12 ส.ค. 2020 เวลา 12:02 • นิยาย เรื่องสั้น
เรื่องเล่าชมรมศิลป์ Ep.6 :
ไขปริศนาอาร์นอลฟีนี ตอนที่ 2
[ The Arnolfini Portrait – Part 2]
หลังจากที่ผมพูดถึงบุคคลลึกลับอีกสองคนที่อยู่ในภาพ ความเงียบก็เข้ามาปกคลุมชั่วอึดใจ ก่อนที่จะมีเสียงเนื้อกระทบดังเพี๊ยะ รอยแดงจาง ๆ ปรากฏขึ้นที่แขนข้างหนึ่งของผม
“โทษทีค่ะ ลืมตัวไป…แต่พี่ก็ไม่น่าพูดให้หนูกลัวนะคะ”
ผมได้แต่หัวเราะแก้เก้อเบา ๆ ขณะที่คิดว่า จริงของเธอ
“อ่า…ที่พี่กำลังจะบอกคือนอกจากคุณและคุณนายอาร์นอลฟีนีที่ยืนอยู่นั่นแล้ว ยังมีอีกสองคน ดูที่กระจกนูนตรงกลางภาพนั่นสิครับ”
เทคนิกการใส่กระจกเข้ามาในภาพ เผยให้เห็นภาพสะท้อนในฝั่งของผู้ชม ซึ่งเป็นมุมมองที่ปกติจะไม่มีโอกาสได้เห็นในภาพวาด
สายตาของสาวน้อยจ้องตรงไปยังวัตถุโค้งเงาวาวติดผนังที่สะท้อนมุมมองจากด้านหลังของเจ้าของบ้าน และที่จุดรวมสายตานั้นเองปรากฎร่างของสองแขกผู้มาเยือนยืนอยู่หน้าประตูทางเข้า
“สองคนหน้าประตูนั่น…คือเราเหรอคะ?”
“ภาพในกระจกบอกให้เรารู้ว่าในห้องนี้มีคนอยู่ทั้งหมด 4 คน รวมเจ้าของบ้าน จุดที่เรามองภาพก็เสมือนมุมมองแทนสายตาของแขกทั้งสองผู้มาเยือน หากมองนัยยะนี้…ผู้ชมอย่างเราก็อาจจะเป็นพยานให้กับเหตุการณ์นี้ด้วยอย่างที่น้องแจนว่านะครับ”
“แต่วันนี้หนูกับพี่ก็ไม่ได้ใส่ชุดสีแดงกับสีฟ้ามาด้วยสิ งั้นต้องเป็นคนอื่นแล้วล่ะ”
น้ำเสียงร่าเริงของสาวน้อย ชวนให้ผมอดยิ้มตามไม่ได้
“เป็นใครนั้น…เรื่องนี้ไม่ยาก ที่จริงแล้วหนึ่งในแขกผู้มาเยือนเขาได้ทิ้งลายเซ็นเอาไว้ด้วยนะครับ ดูที่เหนือกระจกนูนนั่นไง…ไม่ต้องกด Google Translate นะครับ เดี๋ยวพี่แปลให้เอง”
ผมรีบดักคอคนที่เตรียมทำท่าจะส่งสายตาค้อนมาให้
“ข้อความนี้เขียนด้วยภาษาละติน ‘Johannes de eyck fuit hic 1434’ แปลเป็นภาษาอังกฤษคือ ‘Jan van Eyck was here 1434’ รูปแบบของตัวอักษรที่ ฟาน ไอก์ เลือกใช้ ก็ตั้งใจให้คล้ายกับตัวอักษรในเอกสารทางการครับ
อ้อ…ต้องบอกก่อนว่าศิลปินในยุคนั้นยังไม่นิยมเซ็นผลงานของตัวเองเหมือนสมัยนี้นะครับ ฟาน ไอก์ น่าจะเป็นศิลปินดัตช์รายเดียวในยุคศตวรรษที่ 15 ที่ทำ อาจจะด้วยความที่ตัวเขาเองเป็นศิลปินประจำราชสำนักของ ฟิลิป เดอะกูด (Philip the Good) ดยุกแห่งเบอร์กันดี เลยใส่ไว้เพื่อเป็นสัญลักษณ์ครับ”
“เท่ไปเลยนะคะ ลายเซ็นที่อยู่บนฝาผนัง จะประกาศให้ดังกว่านี้คงไม่ได้แล้วค่ะ”
“ถ้าจะเอาให้ชัวร์ ลองดูที่ภาพนี้นะครับ” ผมเปิดหนังสือที่คั่นหน้าไว้ให้เธอดู ภาพเหมือนของตนเองโดย ยาน ฟาน ไอก์ ที่วาดขึ้นในปี 1433 ใบหน้าที่มองตรงมานั้นดูเคร่งขรึม บนศีรษะของเขามีผ้าคลุมสีแดงที่ปลายถูกพันขมวดไว้จนดูคล้ายผ้าโพกศีรษะ
“แน่นอนว่าชายในภาพนี้คือ ยาน ฟาน ไอก์ สังเกตตัวอักษรที่แกะสลักบนกรอบภาพนะครับ” ผมชี้ไปที่ตัวอักษรแถวบน 9 ตัวที่ดูราวกับเป็นรหัสอะไรบางอย่าง
“ALS ICH KAN เป็นสำนวนแบบเฟลมมิชที่เขียนด้วยตัวอักษรกรีกครับ เป็นการเล่นคำของประโยคที่ว่า ‘As I can’ ซึ่งเป็นวลีเด็ดที่ฟาน ไอก์ มักจะใช้ในชิ้นงานของเขา ส่วนด้านล่างนั้นก็เป็นอักษรกรีกเหมือนกัน แปลได้ว่า ‘Jan van Eyck Made Me on October 21, 1433’"
“อย่าบอกนะคะว่าคำว่า I มาจากชื่อ Eyck…ขี้เล่นไม่เบาเลยนะคะ คุณไอก์”
ผมหัวเราะให้กับความรู้ทันของสาวน้อยขี้สงสัยตรงหน้า ก่อนจะชี้ไปที่ภาพเหมือน
“อะไรบางอย่างในนี้ดูคุ้น ๆ ไหมครับ”
ชั่วอึดใจเดียว เสียงดีดนิ้วดังเป๊าะ ออกมาจากปลายนิ้วของเธอ ใบหน้าฉายแววภูมิใจ
“ภาพสะท้อนบนกระจก! หนึ่งในแขกที่มาหาอาร์นอลฟีนีก็ใส่ผ้าคลุมสีแดง แถมยังมีลายเซ็นอีก หลักฐานมัดตัวแน่นขนาดนี้ ปิดจ๊อบได้เลยค่ะ เอ๊ะ แต่ถ้างั้นคนชุดฟ้าข้าง ๆ คือใครล่ะคะ”
“อาจจะเป็น เฮอร์เบิร์ต ฟาน ไอก์ พี่ชายของเขาที่เป็นศิลปินเช่นกัน หรืออาจจะเป็นคนอื่นก็ได้ครับ แต่คำถามที่สำคัญกว่าคือ...พวกเขามาเยือนบ้านอาร์นอลฟีนีด้วยสาเหตุอะไร น้องแจนคิดว่าเป็นงานแต่งงานใช่ไหมครับ”
ศีรษะของเธอพยักขึ้นลง ขณะที่มือทั้งสองทำท่าเลียนแบบชายหนุ่มในภาพ
“เนี่ยค่ะ ท่าแบบนี้เห็นแล้วเลยนึกว่าเจ้าบ่าวน่าจะกำลังยกมือให้คำสาบาน หรือคำมั่นสัญญากับเจ้าสาวในงานแต่ง”
“โอเคครับ เรามาตั้งสมมุติฐานกันก่อนว่านี่คือพิธีแต่งงาน คำใบ้ที่เรามีตอนนี้คือ คู่บ่าวสาว แขกผู้เป็นพยานสองคน รองเท้าที่ถูกถอดออกเพื่อแสดงความเคารพ ทีนี้ยังมีอะไรอีกบ้าง…”
ผมชี้ไปที่โคมระย้าที่มีเทียนจุดสว่างไสวอยู่เล่มหนึ่ง
“คงจะไม่มีใครที่จุดเทียนเล่น ๆ ในเวลากลางวันแสก ๆ ใช่ไหมครับ แถมยังมีเล่มเดียวอีกต่างหาก เทียนเล่มนี้จึงแสดงให้เห็นว่ามีการประกอบพิธีศักดิ์สิทธิ์เกิดขึ้น และยังเป็นสัญลักษณ์ถึงการประทับอยู่ของพระเจ้าครับ”
มือข้างหนึ่งของเธอชูขึ้นสูงอย่างกระตือรือร้น
“ขอตอบค่ะ! สุนัขตัวนั้นแสดงถึงความซื่อสัตย์ใช่ไหมคะ หนูจำได้จากภาพที่เราคุยกันในชมรมครั้งก่อน ว่าแต่งานละเอียดสุด ๆ เห็นแล้วอยากลูบขนเลยอ่ะ น่าร้ากกกก”
“ใช่แล้วครับ…เก่งมาก”
ผมเอ่ยชมนักเรียนที่ส่งยิ้มแป้นแล้นมาให้
“นอกจากนี้โดยทั่วไปแล้ว สุนัขมักจะเป็นของขวัญที่สามีมอบให้ภรรยาเมื่อแต่งงานกันด้วยนะครับ ภาพนี้จึงอาจจะมีทั้งสองนัยยะอยู่ด้วยกัน”
“ย้อนกลับมาที่จุดสังเกตของน้องแจนเมื่อตะกี้เรื่องมือ ท่าของมือที่ยกขึ้นมานั้นคล้ายกับการให้คำมั่นสัญญาตามที่น้องแจนเดาไว้ครับ ส่วนมืออีกข้างจับมือของฝ่ายหญิงไว้ในลักษณะหงายฝ่ามือ ก็สื่อถึงการมอบอำนาจการดูแลกิจการต่าง ๆ ภายในบ้านให้ครับ”
“แต่…”
ผมทิ้งจังหวะเล็กน้อย เพื่อสังเกตอาการผู้ฟัง
“สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ ข้างของมือที่ใช้นี่แหละครับ”
ดวงตาของเธอกระพริบถี่ด้วยความงุนงง
“จะใช้มือไหนก็ต่างกันด้วยเหรอคะ ไม่ใช่ว่าถนัดซ้าย หรือถนัดขวาอะไรงี้…”
Left-handed marriage
“อย่างที่บอกตั้งแต่แรกนะครับ ไม่มีอะไรที่เป็นความบังเอิญ ทุกอย่างที่เราเห็นนี้คือสิ่งที่ตั้งใจสื่อความหมาย ในยุคนั้นการแต่งงานของสองฝ่ายที่มีสถานะทางสังคมเท่าเทียมกัน ฝ่ายชายจะใช้มือขวาจับมือของฝ่ายหญิงเอาไว้
ส่วนการแต่งงานที่สถานะต่างกันจะใช้มือซ้ายแทน ซึ่งฝ่ายที่มีสถานะต่ำกว่ารวมถึงลูก ๆ ที่จะเกิดมา จะไม่มีสิทธิ์ในยศฐาบรรดาศักดิ์ อำนาจที่สืบทอดกันมา หรือทรัพย์สมบัติที่ตกทอดของตระกูล”
“หืมมม…ภาพนี้ใช้มือซ้ายก็แสดงว่าเป็นอย่างหลังสินะคะ น่าสงสารจัง”
ผมกระแอมหนึ่งที ก่อนจะเล่าต่อด้วยเสียงที่ทุ้มต่ำลง
“จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ก่อนหน้านี้ทำให้เรารู้ว่าอาร์นอลฟีนีที่เป็นพ่อค้าชาวอิตาเลียนที่อาศัยในเมืองบรูช น่าจะเป็นชายที่มีนามว่า 'โจวันนี (ดี อาร์รีโก) อาร์นอลฟีนี'
ส่วนภรรยาของเขาคือโจวันนา เชนามี แต่ตัวของโจวันนาเองถือว่าเป็นสตรีที่มีฐานะทางสังคมเท่าเทียมกับโจวันนี ซึ่งไม่ตรงกับเรื่องการแต่งงานมือซ้ายที่เราคุยกันเมื่อกี้”
“อ้าว ไหงงั้นล่ะคะ”
“ที่แปลกยิ่งไปกว่านั้น…” ผมกดเสียงให้ต่ำลงอีกนิด
“ในปีค.ศ. 1997 หรือหลังจากที่ภาพนี้มีอายุ 563 ปี ได้มีการพบบันทึกถึงการแต่งงานของโจวันนี อาร์นอลฟีนี และโจวันนาภรรยาของเขาว่าเกิดขึ้นในปีค.ศ. 1447”
คิ้วของสาวน้อยตรงหน้าผมเริ่มขมวดขึ้นมาอีกครั้ง
“แต่ภาพนี้ ฟาน ไอก์ วาดในปี ค.ศ. 1434 นี่คะ ยังเขียนอยู่บนผนังเลย…ต่างกันตั้งสิบสามปีแน่ะ”
ผมหัวเราะหึหึในลำคอก่อนจะตอบเธอ
“ครับ…ส่วนฟาน ไอก์เองก็เสียชีวิตไปตั้งแต่ 6 ปีก่อนหน้าที่ทั้งคู่จะแต่งงานกัน”
ความเงียบเข้ามาปกคลุมอีกเป็นระลอกที่สอง ก่อนที่ฝ่ามือของใครบางคนจะฟาดลงมาซ้ำที่เดิม ผมก็เบี่ยงตัวหลบก่อนอย่างสวยงาม
“ทำไมอยู่ ๆ กลายเป็นเรื่องสยองขวัญซะงั้นละคะ ฮืออออ”
ผมหัวเราะให้กับเสียงบ่นกระปอดกระแปดของเธอก่อนจะเล่าเรื่องราวต่อไป
“โทษที ๆ แต่นั่นเป็นเรื่องที่นักประวัติศาสตร์ศิลป์เพิ่งมาทราบทีหลังเหมือนกันครับ เรื่องราวประวัติศาสตร์สามารถเปลี่ยนแปลงได้เมื่อมีการค้นพบหลักฐานใหม่ ๆ แบบนี้แหละครับ เราเลยต้องเปิดใจเรียนรู้เพิ่มเติมตลอด”
“ทีนี้ลองย้อนกลับมาตั้งคำถามกันใหม่…เป็นไปได้มั้ยว่าจะมีโจวันนี อาร์นอลฟีนีคนอื่น...
สิ่งที่ค้นพบคือ ยังมีชายอีกคนหนึ่งที่ชื่อว่า 'โจวันนี (ดี นีโกลาโอ) อาร์นอลฟีนี' ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของโจวันนี (ดี อาร์รีโก) อาร์นอลฟีนี
ภรรยาของอาร์นอลฟีนีคนหลังนี้ มีนามว่า คอสสแตนซา เทรนทา ซึ่งทั้งคู่นี้แหละที่น่าจะเป็นบุคคลในภาพตัวจริงของ ยาน ฟาน ไอก์”
เสียงถอนหายใจยาวอย่างโล่งอกของน้องแจน ทำให้ผมแอบขำในใจ ก่อนจะเดินหลบไปให้ห่างจากระยะแขนของเธอ
“แต่ก็มีบันทึกเช่นกันครับว่าคอสสแตนซาเสียชีวิตระหว่างการคลอดลูกในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1433 หรือหนึ่งปีก่อนที่ ฟาน ไอก์จะวาดภาพนี้”
“โอ้ยยย ทำไมลึกลับซับซ้อนขนาดนี้ แบบนี้ก็ไม่ใช่ภาพงานแต่งแล้วสิคะ มันจะสยองเกิ๊นนนน”
เธอทำท่ากอดอกขนลุก
“งั้นเรามาดูหลักฐานเพิ่มเติมกันดีกว่าครับ ในห้องนี้ยังมีสัญลักษณ์อะไรที่แอบซ่อนไว้อยู่”
ผมชี้ไปที่เพดานห้องจุดที่แขวนโคมระย้าเอาไว้
“เมื่อตะกี้เราสังเกตเห็นเทียนจุดอยู่ใช่ไหมครับ ตำแหน่งของเทียนเองก็ซ่อนความหมายเอาไว้ ดูเผิน ๆ จะเห็นเทียนเล่มเดียว
แต่หากมองให้ดีที่กิ่งหนึ่งของเชิงเทียนทางขวามือด้านเดียวกับที่คอสสแตนซายืนอยู่นั้น มีร่องรอยของน้ำตาเทียนติดอยู่ราวกับมันได้ถูกเผาไหม้ไปจนหมดแล้ว...เช่นเดียวกับชีวิตของเธอ ในขณะที่เทียนฝั่งของโจวันนียังคงยาวและลุกโชน”
“ที่ขอบของกระจกนูนกลางห้อง มีช่องกลมอยู่รอบ ๆ แต่ละช่องมีภาพวาดอยู่ ขนาดจริงของมันเท่ากับครึ่งเล็บมือเองนะครับ แสดงให้เห็นถึงฝีมือขั้นเทพของฟาน ไอก์ ในการใช้พู่กันที่มีขนแปรงเพียงเส้นเดียวและแว่นขยายในการวาดภาพที่เล็กจิ๋วขนาดนี้”
สาวน้อยยกมือขึ้นมาดูเทียบขนาดเล็บมือกับภาพที่อยู่ตรงหน้าด้วยความทึ่ง
“สุดยอดดดด นี่คือต้นฉบับของการวาดภาพบนเมล็ดข้าวที่แท้ทรูเลยนะคะ แค่คิดก็ตาจะเขแล้ว”
“นั่นนะสิครับ ส่วนภาพจิ๋วทั้ง 10 รูปนี้คือ ภาพพระทรมานของพระเยซู หรือ Passion of Christ ที่แสดงช่วงเวลาที่สำคัญในชีวิตของพระเยซู สังเกตให้ดีจะเห็นว่าภาพที่อยู่ทางฝั่งของโจวันนีแสดงภาพเหตุการณ์ต่าง ๆ ในช่วงเวลาที่พระเยซูยังมีชีวิต ส่วนภาพในฝั่งของคอสสแตนซา คือเหตุการณ์ที่พระองค์ได้สิ้นพระชนม์และกลับคืนชีพ”
“แอบขนลุกเบา ๆ อยู่นะคะ ไม่คิดเลยว่าจะมีความหมายซ่อนไว้ได้แนบเนียนขนาดนี้ หนูรู้แล้วละค่ะ ว่าภาพนี้คือภาพที่วาดเพื่อแสดงความอาลัยถึงคนรัก คิดแล้วเศร้าจัง”
“จำได้ไหมครับว่าน้องแจนถามว่าผู้หญิงในภาพนี้ท้องหรือเปล่า ถ้าดูจากภาพวาดอื่น ๆ ในสมัยนั้นประกอบ เช่นภาพแม่พระที่กำลังตั้งครรภ์ หรือนักบุญหญิงอื่น ๆ ก็ไม่ปรากฎว่าจะมีการวาดท้องให้นูนต่างกันครับ มาถึงตอนนี้น้องแจนพอจะนึกออกรึยังครับว่าทำไมจึงชวนให้เข้าใจผิด”
หลังจากนิ่งไปชั่วอึดใจ รอยยิ้มก็ปรากฎขึ้นบนใบหน้าของเธอ
“รู้แล้วค่ะ ชุดหรูหราผ้าล้านเมตรแบบนี้ ถ้าไม่จับกระโปรงทบเอาไว้ก็เดินไม่ได้นะเจ้าคะ”
“ใช่แล้วครับ อีกอย่างคือการวางท่าทางแบบนี้เป็นที่นิยมด้วยในสมัยนั้น ยิ่งชุดหรูและยาวเท่าไรยิ่งบ่งบอกฐานะว่าไม่ใช่คนทั่วไปที่ต้องใส่ชุดคล่องตัวเพื่อทำงาน”
ผมชี้ไปที่เสาแกะสลักหัวเตียงอันมีรูปร่างเป็นหญิงคนหนึ่งยืนพนมมือ ด้านหน้าของเธอคือมังกร
“มาถึงสัญลักษณ์สุดท้ายกันแล้วนะครับ งานแกะสลักนี้คือนักบุญมาร์กาเรตผู้เป็นองค์อุปถัมภ์ของผู้หญิงมีครรภ์และการคลอดบุตร อย่างที่เล่าตะกี้ว่าคอสสแตนซาเสียชีวิตจากการคลอดลูกเมื่อหนึ่งปีก่อนที่ ฟาน ไอก์ จะวาดภาพนี้ รูปแกะสลักของนักบุญมาร์กาเรตจึงแฝงนัยยะถึงเรื่องนี้”
“ทำไมเศร้าจัง…...”
นัยน์ตาคู่นั้นดูแดง ๆ ขึ้นมาเหมือนจะร้องไห้ ผมจึงรีบพูดต่อเพื่อช่วยปรับอารมณ์
“ไม่ต้องเศร้าไปนะครับ ถ้ามองในอีกมุมนึงก็คือภาพนี้คือความทรงจำของโจวันนีที่มีต่อภรรยานะครับ ในอีกโลกหนึ่งที่เขาสร้างขึ้นมานั้นมีทั้งความรัก ความซื่อสัตย์ รวมถึงความฝันของคนทั้งสอง
ผลส้มที่นอกจากแสดงฐานะแล้วยังสื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ การเจริญพันธุ์ นักบุญมาร์กาเรตที่คอยปกปักษ์และอวยพรแม่และเด็กในท้อง ไปจนถึงชุดสีเขียวที่คอสสแตนซาสวมใส่อยู่ก็เป็นสีแห่งความหวัง”
“ฮือออ ขอบคุณค่ะ เข้าใจละ…ไม่เศร้าก็ได้เนอะ ดีจังที่ได้มาฟังเรื่องนี้ จะได้เอาไปเม้าต่อ อิอิ”
นาฬิกาที่ผนังห้องแสดงตัวเลข 16:45 น.
ผมบอกความลับสุดท้ายให้กับเธอ ก่อนที่จะจากกัน
“ไม่สงสัยเหรอครับว่าทำไมเขาถึงต้องเลือกรูปนี้ส่งมาให้”
สีหน้าของเธอดูงง ๆ ก่อนจะตอบออกมา
“ก็คงชอบมั้งพี่ ภาพก็สวย สตอรี่ก็น่าสนใจ”
“บางทีเราก็ไม่ต้องวิเคราะห์ให้เยอะหรอกครับ ที่เขาบอกว่าชอบภาพนี้อาจจะเพราะชื่อของศิลปินก็ได้”
สาวน้อยอมยิ้มหน้าแดง ก่อนจะโบกมือลาไปอย่างร่าเริง
ผมเก็บของเข้าที่อย่างเงียบ ๆ ขณะที่กำลังปลดภาพลงจากขาตั้ง มือของผมก็ชะงักด้วยความรู้สึกบางอย่าง
ใบหน้าของหญิงสาวในชุดสีเขียวกรอมพื้นนั้นดูสงบอ่อนโยน แฝงด้วยความงามในแบบสตรีทั่วไป บางทีอาจจะเป็นเพราะเธอถูกวาดขึ้นมาจากจินตนาการมากกว่าความเป็นจริง
ท่ามกลางสัญลักษณ์มากมายที่แฝงอยู่ แน่นอนว่าภาพที่แจ่มชัดของเธอนั้นจะคงอยู่ในใจของชายคนหนึ่งตราบชั่วชีวิตของเขา...
“It's kinda hard with you not around
Know you in heaven smilin' down
Watchin' us while we pray for you
Every day we pray for you
'Til the day we meet again
In my heart is where I'll keep you friend...”
1
🎵 ฟังเพลง I'll Be Missing You (1997) โดย Puff Daddy [feat. Faith Evans & 112] ได้ที่นี่ 👇
[ ข้อมูลเพิ่มเติม ]
(1) เพลง "I'll Be Missing You" แต่งขึ้นเมื่อปี 1997 เพื่อระลึกถึงการจากไปของบิกกี้ สมอลส์ หรือ "The Notorious B.I.G." แร็ปเปอร์ชื่อดังหนึ่งในตำนานของฝั่งอีสต์โคสต์ จากเหตุการณ์ยิงกันระหว่างแก๊ง
เพลงนี้ร้องโดย Puff Daddy เพื่อนและโปรดิวเซอร์ของ B.I.G ร่วมกับภรรยาม่ายของเขา Faith Evans จากวงอาร์แอนด์บี 112 โดยใช้บางส่วนของจากเพลงฮิตในปี 1983 ของวง The Police มาเรียบเรียง
(2) ตอนหาข้อมูลเรื่อง Arnolfini Portrait ผมได้ดูสารคดีเรื่องหนึ่งของ BBC ชื่อ "A Stitch in Time" เป็นรายการที่พาไปแกะรอยอดีตจากเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย และสร้างชุดนั้น ๆ ขึ้นมาใหม่ด้วยวิธีการแบยโบราณ
ซึ่งในตอนที่ผมหยิบมานี้ พิธีกรพาเราไปทำชุดเดรสสีเขียวในภาพ Arnolfini นี้ขึ้นมาใหม่ เผื่อใครสนใจ ตามไปชมกันได้ครับ:)
หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้เป็นข้อมูลจริงผสมส่วนที่แต่งขึ้นเพื่ออรรถรสในการนำเสนอ
แล้วพบกันใหม่ในชมรมศิลปะนอกเวลาครั้งหน้าครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา