Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ลงทุนในบัญชีและภาษี
•
ติดตาม
22 ส.ค. 2020 เวลา 07:28 • ปรัชญา
“ ผิดเป็นครู ”
ขอพักบทความหนักๆ เชิงวิชาการ แล้วลองมาอ่านแนวๆเชิงปรัญชากันดูบ้างนะคะ
"ผิดเป็นครู" เป็นหนังสือเล่มเล็กๆ เก่าๆ ที่ผู้เขียนบังเอิญได้รับบริจาคมา ซึ่งอ่านแล้วทำให้เราเข้าใจและรู้จักตัวตนของเราได้ดียิ่งขึ้น และสามารถปรับปรุงตัวเองได้ จึงอยากแบ่งปันเรื่องราวดีๆ จากหนังสือเล่มนี้ ด้วยสำเนียงภาษาของผู้เขียนเดิมและปรับแต่งใหม่คละเคล้ากันไปนะคะ ซึ่งผู้เขียนเน้นว่า เมื่ออ่านแล้วคุณผู้อ่านจะรู้จักตัวตนของตัวเองได้ดียิ่งขึ้นแน่นอนค่ะ 😉😊
ใจความสำคัญ....... เกี่ยวกับการประพฤติปฏิบัติตน ที่อาจเพลี้ยงพล้ำได้เสมอ ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม ซึ่งเรามักจะเรียกกันว่า “ผิดเป็นครู”
......ปกติใจคนเราอยู่ภายใต้ความรู้ไม่รอบ รู้ไม่จริง คือ เป็นอวิชชา เพราะฉะนั้น สิ่งที่เรานึกว่าถูกต้องแล้ว นั่นก็ยังไม่ถูกต้อง ยังไม่ใช่ปัญญาเห็นชอบ อะไรที่ทำลงไป จึงยังมีที่ผิดที่บกพร่อง ที่เราจะต้องพิจารณาซ้ำอีก ให้เกิดความรู้แจ้ง
แล้วเหตุใด จึงว่า “ผิดเป็นครู“ เพราะธาตุแท้ของใจ เราไม่เคยรักษาให้อยู่ในสภาพที่รู้ ตื่น เบิกบานได้ เราหลงบ้าง หลับบ้าง ประมาทขาดสติบ้าง สิ่งที่เราคิดหรือนึกเอาว่าเรารู้นั้น จึงเป็นความรู้ผิดๆ แต่เราก็ไม่เคยจะเฉลียวใจว่าเรารู้ผิด เราจึงต้องคอยฝึกฝนเอาสติไปจับสังเกตดูการกระทำของเราเองทุกขณะ ว่าผิดถูกต้องอย่างไรบ้าง
1
ใจที่เราเชื่อว่ารู้นั้น ยังรู้ไม่รอบ รู้ไม่จริง บางทีก็เหมือนไฟกระพริบ ทำท่าเห็นสว่างกระจ่างชัดดี แต่อีกประเดี๋ยวก็ชักเลือนลางไป เราต้องหมั่นจับสังเกตปฏิกิริยาของคู่สนทนา ว่าเขายังเป็นปกติอยู่ หรือมีอาการชวนให้เราสงสัยว่าสิ่งที่เราทำนี้คงพิลึกพิลั่นหรือเปล่า ตรงนี้แหละ ที่บอกว่าต้องอาศัย “ผิดเป็นครู”
1
หลายๆ คนอาจจะแย้งว่า การที่เราปฏิบัติ มาดูใจของเรา ก็ทำให้เรารู้จักตัวเองแล้ว พระพุทธองค์ท่านก็สรุปคำสอน วางแนวทางที่เป็นหลักธรรมทั้งหลายไว้ให้ เราก็อ่านตามตำราของท่านแล้ว สิ่งที่เรารู้ก็ต้องถูกสิ แต่เรื่องของใจไม่ใช่อย่างนั้นค่ะ
1
เพราะความรู้ชนิดนั้น เป็นความรู้ด้วยสัญญา คือ รู้ด้วยความจำ ไม่ใช่รู้ด้วยปัญญา เหมือนนกแก้วนกขุนทอง เวลาเราสอนให้พูด มันก็พูดได้เหมือนที่สอน จะให้พูดภาษาฝรั่ง มันก็พูดได้ แต่มันไม่รู้หรอกว่าที่พูดไปนั้น หมายความว่าอย่างไร มนุษย์เราเองก็เช่นเดียวกัน
1
ทุกวันนี้ เราอ่านตำรา เราฟังครูบาอาจารย์สอนเราก็รู้ เวลาที่ใครมีความทุกข์เดือดร้อน มีปัญหา เราแก้ปัญหาให้เขาได้เฉียบคม แล้วเราก็ภูมิใจว่าเรารู้แล้ว .....รู้แล้ว แต่เมื่อปัญหานั้นเกิดขึ้นกับเราบ้าง เรากลับทำอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งตรงนี้แหละเรียกว่า “ผิดเป็นครู”
1
ก็เพราะว่า สิ่งที่เราบอกเค้านั้น ยังไม่เป็นสมบัติของเรา ใจเราทั้งหมดยังไม่ได้เชื่อ ยังไม่ได้รู้เห็นเป็นขึ้นในใจเรา เพียงแต่ส่วนหนึ่งของใจเรานั้นเห็นว่ามันดี มันถูกต้อง มันน่าเชื่อถือ เราก็จำเอาไว้ แล้วเผลอเข้าใจไปว่า เรารู้แล้ว
ยกตัวอย่าง มีคุณแม่ท่านหนึ่ง อบรมลูกสาวว่า คนเราจะต้องพูดความจริง ถึงความจริงนั้น จะทำให้เราทุกข์หรือเดือดร้อนก็ตาม เพราะคนเราเมื่อทำผิดแล้วต้องยอมรับโทษ จะได้จำ และได้ไม่ทำผิดอีก อบรมอยู่เป็นชั่วโมง จนลูกสาวเห็นด้วยกับหลักการของคุณแม่ แล้วก็สัญญาว่า แต่นี้ต่อไปจะพูดความจริง ถึงความจริงนั้นจะทำให้ต้องได้รับโทษก็จะยอมรับ
1
Cr.ภาพจาก Mamaexpert.com
ขณะที่คุณแม่กำลังสรุปย้ำอยู่นั้น สาวใช้ก็มาเรียนคุณแม่ว่า “คุณค่ะ มีโทรศัพท์ จากคุณแจ๋วค่ะ” คุณแม่ลืมไปแล้ว ว่าได้อบรมลูกมา 1 ชั่วโมง ว่าจะต้องพูดความจริง คุณแม่ก็ทำเสียงกระซิบกับคนใช้ “ไปเรียนคุณแจ๋ว ว่าฉันไม่อยู่นะ”
คุณแม่พูดหน้าตาเฉยเลย พูดไปโดยที่ไม่ได้นึกสักนิดหนึ่งว่า สิ่งที่คุณแม่ทำนั้นขัดแย้งกับคำสอนของตัวเอง แล้วก็เป็นสิ่งที่ได้อบรมบ่มสอนลูกว่า อย่าทำ!
ถ้าเป็นลูกที่ปากเบาสักหน่อย ก็คงจะประท้วงว่า แม่.... ก็แม่อยู่นี่นา แล้วไปบอกว่าไม่อยู่ได้ยังไง ซึ่งคุณแม่ก็จะต้องโกรธเกรี้ยวมาก
ในใจของลูกเกิดความสับสนแล้ว ไหนแม่เป็นคนบอกว่า การพูดไม่จริง เป็นสิ่งไม่ดีอย่างยิ่ง ไม่ควรทำให้เป็นนิสัย แล้วทำไมคุณแม่ทำอย่างนี้ละ กฎนี่ยังมีข้อยกเว้นหรืออย่างไร
เห็นหรือไม่ว่า เวลาที่เราไม่รู้เท่าทันใจของเรา สิ่งที่รู้นั้นคือสัญญา เหมือนกับคุณแม่ท่านนี้ รู้ด้วยสัญญาว่า การพูดจริงเป็นสิ่งดี ช่วยรักษาให้ศีลของเราไม่ขาดตกบกพร่อง แต่คุณแม่ก็ยังไม่ได้ประพฤติตามจนเป็นอุปนิสัย ทำไปตามหน้าที่ฟูมฟักรักถนอมลูก อบรมบ่มปั้นลูก มัวแต่ปั้นเขา แต่ลืมปั้นเราเอง
ลืมนึกไปว่า คำสอนที่ดีคือการกระทำ ไม่ใช่คำพูด เพราะคำสอนที่มีเสียงดัง หนักแน่น ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด คือการกระทำที่เราทำตัวเราเป็นตัวอย่างให้คนอื่นดู เพราะทำแล้วจะไม่มีข้อโต้แย้ง แต่ถ้าพูด บางทีพูด แล้วเผลอทำอีกอย่างหนึ่ง
2
เมื่อเป็นอย่างนี้ เราจึงต้องคอยจับสังเกตตัวเราเอง หรือขณะที่เราทำอะไรไปแล้ว การจะเห็นที่ผิดของตัว แล้วเอามาเป็นครูได้นั้น เราต้องมีสติตามรู้ เหมือนเรามีตัวอีกตัวหนึ่งที่คอยเฝ้ามองเรา เหมือนที่เราเฝ้ามองคนอื่นอย่างนั้น แล้วสติตัวนี้จะต้องเที่ยงตรง ไม่เข้าข้างตัวเอง และไม่คอยแก้ต่างให้ตัวเอง
1
อีกหนึ่งตัวอย่าง มีสุภาพสตรีท่านหนึ่ง ไปปฏิบัติธรรมที่วัด ตกเย็นวันหนึ่ง ท่านไปเก็บเสื้อผ้าของท่าน เสร็จแล้วก็เกิดเป็นห่วงเสื้อผ้าของท่านอื่น เพราะพระอาทิตย์ตกแล้ว ประเดี๋ยวน้ำค้างลง จะทำให้ผ้าชื้น ท่านก็ช่วยเก็บให้ด้วย
ในส่วนของเสื้อนั้น เจ้าของน่าจะพอจำของตัวเองได้ แต่ผ้าถุงสีดำที่เหมือนกันทุกผืนที่ตากรวมกันอยู่ ท่านก็ช่วยเก็บมาพับอย่างเรียบร้อยดี แต่นี่กลับเป็นปัญหา
2
Cr.ภาพจาก Sistacafe.com
พอถึงเวลาที่แต่ละคนจะอาบน้ำ ไปเอาผ้าที่ราว กลับหาไม่เจอ ท่านก็บอกว่า ผ้าอยู่ตรงนี้ ฉันเก็บมาให้แล้ว แทนที่ทุกคนจะซาบซึ้งและขอบคุณ กลับแสดงอาการไม่พอใจ ทำหน้านิ่วคิ้วขมวด เพราะแยกไม่ออกว่าของใครเป็นของใคร ก็เลยโกลาหลอลหม่านกันไปหมด กว่าจะตัดสินใจคัดสรรลงตัวว่า เรามาปฏิบัติธรรมแล้ว ผ้าก็มีไว้สำหรับนุ่ง ให้เราไม่หนาวไม่ร้อนเกินไป เอาไปเถิด ผืนไหนก็ใช้นุ่งได้ สะอาดทั้งนั้น
1
สตรีท่านนั้น เมื่อเห็นปฏิกิริยาที่แสดงความไม่พอใจของแต่ละคน จึงได้กล่าวไปว่า ฉันรู้ตัวว่าฉันทำอะไร ฉันเป็นคนเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ ฉันกลัวว่าผ้าจะชื้น แล้วมีกลิ่นอับ เพราะพระอาทิตย์ก็ตกแล้ว ฉันก็เลยช่วยเก็บให้ แต่ถ้าใครจะไม่มีปัญญารู้ถึงตรงนี้ แล้วมาเพ่งโทษฉัน จิตใจคนนั้นก็เดือดร้อนไปเอง ฉันไม่รับรู้แล้ว
1
Cr.ภาพจาก Sistacafe.com
คนเรานั้น ถึงเริ่มต้นเราจะตั้งใจดี แต่ถ้าเราไม่มีข้อสงสัยเลยว่า สิ่งที่ทำไปนั้นจะมีผลกระทบอะไรหรือเปล่า ก็อาจจะเข้าทำนองทำคุณบูชาโทษไปเหมือนกรณีนี้
การที่เราหวังดีต่อคนอื่น แต่ขาดความรอบคอบ ก็ไม่ถูกต้อง การทำอะไร ถ้ามีแต่ความตั้งใจดีอย่างเดียว แต่ไม่ใช้ปัญญาคิดให้รอบคอบ ก็ยังไม่ปลอดภัย ถ้าจะทำอย่างนี้อีกในภายภาคหน้า เราจะเอาความบกพร่องครั้งนี้น้อมมาเป็นครูได้อย่างไร
1
จากกรณีที่กล่าวมานั้น การที่จะไปเคลื่อนย้ายผ้าของผู้อื่น ถึงจะมีเจตนาดี เราก็ควรแจ้งให้เขาทราบก่อน หรือถ้าไม่เช่นนั้น ก็ควรมีระบบระเบียบ เช่น เริ่มต้นเก็บผ้าจากซ้ายมือสุด แล้วก็เรียงลำดับ เอาผืนซ้ายมือสุดวางไว้เป็นผืนแรก อะไรทำนองนั้น เป็นต้น จะได้พอสืบความได้ว่าของใครเป็นของใคร
1
เมื่อเหตุการณ์เป็นดังนี้ ถ้าเรารู้จักเอาที่ผิดเรื่องนี้มาเป็นครู เราก็จะได้รายละเอียดต่อไป ส่วนที่ดีของเราที่มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เราก็ยังรักษาเอาไว้ แต่ถ้าเราไตร่ตรองไม่รอบคอบ ไม่เอาที่ผิดมาเป็นครู พอถูกตำหนิหน่อย ก็อาจจะเสียกำลังใจ แล้วก็ทำให้คิดไปว่าทำคุณบูชาโทษ โปรดสัตว์ได้บาป แต่นี้ต่อไปจะเลิกทำดีกับใคร ตัวใครตัวมัน ฉันจะไม่มีน้ำใจกับใครอีกแล้ว
ถ้าคิดอย่างนี้ก็ไม่ถูกต้อง เพราะส่วนดีความมีน้ำใจ การเอื้อเฟื้อผู้อื่น เป็นสิ่งดี แต่เราก็ต้องดูให้ถูกกาลเทศะ ดูให้รอบคอบด้วย
1
สิ่งที่เราทำย่อมมีทั้งส่วนดี และส่วนไม่ดี ถ้าเราแปลผลไม่เป็น ไม่เอาปัญญาพิจารณาให้รอบคอบ เราก็อาจจะพลอยทิ้งคุณงามความดีของเราไปด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เอาความน้อยอกน้อยใจมาเป็นอารมณ์ว่า อุตสาห์ช่วยแล้ว เขาไม่เห็น ไม่ซาบซึ้งใจ เพราะฉะนั้น เลิกทำ แบบนี้ก็แสดงว่า ใจของเราตกเป็นประเทศราชของโลกธรรมจนเกินไป จนกระทั่งเราไม่มีภูมิคุ้มกันที่จะปกป้องคุ้มครองตัวเราเอง
1
ตรงนี้แหละเป็นสิ่งสำคัญที่เราจะต้องฝึก จะต้องดูแลใจของเราให้ดี ให้มีวิธีคิดที่รอบคอบ แล้วก็รู้จักเก็บเกี่ยวข้อมูลทั้งหลาย จากสิ่งกระทบภายนอก มาพิจารณากลั่นกรองให้เกิดเป็นประโยชน์
ถ้าเราไม่เอาสติรู้ สิ่งที่มากระทบใจของเรา ไม่เรียนรู้จากประสบการณ์ ก็ไม่มีทางที่จะรู้ว่า ผิดหรือถูกตรงไหนบ้าง
เราคุ้นเคยกับการเป็นข้าทาสของกิเลสมาไม่รู้กี่ชาติกี่อสงไขย ฉะนั้น เมื่อมีอะไรมากระทบใจ เราเผลอเพลินอยู่ ไม่ตั้งสติให้ดี สิ่งที่ตอบสนองออกไปโดยอัตโนมัติ ย่อมผิดทั้งนั้น เพราะมันคืออวิชชา
1
ถ้าคอยตามดูใจของเรา ดูพฤติกรรมของเราอย่างนี้ เราก็จะได้เห็นที่ผิดที่บกพร่อง ได้ปรับปรุงตัวของเราไปเรื่อยๆ เพื่อให้ใจค่อยๆ เป็นอิสระจากอวิชชา จากความเห็นผิดเป็นชอบ
การจะฝึกตัว เราต้องเข้มงวด มองเข้ามาภายในใจของตัว เอาผิดเป็นครูให้ได้ทุกครั้ง มีอะไรเกิดขึ้น อย่าไปนึกแก้ไขคนอื่น ถ้ามัวแต่ส่ายจิตออกนอกเพื่อไปแก้ไขสิ่งอื่น เราจะเผลอลืมแก้ไขที่ตัวเรา
1
สมมุติถ้ามีเรื่องเกิดขึ้น ไม่ต้องไปหาว่าใครผิด แต่ให้หาว่า เมื่อเกิดปัญหาอย่างนี้ เราจะมีปัญญาแก้ไขอย่างไร ให้ลุล่วงไปได้เร็วที่สุด โดยไม่ต้องคำนึงถึงตัวตน
ถ้าเราเห็นจุดนี้ได้แล้วยอมรับ ชีวิตของเราจะสบายขึ้นมาก เพราะว่าผิดของใคร เราก็น้อมมาเป็นครูได้ทั้งนั้น แล้วเอามาปรับปรุงพฤติกรรมของเรา
ครั้นลงมือทำแล้วสัมฤทธิ์ผล ใจก็เกิดความเชื่อมั่น เกิดรู้เห็นเป็นขึ้นในใจ ไม่ใช่ความจำแล้ว ต่อไปเมื่อเราจะแก้ปัญหา ถึงจะไม่ใช่ปัญหาของเรา แต่เป็นปัญหาที่เรามีส่วนร่วมอยู่ด้วย เราก็เกิดความคล่องตัวที่จะเริ่มแก้ปัญหาได้
“ ถ้าเรามองเรา เราคอยจับผิดเรา เราจะเห็น “ เมื่อเราเห็นตามความเป็นจริง สติก็จะพบกับทางสว่าง เกิดเป็นปัญญาเห็นชอบ หนทางชีวิตของเราก็จะโปร่งโล่งสบาย มีความร่มเย็นเป็นสุขสืบไปค่ะ
1
จึงขอฝากไว้เป็นข้อคิด “ผิดเป็นครู” และเป็นกำลังใจในการปฏิบัติแก่ทุกท่านนะคะ
1
Cr. ผู้แต่ง : อมรา มลิลา
เรียบเรียงโดย : ลงทุนในบัญชีและภาษี
ช่องทางอื่นในการติดตาม เพจลงทุนในบัญชีและภาษี
FB :
https://www.facebook.com/BSV.BSerp.BusinessValue
Website :
https://accounting.bsv-th.com/
ขอบคุณทุกการมีส่วนร่วม และการติดตามนะคะ 🙏🙏😊😘
6 บันทึก
39
30
14
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ความรู้นอกตำรา
6
39
30
14
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย