29 ก.ย. 2020 เวลา 23:26 • ท่องเที่ยว
ช๗๓_วัดพระธาตุหริภุญไชย
แห่งอาณาจักรยิ่งใหญ่
◇ตามรอยโคลงครู นิราศหริภุญชัย◇ ตอน๑
.....ผมเริ่มหัดเขียนโคลงเมื่อกลางปี๒๕๕๓ นี่ก็ได้ สิบปีแล้ว โดยมีครูโคลงเป็นหนังสืออยู่สองเล่มคือ เตลงพ่ายของสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส และโคลงนิราศหริภุญไชย ซึ่งได้มาจากงานหนังสือแห่งชาติเมื่อปลายปี ๒๕๕๓ ไม่ปรากฏนามผู้แต่งแต่น่าจะเป็นชนชั้นสูงในเชียงใหม่ โดยเฉพาะใน โคลงนิราศหริภุญไชยนั้นมีโคลงที่กล่าวถึงวัดพระธาตุหริภุญไชยอยู่หลายบทจึงขอยกนำมาเป็นบทไหว้ครูดังนี้
หภ๑๐๔.๏ มหาชินธาตุเจ้า เจดีย์
เหมือนแท่งคำสิงคี คู่เพี้ยง
สัตว์คำคาดมณี ควรค่า เมืองแฮ
เปลวเปล่งดินฟ้าเสี้ยง สว่างท้าวอัมพรา ฯ
2
หภ๑๐๕.๏ เจดีย์ชินธาตุเจ้า ศรีสถาน
ขามโสพิศพงาปราณ เกศเกล้า
ทัศมนมิพอปาน พพคู่ คมเอย
ฤๅเลิศใต้ทิพเท้า เท่าเว้นอุบพาศรี ฯ
หภ๑๐๖.๏ มหาชินธาตุเจ้า จอมจักร
เป็นปิ่นทศลักษณ์ เลิศหล้า
เลงแลมิใครทัก เทียมแทก ใดเลย
เทาดิวางหว้ายฟ้า ฟากด้าวดาวดึงส์ ฯ
หภ๑๐๗.๏ระวังเวียงแวดขั้น สมสอง สว่างแฮ
ทุกแล่งเฉลิมฉัตรทอง เทพเอื้อน
พิหารสี่หลังยอง ยังเงื่อน งามเอย
เทียมลวังช่วนเชื้อน สี่ต้านถึงถลู ฯ
 
*หภxxx อ้างอิงไปยังโคลงหิริภุญไชยหมายเลข
.....เป็นไงบ้างครับเพราะจับใจเชียว แม้หลายคำจะดูเป็นภาษาโบราณที่เราไม่ค่อยเข้าใจบ้าง แต่เป็นคำไทยโบราณ (บางทีอ่านไปช้าช้าให้ยีนส์ของความเป็นคนไทยในตัวเราเขาแปลเขาเอง) คำไทยที่ไม่มีกลิ่นอายของบาลีสันสกฤตหรือเขมรเข้ามา เคยอ่านบทความของดร.ประเสริฐ ณ นคร ท่านกล่าวไว้ประมาณนี้ว่าคนไทยที่ใช้ภาษาถิ่นไทย เช่นคนอีสานคนใต้ คนล้านนา คนไทลื้อที่เชียงรุ่ง และสิบสองปันนานั้น สื่อสารต่อกันได้พอประมาณและกลุ่มคนพวกนี้อ่านจารึกพอขุนรามคำแหงได้พอรู้เรื่อง แต่มาอ่านหนังสือพิมพ์ในกรุงเทพแล้วงงตรงข้ามคนกรุงเทพฯเดี๋ยวนี้อ่านจารึกพ่อขุนรามแล้วบอกว่างง เดี๋ยวนี้คนภาคกลางไปไกลเกินกว่าที่คนไทยในภาษาพื้นถิ่นไทยเดิมจะเข้าใจ เราพัฒนาด้านภาษาไปมากด้วยกลิ่นอายของภาษาต่างประเทศ จนเราพูดกับพี่น้องเราที่เป็นคนไทยหรือสืบเชื้อสายร่วมกันมาด้วยกันไม่ค่อยจะเข้าใจแล้ว ก็ต้องกลับไปถามผู้เกี่ยวข้องว่าเราพัฒนามาถูกทางหรือไม่
.....ในส่วนการบรรยายถึงตัววัดและองค์เจดีย์ผมคงไม่อาจหาญมาแต่งต่อ เพราะครูท่านแต่งไว้งามแล้ว แต่ขอแต่งต่อเติมเรื่องประวัติศาสตร์ของวัดและของการตั้งเมืองหริภุญไชย ไว้สักเล็กน้อย
๑๏"จามเทวีวงศ์"กล่าวตั้ง แปงเมือง
ฤาษีวาสุเทพเรือง เสกเค้า
หริภุญไชยงามเฟื่อง ฟ่อดฟ้า
เชิญจามเทวีเจ้า เจื่องย้ายประถมวงศ์ ฯ
๒๏จากลวปูรีส่งรั้ง เป็นศรี
พุทธศกพันสองร้อยปี คลุมฟ้า
สืบสี่สิบเก้าบดี ข้ตติยะ
หกร้อยฉนำอมรท้า หริภุญไชยจ้าสง่าวงศ์ ฯ
1
๓๏แสงทองแห่งนครจ้า จับสวรรค์
เรืองรุ่งก่อนอัสดงอัน ตระการแก้ว
รอยเจดีย์สิงคีพลัน ท้าพลบ
กรุ่นหริภุญไชยแพร้ว ส่องสะท้อนสะทกอิน ฯ
......อาณาจักรสมัยโบราณที่ตั้งมาได้ประมาณหกร้อยปีมีกษัตริย์ถึงสี่สิบเก้าองค์นี่ไม่ธรรมดาแสดงว่าจะต้องแข็งแกร่งทั้งทางทหารผู้คนและอารยธรรม ลองเปรียบเทียบกับอยุธยาที่อยู่มาสี่ร้อยกว่าปีหรือแม้แต่กรุงเทพที่อยู่มาสองร้อยกว่าปีมานี่ แล้วลองมองย้อนไปในยุคนั้น ที่ลักษณะของชุมชนเป็นกลุ่มเล็กมีผู้คนไม่มากนัก แล้วก็รวมหลายๆเมืองกันเป็นอาณาจักร ซึ่งถ้าใครเจาะลึกเข้าไปจะเห็นว่า ศาสนาพุทธที่มากับชุมชนก่อนที่ตั้งอาณาจักรนี้แต่แรกจะเป็นมหายาน ซึ่งลำพังมหายานก็เหมาะสมในการปรับตัวที่จะเข้ามาเชื่อมโยงและผสานได้ เป็นอย่างดีกันคนพื้นเมือง
ที่นับถือผีกัน
ย่ำสระอี*
........๔๏หริภุญไชยเจดีย นำเนื่องวิถี
ตามศุภสารคัมภีร์สวัสดิ์แจง ฯ
........๏สำแดงเจตนาชี้ แปงเวียงสิงคี
โพ้นพันสองร้อยปีประมาณ ฯ
........๏จารจามเทวี วงศ์เอกคำภีร์
อันประดิษฐอิศราปุริน ฯ
........๏ยินหนึ่งมี วาสุเทพฤาษี
รวมแสนชนศรัทธาจำเริญ ฯ
........๏อังเชิญแม่ศรี จากลวปูรี
เทินขึ้นที่แท่นประถมวงศ์ ฯ
........๏ส่งสว่างขัตติยาณี จับแก้วโมฬี
 
เป็นเอกอาณาจักรสมัย ฯ
........๏จำเริญใสเรืองสี่ สิบเก้าบดี
สืบต่อวงศ์วานไอศูรย์ ฯ
........๏พูนสวัสดิศรี หกร้อยปี
จึงจำสุดสิ้นสมัย ฯ
........๏ข้ามไปมังรายบดี ต่อวงศ์นพบุรี
ก็เยินทูนส่งสูงค่าศาสน์ ฯ
........๏ผงาดสืบคดี พุทธศาสน์มณี
ผ่านยุคผ่านชนผ่านนาน ฯ
๏แสงสานเจดีย์ เช่นโคดมวิถี
จักผ่านฝ่าสังสาร กี่นาน ฯะ
 
 
*ไม่มีกลบทกลกลอนหรอกครับย่ำสระอี หมายถึงบังคับให้สัมผัสสระอีซ้ำๆกันทุกวรรค
......จริงแล้วนิราศหริภุญไชย ถือวัดพระธาตุหริภุญไชย เป็นจุดหมายปลายทางของนิราศ แต่ผมย้อนกลับมาเขียนเป็นต้นบทในยุคสมัยนั้นแม้พญาเม็งราย จะตืหริภุญไชยและสร้างศูนย์ของอาณาจักรใหม่ ที่ กุมกามและเชียงใหม่ผ่านมานานแล้ว ความที่พระธาตุหริภุญไชย เป็นเสาหลักของศรัทธาในศาสนาของเมืองในอดีต บรรดากษัตริย์เม็งรายวงศ์ต่อต่อมายังบำรุงรักษา และประชาชนยังนับถือเคารพบูชา มีการเดินทางไปเคารพกราบไหว้พระธาตุหริภุญไชยของผู้คนที่เชียงใหม่อยู่เสมอ สิ่งที่ผมอยากจะให้เห็นภาพคือความเจริญของเชียงใหม่ ว่ามีความต่อเนื่องกับหริภุญไชยและรับวัฒนธรรมศิลปะต่อเนื่องไปมาก (อาจจะต่อกับอีกหลายอาณาจักรโดยอาณาจักรของพันธมิตรเช่นสุโขทัยและเมืองราด) โดยที่หริภุญไชยตั้งมาได้ประมาณหกร้อยปีและคงจะมีทรัพยากรทางศิลปะวัฒนธรรมที่เข้มแข็งมากทีเดียว พระเจ้าแผ่นดินในช่วงที่เสียเมืองนั้นคือพระยายีบา หริภุญไชยเสียให้กับพญาเม็งรายผุ้สืบวงศ์มาจากพระยาลวจังกราช ที่ฝางและต่อมาจะเป็นผู้ตั้งเมืองเชียงใหม่
ตามรอยโคลงครู
โคลงชมวัด
เขียนวัด
ปรับปรุง ๒๕๕๕_๒๕๖๓
.....ก่อนที่จะมีใครทัก คำว่า"หริภุญชัย" มีใช้ ทั้ง 2 แบบ ชัยและไชย เวลาอ่านใน bd จะเป็นชัยในหนังสือก็เป็นชัย แต่ ก็มีที่ใช้ ในบางเอกสารเป็นไชย แม้จะเป็นส่วนน้อย แต่ผมก็ใส่จนชิน ให้มันขวางหูขวางตาท่านผู้อ่านเล่น วิธีคิดแบบพจนานุกรม ว่าจะต้องมีตัวหนึ่งถูกที่สุด ไม่ใช่วิธีคิดแบบงานวรรณคดี งานวรรณคดีผ่านยุคผ่านสมัย ตัวหนังสืออักษร มีเวลาถูกและพัฒนาการของมัน เช่นคำว่าอิน ที่แปลว่าพระอินทร์วรรณคดีล้านนาหรือค่าวทางอีศานสมัยก่อนใช้คำว่า"อิน" หรือแค่ยุคผู้นำไทยเป็นมหาอำนาจในไม่ถึงร้อยปี คำว่า "ปืนไหย่" ก็เพิ่งเลิกเขียนมาหลังสงครามมานี่เอง ภาษาไม่ใช่เรื่องถูกทั้งหมดหรือผิดทั้งหมด แต่มันมีการเคลื่อนที่เคลื่อนไหวของกาลเวลา ยิ่งภาษาในวรรณคดีเก่า จะเห็นความเป็นภาษาไทยที่เรียบง่ายและงดงาม
ทางแก้ว..โคลงชมวัด
โฆษณา