8 ส.ค. 2020 เวลา 04:51 • สุขภาพ
สถาบันซีรั่มแห่งอินเดีย (SII) ผู้ผลิตวัคซีน COVID-19 รายใหญ่ที่สุดในโลก
" คาดว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลกอย่างน้อยจะเคยได้รับวัคซีน 1 ชนิดจากที่นี่ และด้วยกำลังการผลิตในอัตราเร็ว 500 โดสต่อนาที บริษัทแห่งนี้กำลังจะก้าวไปเป็นผู้นำในการผลิตวัคซีน COVID-19 ของโลกในไม่ช้า "
กล้องที่กำลังตรวจสอบสิ่งปนเปื้อนของวัคซีนแต่ละขวด : The New York Times
อินเดียในมุมมองที่เราคุ้นเคยอาจจะนึกถึงภาพสถานที่ทางศาสนา ประชากรเมืองที่หนาแน่นการจราจรติดขัด เมืองหลวงเต็มไปด้วยฝุ่นควันมลพิษและขยะรวมถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ขึ้นชื่อในระดับต้นๆของโลก
แต่ทราบหรือไม่ว่าในอีกแง่มุมหนึ่งอินเดียมีบทบาทโดดเด่นเป็นอย่างมากในวงการสาธารณสุขโดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตยา ด้วยต้นทุนค่าแรงที่ต่ำและการสนับสนุนในด้านกฎหมายจากภาครัฐทำให้สามารถผลิตยาที่มีราคาถูกและเป็นที่ต้องการของประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมีข้อจำกัดทางการเงิน
หนึ่งในบริษัทผู้นำวงการยาของอินเดียที่ถือว่าเป็นเครื่องจักรทำเงินสำคัญของประเทศนั่นคือ
" สถาบันซีรั่มแห่งอินเดีย (Serum Institute of India : SII) "
สถาบันซีรั่มแห่งอินเดียเป็นบริษัทเอกชนที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2509 โดยไซรัส ปูนาวาลลา (Cyrus Poonawalla)
มหาเศรษฐีลำดับที่ 7 ของอินเดียซึ่งมีมูลค่าทรัพย์สินรวมมากกว่า 11.4 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทยที่ 3.5 แสนล้านบาท
เดิมทีครอบครัวของไซรัสทำธุรกิจฟาร์มเลี้ยงม้าแข่ง แต่ก็พบว่าเป็นธุรกิจที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ พออายุได้ 20 ปีเป็นช่วงที่เขาต้องรับไม้ต่อจากครอบครัวก็บังเอิญได้ข้อมูลจากการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ของฟาร์มว่าม้าแข่งที่อายุมากขึ้นซึ่งไม่สามารถใช้ประโยชน์จะถูกบริจาคให้กับสถาบันวัคซีนของรัฐเพื่อเอาไปผลิตภูมิคุ้มกันจากการฉีดเชื้อที่ต้องการเข้าไปในตัวม้า
ด้วยต้นทุนความรู้ในการเลี้ยงม้าที่มีอยู่เดิมทำให้เขาจึงคิดจะตั้งบริษัทผลิตวัคซีนขึ้นมาเอง โดยวัคซีนชนิดแรกที่วางจำหน่ายคือวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักและเริ่มขยายการผลิตไปเรื่อยๆจนครอบคลุมวัคซีนพื้นฐานทั้งหมดและด้วยกำลังการผลิตวัคซีนที่สูงถึง 1.5 พันล้านโดสต่อปีรวมถึงส่งออกไปยัง 170 ประเทศทั่วโลก
1
" เรียกได้ว่าคนในอินเดียแทบทุกคนรวมถึงประชากรโลกร้อยละ 65 ต้องเคยได้รับวัคซีนชนิดใดชนิดหนึ่งจากบริษัทของไซรัส "
ปัจจุบันสถาบันซีรั่มแห่งอินเดียอยู่ภายใต้การบริหารของ อะดาร์ ปูนาวาลลา (Adar Poonawalla) บุตรชายวัย 39 ปีเพียงคนเดียวของไซรัสซึ่งมารับช่วงต่อตั้งแต่ปี 2011
Adar Poonawalla ผู้บริหารของสถาบันซีรั่มแห่งอินเดีย : The New York Times
ท่ามกลางการระบาดของ COVID-19 สถาบันซีรั่มก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ต้องการคิดค้นวัคซีนที่สามารถป้องกันโรคเพื่อหยุดการแพร่ระบาดซึ่งอินเดียก็เป็นประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อ 1 ใน 5 ของโลก
ในช่วงแรกทางบริษัทเองได้ร่วมพัฒนาและคิดค้นวัคซีนต้านไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ร่วมกับบริษัทไบโอเทคของสหรัฐที่ชื่อว่า Codagenix อย่างไรก็ตามการพัฒนาและทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีนนั้นต้องอาศัยระยะเวลาที่นาน
จึงหันมาร่วมมือกับบริษัทยาแอสตราเซเนกาและมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ดที่ใกล้เคียงกับความสำเร็จในการทดสอบวัคซีน โดยอาศัยศักยภาพของสถาบันซีรั่มที่มีความเร็วและกำลังการผลิตที่มากที่สุดในโลกด้วยอัตรา 500 โดสต่อนาที เตรียมรองรับความต้องการของประชากรโลกที่อาจมากถึง 5.6 พันล้านคนเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd immunity)
1
แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าหากผลวิจัยวัคซีนของแอสตราเซเนกาและอ๊อกซ์ฟอร์ดฃสามารถป้องกันโรคได้ แล้ววัคซีนที่ถูกผลิตขึ้นจะมีการจัดสรรอย่างไรให้กับอินเดียหรือผู้สนับสนุนด้านการเงินและกระบวนการผลิตรายอื่นๆ
ซึ่งอาจทำให้อะดาร์ ปูนาวาลลา กลายเป็นผู้มีอิทธิพลเจ้าใหญ่ในการเจรจาต่อรองกับทั้งในและต่างประเทศในการครอบครองวัคซีน แม้ว่าเบื้องต้นจะมีการให้สัมภาษณ์ว่าวัคซีนหลายล้านโดสที่ผลิตขึ้นจะถูกแบ่งเท่ากัน 50-50 คือสำหรับอินเดียและประเทศอื่นๆทั่วโลกโดยจะเน้นไปที่ประเทศยากจนเป็นหลัก
อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับรัฐบาลเช่นกันที่อาจเข้ามาแทรกแซงจุดนี้ได้ เพราะอย่าลืมว่าอินเดียก็สาหัสมากเหมือนกันและความเป็นชาตินิยมก็พร้อมจะทำทุกวิถีทางให้ประชาชนได้เข้าถึงยาหรือวัคซีนให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
จะเห็นได้จากการที่ก่อนหน้านี้มีคำสั่งยกเลิกการส่งออกยา
ที่คาดว่าจะสามารถช่วยรักษา COVID-19 เช่น
Hydroxychloroquine ซึ่งปัจจุบันค่อนข้างชัดเจนว่าไม่ได้มีประโยชน์ในการใช้กับผู้ป่วย
1
เบื้องต้นวัคซีนของแอสตราเซเนกาและอ๊อกซ์ฟอร์ดพบว่าได้ผลดีในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้เทียบเท่ากับคนที่หายป่วยจาก COVID-19 แต่ก็ยังจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมซึ่งตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยระยะที่ 3 คาดว่าจะใช้เวลาอย่างเร็วที่สุดก็คงประมาณ 6 เดือนจึงจะทราบผลว่าวัคซีนสามารถป้องกันโรคได้หรือไม่
โรงงานเดินสายการผลิตอย่างเต็มที่ด้วยเครื่องจักรความเร็วสูง : The New York Times
แต่ด้วยความต้องการเร่งด่วนบริษัทผู้ผลิตไม่อาจที่จะรอผลอย่างเป็นทางการได้ จึงจำเป็นต้องเลือกใช้วิธีการผลิตวัคซีนออกมาคู่ขนานไปกับขั้นตอนการศึกษาวิจัยเพื่อให้มีวัคซีนพร้อมใช้ในวันที่มีหลักฐานรองรับอย่างเป็นทางการ
เรียกได้ว่าเป็นการเดิมพันที่สูงของบริษัทเองเช่นกัน
เพราะพูดง่ายๆ มันก็คือการผลิตวัคซีนขึ้นมาโดยทั้งๆที่ไม่รู้ว่าจะใช้การได้จริงหรือเปล่าแต่ทางประธานของบริษัทก็มั่นใจว่าวัคซีนจากทีมวิจัยอังกฤษมีโอกาส 70-80 % ที่จะใช้การได้
ซึ่งถ้าสุดท้ายมันล้มเหลวจริงๆ ก็ไม่ใช่ว่าบริษัทผู้ผลิตจะแพ้ในเกมส์การแข่งขันนี้
อะดาร์มองว่าเขาพร้อมที่จะปรับสายการผลิตให้รองรับในการเดินเครื่องผลิตวัคซีนที่คาดว่าจะใช้การได้ตัวอื่นแทน ซึ่งคาดว่ามันต้องมีแน่ๆและวัคซีนนั้นต้องเจอกับปัญหาคอขวด ไม่สามารถผลิตได้ทันตามความต้องการ
เพราะแทบจะไม่มีบริษัทใดสามารถผลิตวัคซีนด้วยต้นทุนระดับเดียวกับเขา ซึ่งด้วยกำลังการผลิตและความเร็วระดับนี้สุดท้ายโรงงานแห่งนี้ก็จะเป็นที่ต้องการจากเจ้าของผู้พัฒนาวัคซีน
ภายใต้สัญญาณที่ทำกับแอสตราเซเนกาตอนนี้ สถาบันซีรั่มสามารถที่จะผลิตวัคซีนตัวดังกล่าวได้มากถึง 1 พันล้านโดสในช่วง pandemic สำหรับอินเดียและประเทศรายได้น้อย
โดยที่จะต้องไม่ขายเกินไปกว่าต้นทุนในการผลิตวัคซีนซึ่งก็คือต้องไม่เอากำไรนั่นเอง
อย่างไรก็ตามความกังวลว่าใครจ่ายเยอะ จ่ายก่อนจะเป็นฝ่ายได้ไปก็ยังคงมีอยู่
เห็นได้จากล่าสุดก็มีการมัดจำกันล่วงหน้าไปแล้วทั้งฝั่งยุโรปเองและล่าสุดอเมริกาที่ต้องการจองวัคซีนจากแอสตราเซเนกาด้วยเม็ดเงินรวมจำนวนกว่า 1 พันล้านดอลลาร์
น่าสนใจว่าสุดท้ายการกระจายวัคซีนจะเป็นอย่างไร อำนาจและความชาตินิยมจะถูกใช้ในการกดดันบริษัทผลิตวัคซีนต่างๆมากน้อยแค่ไหน
เพราะความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและวิถีชีวิตแบบเดิมมีโอกาสจะกลับมาได้ก็ต่อเมื่อ
โลกต้องหายจากการติดเชื้อไปพร้อมๆกันครับ
References :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา