14 ส.ค. 2020 เวลา 02:55 • หุ้น & เศรษฐกิจ
คำสั่งทรัมป์ แบนแอพจีน ส่อแววสะเทือนวงการเทคโนโลยีโลก
ประธานาธิบดี โดนัลด์ทรัมป์แห่งสหรัฐฯ ประกาศก้องเมื่อสัปดาห์ที่แล้วหาก TikTok แอพลิเคชั่น โซเชียลมีเดียชื่อดังสัญชาติจีน ยังหาผู้ที่จะมาซื้อบริษัทไม่ได้ภายในเดือนหน้า ก็จะแบนแอพลิเคชั่นดังกล่าวในสหรัฐฯ การประกาศดังกล่าวมีความเป็นไปได้ที่จะทำให้โครงข่าย โซเชียล เน็ตเวิร์ค ที่กำลังเป็นที่นิยมในขณะนี้ รวมถึงมาร์เก็ตเพลส โซเชียล มีเดีย ในวงกว้าง ได้รับผลกระทบ
ยังไม่หมดแค่นี้ เมื่อมีคำสั่งในการแบนแอพลิเคชั่นสัญชาติจีนอีกหนึ่งแอพในวันเดียวกัน ยิ่งสร้างแรงสั่นสะเทือนไปยังธุรกิจอื่นๆในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของโลกด้วย
ประธานาธิบดี ทรัมป์ ได้สั่งให้มีการแบน WeChat ในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นแอพลิเคชั่นส่งข้อความซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมาก หาก WeChat ไม่สามารถหาผู้ที่จะมาซื้อบริษัทได้ภายใน 45 วัน ทั้งนี้การจู่โจมของรัฐบาลสหรัฐฯดังกล่าวได้สร้างความสั่นคลอนให้กับบริษัทแม่ของ WeChat นั่นก็คือ Tencent กดดันราคาหุ้นให้ลดลง โดยบริษัทสัญชาติจีนแห่งนี้ เป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง มีอาณาจักรกว้างไกลในด้านเทคโนโลยี และในโลกของสตารท์อัพ ซึ่งก็รวมถึงในสหรัฐฯด้วย
ในฐานะที่เป็นบริษัทที่มีสัดส่วนรายได้ในด้านธุรกิจเกมส์ที่ใหญ่ที่สุด มีการคาดการณ์ว่า Tencent เป็นผู้สนับสนุนหลักให้กับบรรดาบริษัทเกมส์และความบันเทิงที่เป็นที่รู้จักในสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็น Epic Games และ Universal Music Group แต่ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา Tencent ยังได้เทเงินเป็นพันๆล้านดอลลาร์ใน Snap และ Tesla ด้วย นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนอื่นๆอีก ซึ่งรวมถึง Reddit, Lyft, และ Zoox ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้ทาง Amazon ได้ประกาศว่ามีแผนจะเข้าซื้อ
2
Tencent ยังได้รับการขนานนามว่าเป็น “ซอฟท์แบงก์แห่งจีน” (SoftBank of China) ซึ่งเป็นการกล่าวถึงบริษัทร่วมทุนสัญชาติญี่ปุ่นที่เกิดจากผู้ที่อยู่เบื้องหลังอุตสาหกรรมเทคโนโลยีด้วยการลงทุนมหาศาล แต่สิ่งหนึ่งที่ Tencent เหนือชั้นกว่า Softbank คือ Tencent มาเป็นอันดับสองในการเป็นบริษัทลงทุนในบริษัทเอกชนต่างๆด้วยมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รองจาก" Sequoia Capital โดย SoftBank มาเป็นอันดับที่สาม
จากข้อมูลของ PitchBook บริษัททำข้อมูลวิจัยทั้งบริษัทเอกชนและบริษัทจดทะเบียนในตลาดทุน พบว่า Tencent ได้ลงทุนทั่วโลกไปแล้ว 53 การลงทุนในปี 2563 เมื่อเปรียบเทียบกับ Softbank ซึ่งดำเนินการไป 37 การลงทุน แต่ SoftBank เน้นการลงทุนในตลาดสหรัฐฯ ส่วนดีลการลงทุนของ Tencent มีเพียงแค่ 3 ดีลเท่านั้นที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ส่วน Softbank มี16 ดีลที่เกิดในสหรัฐฯในปีนี้
นักวิชาการรายหนึ่งกล่าวว่า ด้วยการที่มุ่งเป้าไปที่สินทรัพย์ของ Tencent รัฐบาลทรัมป์อาจจะกำลังสร้างความเสียหายรุนแรงให้แก่การขยายตัวไปทั่วโลกของบริษัท ยิ่งไปกว่านั้น การเคลื่อนไหวดังกล่าวของรัฐบาลทรัมป์ อาจกดดันให้ Tencent และธุรกิจต่างๆที่คล้ายคลึงกันไม่อยากที่จะลงทุนหรือเป็นพันธมิตรกับบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯก็เป็นได้
อดีตผู้เจรจาทางการค้าของสหรัฐฯ ได้กล่าวว่า ระดับความไม่มั่นใจของนักลงทุนและบริษัทต่างๆในสหรัฐฯตอนนี้ สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ จากการเติบโตที่ชะลอตัวลงเพราะโรคระบาด จึงไม่ใช่เวลาที่จะมาเพิ่มความไม่มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเข้าไปอีก
Tencent และนักลงทุนสัญชาติจีนอื่นๆที่ยังมีการลงทุน ได้เริ่มลดสัดส่วนการลงทุนในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาท่ามกลางความสัมพันธ์อันตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯและจีน รายงานต่างๆได้ชี้ว่าการชะลอตัวลงของการลงทุนเริ่มในปี 2560 เมื่อคณะกรรมการด้านการลงทุนต่างประเทศในสหรัฐ หรือ Committee on Foreign Investment in the US (CFIUS) ได้เพิ่มการตรวจสอบอย่างละเอียดในข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ด้านเทคโนโลยี ซึ่งรวมถึงนักลงทุนสัญชาติจีน
มาตรการขั้นรุนแรงต่อ WeChat นั้นทำให้เกิดคำถามว่าทางรัฐบาลสหรัฐฯจะมุ่งความสนใจไปยังบริษัทต่างๆที่มีความเกี่ยวข้องกับ Tencent หรือไม่ ไม่ว่าจะผ่านพันธมิตรทางธุรกิจ หรือการลงทุน
เมื่อวันพุธ (12 ส.ค.) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงินของ Tencent เปิดเผยว่า จากที่ได้มีการอ่านข้อมูลเบื้องต้นและจากการรายงานของสื่อ คำสั่งของประธานาธิบดี ทรัมป์ มุ่งเป้าไปที่ WeChat ในสหรัฐฯ ไม่ใช่ธุรกิจอื่นๆในสหรัฐฯ และตอนนี้บริษัทกำลังหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อความกระจ่างต่อไป
ไม่ว่ารัฐบาลทรัมป์จะมุ่งเป้าไปที่ WeChat หรือ ธุรกิจอื่นๆของ Tencent ในวงกว้าง การเคลื่อนไหวดังกล่าวอาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านพื้นฐานของมาร์เก็ตเพลสดิจิทัลได้ โดยนักวิชาการจาก มหาวิทยาลัยแบรนดีส์ (Brandeis University) กล่าวว่า ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าการจู่โจมบริษัทสัญชาติจีนจะมีอะไรเด่นชัด นอกจากการที่บริษัทเหล่านั้นกำลังรุกตลาดนานาชาติ แต่เรากำลังพยายามบอกโลกให้รับรู้ว่า ตลาดอินเทอร์เน็ตนี้ อาจจะไม่ใช่ตลาดนานาชาติก็เป็นได้ โดยนักวิชาการท่านนี้ได้เปรียบเทียบ เหมือนที่รัฐบาลทรัมป์ได้กล่าวถึงการควบคุมที่เข้มงวดของจีนต่ออินเทอร์เน็ตในประเทศ ว่าเป็น Great Firewall (มาจากกำแพงเมืองจีน) แต่ครั้งนี้อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของ US Firewallอันยิ่งใหญ่ก็เป็นได้
ข้อความแจ้งเตือนแก่ผู้ใช้ TikTok ในอินเดีย ว่าแอพนี้ "ปฏิบัติตามคำสั่งรัฐบาลอินเดีย"
แค่การแบน TikTok ในอินเดีย ทำให้บรรดาผู้ที่ใช้ออกมาแสดงความเห็นมากมาย บางรายรู้สึกเสียใจอย่างมาก ผู้ติดตามหายหมดในชั่วพริบตา ยังไม่นับสิ่งที่โพสต์ผ่านแอพ ทั้งความทรงจำต่างๆ อีกทั้งยังมีการจ้างงาน อย่างในอินเดีย TikTok มีพนักงานราวๆ 2,000 คน หากเกิดการแบนในสหรัฐฯอีก จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างขนาดไหน ทั้งผู้ใช้ ลูกจ้าง ธุรกิจอื่นๆที่ดำเนินการโดยใช้แอพลิเคชั่นดังกล่าวเป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวก็จะเกิดขึ้นกับWeChat เช่นเดียวกัน หากมีการแบนเกิดขึ้น
45 วัน จากวันที่ประกาศ ยังคงต้องรอติดตามต่อไป
ติดตามผ่าน youtube ที่ https://youtu.be/cqs26KnMvg8

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา