30 ก.ย. 2020 เวลา 23:16 • ท่องเที่ยว
ช๗๔_ เจดีย์กู่กุด วัดจามเทวี
เสก็ตช์จากรูปถ่ายเก่าที่พิพิธภัณฑ์ลำพูน
.....ผมมาลำพูนเป็นครั้งที่สองในรอบปี(๒๕๕๙)
และกระทั่งในต้นปี๒๕๖๐ อีกสองครั้งเป็นสี่ครั้งในระยะห่างติดๆกันไม่นาน มีเพื่อนจองโรงแรมให้โรงแรมใหม่ตั้งอยู่ตรงข้ามวัดจามเทวีในสองครั้ง
แรก วัดที่(น่าจะ)เรียกว่าเก่าแก่ที่สุดที่ยังมีร่องรอยของสภาพเจดีย์อยู่อย่างชัดเจนแห่งหนึ่งในประเทศไทย และที่นี่เป็นต้นทางของเรื่องราวต่างๆของแม่เจ้าจามเทวี ต้นราชวงศ์หริภุญไชย ด้วยอาจจะกล่าวได้ว่าที่นี่คือสถาปัตยกรรมที่เก่าแก่ที่สุดในภาคเหนือหรือจะเรียกว่าในลานนา ส่วนตัวผมไม่ชอบคำว่าล้านนาแต่เหมือนถูกบังคับให้จำต้องเขียนยังไงไม่ทราบ แม้อาณาจักรหรือแว่นแคว้นต่างๆในพื้นที่ใกล้เคียงนี้จะมีก่อนหริภุญไชย
อยู่บ้าง แต่การมาตั้งอาณาจักรอยู่ที่นี่ด้วยอารยธรรมของลพบุรีหรือลวปุระซึ่งมีความเจริญและก้าวหน้าในยุคนั้น
.....เรื่องการที่แม่เจ้าจามเทวีมาจากสายลวปุระนั้นดูจะเป็นเรื่องที่เป็นหลักของวิชาประวัติศาสตร์อยู่ แม้จะมีทฤษฏีของทวารวดีที่พวกดราวิเดียนอพยพมาจากอินเดียก็ยังเป็นแค่ทฤษฏี หรือทฤษฏีของคนในพื้นที่ว่าแม่จามเทวีนั้นเกิดในพื้นที่แถบนี้เองตามมุขะปาฐะในพื้นที่ เราอาจไม่รู้รายละเอียดต่างๆชัดเจนจากต้นทาง เพราะช่วงเวลานั้นเก่าแก่มาก มากกว่าที่จารึกต่างๆอันเก่าแก่ที่อยู่ในพื้นที่และกระทั่งงานสถาปัตยนั้นก็ดูว่าน่าจะมีการ
สร้างในรุ่นหลังมาแล้ว งานศิลปกรรมมากหลายในพื้นที่ก็ดูจะมีลักษณะเป็น ทวารวดี ลพบุรีกระทั่งมอญปะปนอยู่ตลอดทั้งความสัมพันธ์ต่อเนื่องของประวัติศาสตร์ชุมชนอันกอดเกี่ยวของลวปุระ ทวารวดี หริภุญไชยและกระทั่งมอญ ในช่วงเวลาประมาณพศว.11-15หรือ บวกลบ ด้วยในสายนักประวัติศาสตร์ยังมีความต่างกันด้านการตีความอยู่บ้าง บนความสัมพันธ์ไม่สามารถมองเพียงสามรัฐสามอาณาจักรใหญ่ได้ อาจจะต้องมองกลับไปให้กว้างกว่านั้นถึงอนุทวีปกันทีเดียว โดยเฉพาะเจ้าของพื้นที่เดิมอย่างพวกลัวะ(และน่าจะมีอีกหลายชาติพันธุ์) หลักฐานอ้างอิงในอดีตก่อนหรือก่อนยุคที่ตั้งจุลศักราชกัน (พศ.๑๑๘๑) ก็เป็นรูปตำนานนิทานเรื่องเล่าชนิดมุกขปาฐะกันการตีความต่างๆในอนาคต ต้องตีความมากกว่าเรื่องราวหลักฐานทางโบราณคดี
.......ผมไม่ได้อยู่ในภาพของนักวิชาการด้านนี้แต่ก็อาศัยเสพย์ข้อมูลที่พวกเขาโต้แย้งกันแต่ก็ไม่ พึงใจที่จะไปลอกบทความของใครคนใดคนหนึ่ง
.......ภาษาของทางล้านนามีการเชื่อมสัมพันธ์ต่อเนื่องกับทางมอญหรือเม็ง เวลาพันกว่าปีที่วัตถุและศิลปสถาปัตยกรรมต่างๆพังทลายแต่เราก็ได้หลักฐานที่เป็นตัวศิลปะที่อยู่บนตัวอาคารและตัวประติมากรรมรอบพื้นที่ยังมีจารึกเพียงแต่ถูกตีความว่าเป็นสมัยหลังจากที่สร้าง นักภาษายังพูดว่าภาษายังมีการต่อเนื่องอ้างอิงกลับไปหาต้นทางที่มาที่ไปได้ แล้วเราก็ลองย้อนเข้าไปในความไม่รู้ ดูว่าจะเห็นแผ่นดินที่ปลายขอบฟ้านั้นได้บ้างหรือไม่
.....หริภุญไชยสร้างราชวงศ์อันยิ่งใหญ่สืบมาหกร้อยกว่าปีจนมาสิ้นสุดเมื่อพญามังรายมาโจมตีและเช่นเดียวกับสุโขทัย ที่แม้อาณาจักรล่มสลายแล้วแต่สุโขทัยก็แทรกซึมเข้าไปในล้านนาและอยุธยา ทั้งผู้คนและอารยธรรม เช่นเดียวกันหริภุญไชยนั้นแทรกซึมอารยธรรมเข้าไปในเชียงใหม่ตรง หริภุญไชยที่พวกเรามองเห็นในร่องรอยก็ไม่ใช่หริภุญไชยในสมัยพระนางจามเทวี ส่วนใหญ่หลักฐานที่ปรากฎเป็นงานสถาปัตยกรรม ปะปนผสมไปกับงานของเชียงใหม่ บ้านเมืองที่ผ่านยุคสมัยมาเป็นพันปี ผ่านการปกครองของราชวงศ์หริภุญไชยเอง ราชวงศ์มังราย ราชวงศ์เชียงใหม่ราชวงศ์พม่าเชียงใหม่ ราชวงศ์กาวิโลรสจนกลายมาเป็นการปกครองจากกรุงเทพฯ สิ่งที่น่าสนใจนั้นคือความเข้มแข็งอารยธรรมหริภุญไชยแม้กระทั่งถูกผู้ปกครองกลุ่มใหม่ๆเข้าครอบงำ การสืบสายของอารยธรรมหริภุญไชยก็ยังดำรงต่อเนื่อง
.....กระทั่งราชวงศ์มังรายความเป็นเชียงใหม่ ความเป็นลานนาหรือล้านนา ล้วนมีหริภุญไชยเป็นอารยธรรมแม่ประกอบ ภาพที่ปรากฎจนทุกวันก็เป็นภาพที่มีชีวิตของหริภุญไชยเอง แม้แต่ผู้คนก็หมุนเวียนเปลี่ยนกลับไปมาหลายกลุ่มหลายชาติพันธ์ุวันนี้หริภุญไชยนั้นก็ยังอยู่ คนเมืองลำพูนก็ยังมีชีวิตในความเป็นปัจจุบันบนความหลากหลายของชาติพันธุ์ ชีวิตของผู้คนในประวัติศาสตร์เป็นเช่นนั้น ลัวะ มอญ หริภุญไชยเชียงใหม่ ยอง ลื้อฯ ก็อาจจะอยู่ในตัวคนรุ่น สืบทอดเพียงคนเดียว ในรอบร้อยปีที่ผ่านมาเรื่องพวกนี้อาจจะรวดเร็วมากกว่าในอดีตเสียอีก อันเกิดจากการคมนาคมที่รวดเร็วสะดวกสบาย มีการเคลื่อนไหวเคลื่อนที่ของผู้คนเพื่อเปลี่ยนแปลงถิ่นที่อยู่ที่ทำงานทำมาหากินทำได้รวดเร็วขึ้นจนความเป็นกลุ่มเริ่มกระจัดกระจาย วัตถุหรือจิตวิญญาณจากอดีตนั้นถูกหล่อหลอมรวมกันหลากหลายยุคหลายสมัยเช่นเดียวกับผู้คน อันเป็นที่ผ่านจากกาลเวลาพันกว่าปีหรือมากกว่านั้น
วันก่อนไปค้นรูปเก่าเจอรูปนี้อยู่ในกล่องเก็บของเป็นรูปจากกล้องฟิลม์น่าจะถ่ายไว้ในรุ่นประมาณปี พศ.๒๕๓๔-๕ ร่วมสามสิบปีมาแล้ว
เขียนในสถานที่ 2558
เขียนในสถานที่ 2557
เขียนในสถานที่
โคลง๕
๑๏ กราบแม่เจ้า จามเทวี
กู่กุฏิชี้ อดีตฟ้า
ยังแต่วิถี หริภุญไชย
สืบแต่โพ้น งามเอ่ ฯ
แม่จามเทวีที่วัดม่อนจำศีลลำปางเครดิตรูปจากคุณแพรว
๒๏ ก่อนไกลครื้น ข้ามแดน
เคลื่อนชนแสน เยี่ยมย้าย
ปักรากแกน แกว่นกล้า
ลวปุระเยื้อน สัตรีนำ ฯ
๓๏ หริเวียงหั้น คือนารายณ์
หรือหริคือ ผลสมอ..พุทธฉัน
คำอาจกลาย แตกนัย
ตีความฟ้า หริภุญไชย ฯ
แม่จามเทวีที่วัดพญาวัดน่าน
๔๏ อาณาจักรแก้ว สว่างแสง
จามเทวีแจง จุดกล้า
ปักรากหยั่ง ต้นทาง
พันปียังท้า งอกเงย ฯ
๕๏ สี่ สิบเก้า อธิบดี
สืบวงศ์วาน ต่อคล้อย
รุ่มรวยเอก อารยะ
หกร้อยปี เบ่งบาน ฯ
๖๏ ร่องรอยเนิ่น ลวปุระ
ดูรูปพุทธะ พุกามลี้
สถูปเร้น อาจดู
จารึกย้อน แผ่นดินไหว ฯ
๗๏ผญา สรรพสิทธิเอิ้น ปูรณะ
...............อาจพลิกจะ แปรแก้ว
...............มุมเราปะ ต่างดู
...............ตีความแล้ว อาจเบือน ฯ
๘๏ด้วย..สถาปัตยกรรมเร้น งอกเงย
.............สามองค์*เคย กล่าวอ้าง
..............ผ่านกาลปราศ สืบเนื่อง
..............ได้แต่คว้า เงาเทวี ฯ
วัดเจดีย์เหลี่ยม ที่เวียงกุมกาม
วัดพญาวัด น่าน
ปทุมวดีเจดีย์ ในวัดพระธาตุหริภุญชัย
*สามองค์หมายถึงองค์เจดีย์ที่มีลักษณะคล้ายกัน คือปทุมเจดีย์ที่ ธาตุหลวงลำพูน เจดีย์เหลี่ยมที่เวียงกุมกามเชียงใหม่และ พญาวัดที่เมืองน่าน น่าสังเกตุว่าแต่ละองค์ต่างมีอ้างอิงและเรื่องราวของสตรีคือนางกษัตริย์ในช่วงเวลาและพื้นที่ที่สร้าง เหมือนเป็นสัญลักษณ์ของเจดีย์สตรี
๙๏.เจดีย์เทียมหั้น หยัดฟ้า
เหยียดยันกล่าว พุทธครั้ง
หริภุญไชยรั้ง เสกสรวง
ปักรากคว้า ศาสน์นำ ๚ะ
แม่จามเทวีที่วัดปงสนุก ลำปาง
เมื่อดูจากหลักภาษาคำว่า "จามเทวี"* เทวีคงไม่ต้องพูดถึงประเด็นคำว่า จาม มีสองนัยคืออาณาจักรในยุคเดียวกันกับหริภุญไชย มีรัฐโบราณชื่อ "จัมปาหรือจามปา" พื้นที่ครอบคลุมประมาณเวียตนามเหนือแถวดานังซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็นที่มาของชื่อพระนางจามเทวี และอีกนัยหนึ่งคือภาษามอญโบราณ ซึ่งภาษามอญนั้นเป็นต้นรากส่วนหนึ่งของภาษาล้านนา มีคำว่า"จยาม" แปลได้ความว่ามังกรหรือจรเข้ เส้นทางที่จะมาถึงหริภุญไชยจากลวปุระจะต้องมาทางแม่น้ำ เป็นได้ทั้งความเป็นมังกรหรือมังกรที่เป็นสัญลักษณ์ของกษัตริย์ และอีกอย่างคือภาษาล้านนาเองก็มีคำว่า "จ๋าม" แปลว่ารบพุ่ง ซึ่งอาจเป็นประเด็นในการตั้งอาณาจักรที่อาจมีการรบพุ่งกับคนในพื้นที่เดิม
*ข้อมูลจากคุณเพ็ญสุภา สุขคตะ แต่ผู้เขียนใช้จดจำเนื้อหา ไม่ได้คัดลอกแปะตามต้นทาง
.....ความเก่าแก่ของยุคสมัยตั้งแต่ต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๓ หรือประมาณจุลศักราชที่สองร้อยกว่าถึงสามร้อยปี ตัวเลขเวลาหลังจุลศักราชประมาณสองร้อยสามร้อยปีนั้น เป็นที่เกิดของอะไรหลายอย่างในภูมิภาคนี้และการเกิดขึ้นของหริภุญไชยก็เป็นองค์ประกอบหนึ่ง ที่ต้องอ้างอิงจุลศักราชเพราะเคยศึกษาโหราศาสตร์พม่าก่อนจะเอาตัวเลขต่างๆมาคำนวนจะต้องแปลงพุทธศักราชเป็นจุลศักราชก่อน โดยใช้ตัวเลข๑๑๘๑ ลบพุทธศักราช ที่กล่าวถึงเรื่องนี้จริงๆไม่ได้มาคุยเรื่องโหราศาสตร์พม่า แต่ที่สำคัญตือคัมภีร์ต่างๆในพม่า ลาวล้านนา ลาวล้านช้างล้วนใช้วิธีอ้างอิงแบบจุลศักราชทั้งสิ้น ถ้าจำตัวเลข๑๑๘๑ไว้บ้างเวลาไปเจออะไรก็พอนั่งเดายุคสมัยได้
.....เมื่อกลับไปเรื่องยุคสมัยของการตั้งเมืองหริภุญไชย ความเก่าแก่ก็เช่นเดียวกับเมืองโบราณร่วมสมัยที่งานสถาปัตยกรรมคงเสียหายไปแทบทั้งหมด แต่ประติมากรรมและหลักฐานบนชั้นดินยังอยู่หรือแม้แต่เจดีย์องค์นี้ก็สร้างปรับปรุงเพิ่มเติมในยุคหลังมาแล้ว ในราชวงศ์หริภุญไชย
เจดีย์เมืองโปโลนนารุวะ ลังกา ขอบคุณภาพจากธาราอารยะแทรเวล
......รูปทรงเจดีย์องค์นี้คล้ายกับเจดีย์องค์หนึ่งในลังกา(เจดีย์เมืองโปโลนนารุวะ ) แต่ผู้รู้กลับว่าเจดีย์ที่ลังกานั้นไม่เก่าเท่ากับเจดีย์จามเทวีองค์นี้แล้วลังกาที่เป็นเมล็ดพันธุ์ของเถราวาทจะมาเลียนหริภุญไชยหรือ แต่ก็ไม่แน่เสมอไปปล่อยให้นักวิชาการแกตีความและถกกันต่อไป นี่ยังมิต้องไปพูดถึงปิรามิดขั้นบันไดในเม็กซิโกกันเดี๋ยวจะเข้ารกเข้าพงไป จริงจริงแล้วรูปทรงแม่ที่เป็นลักษณะฐานสี่เหลี่ยมจตุรัสลดชั้นเรียวสูงขึ้นไปก็เป็นรูปทรงพื้นฐานที่เราเห็นศาสนสถานในอินเดียโดยเฉพาะอินเดียตอนใต้ ยังอาจมองไปได้ถึงรูปทรงของพุทธคยาที่น่าจะมีที่มาที่ไปประกอบต่อเนื่องกันได้
สถูปอินเดียใต้ ขอบคุณรูปจากอินเทอร์เน็ต
พุทธคยา ขอบคุณ ภาพจากอินเทอร์เน็ต
India Art & Architecture.
Image courtesy: veryvinita|Flickr
Posted by : Namrata Sehgal
Gopuram or Gopura, is a monumental tower, usually ornate, at the entrance of a temple, especially in Southern India.
...น่าแปลกที่หลังจากนั้นรูปทรงนี้ไม่มีการพัฒนาต่อยอดสำหรับศาสนสถานในบ้านเราเลย คงมีแต่ที่ยกมาข้างต้นอยู่สี่องค์เท่านั้น จะว่าไปแล้วเจดีย์ทรงลังกาหรือทรงสุโขทัยที่เข้ามาในยุคนิกายสวนดอกหรือยุคพระสุมนเถระ ก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่หยุดยุคการสร้างเจดีย์เหลี่ยมทรงนี้ แต่ในส่วนตัวผมยังรู้สึกไม่ชัดเจนพอส่วนหนึ่งที่มาพร้อมกับการเผยแพร่ศาสนา แต่ความหลากหลายของศาสนาและการเปิดกว้างของอาณาจักรล้านนา ก็ทำให้เราเห็นเจดีย์อีกหลายทรงหลายรูปแบบถูกพัฒนาต่อยอดขึ้นในล้านนา ปริศนาของบ้านเมืองในหริภุญชัยก็ยังมีหลายมุมมองยังมีหลายแง่มุมให้พวกเราสืบค้นกันต่อไป
“ แล้วจึงเชิญพระธาตุนั้นมาโดยปจฉิมทิศาภาคแห่งพระนคร... แล้วให้กระทำสถานที่หนึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิธาตุอันเป็นที่รมณียฐานแลให้กระทำเป็นเจดีย์มีพระพุทธรูปอยู่ในเบื้องบนหุ้มด้วยแผ่นทองคำ เพราะเหตุนั้นพระเจดีย์นั้นจึงได้มีนามว่าสุวรรณจังโกฏิเจดีย์”
จามเทวีวงศ์
วาดวัดโคลง
โคลงชมวัด

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา