13 ส.ค. 2020 เวลา 12:20 • ประวัติศาสตร์
ทายาทเชื้อสายของ”ฟอลคอน และ ท้าวทองกีบม้า” ที่พงศาวดารไม่ได้บันทึกไว้
ท้าวทองกีบม้า หรือ มารี กีมาร์ สุภาพสตรีภรรยาของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ ว่ากันว่านางได้ประดิษฐ์ขนมไทยที่ได้รับอิทธิพลจากอาหารโปรตุเกส จนมีชื่อเสียงจากการปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าห้องเครื่องต้นวิเสทในราชสำนัก ตำแหน่ง "ท้าวทองกีบม้า"
ทางด้านของพระยาวิไชเยนทร์ หรือ คอนสแตนติน ตามประวัติที่สามารถหาอ่านได้ทั่วไป คอนสแตนติน ฟอลคอนนั้นชาติกำเนิดเป็นชาวกรีก ผู้กลายมาเป็นสมุหนายกในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา แต่ท้ายสุดแล้วก็จบชีวิตด้วยการถูกประหารโดยสมเด็จพระเพทราชา
คอนสแตนติน ฟอลคอนและมารี กีมาร์ ได้แต่งงานและมีทายาทร่วมกัน แต่ไม่มีข้อมูลทางประวัติศาสตร์ว่าหลังจากที่ฟอลคอนถูกประหารชีวิตแล้ว ครอบครัวของเขามีการเป็นอยู่อย่างไร และทายาทของ คอนสแตนติน ฟอลคอน นั้นยังมีชีวิตหรือยังมีผู้สืบเชื้อสายอยู่หรือไม่
วันนี้ผมได้ลงพื้นที่ไปเดินเล่นแถบชุมชนย่าน ”กุฎีจีน” และได้เบาะแสน่าสนใจเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ที่ว่ากันว่ายังมีบุคคลที่สืบเชื้อสายของฟอลคอน และ ท้าวทองกีบม้า เคยตั้งรกรากบ้านเรือนอยู่ ณ บริเวณแห่งนี้
ลงพื้นที่ย่านกุฎีจีน
ข้อมูลนี้มาจากวารสารสยามสมาคม (Journal of the Siam Society) โดยเอ๊ดดี้ มัวร์ ( พ่อค้าอังกฤษคนแรกในกรุงรัตนโกสินทร์ ) ได้ให้ข้อมูลในประเด็นดังกล่าวไว้และถูกตีพิมพ์ในช่วงเดือนกันยายน พ.ศ.2458
หลักฐานชิ้นนี้เป็นชิ้นเดียวที่ได้กล่าวถึงทายาทผู้สืบเชื้อสายต่อจากคอนสแตนติน ฟอลคอนและมารี กีมาร์ ไว้อย่างค่อนข้างละเอียดและน่าสนใจ
คอนสแตนติน ฟอลคอน แต่งงานกับท้าวทองกีบม้า ทั้งคู่มีบุตรชายด้วยกัน 1 คน
แต่ภายหลังจากภายหลังคอนสแตนติน ฟอลคอน ได้เสียชีวิตลง
บุตรชายก็ได้เติบโตและรับราชการแผ่นดินในตำแหน่งทูต และถูกส่งไปยังเมืองท่าของฝรั่งเศส คือเมืองปอนดิเชอรี เป็นเมืองอยู่แถวชายฝั่งโคโรแมนเดลในประเทศอินเดีย
1
บุตรชายผู้นี้ได้แต่งงานกับสตรีเชื้อสายโปรตุเกสคนหนึ่ง และมีทายาทเป็นหญิงหลายคนและหนึ่งในนั้นเป็นผู้ชาย มีชื่อว่า "จอห์น"
ในรุ่นของ "จอห์น" ถือว่าเป็นรุ่นหลานของฟอลคอนและทองกีมาร์ อยู่ในช่วงระยะเวลาครั้งเสียกรุงครั้งที่ 2
1
ครั้งนั้นมีชาวโปรตุเกสในกรุงศรีอยุธยาประมาณ 4,000 คน ถูกฆ่าตายไปกว่า 3,500 คน ถูกจับเป็นเชลยไปกว่า 100 คน และเหลือรอดมาได้ประมาณ 400 คนเท่านั้น และผู้ที่เหลือรอดมาได้นี้ก็เข้าร่วมทัพกับพระยาตากตีฝ่าวงล้อมออกจากกรุงศรีอยุธยา
1
ภาพวาดเสียกรุงครั้งที่ 2
ในส่วนของจอห์น จอห์นนั้นถูกจับกุมในฐานะเชลยสงครามและถูกกวาดต้อนไปยังอังวะ แต่ทว่าอีก 2-3 ปีต่อมาจอห์นได้หลบหนีกลับมาได้อย่างปลอดภัย และมาตั้งบ้านเรือนอยู่แถวย่านวัดซางตาครูส หรือ กุฎีจีน ซึ่งเป็นชุมชนเชื้อสายโปรตุเกสฝั่งย่าของจอห์น(มารี กีมาร์)นั่นเอง
ในบันทึกยังได้บอกอีกว่ายังมีหลานสาวอีกคนหนึ่งที่ถูกกวาดต้อนไปยังเมืองมะริดและได้พบรักกับ ฌอง ชี ชายผู้มีตำแหน่งยศร้อยเอกชาวโปรตุเกส รับราชการที่พม่า
ฌอง ชี เป็นชาวคาทอลิกที่อพยพมาจากมาเก๊า และได้แต่งงานกับหลานสาวของฟอลคอน ที่มะริดใน พ.ศ. 2311 ทั้งสองมีทายาทร่วมกันเป็นบุตรสาวชื่อ “ฟิลิปปา” ( ฟิลิปปามีชีวิตอยู่จนถึง พ.ศ. 2404)
3
ต่อมาฟิลิปปาได้แต่งงานกับ ตาเวียน ทั้งคู่ได้อพยพกลับมาสยามได้สำเร็จ และใช้ชีวิตอยู่ย่านกุฎีจีนเช่นเดียวกับจอห์น
1
ภาพของ แองเจลิน่า(ทรัพย์)ในหนังสือของบาทหลวงปาเลอกัวซ์
ในฝั่งของจอห์นบันทึกนั้นไม่ได้ระบุถึงทายาทในรุ่นหลัง แต่มีระบุไว้ในฝั่งสายของ“ฟิลิปปา” ซึ่งได้แต่งงานกับ ตาเวียน ทั้งคู่ให้กำเนิดทายาทในปี พ.ศ. 2348 ที่ชื่อว่า “แองเจลินา” หรือชื่อไทยว่า “ทรัพย์”
แองเจลินา (ทรัพย์) คือเชื้อสายของฟอลคอน และ ท้าวทองกีบม้า ต่อมาได้แต่งงานกับพ่อค้าจากอังกฤษชื่อ โรเบิร์ต ฮันเตอร์ หรือนายหันแตร เป็นชาวยุโรปคนแรกที่เข้ามาตั้งร้านค้าในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2368
ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงอาวุธวิเศษประเทศพานิช ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อได้ทูลเกล้าฯ ถวายปืนคาบศิลา จำนวน 1,000 กระบอก ขณะที่สยามมีกรณีพิพาทกับเจ้าอนุวงศ์ แห่งเมืองเวียงจันทน์
“ห้างมอร์แกนและฮันเตอร์” โดยเช่าตึกของ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ที่หน้าวัดประยุรวงศาวาส
นอกจากนี้แล้ว นายฮันเตอร์ยังจัดตั้งห้าง และยังได้เป็นบุคคลที่นำตัวอินจัน แฝดชาวสยามเดินทางไปแสดงตัวที่สหรัฐอเมริกา จนทำให้ผู้คนได้รู้จักกับแฝดสยามเป็นครั้งแรก และทั้งคู่ก็ได้กลายมามีชื่อเสียงโด่งดังในเวลาต่อมา
แต่ทว่าในการประกอบกิจการของนายฮันเตอร์หลายอย่างมีพฤติกรรมที่ไม่ชอบมาพากล ว่ากันว่ามีการปกปิดความลับบางอย่างและลักลอบค้าฝิ่น บ้างก็ว่านายฮันเตอร์คือสายลับจากอังกฤษ จนถูกสยามเนรเทศไปในที่สุด
นายฮันเตอร์ มีทายาทร่วมกันกับ แองเจลินา (ทรัพย์) ที่ชื่อว่า โรเบิร์ต ฮันเตอร์ จูเนียร์ (Robert Hunter, Jr.) หรือ โรเบิร์ต ฮันเตอร์ที่ 2 หลังจากบิดาถูกเนรเทศ บุตรชายมีความสัมพันธ์ที่ดีกับราชสำนักสยามมากกว่าบิดา จึงได้เข้ารับราชการในสยามจนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงสุรสาคร” รับผิดชอบหน่วยงานด้านกรมท่า
เมื่อครั้งเซอร์ จอห์น บาวริ่งนำเรือแรตเลอร์ เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงสยามในสมัยรัชกาลที่ 4 โรเบิร์ต ฮันเตอร์ที่ 2 ได้ขึ้นไปบนเรือนี้ด้วย และทำหน้าที่เป็นตัวแทนคอยต้อนรับดูแลคณะของเซอร์ จอห์น บาวริ่ง
1
เซอร์ จอห์น บาวริ่ง
ต่อมาโรเบิร์ต ฮันเตอร์ที่ 2 จดทะเบียนเป็นคนบังคับในสัญชาติอังกฤษเมื่อ 20 มิถุนายน พ.ศ.2399 และถึงแก่กรรมโดยกระทันหันด้วยวัยเพียง 38 ปี เมื่อ 19 เมษายน พ.ศ.2408 ที่บ้านย่านกุฎีจีนใกล้บ้านมารดาของเขา
1
โรเบิร์ต ฮันเตอร์ที่ 2 มีทายาททั้งหมด 3 คน คือ โรเบิร์ต ฮันเตอร์ที่ 3 และจอห์น แต่ทั้งคู่ไม่มีทายาท ส่วนอีกคนหนึ่งคือน้องสาวต่างมารดา ที่ชื่อว่า “โนรี”
1
"โนรี" ได้แต่งงานกับ เบนจามิน บิง และมีลูกหลานสืบต่อกันมา โดยเบนจามิน บิงนั้นคือพี่น้องกับหลวงอัคนีนฤมิตร (จิตร จิตราคนี) หรือ ฟรานซิส จิตร ช่างภาพสยามเชื้อสายโปรตุเกส ผู้โด่งดังในวงการภาพถ่ายแรกเริ่มของสยาม
ฟรานซิส จิตร หรือ หลวงอัคนีนฤมิตร (จิตร จิตราคนี)
สรุปได้ว่า "โนรี" เชื้อสายของฟอลคอน และ ท้าวทองกีบม้า เมื่อแต่งงานกับเบนจามิน บิง สายตระกูลจิตราคนี ลูกหลานที่สืบต่อจากเบนจามินสายนี้ ย่อมมีเชื้อสายของฟอลคอน และ ท้าวทองกีบม้า
1
อย่างไรก็ดีการวิเคราะห์อาจจะมีข้อผิดพลาด หรือมีการคลาดเคลื่อนได้ในบางส่วน หากมีข้อมูลมาเพิ่มเติมในภายหลัง
กองทหารชาวโปรตุเกสและทัพพญาตาก ร่วมกู้เอกราช
สุดท้ายนี้ประวัติศาสตร์สยามและโปรตุเกส ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นที่มีมาอย่างเนิ่นนาน รวมทั้งเชื้อสายของฟอลคอนและท้าวทองกีบม้า ทั้งหมดต่างทำคุณประโยชน์แก่ชาติบ้านเมือง เรื่องราวของสายเลือดท้าวทองกีบม้าต้นตำรับขนมไทย และ ฟอลคอน ขอจบลงเพียงเท่านี้ครับ
🙏ขออภัยหากมีการผิดพลาด🙏
❤️กดไลค์ กดแชร์ ติดตามเป็นกำลังใจ❤️
🙏ขอบพระคุณครับ🙏
1
อ้างอิง:
- หนังสือจดหมายเหตุ The Bangkok Recorder เล่ม 1 เดือน 6 ขึ้น 7 ค่ำ จุลศักราช 1227. ใบ 5. หน้า 22
- วารสารสยามสมาคม (Journal of the Siam Society) โดยเอ๊ดดี้ มัวร์ ( พ่อค้าอังกฤษคนแรกในกรุงรัตนโกสินทร์ ) กันยายน พ.ศ.2458
- พิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน
ขอบคุณรูปภาพจากละคร”บุพเพสันนิวาส”
โฆษณา