ่งกลุ่มช่วยกันรวบรวมข้อมูลจากเพื่อนในชั้นเรียน เช่น ชอบผลไม้ชนิดไหน หรือ เดินทางมาโรงเรียนด้วยวิธีไหน และนำข้อมูลมาสร้างกราฟรูปภาพเพื่อแสดงผล
•ฝึกบรรยายข้อมูลจากแผนภูมิรูปภาพด้วยคำพูดเช่น “มากที่สุด” “ส่วนใหญ่” “น้อยที่สุด” “ส่วนน้อย” “จำนวนเท่ากัน” และอภิปรายกันในกลุ่ม
•สร้างกราฟรูปภาพทั้งแนวนอนและแนวตั้ง และเล่าเรื่องจากข้อมูลในกราฟได้
#ตัวอย่าง#
- เมื่อเด็กๆไปที่สวนและพบผีเสื้อหลายตัวจึงวาดรูประบายสีเพื่อจดบันทึก และแบ่งประเภทตามสีเป็นผีเสื้อสีฟ้า และไม่ใช่สีฟ้า
- สามารถแบ่งกลุ่มโดยใช้ Venn diagram คือให้เขียนวงกลมล้อมรอบกลุ่มผีเสื้อสีฟ้าแยกจากกลุ่มที่ไม่ใช่สีฟ้า หรือใช้Carroll diagram คือทำตารางแบ่งช่องและวาดรูปผีเสื้อสีฟ้าในช่องหนึ่ง และผีเสื้อที่ไม่ใช่สีฟ้าลงในอีกช่องหนึ่ง
- เริ่มสอนการแยกประเภทข้อมูลและจดบันทึกด้วยรูปภาพลงในแผนภูมิรูปภาพ(pictographs)
- ฝึกใช้แผนภูมิรูปภาพ(pictographs) เพื่อแยกประเภทและวิเคราะห์ข้อมูลได้โดยง่าย
- อาจให้เด็กวาดภาพ,ตัดรูปแปะหรือใช้คอมพิวเตอร์เพื่อทำกราฟ
- ฝึกทำความเข้าใจข้อมูลจากแผนภูมิรูปภาพที่ได้รับ และสามารถใช้แผนภูมิในการวิเคราะห์ข้อมูลและตอบคำถามได้
สำหรับเนื้อหาการเรียนรู้คณิตศาสตร์ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่1ตามหลักสูตรของสิงคโปร์ก็มีเพียงเท่านี้ ดูๆไปหัวข้อที่เรียนก็ไม่ได้ต่างจากหลักสูตรของประเทศอื่นๆมาก แต่วิธีการเรียนการสอนที่สำคัญคือต้องให้เด็กเข้าใจและเห็นภาพจริงจากการลงมือปฏิบัติและจากรูปภาพก่อนที่จะเริ่มใช้สัญลักษณ์นามธรรม เช่นตัวเลขและเครื่องหมายทางคณิตศาสตร์ต่างๆ รวมถึงต้องมีการแบ่งกลุ่มเพื่อช่วยกันแก้โจทย์ปัญหาและอภิปรายเพื่อแสดงความคิดเห็น เป็นการฝึกประสานงานร่วมมือกับผู้อื่นและฝึกสื่อสารความคิดของตัวเองให้ผู้อื่นเข้าใจด้วย
ข้อมูลอ้างอิงจากหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์ชั้นประถมศึกษา https://www.moe.gov.sg/docs/default-source/document/education/syllabuses/sciences/files/mathematics_syllabus_primary_1_to_6.pdf
และหนังสือ max math primary 1 A Singapore Approach
สำหรับเนื้อหาการเรียนรู้คณิตศาสตร์ตามหลักสูตรสิงคโปร์ของชั้นประถมศึกษาปีที่สอง โปรดติดตามได้ในบทความหน้านะคะ
โฆษณา