26 ส.ค. 2020 เวลา 23:06 • ท่องเที่ยว
ช_๐๔๐_วัดสวนดอก สวนดอกไม้พะยอมพระเจ้ากือนา
□บริวารเมือง□
***** เมื่อวานเป็นวันเกิดเจ้าดาราฯ เวลาผ่านไป ๑๔๗ปี ท่านมีคุณูปการ กับทั้งเชียงใหม่และกรุงเทพฯ ในรอยต่อของการเปลี่ยนผ่าน เลยนึกถึงวัดนี้ที่เป็นสุสานหลวงของราชวงศ์ทิพย์จักรฯและพระเจ้าเก้าตื้อ เรื่องนี้เขียนไว้หลายปีแล้วเอามาปัดฝุ่นใหม่
...จากโคลงนิราศหริภุญไชยซึ่งยังไม่จบดี แต่จากวัดน่างรั้วหรือวัดยางกวงซึ่งอยู่นอกคูเมืองแล้วจุดต่อไป ครูท่านก็จะไปที่เวียงกุมกามในบทที่๔๔-๔๕ ที่วัดเจดีย์เหลี่ยมหรือกู่คำหลวง
ผมขอวกกลับมาที่ระบบทักษาเมือง ซึ่งมีศูนย์กลางคือเกตุเมืองหรือวัดเจดีย์หลวงเป็นจุดกลางและเจดีย์หลวงก็เป้นศูนย์กลางเมืองและเป็นพระธาตุที่สูงที่สุดในภาคเหนือ มองเห็นได้แต่ไกล วันที่มีแผ่นดินไหวสมัยพระนางจิรประภานั้นจดบันทึกไว้เป็นปี พศ.๒๐๘๘ ทำให้ยอดเจดีย์หักขวัญและกำลังใจของผู้คนก็แย่ลง หลังจากนั้นไม่นานประมาณสิบปีเชียงใหม่ก็เสียอาณาจักรให้แก่พม่า แต่ว่าไม่ได้หรอกสมัยนั้นบุเรงนองท่านเก่งจริงๆ อยุธยาที่ว่าแน่ๆก็เอาตัวไม่รอดเทียว การวางทักษาเมืองยังอาจพิจารณาได้อีกมากมายในหลายมุมมอง จะบอกว่านำวิชาการด้านนี้มาจากที่ใด เมื่อดูจากสายโหราศาสตร์เขาก็บอกว่าระบบทักษาเป็นศาสตร์ของไทยไม่ใช่ศาสตร์จากสายอินเดีย ในส่วนตัวผมว่ามันไม่ได้ข้ามน้ำทะเลมาหรอกเพียงแต่เดินผ่านจากอินเดียแล้วแปลงโฉมกลายเป็นมอญก่อนที่จะมาถึงหริภุญไชยซึ่งในยุคก่อนนั้นยังไม่มีพม่า(อาจจะไม่ใช่แต่เป็นชนกลุ่มน้อย) ก่อนนั้นมอญเป็นใหญ่ในพื้นที่พม่าปัจจุบัน ก็ลองปล่อยปัญหาให้ลอยอยู่กลางอากาศก่อนแล้วค่อยมาขบติดกันต่อไป
๑๏สวนดอกไม้พยอมเจ้า...กือนา
แปงนำมาบูชา...................สุมนเจ้า
เสกอารามหลวงล้านนา.....ใหญ่ขาม
ปักลังกาวงศ์เข้า...............มั่นเรื้องในเวียง ฯ
๒๏สุมนเถระตุ๊เจ้า...........อังเชิญ
สองบรมธาตุจำเริญ........สืบเบื้อง
หนึ่งธาตุสุเทพเยิร..........ทิพย์ฟ้า
หนึ่งลังกาเจดีย์เยื้อง.......สวนดอกไม้วังเจ้า ฯ
๓๏เสกบุปผาอารามฟ้า....เจิดแสง
สิงคีคำธาตุสำแดง...........อินค้อม
สูรส่องวับวาวแยง............รังสี
กอบดินสุกส่งย้อม...........เยี่ยมชั้นสุทธา ฯ
.
...ปัจจุบัน วัดสวนดอกเป็นที่ตั้งของมหาจุฬาฯ เมื่อเข้าไปในอารามเห็นพระนักศึกษาเดินกันขวักไขว่ แทบจะเป็นวัดเดียวที่เมื่อผมมาเชียงใหม่ครั้งใดจะต้องเข้าไปกราบพระเจ้าเก้าตื้อ ที่อยู่ในวิหารหลังน้อย ด้านหลังทุกครั้ง ความเป็นบ้านพี่เมืองน้องกับสุโขทัยในยุคต้นๆของราชวงศ์ เชียงใหม่ขอนิมนต์พระสุมนเถระจากสุโขทัยมา ทำให้ศาสนาลัทธิลังกาวงศ์หยั่งรากลงในเชียงใหม่ ในรุ่นหลังต่อมาบางทีก็เรียกว่าเป็นนิกายสวนดอกเลยทีเดียว และนอกจากความเจริญทางศาสนาที่ท่านนำมาท่านยังนำพระบรมธาตุมาสององค์ซึ่งประดิษฐานที่นี่และที่วัดพระธาตุดอยสุเทพ นอกจากนั้นเราจะเริ่มเห็นสถาปัตยกรรมของเจดีย์ทรงสุโขทัยที่กำลังเข้ามาเชื่อมกับเจดีย์ทรงล้านนาที่นี่ และว่ากันว่าเดิมมีเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์(เจดีย์ทรงสุโขทัย) อยู่ด้านหลังของเจดีย์องค์นี้ศาลาการเปรียญที่นี่ทำก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองปีหนึ่งสมัยเจ้าแก้วนวรัฐ เป็นศาลาการเปรียญที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ภายในมีพระพุทธรูปเก่าแก่อีกองค์ในสมัยพระเจ้ากือนาเลยชื่อพระเจ้าค่าคิง ชื่อเดียวกับพระเจ้าที่วัดพระเจ้าเม็งราย และที่สำคัญคืออารามแห่งนี้เป็นที่เก็บอัฐิหรือกู่ ของเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่และ เชื้อสายแห่งราชวงศ์ทิพย์จักร หรือราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน ความสำคัญของวัดที่ต่อเนื่องกับความเป็นบริวารในทักษาเมืองก็ดูจะสอดคล้อง ต่อเนื่องกัน
โคลงสองดั้น
๑๒๒๏เสกสถานเจ้ากู่เชื้อ
ขัตติเยศครองรุ่งเรื้อ........เชียงใหม่
๏กชกรใสก่องแก้ว
ค้ำพิงคนครค่าแล้ว...........ผ่านเลย
๏เผยอารามสวนดอกไม้
ต้นพยอมโชยกรุ่นให้.........ตรลบ
๏ปุญญจบศาสนจุนค้ำ
สรวงแมนสว่างก้ำ..............จกแจง
๏อ่อนแสงสูรย์ส่องหล้า
ไล้สถูปเครือเจื่องฟ้า..........คะนึง
๏ฉายตรึงคุณวานเจ้า
เจตน้อมนบกว่าเกล้า..........สดสี
๏สิงคีคำเจดีย์ค่าล้ำ
นำส่องทางก่องย้ำ.............ยังแมน....ฟ้าเอ่ฯ
.
ภาพเก่า วัดสวนดอก ประมาณปี ๒๔๗๕ ยังเห็นเจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์อยู่มุมขวาสุด ขอบคุณเพจ เชียงใหม่ที่คุณไม่เคยเห็น
โคลงชมวัด
โฆษณา