9 ส.ค. 2020 เวลา 10:00 • นิยาย เรื่องสั้น
เรื่องเล่าชมรมศิลป์ Ep.6
: ไขปริศนาอาร์นอลฟีนี ตอนที่ 1
[ The Arnolfini Portrait – Part 1]
วันเสาร์ บ่ายโมงสี่สิบห้า ณ ชมรมศิลปะนอกเวลา
หนังสือกองหนึ่งพร้อมภาพพิมพ์สำเนางานศิลปะขนาดเท่าจริงจากห้องสมุดลับ ถูกนำออกมาจัดเรียงรายเตรียมไว้สำหรับผู้ที่มาเยือนในบ่ายวันนี้
โดยต้นเหตุนั้นมาจากข้อความไลน์ที่เด้งขึ้นมากลางดึกเมื่อสองวันก่อน
“หวัดดีค่าหัวหน้า เสาร์นี้พอมีเวลาว่างมั้ยคะ”
เจ้าของประโยคคำถามมีนามว่า แจน สาวน้อยหน้าตาจิ้มลิ้มที่จับพลัดจับผลูเข้ามาร่วมเป็นสมาชิกใหม่ของชมรมโดยบังเอิญ จากการเดินตามแมวในวันฝนตก
“หนูไม่ได้ตั้งใจจะมาหรอกพี่ แค่มาหาที่หลบฝน แล้วบังเอิญเจอเจ้าเหมียวเลยเดินตามมันมา”
นั่นคือคำตอบแบบตรงไปตรงมาของเธอ เมื่อใครสักคนถามถึงสาเหตุของการที่จู่ ๆ เธอก็มาปรากฎตัวอยู่ในห้องชมรมเราด้วยร่างที่เปียกโชกเมื่อสองสัปดาห์ก่อน
ถึงกระนั้นผมก็ยังเชื่อว่าสิ่งใด ๆ ที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเพราะความบังเอิญ แต่มีอะไรบางอย่างที่นำพาเราให้มารู้จักกัน
หรืออาจจะเป็นใครสักคนในชมรมศิลปะนอกเวลาแห่งนี้ที่ถูกใจเธอ
รอยยิ้มจาง ๆ ผุดขึ้นที่มุมปาก ขณะที่ผมอ่านทวนข้อความของเธอ
“หลังบ่ายสองโมงเป็นต้นไป พี่สะดวกครับ”
เพียงอึดใจเดียวที่ผมส่งข้อความออกไป ข้อความใหม่ของเธอก็ถูกส่งกลับมา
“เย่ ดีเลยค่า พอดีมีเรื่องอยากจะขอให้พี่ช่วย คนที่หนูแอบปลื้มอยู่เค้าเป็นพวกคลั่งงานศิลปะ พอหนูบอกไปว่าหนูก็อยู่ชมรมศิลป์เหมือนกัน เขาก็ชวนคุยเรื่องงานศิลปะ แถมยังส่งรูปมาให้อีก แต่หนูดูยังไงก็ไม่เก็ทอะ เลยว่าจะมาขอความรู้จากพี่หน่อยค่ะ”
เพล๊ง! เสียงหน้าแตกเบา ๆ ดังขึ้น เคราะห์ดีว่ามีเพียงผมเท่านั้นที่ได้ยิน
“ได้ครับ”
“อิอิ ขอบคุณค่า เดี๋ยวหนูแชร์รูปไปให้ แล้วเจอกันที่ชมรมนะคะ”
นาฬิกาที่ผนังห้องบอกเวลา 14:05 เป็นเวลาเดียวกับที่เสียงเคาะประตูดังขึ้น ก่อนที่ร่างของแจนจะโผล่เข้ามายืนยิ้มเผล่ในห้อง
หลังจากที่พูดคุยทักทายกันเล็กน้อย สายตาของเธอก็เหลือบไปเห็นสำเนาภาพพิมพ์ที่ตั้งไว้
Jan Van Eyck, “The Arnolfini Portrait,” 1434, oil on oak, 32.3 x 23.62 in, National Gallery, London
"ภาพนี้แหละพี่ โอ้โห...ที่ชมรมเรามีของเก็บไว้ขนาดนี้เลยเหรอคะ"
"พอดีว่าภาพสำเนานี้เป็นสมบัติตกทอดกันมาครับ เป็นตัวอย่างที่เอาไว้ศึกษาสไตล์งานศิลปะเรอเนสซองส์ตอนเหนือ อ้อ…คำว่าตอนเหนือหมายถึงประเทศยุโรปอื่น ๆ ที่อยู่เหนืออิตาลีนะครับ
ที่สำคัญ งานของ ยาน ฟาน ไอก์ (Jan Van Eyck) ชิ้นนี้ ยังเป็นงานศิลปะชิ้นแรก ๆ ของยุคเรอเนสซองส์ที่มีการใช้สีน้ำมันด้วยครับ ในขณะที่ทางอิตาลียังใช้เทคนิกการลงสีเทมเพอรา (Tempera) อยู่เลย"
รอยยิ้มซุกซนปรากฏขึ้นบนหน้าของหญิงสาว
"แล้วเทมปุระ เอ้ย เทมเพอรา นี้ต่างจากสีน้ำมันยังไงคะ"
ผมเดินไปยังสำเนาภาพ The Arnolfini Portrait ที่อยู่บนขาตั้ง พร้อมกวักมือเรียกเธอเข้ามาใกล้
"มาลองดูภาพนี้แบบใกล้ ๆ กันนะครับ ดีเทลและแสงเงาพวกนี้ เกิดจากการลงสีบาง ๆ ทีละชั้นและเบลนด์จนได้มิติตามที่ต้องการในขณะที่สียังเปียกอยู่ ศิลปินสามารถใช้เทคนิกนี้ด้วยคุณสมบัติของสีน้ำมันซึ่งแห้งช้า ต่างจากเทมเพอราที่ใช้ผงสีจากพิกเมนต์ต่าง ๆ มาผสมกับตัวประสานอย่างไข่แดง ทำให้งานแห้งไวกว่ามากครับ"
การใช้สีน้ำมันทำให้สามารถเบลนด์แสงเงาที่นุ่มนวล สร้างมิติที่สมจริงบนใบหน้า ไปจนถึง texture ของขนเฟอร์
"งานละเอียดสุด ๆ เลยค่ะ แต่บอกตามตรง…ตอนเห็นภาพนี้ครั้งแรก หนูนึกไปถึงประธานาธิบดีปูตินบวกกับวิลลี่ วองก้าอะค่ะ"
ข้อสังเกตของเธอทำเอาผมระเบิดหัวเราะออกมาอย่างอดไม่อยู่ เพราะดู ๆ ไปใบหน้าอันเป็นเอกลักษณ์ของชายปริศนาในภาพที่เรารู้จักกันในนามของอาร์นอลฟีนี และเครื่องแต่งกายของเขาก็ดูละม้ายกับบุคคลที่เธอว่าจริง ๆ
"งั้นเรามาอ่านภาพนี้กันไหมครับว่าสองคนนี้คือใคร และมีเรื่องราวอะไรซ่อนอยู่ ก่อนอื่น...น้องแจนคิดว่าภาพนี้บอกอะไรกับเราบ้างครับ"
หญิงสาวผู้มาเยือนทำหน้านิ่ว คิ้วที่ตกแต่งไว้อย่างดีของเธอขมวดเข้าหากัน ขณะที่ดวงตาวาบวับมองไล่ดูตามจุดต่าง ๆ ของภาพ ในที่สุดเธอก็ถอนหายใจยาวออกมา
"หนูเดาว่าน่าจะเป็นภาพงานแต่งงานของสองคนนี้ค่ะ แต่แปลกที่หน้าตาของทั้งคู่ดูไม่แฮปปี้เอาซะเลย หรือเป็นเพราะเรื่องนี้คะ?"
เสียงของเธอเบาลงขณะที่นิ้วเรียวชี้ไปยังบริเวณท้องที่ดูโค้งนูนของหญิงสาวในภาพ
ผมอมยิ้มกับจินตนาการของสาวน้อยตรงหน้า
"สิ่งที่น้องแจนพูดตะกี้ คล้ายกับที่หลาย ๆ คนคิดเช่นกันครับ แต่เพื่อทำความเข้าใจภาพในอดีต ผมอยากให้เราถอดความคิดในยุคศตวรรษที่ 21 นี้ออกไปก่อน แล้วมองด้วยสายตาของผู้คนในยุคนั้น โดยเฉพาะงานศิลปะยุคเรอเนสซองส์ที่เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ สิ่งที่ตาเห็นอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงเสมอไป"
คำตอบของผมทำให้คิ้วของเธอผูกโบว์ขึ้นมาอีกครั้ง ก่อนจะเอ่ยถาม
"หมายความว่า...นี่คือการจัดฉากหรอคะ"
"จะว่าแบบนั้นก็อาจจะใช่ครับ สิ่งหนึ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับงานศิลปะในยุคนั้นคือ ไม่มีอะไรที่เป็นความบังเอิญ หากมีสิ่งใดที่ปรากฎอยู่ในภาพ นั่นเป็นเพราะผู้วาดต้องการให้สิ่งนั้นมีอยู่ เพื่อสื่อความหมายบางอย่าง"
ดวงตาของสาวน้อยเบิ่งโตขึ้นด้วยความตื่นเต้น
"เหมือนทิ้งคำใบ้ไว้ในภาพรอให้คนมาสืบเลยนะคะ น่าสนุกจัง"
ผมขยับหมวกนักล่าสัตว์แบบนักสืบชื่อดังในจินตนาการให้เข้าที่ ควันสีเทาอ่อนลอยทอดตัวอ้อยอิ่งออกมาจากไปป์ที่มองไม่เห็น จู่ ๆ บรรยากาศในห้องชมรมศิลป์ก็ถูกปกคลุมด้วยม่านหมอกลึกลับจากศตวรรษที่ 15
นาทีนั้นเราอยู่ในห้องที่ตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์ที่ดูเรียบง่ายตามแบบดัชต์ แต่ประดับประดาอย่างโอ่อ่า ตั้งแต่เตียงนอนหลังใหญ่และที่นั่งติดผนังที่คลุมด้วยผ้ากำมะหยี่สีแดง พรมลวดลายวิจิตรแบบตะวันออก โคมระย้า กระจกเงา ไปจนถึงผลส้มที่วางกระจัดกระจายอยู่ข้างหน้าต่างที่ประดับด้วยกระจกสี
กระจกสี (Stain glass) ที่หรูหรา แสดงถึงฐานะและระดับชั้นทางสังคมของเจ้าของบ้าน
"ส้มนี่คือของหรูหรอคะ"
เสียงใส ๆ ของสาวน้อยผู้ช่วยนักสืบจำเป็นดังขึ้น ในใจของเธออาจจะกำลังนึกไปถึงส้มเขียวหวานโลละ 40 บาทแถวบ้าน
"ใช่แล้วครับ ที่นี่คือ บรูช (Bruges) เมืองท่าที่สำคัญของเขตฟลานเดอร์ตะวันตกในประเทศเบลเยี่ยม สินค้าจากต่างประเทศถูกนำเข้ามาค้าขายผ่านเส้นทางเดินเรือและขึ้นฝั่งที่นี่ ส้มเองก็เป็นหนึ่งในผลไม้ต่างถิ่นที่มีราคาแพงมากครับ"
ตำแหน่งของส้ม ยิ่งวางในจุดที่ไม่สำคัญมากเท่าไร ยิ่งแสดงถึงความร่ำรวยเหลือกินเหลือใช้ นอกจากนี้ยังมีความหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ และการเจริญพันธุ์
คนช่างสงสัยชะโงกหน้าออกไปดูวิวอีกฟากของหน้าต่าง ด้านนอกนั้นคือสวนที่มีต้นเชอร์รี่ออกผลอยู่เป็นสัญญาณของการมาเยือนของฤดูร้อน
“แปลกจัง” น้ำเสียงของเธอมีแววครุ่นคิด “ทั้ง ๆ ที่กำลังเข้าหน้าร้อน แต่ทำไมทั้งคู่ถึงเลือกสวมชุดที่ดูหนาและหนักขนาดนั้นคะ”
ด้านนอกอาจจะเป็นต้นเชอร์รี่ ซี่งสื่อนัยยะถึงความรัก
ผมพยักหน้าเป็นเชิงเข้าใจก่อนจะอธิบายต่อ
"อย่าลืมว่าสิ่งที่เห็นในภาพอาจจะเป็นเพียงสัญลักษณ์ครับ เสื้อผ้าเหล่านี้บ่งบอกให้เราเห็นถึงความหรูหราตั้งแต่สีของมัน ในยุคนั้นการย้อมผ้าให้ได้สีเขียวที่สดใสหรือสีม่วงเข้มเกือบดำนั้น ต้องผ่านการหลายกระบวนการ
รวมถึงการใช้วัตถุดิบราคาแพงอย่างผ้าทอขนสัตว์จากอังกฤษปริมาณมาก แถมยังบุด้านในด้วยเฟอร์ทั้งผืน ทั้งหมดนี้ล้วนมีค่าใช้จ่ายที่สูงลิบ บ่งบอกถึงฐานะที่มั่งคั่งและอาจจะสะท้อนไปถึงอาชีพพ่อค้าของอาร์นอลฟีนีครับ"
ผ้าหุ้มกำมะหยี่สีแดง พรมลวดลายแบบตะวันออก และชุดผ้าขนสัตว์ย้อมสีเข้มที่บุเฟอร์หรูหราคือสัญลักษณ์แห่งความมั่งคั่ง ว่ากันว่าเฟอร์ของชุดสีเขียวทำมาจากขนของจิ้งจอกอาร์คติก ในยุคนั้นการสวมใส่เฟอร์ขนสัตว์ถือเป็นอภิสิทธิ์ที่แสดงถึงฐานันดร
“สงสัยอีกอย่างค่ะ อุตส่าห์แต่งตัวกันซะสวย ทำไมไม่ใส่รองเท้าอ่ะคะ”
นิ้วของเธอชี้ไปที่รองเท้าที่ถูกถอดวางอยู่ที่พื้น
“ฮ่าๆๆ ที่ถอดรองเท้าก็เป็นสัญลักษณ์ของการแสดงความเคารพครับ โดยเฉพาะในระหว่างพิธีกรรมทางศาสนา”
รองเท้าไม้ตามแบบของดัตช์ ผิวไม้ที่แตกต่างจากพื้นไม้ และการวาดให้เห็นมุมมองแบบ perspective คือรายละเอียดที่ทำให้เห็นฝีมืออันปราณีตของ ฟาน ไอก์
“นั่นไง! หนูว่าแล้ว ต้องเป็นงานแต่งแน่ ๆ หรือว่าที่ดูเหมือนจะแต่งกันแบบเงียบ ๆ เป็นเพราะเจ้าสาวท้องหรอคะ”
เสียงของเธอกลับมากระซิบกระซาบในช่วงท้าย เหมือนแอบนินทาแล้วกลัวใครจะได้ยิน
"ในสมัยนั้นการแต่งงานไม่ได้มีพิธีรีตองอะไรมากมายหรอกครับ เพียงแต่มีการกล่าวคำปฎิญาณออกมาต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคน ก็ถือว่าเป็นสามีภรรยากันอย่างถูกต้องแล้วครับ”
“จะว่าไปแล้ว…" ผมลดเสียงลงบ้างเลียนแบบเธอ
“พยานที่ว่า…ก็อยู่ตรงหน้าพวกเรานี้เองนะครับ”
[ จบตอนที่ 1 ]
[ ข้อมูลเพิ่มเติม ]
(1) ภาพที่วาดโดยเทคนิกเทมเพอรา ที่ผสมตัวเชื่อมประสานอย่างไข่แดง แม้ว่าจะมีข้อจำกัดในเรื่องของการแห้งไว ทำให้ไม่สามารถสร้างเลเยอร์ของสีที่ซับซ้อนเกิดเป็นแสงเงาแบบสีน้ำมัน แต่ก็มีข้อดีคือ เมื่อภาพแห้งแล้วผิวหน้าจะถูกเคลือบไว้โดยไม่เปลี่ยนสีไปตามกาลเวลา
ต่างจากสีน้ำมันที่เมื่ออายุมากขึ้น สีจะเข้มขึ้นและออกเหลือง และใสขึ้นต่างไปจากเดิม
ตัวอย่างงานที่ใช้เทคนิกการลงสีแบบเทมเพอรา (1) Madonna and Child by Duccio, tempera and gold on wood, 1284, Siena
(2) Sandro Botticelli, The Birth of Venus, tempera on canvas, c. 1486
ตัวอย่างงานที่ใช้สีน้ำมัน : The Milkmaid, Johannes Vermeer, 1658 - 1660
(2) ภาพเหมือนของ ยาน ฟาน ไอก์ (Jan Van Eyck) ศิลปินชาวดัตช์ ผู้ขึ้นชื่อว่าเป็นคนคิดค้นเทคนิกงานสีน้ำมัน และเป็นศิลปินที่โดดเด่นที่สุดในยุคต้นของเรอเนสซองส์ตอนเหนือ (Early Northern Renaissance)
Probable self-portrait by Jan van Eyck, 1433. The chaperon is worn in style A with just a patch of the bourrelet showing (right of centre) through the cornette wound round it (practical for painting in).
ปล. เนื่องจากเนื้อหาของอีพีนี้ยาวมาก จึงขอแบ่งเป็นสองตอนนะครับ ตอนที่ 2 ของการไขปริศนาอาร์นอลฟีนี จะมาในวันพุธที่ 12 สิงหาคม เวลา 19.00 น. ครับ
ขอบคุณที่ติดตามเรื่องเล่าชมรมศิลป์ แล้วพบกันใหม่ในครั้งหน้าครับ 💙

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา