21 ก.ค. 2020 เวลา 02:43 • การศึกษา
📒ชั้นอนุบาล🖍 ตอนที่ 4 : กลยุทธ์ที่ใช้ในการสอนและวิธีการประเมินผล
ก่อนที่Bmumจะมาเล่าถึงกลยุทธ์การสอนและวิธีที่ครูใช้ในการประเมินผลการเรียนคณิตศาสตร์ของสิงคโปร์ ในระดับชั้นอนุบาล Bmum ต้องขอเท้าความถึงกรอบโครงสร้างการเรียนคณิตศาสตร์ตามแบบสิงคโปร์ที่ครูต้องยึดเป็นเข็มทิศในการสอน หรือ the Pentagon Model of the Singapore Mathematics Curriculum Framework (SMCF) อันโด่งดังเสียก่อน
โมเดลกรอบโครงสร้างนี้ เริ่มใช้เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี คศ. 1990 หรือประมาณปี พศ. 2533 และถึงแม้ว่ากระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์จะปรับปรุงหลักสูตรอีกหลายครั้งแต่ก็ยังคงยึดโมเดลนี้เป็นแก่นสำคัญเสมอ ความสำเร็จของคณิตศาสตร์ตามแบบสิงคโปร์ก็มีที่มาจากโมเดลนี้นี่เอง
ที่Bmumพูดว่าความสำเร็จนั้นไม่ได้หมายความถึงแค่วัดจากผลการทดสอบในระดับนานาชาติเท่านั้น แต่รวมถึงการที่พลเมืองสิงคโปร์สามารถนำคณิตศาสตร์ไปประยุกต์ใช้พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆได้จริง รวมถึงทัศนคติที่ดีต่อวิชาคณิตศาสตร์ด้วย ถึงแม้ว่าBmumจะเคยได้ยินข่าวลือหรืออ่านพบบทความที่พูดถึงความเครียดความกดดันของเด็กสิงคโปร์ที่ต้องแข่งขันกันสูง ทำให้ไม่มีความสุขในการเรียน แต่เท่าที่สังเกตดูบทความเหล่านั้นก็เป็นเพียงการไปสัมภาษณ์ผู้ปกครองแค่ไม่กี่คนเท่านั้น ไม่เห็นมีงานวิจัยใดๆที่รองรับจริงๆ (ถ้าผู้อ่านท่านใดที่ทราบถึงข้อเท็จจริงนี้ ได้โปรดมาเล่าให้เป็นวิทยาทานแก่Bmumด้วยก็จะถือว่าเป็นพระคุณอย่างยิ่ง) แต่ในทางกลับกัน กลับมีงานวิจัยหลายชิ้น (https://files.eric.ed.gov/fulltext/ED494650.pdf, https://repository.nie.edu.sg/bitstream/10497/3345/1/CRP24_03FLH_Conf05%28EARCOME%29_FanQuekZhuetal.pdf, https://files.eric.ed.gov/fulltext/ED521019.pdf) ที่พบว่านักเรียนสิงคโปร์นอกจากจะทำคะแนนสอบวัดผลระดับนานาชาติอย่างTIMSS,PISAได้สูงระดับท็อปๆแล้ว ยังมีทัศนคติและความรู้สึกเชิงบวกต่อวิชาคณิตศาสตร์ คือมองว่ามีคุณค่า เป็นวิชาที่มีความสนุกอยู่บ้าง และรู้สึกว่าตนเองมั่นใจในการเรียนวิชานี้สูงกว่าประเทศอื่นๆในกลุ่มเอเชียที่อาจทำคะแนนสอบได้สูงพอๆกันแต่ทัศนคติและความรู้สึกต่อวิชาคณิตศาสตร์กลับค่อนไปทางติดลบซะมากกว่า
เมื่อมาดูโมเดลรูปห้าเหลี่ยมนี้ก็ไม่แปลกใจถึงผลลัพธ์ต่างๆที่เกิดขึ้นกับนักเรียนสิงคโปร์ เพราะโมเดลการเรียนรู้นี้ไม่ได้แค่คาดหวังให้นักเรียนเข้าใจองค์ความรู้ต่างๆทางคณิตศาสตร์ (Concepts) หรือมีทักษะการคำนวณ (Skills)ที่คล่องแคล่วเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญอย่างเท่าเทียมกันกับในแง่ความรู้สึกและทัศนคติที่มีต่อวิชานี้ (Attitude),กระบวนการที่จะเรียนรู้และค้นพบวิธีแก้ปัญหา (Processes) คือค่อยๆทำความเข้าใจและนึกหาทางแก้โจทย์ปัญหาได้ด้วยตัวเองไม่ใช่ให้ครู/ติวเตอร์มาสอนวิธีคิดไปเลยแล้วท่องๆจำๆไปเพื่อสอบ แบบนั้นคงไม่ทำให้เด็กรู้สึกเชื่อมั่นจริงๆในความสามารถทางคณิตศาสตร์ของตนเอง
ที่Bmumว่าล้ำสุดคือเขาให้ความสำคัญกับการต้องมี “อภิปัญญา(Metacognition)” ถ้าให้แปลเป็นไทยคงหมายถึง “มีสติรู้เท่าทันความคิดของตนเอง” คือรู้ตัวว่าตัวเองคิดยังไง (Bmum เคยได้ยินเรื่องเด็กอัจฉริยะหลายคนที่เห็นโจทย์แล้วสามารถตอบถูกได้ในทันที โดยที่อธิบายไม่ได้ว่าตัวเองรู้คำตอบได้ยังไง นั่นแสดงว่ายังขาดMetacognition) และรวมถึงสามารถกำกับการเรียนรู้ของตัวเองได้ เช่นถ้าเด็กเริ่มใจลอยออกนอกประเด็นก็สามารถจะรู้สึกตัวและดึงตนเองกลับมาจดจ่อกับงานตรงหน้าได้
เมื่อมองตรงใจกลางของโมเดลห้าเหลี่ยม จะเห็นได้ว่าจุดประสงค์ของการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ทั้งหมดนี้ก็เพื่อสามารถเอาไปใช้แก้ปัญหาได้ ไม่ว่าในอนาคตเด็กจะเรียนสูงถึงระดับไหน อาชีพการงานอะไร ก็ล้วนแล้วแต่สามารถนำเอาวิชาคณิตศาสตร์ที่เสียเวลาเรียนอย่างน้อยร่วมสิบปีนี้ ไปใช้ให้เกิดประโยชน์จริงได้ทั้งนั้น
ดังนั้นหลักการสอนและวิธีการประเมินผลของครู ก็จะยึดตามแนวทางของกรอบโครงสร้างนี้เพื่อไม่ให้หลงลืมประเด็นใดๆที่สำคัญไป และเพื่อไม่ให้การสอนสะเปะสะปะหลงทิศหลงทาง
🇸🇬หลักการสอนคณิตศาสตร์ตามแบบสิงคโปร์🇸🇬
1. การสอนมีเพื่อให้เด็กเรียนรู้->เด็กเรียนรู้เพื่อให้เข้าใจ ความเข้าใจที่แท้จริงไม่ใช่สักแต่การท่องจำ เมื่อเด็กเข้าใจจริงๆแล้วเท่านั้นถึงแล้วจะสามารถอธิบายเหตุผลและนำไปประยุกต์ใช้กับเรื่องอื่นๆได้->นำไปสู่การใช้แก้ปัญหาได้จริงซึ่งเรื่องความไม่เข้าใจจริง เลยเอาสิ่งที่เรียนไปใช้งานไม่ได้นี้พบได้บ่อยมาก ในเด็กไทยหลายคนที่Bmumเคยเจอคือถ้าเจอโจทย์เป็นสัญลักษณ์ว่า (12-3)➗3 = ? จะตอบได้ว่า 3 เพราะฝึกเรื่องการคำนวณมาบ่อย แต่พอถามเป็นการแก้โจทย์ปัญหา เช่น มียางลบสิบสองอัน แม่มาขอไปสามอัน แล้วที่เหลือเราเอาไปแบ่งเท่าๆกันกับเพื่อนอีกสองคนที่โรงเรียน เราจะเหลือกลับบ้านกี่อัน? เด็กกลับสับสน มึนงง และนึกวิธีการแก้โจทย์เองไม่ได้ด้วย เช่นแทนที่จะลองเอายางลบมาวางเรียงจริงๆหรือวาดภาพดู กลับมัวแต่ตกใจกลัว ไม่คิดจะลองพยายามหาทางแก้ปัญหาด้วยตนเอง ซึ่งไม่ได้เกิดจากเด็กไทยเราโง่ไอคิวต่ำกว่าเด็กสิงคโปร์แน่นอน แต่มาจากวิธีการเรียนการสอนที่ไม่ได้ผลเสียมากกว่า (ขอบอกว่าวิธีการสอนแบบล้าสมัย เช่นให้เด็กลอกตามกระดานดำไปเรื่อยๆ หรือเวลาทำการบ้านไม่ได้ เด็กไม่เข้าใจคิดไม่ออกแล้วจะถูกตี ยังมีอยู่จริงแน่แท้ในโรงเรียนไทยหลายแห่ง)
2. การเรียนคณิตศาสตร์มีลักษณะเป็นขั้นบันได📶คือต้องเข้าใจพื้นฐานเรื่องเดิมให้แน่นจริงๆก่อนถึงจะก้าวขึ้นไปเข้าใจหัวข้อถัดไปได้ เช่น ถ้ายังไม่เข้าใจความหมายของจำนวนจริงๆก็จะไม่เข้าใจความหมายของการรวมจำนวนกันและการหักจำนวนออกไป(บวก,ลบ) ถ้าไม่เข้าใจความหมายของการบวกลบจริงๆ ก็จะไม่เข้าใจความหมายของการเพิ่มจำนวนเป็นชุดๆหรือการแบ่งจำนวนออกไปเป็นชุดๆ(คูณ,หาร) ดังนั้นก่อนที่ครูจะสอนหัวข้อใหม่ๆ ก็จะต้องทำการประเมินก่อนว่า เด็กที่จะเรียน มีพื้นฐานเดิมที่จะรองรับเรื่องนี้ แน่นพอหรือยัง? ถ้ายังไม่พอก็ต้องสอนเรื่องเก่าที่เรียนไปให้ชำนาญจริงๆ(mastery)เสียก่อน
3. การเรียนการสอนต้องเป็นลักษณะมีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิด(interaction) 🔁 มีการสื่อสารกลับไปมาระหว่างครูและนักเรียน ไม่ใช่สื่อสารทางเดียวแบบมายืนสอนหน้ากระดาน นานๆทีก็เรียกให้ลุกขึ้นตอบบ้างสักคนสองคน โดยครูต้องใช้การสอนเชิงรุก เช่นแบ่งเด็กเป็นกลุ่มย่อยๆให้ช่วยกันแก้โจทย์ปัญหา ครูก็เดินไปมาระหว่างกลุ่มต่างๆ คอยตั้งคำถาม ชวนพูดคุยในเชิงให้เด็กคิดหรือสังเกตเห็นแนวทางในการแก้ปัญหา คอยกระตุ้นให้เด็กพูดคุยอภิปรายกันในกลุ่ม คอยสังเกตพฤติกรรมและอารมณ์ของเด็กอย่างใกล้ชิด เมื่อเด็กทำได้ดีก็feedbackสะท้อนกลับในเชิงบวกให้เด็กเกิดขวัญกำลังใจในการเรียนมากขึ้น
4. การเรียนการสอนควรมีลักษณะดึงดูดน่าสนใจและเหมาะสมกับพัฒนาการตามวัยของเด็ก👦🏻🧒🏻และต้องเชื่อมโยงไปถึงชีวิตจริงด้วย เด็กถึงจะคิดว่ามันมีประโยชน์ รู้ว่าจะเรียนไปทำไม และถึงจะรู้สึกชื่นชมและเห็นคุณค่าของวิชานี้ขึ้นมา เช่นในเด็กอนุบาลก็สอนผ่านนิทาน เพลง เกม บทบาทสมมุติ ที่เป็นความสนใจและการเล่นตามวัยของพวกเขาอยู่แล้ว
5. เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีการสื่อสารได้พัฒนาไปไกล ในหลักสูตรล่าสุดของสิงคโปร์ได้ย้ำว่าการสอนควรจะต้องฝึกฝนให้เด็กรู้เท่าทันและใช้เทคโนโลยีการสื่อสาร(ICT)🖥ให้เป็นประโยชน์ในการเรียนอีกด้วย (เช่นช่วยให้เด็กหาข้อมูล,เห็นภาพหรือวิดีโอเคลื่อนไหวที่ชัดเจน,ใช้เป็นแบบจำลองในการทดลองต่างๆ) นั่นคือไม่ได้ห้ามการใช้หน้าจอ แต่ถ้าจะใช้ทั้งทีต้องใช้ให้ฉลาดและถูกสุขลักษณะ
6. ครูผู้สอนต้องอย่าลืมพัฒนาให้เด็กมีคุณสมบัติที่ศตวรรษที่21นี้ต้องการ ควบคู่ไปกับการเรียนการสอนด้วย เช่นรู้จักร่วมมือกับผู้อื่น(collaborative), ใช้วิจารณญาณในการคิด(critical thinking), คิดริเริ่มสร้างสรรค์(creative thinking), สามารถสื่อสารความคิดออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ(communication)
ในคู่มือแนะนำการสอนของสิงคโปร์ ได้กล่าวว่าการสอนที่ดีจะต้องมีการค่อยๆปรับให้เด็กเกิดการเรียนรู้ตามระยะต่างๆทั้งหมด 3 ระยะ ดังนี้
1. ระยะเตรียมพร้อมในการเรียน
▪️เด็กมีพื้นฐานความรู้เดิมเพียงพอที่จะเรียนรู้เรื่องใหม่ได้โดยไม่ติดขัด
▪️ครูจัดหาอุปกรณ์และเตรียมสิ่งแวดล้อมที่ดึงดูดใจน่าเรียนสำหรับเด็ก
▪️สิ่งแวดล้อมสงบปลอดภัย ดูไม่คุกคามน่ากลัว มีกฎระเบียบชัดเจน เด็กเคารพกติกา ให้เกียรติซึ่งกันและกันและเคารพครู ครูก็ให้เกียรติและเคารพเด็ก สภาพแวดล้อมแบบนี้ถึงจะเอื้อต่อการเรียนรู้ที่สุด
2. ระยะเรียนรู้อย่างตั้งใจและร่วมมือเต็มที่
▫️ให้เด็กทำกิจกรรมที่ครูออกแบบวางแผนมาอย่างดี เมื่อเด็กลงมือทำด้วยตนเองจะได้เข้าใจหัวข้อที่กำลังเรียน ค่อยๆเปลี่ยนความเข้าใจจากรูปธรรมไปสู่นามธรรมได้
▫️ถ้ามีโจทย์ปัญหาที่แก้ไม่ได้ แทนที่จะรีบเฉลยไปเลยโต้งๆ ครูต้องช่วยค่อยๆตะล่อมให้เด็กหาหนทางแก้ปัญหาให้ได้ด้วยตนเอง ซึ่งครูต้องให้เวลาเด็กนานเพียงพอโดยไม่เร่งรัดกดดัน เพื่อที่เด็กจะได้สบายใจและได้พยายามฝึกคิดด้วยสมองของตนเอง
▫️ก่อนที่จะสอนเรื่องอะไรใหม่ ครูต้องบอกให้ชัดเจนตั้งแต่ก่อนจะเริ่มเรียนเลย ว่าเรากำลังจะเรียนเรื่องอะไรกัน และครูคาดหวังว่าเด็กจะต้องทำอะไรได้บ้าง เด็กจะได้รู้ชัดว่าตนเองถูกคาดหวังอะไร มีเป้าหมายและทิศทางที่ชัดเจนในการพัฒนาตนเอง
3. ระยะที่เด็กเกิดความคล่องและชำนาญ
▪️การที่เด็กเข้าใจหัวข้อที่เรียนแล้วไม่ได้แปลว่าเด็กจะทำได้คล่องและชำนาญ การที่จะทำให้ชำนาญจริงๆได้นั้นต้องอาศัยการหมั่นฝึกฝนซ้ำๆ ซึ่งถือเป็นภารกิจที่ครูผู้สอนจะหาทางให้เด็กฝึกอย่างสนุกและไม่เบื่อ เช่นเปลี่ยนกิจกรรมหลากหลายรูปแบบให้ทำ และหาทางให้เอาไปใช้ประโยชน์จริง
▪️ควรปลูกฝังให้เด็กมีนิสัยการเรียนที่ดีตั้งแต่ชั้นเล็กๆ คือหมั่นทบทวนและสรุปทำความเข้าใจกับสิ่งที่เรียนไปอย่างลึกซึ้ง เช่นเล่าให้ผู้อื่นฟัง วาดภาพ วาดกราฟ เขียนบันทึก หรือถ้าเป็นเด็กโตหน่อยอาจเขียนบล็อกเพื่อแชร์กันกับเพื่อนๆ(ในคู่มือสิงคโปร์เขาแนะนำแบบนี้จริงๆค่ะ ยอมใจในความเปิดกว้างทันสมัย)
▪️เด็กคนไหนที่ดูมีความถนัดทางคณิตศาสตร์ก็ควรเปิดโอกาสให้ได้ฝึกทำโจทย์ที่ยากๆท้าทายขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง เพื่อที่จะพัฒนาศักยภาพของเขาให้เต็มที่
หลังจากที่Bmumได้เล่าถึงหลักการสอนโดยทั่วไปของหลักสูตรคณิตศาสตร์สิงคโปร์แล้ว ก็จะเข้ามาสู่เรื่องกลยุทธ์ในการสอนของเด็กชั้นอนุบาล ซึ่งก็สรุปได้ตามภาพนี้
🖍กลยุทธ์ที่ใช้ในการสอนคณิตศาสตร์ชั้นอนุบาลตามแบบสิงคโปร์🖍
1. Asking Questions ใช้การตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นให้เด็กคิดหาคำตอบ และครูก็จะได้เข้าใจวิธีคิดของเด็กด้วยตัวอย่างเช่น
▫️มันต่างกันยังไงนะ? มันเหมือนกันยังไง?
▫️หนูแยกมันยังไง? ทำไมหมีตัวนี้ไม่ไปอยู่กองโน้นล่ะ?
▫️ครูขอเอาหมีตัวนี้มาวางตรงนี้ได้ไหม? ไม่เข้าพวกเหรอ เพราะอะไรล่ะ?
▪️หมีตัวไหนมาก่อน,ถัดไปจะเป็นตัวไหน,สุดท้ายจะเป็นตัวไหน?
▪️แบบนี้มีแพทเทิร์นไหม? หนูดูจากอะไร?
▪️ทำไมหนูถึงวางอันนี้ไว้ตรงนี้นะ?
▪️ไหนบอกครูซิว่าหนูทำแพทเทิร์นอะไร?
▪️มีแพทเทิร์นอื่นๆอีกไหมที่อยากทำให้ครูดู
▫️จานไหนมีขนมมากกว่า/น้อยกว่ากัน?
▫️มีขนมให้พอสำหรับเด็กไหม? อะไรมีเยอะกว่า ขนมหรือเด็ก? หนูรู้ได้ยังไงนะ?
▫️มีขนมมากกว่าเด็กอยู่กี่ชิ้น?
▪️มีอะไรในห้องนี้ที่เป็นรูปวงกลมบ้าง ลองตามหากันซิ
▪️มีส่วนไหนของจักรยานที่เป็นรูปวงกลมบ้าง? หนูรู้ได้ยังไง?
2. Providing Opportunities For Children to solve Problems หาโอกาสให้เด็กได้เอาคณิตศาสตร์ไปใช้แก้ปัญหาจริง เช่น
▫️ให้โจทย์ปัญหา “มีไม้ไอศกรีมอยู่ 5 แท่ง จะเอามาเรียงต่อเป็นรูปร่างได้ทั้งหมดกี่แบบ?” ให้เด็กไปหยิบไม้ไอศกรีมมาคนละห้าแท่ง แต่ละคนเรียงไม้ไอศกรีมเป็นรูปร่างต่างๆเท่าที่นึกออกและวาดภาพไว้เพื่อเป็นการจดบันทึก เสร็จแล้วนำมาเล่าแชร์กันกับเพื่อนๆ
3. Use Stories, Songs and Rhymes ใช้นิทาน,เพลง,บทกลอนเป็นสื่อการสอน
▪️ระหว่างอ่านนิทานเรื่อง หนอนจอมหิว(The Very Hungry Caterpillar) ครูตั้งคำถามเช่น “เจ้าหนอนกินส้มไปกี่ลูก” “พวกหนูจะกินส้มเข้าไปวันละห้าผลแบบเจ้าหนอนไหม เพราะอะไร?” “มีผลไม้อะไรบ้างที่หนูกินมากกว่าวันละห้าผลได้”
4. Games หาเกมมาให้เล่นเป็นการสอนเรื่องจำนวนไปด้วยในตัว เช่นการเห็นภาพจุดในลูกเต๋าหรือโดมิโน จะทำให้เด็กสามารถข้ามระดับจากการนับและแตะวัตถุไปทีละหนึ่งชิ้น ไปสู่การเห็นภาพกลุ่มจำนวนและจำได้ทันที(Subtizing)
▫️การเล่มเกมต่างๆ ช่วยให้ได้ใช้เรื่องจำนวนอย่างสนุกและมีความหมายกับเด็ก
✏️การประเมินผลการเรียนรู้คณิตศาสตร์ของชั้นอนุบาลตามแบบสิงคโปร์✏️
การประเมินผลในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแต่การที่ครูประเมินความสามารถในการเรียนรู้ของเด็กเท่านั้น แต่ผลการเรียนรู้ของเด็กก็ใช้ในการประเมินการสอนของครูด้วยเช่นกัน(นั่นคือถ้าเด็กมีผลการเรียนรู้ที่ไม่ดี หมายถึง วิธีการที่ครูใช้สอนนี้อาจไม่เวิร์คนั่นเอง)
การประเมินผลแบ่งได้เป็น 3 แบบ คือ
▪️Summative คือการประเมินเพื่อสรุปผลทุกอย่าง นั่น คือการสอบเก็บคะแนนนั่นเอง
▪️Diagnostic คือการประเมินว่าพื้นฐานความรู้เดิมมีเท่าไหร่ เพียงพอสำหรับจะเรียนรู้หัวข้อใหม่หรือยัง
▪️Formative คือการที่ครูคอยสังเกตและประเมินเด็กแบบไม่เป็นทางการ เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเด็กว่าที่เรียนๆไปเข้าใจจริงไหม
ในคู่มือการสอนได้ย้ำว่า ***ถึงแม้ว่าการประเมินแบบ Summative คือการจับเด็กนั่งสอบเก็บคะแนนจะสะดวกสบายสำหรับครูผู้สอน แต่การประเมินที่ได้ประโยชน์จริงๆและควรทำในชั้นเรียนคือ การประเมินแบบ Diagnostic และFormativeต่างหาก*** เพราะจะได้ข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับเด็กแบบที่จะไม่สามารถรู้ได้จากการจับเด็กทำข้อสอบ เพื่อจะนำมาใช้ช่วยเหลือพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก และปรับปรุงคุณภาพการสอนของครูตลอดระยะปีการศึกษา นั่นคือควรจะสอนไปและประเมินเด็กไปเรื่อยๆตลอดเวลา เพื่อที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการสอนและช่วยเหลือเด็กที่ติดขัดได้ทันท่วงที เด็กคนไหนที่มีแววโดดเด่นด้านคณิตศาสตร์ก็จะได้รับการค้นพบและส่งเสริมเสียตั้งแต่เนิ่นๆ
🧒🏻ตัวอย่างการสังเกตและประเมินผลของชั้นอนุบาล👦🏻
▫️สถานการณ์ที่ 1▫️หนูอารี หนูบอล และหนูเคโระกำลังทำกิจกรรมร้อยกำไลจากลูกปัดเพื่อแจกเพื่อนๆอยู่ ครูผู้สอนแนะนำให้เด็กๆลองร้อยลูกปัดสลับสีกันเป็น AB pattern
สิ่งที่ครูสังเกตเห็นและจดบันทึกไว้
- หนูอารีสามารถร้อยลูกปัดสลับสีแดงและฟ้าเป็นABpattern ได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง หนูอารีเอากำไลที่ร้อยได้ให้หนูบอล
- หนูอารีถามว่าขอทำอีกเส้นให้หนูเคโระได้ไหม เมื่อครูอนุญาต หนูอารีรีบร้อยลูกปัดเป็นกำไลอีกเส้นทันทีอย่างรวดเร็ว เมื่อครูถามว่าร้อยยังไง เขาตอบว่า “หนูใส่สีแดง สีแดง สีฟ้า สีฟ้า แดง แดง ฟ้า ฟ้า แดง ฟ้า แดง ฟ้า…”
- ครูพบว่าเขาพยายามจะทดลองใช้ AB pattern ในรูปแบบที่ซับซ้อนขึ้น เป็นAABB แต่เมื่อทำไปนานๆเขาจะเริ่มหลุดแพทเทิร์น
- สิ่งที่ครูวางแผนช่วยเหลือพัฒนาเด็ก
ลองหาตัวอย่างของแพทเทิร์นที่ซับซ้อนขึ้นเช่น AABB, AAABBB มาให้หนูอารีดูเป็นตัวอย่าง แล้วบอกให้ลองต่อแพทเทิร์นให้ยาวขึ้นดู
- หากิจกรรมที่ส่งเสริมการสร้างแพทเทิร์นที่ซับซ้อนขึ้น เช่น กิจกรรมตกแต่งกรอบรูป
วิธีการจดบันทึกความก้าวหน้าของเด็ก
- ครูอาจถ่ายรูปกำไลและกรอบรูปที่หนูอารีทำไว้ และเขียนโน้ตถึงความสามารถในการสร้างAB patternได้อย่างคล่องแคล่วชำนาญ และความคืบหน้าในการเรียนรู้แพทเทิร์นที่ซับซ้อนขึ้นของหนูอารี
▫️สถานการณ์ที่ 2▫️หนูบอลและหนูเคโระกำลังเล่นสมมุติขายขนมอยู่ หนูบอลเล่นเป็นพ่อค้ากำลังพยายามจะขายขนมเค้กและคุกกี้แบบต่างๆให้กับหนูเคโระ คุณครูนำเอาใบออเดอร์เค้กและคุกกี้ฝากให้หนูเคโระช่วยซื้อขนมแบบต่างๆมาให้ครบจำนวนตามใบออเดอร์
สิ่งที่ครูสังเกตเห็นและจดบันทึกไว้
- หนูบอลเข้าใจและสามารถเอาขนมออกมาได้อย่างถูกต้องถ้าจำนวนไม่เกินสี่ชิ้น แต่เมื่อต้องเตรียมขนมจำนวนตั้งแต่ห้าชิ้นขึ้นไปเขาก็เริ่มสับสน หยิบมาผิดหลายครั้ง
- ถ้าหนูบอลหยิบขนมมาใส่กล่องทีละชิ้นเขาจะนับได้ถูกต้อง แต่พอนับขนมที่วางเรียงในถาดเขาจะใช้วิธีชี้แล้วนับทีละอัน แล้วจะงงเพราะจำไม่ได้ว่านับชิ้นไหนไปแล้วบ้าง
- หนูเคโระสามารถนับจำนวนได้คล่องถึงห้า เพราะถ้าหนูบอลนับผิดเธอจะเตือนหนูบอลทุกครั้งและบอกจำนวนที่ถูกต้องได้
สิ่งที่ครูวางแผนช่วยเหลือพัฒนาเด็ก
- หาโอกาสให้หนูบอลได้ฝึกนับโดยไม่ต้องเคลื่อนย้ายของให้มากขึ้น
- สอนให้หนูบอลนับขนมไม่ให้งง โดยหาของเล็กๆมาวางทับบนขนมที่นับไปแล้ว
- หาโอกาสให้หนูเคโระได้นับจำนวนที่มากกว่าห้า และฝึกเปรียบเทียบจำนวนที่มากและน้อยกว่าห้า
วิธีการจดบันทึกความก้าวหน้าของเด็ก
- ภาพถ่ายของกิจกรรมต่างๆที่เด็กได้ฝึกทำ และจดความคืบหน้าว่าหนูบอลสามารถนับได้ถึงห้าโดยไม่ต้องเคลื่อนย้ายของได้หรือยัง และหนูเคโระนับได้ถึงห้าคล่องแล้ว กำลังเริ่มเปรียบเทียบจำนวนที่มากและน้อยกว่าห้าได้
▫️สถานการณ์ที่ 3▫️หนูอารีและหนูเคโระกำลังเล่นpattern blocks กันอยู่กับกลุ่มเพื่อนๆ เด็กแต่ละคนกำลังต่อให้เป็นรูปร่างต่างๆตามจินตนาการ
สิ่งที่ครูสังเกตเห็นและจดบันทึกไว้
- หนูเคโระไม่ยอมเล่นต่อแพทเทิร์นบล็อกให้เป็นรูปร่างต่างๆ
- หนูเคโระหยิบแพทเทิร์นบล็อกรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสให้หนูอารีทั้งๆที่หนูอารีขอให้ช่วยหยิบสี่เหลี่ยมผืนผ้าให้
- หนูเคโระบอกหนูอารีว่าไม่มีสี่เหลี่ยมจัตุรัสให้เมื่อหนูอารีขอ ทั้งๆที่เธอถืออยู่ตั้งสองอัน
- หนูเคโระบอกครูว่าชอบเล่นบล็อกไม้สร้างเมือง(construction blocks)มากกว่าแพทเทิร์นบล็อก
สิ่งที่ครูวางแผนช่วยเหลือพัฒนาเด็ก
- ดูเหมือนหนูเคโระจะสับสนระหว่างสี่เหลี่ยมจัตุรัสและสี่เหลี่ยมผืนผ้า และเธอบอกว่าชอบเล่นบล็อกไม้สร้างเมืองมากกว่า
- ครูหาโอกาสพากลุ่มเด็กๆไปเล่นบล็อกไม้สร้างเมือง และเลือกเฉพาะบล็อกจัตุรัสและบล็อกสี่เหลี่ยมผืนผ้าให้หนูเคโระเพื่อที่เธอจะได้สังเกตเห็นความแตกต่างระหว่างบล็อกสองชนิดนี้
- หาโอกาสให้หนูเคโระได้พูดชื่อของรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสและสี่เหลี่ยมผืนผ้า และชวนคุยเรื่องสิ่งที่คล้ายและสิ่งที่แตกต่างของสี่เหลี่ยมทั้งสองชนิดนี้
- ให้หนูเคโระได้มีโอกาสสำรวจและสังเกตรูปร่างต่างๆ รวมถึงได้พูดชื่อของรูปร่างชนิดต่างๆให้มากขึ้น
วิธีการจดบันทึกความก้าวหน้าของเด็ก
- ภาพถ่ายของบล็อกต่างๆที่หนูเคโระเล่น และจดบันทึกความก้าวหน้าว่าหนูเคโระสามารถแยกความแตกต่างของบล็อกสี่เหลี่ยมจัตุรัสและสี่เหลี่ยมผืนผ้าได้ รวมถึงพูดชื่อออกมาได้ถูกต้อง
จากที่เล่ามาทั้งหมด จะเห็นว่าการเรียนคณิตศาสตร์ของสิงคโปร์ เป็นลักษณะที่ยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง มีการสังเกตและประเมินเด็กแต่ละคนอย่างละเอียดลออ และการสอนก็เรียกได้ว่าเป็นรายบุคคล…
สำหรับบ้านเรายอมรับว่าทำได้ยาก เพราะบางทีในห้องเรียนนึงก็มีเด็กปาเข้าไปตั้งสี่สิบคนแล้ว แถมภาระงานเอกสารต่างๆมากมาย จะให้ครูเอาเวลาที่ไหนไปดูแลเด็กแบบละเอียดยิบขนาดนี้ แถมอุปกรณ์การเรียนการสอนที่แต่ละโรงเรียนมีก็ไม่เท่าเทียมกันอีก
แต่สิ่งหนึ่งที่เราจะทำได้ก็คือ อย่าผลักภาระการสอนหรือการศึกษาทั้งหมดไว้กับโรงเรียนและครู ผู้ปกครองก็สามารถที่จะเป็นครูให้กับลูกๆได้ ยิ่งในยุคโควิดที่อะไรก็ไม่แน่ไม่นอน โรงเรียนอาจถูกสั่งปิดขึ้นมาเสียเมื่อไหร่ก็ได้
ดังนั้นถ้าสิ่งที่ Bmum หาข้อมูลมายาวเฟื้อย มีส่วนที่ช่วยให้ผู้อ่านเห็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอนให้ลูกๆที่บ้านได้ Bmumก็คงจะดีใจมาก ที่สิ่งตั้งใจที่ค้นคว้ามาพอจะมีประโยชน์บ้าง
สำหรับข้อมูลอ้างอิง คู่มือการจัดการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ ชั้นอนุบาล(https://www.moe.gov.sg/docs/default-source/document/education/preschool/files/nel-edu-guide-numeracy.pdf) และ ชั้นประถมศึกษา (https://www.moe.gov.sg/docs/default-source/document/education/syllabuses/sciences/files/mathematics_syllabus_primary_1_to_6.pdf) กระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์
ติดตามเรื่องคณิตศาสตร์สิงคโปร์ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ได้ในบทความหน้านะคะ
โฆษณา