26 ก.ย. 2020 เวลา 23:16 • ท่องเที่ยว
ช๗๐_ จารึกเก่าที่สุดในล้านนา
วัดพระยืน ลำพูน
...๏ ลังกาโพ้นคืน......พระยืนสูงใหญ่
สืบคว้านานไกล.........ปักพุทธเด่นดวง ฯ
...๏ สุมนตุ๊เจ้า............เค้าหริ*เจื่องปวง
เถราวาทตวง..............ก่ำฟ้าพระยืน ฯ
โคลงชมวัด
+++++++++++++++++++++++++++++++++++
.....ทาง ตะวันออกของเมืองลำพูนมีวัดเก่าแก่อยู่วัดหนึ่งด้วยรูปทรงสันฐานขององค์เจดีย์หรือเรียกว่าสถูปทรงปราสาทจตุรมุขซึ่งดูจะไปทางพม่า ในซุ้มคูหาของมุขทั้งสี่มีพระยืนอยู่โดยรอบวัดนี้มีที่มาที่ไปแต่สมัยหริภุญไชยในครั้งสร้างบ้านเมืองด้วยมีตำนานว่าเป็นวัดชื่ออรัญญิการามหรือวัดป่านอกเมือง ตำนานยังมาอีกยุคหนึ่งของหริภุญไชยคือยุคพระเจ้าอาทิตยราชในลำดับวงศ์สืบต่อที่๓๒ หรือประมาณสี่ร้อยปีให้หลังจากต้นวงศ์ว่ามีการบูรณะปรับปรุงวัดนี้และใช้ชื่อวัดพุทธอาราม ยุคสมัยของหริภุญไชย ห่างไกลจากการค้นพบในการตีความชัดๆ แต่จริงจริงแล้วอยู่ที่วิธีตีความซึ่งยังกระจัดกระจาย วัตถุศิลปะและสถาปัตยกรรมต่างๆของยุคสมัยก็มีปรากฏที่ค้นพบเจอกระทั่งจารึกก็ยังมีแต่เป็นภาษามอญและเป้นมอญโบราณหรือมอญหริภุญไชย การสรุปการตีความยังเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และยังมีหลายส่วนหลายเรื่องที่เป็นตำนาน นักโบราณคดีหลายท่านยังปฎิเสธตำนาน แต่ความชัดเจนของการอ้างอิงประวัติศาสตร์(ด้วยจารึก)จะมาอยู่ในยุคของพญากือนา ซึ่งมาเป็นวงศ์มังรายที่ปกครองเชียงใหม่และลำพูนแล้ว โดยพญากือนาเป็นรัชกาลที่หกของวงศ์มังราย ห่างจากต้นวงศ์ที่ครอบหริภุญชัยได้หกสิบถึงแปดสิบปีและช่วงเวลาดังกล่าว ก็ถือเป็นความสำคัญของศาสนาพุทธที่เชียงใหม่ในการปักรากของเถราวาทลงบนเมืองเชียงใหม่หรืออาณาจักรล้านนาและถูกบันทึกไว้ในจารึกที่อ่านได้ (จริงก่อนในยุคหริภุญไชยตอนกลางก็มีหลักฐานเค้าบางอย่างโดยเฉพาะประติมากรรมว่าเป็นเถราวาทแล้ว) โดยสมณะทูตจากสุโขทัยคือท่านสุมนเถระ
ซึ่งโดยสายท่านสืบศาสนามาจากรามัญและมาที่สุโขทัย จากเถราวาทที่ท่านสุมนนำมาซึ่งบ้างก็เรียกว่านิกายรามัญหรือนิกายสวนดอก ก็กลายเป็นความเข้มแข็งของศาสนาในล้านนา แม้จะเกิดการเคลื่อนที่เคลื่อนไหวของศาสนาเองที่ทำให้เกิดนิกายย่อยต่อไปในชั้นหลัง
....เมื่อ กลับมาที่วัดพระยืนที่นี่เป็นที่จำพรรษาแรกของท่านสุมนเถระ ก่อนที่จะเข้าไปในเมืองเชียงใหม่ ตอนนั้นทูตของพญากือนาไปเข้าเฝ้ากับพระเจ้าไสยลือไทของสุโขทัย อาจะเป็นเรื่องที่ดีเพราะหลังจากนั้นไม่นานนักสุโขทัยก็เริ่มวุ่นวายกับอยุธยา และอ่อนกำลังลงไปเรื่อยๆ และสำหรับผู้ที่มักจะชอบสิ่งต่างๆที่ถูกจารึกหรือบันทึกเรื่องไว้มากกว่าเรื่องราวตำนาน ที่วัดพระยืนนี้เราพบจารึกที่เก่าแก่ที่สุดในล้านนา และเป็นจารึกในรุ่นที่ท่านสุมนเถระมาจำพรรษาอยู่ที่นี่ และสำหรับนักศึกษาจารึกระดับต้นที่หัดอ่านงานในจารึกภาษาสุโขทัยแบบต่างๆและสมัยต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจารึกหลักที่๑ของพ่อขุนรามคำแหงในพิพิธภัณฑ์สถานกรุงเทพฯที่เป็นเรื่องแตกต่างในการตีความกัน ที่นี่เป็นอีกที่หนึ่งที่ต้องศึกษาด้วยเป็นตัวแทนในยุคสุโขทัยเช่นเดียวกัน
**หมายเหตุในช่วงเวลาที่ต่างกันของสุโขทัยลักษณะอักษรก็มีที่ต่างกัน การเขียนตัวอักษรบางตัวก็ไม่เหมือนกัน
จากหนังสือเก่า คัดมาจากห้องประวัติศาสตร์
ศิลาจารึกที่พบในพื้นที่วัดพระยืน
.....วัดพระยืนในปัจจุบันสร้างในยุคหลังโดยเจ้าหลวง อินทยงยศเจ้าผู้ครองนครลำพูนแม้โดยรูปทรงของสถูปทรงปราสาทจตุรมุขแห่งนี้จะไปทางพม่า แต่โดยรูปผังรวมของสถูปกับวิหารก็อยู่ตรงแกนแนวเดียวกัน ด้วยมีทีท่าแบบสุโขทัย กระทั่งยังมีพระอุโบสถ์ที่กล่าวว่ามีการสร้างมาแต่พญากือนา ทีท่าของประวัติศาสตร์มีความซับซ้อนเช่นนี้ คนสมัยหลังจึงไม่อาจตีความจากทรวดทรงของงานสถาปัตยกรรมตรงได้ทั้งหมดว่าสิ่งที่เห็นนั้นเป็นต้นเค้าหรือไม่ อย่างไรก็ดีสิ่งที่เกิดขึ้นก็เป็นเรื่องราวที่สอนให้เราเห็นถึงความเกิดขึ้นและแปรเปลี่ยนมันไม่เพียงการเสื่อมสลายของวัตถุสถานหรือการปรุงเติมใหม่ แต่มันเป็นแนวความคิดสองขั้วที่ต่างจากปัจจุบันที่เราอนุรักษ์รูปแบบเดิมของโบราณสถาน เพราะต้นทางในสถาปัตยกรรมแบบหริภุญไชยนั้นเค้าของสถาปัตยกรรมอาจจะหายไปแล้ว แม้จารึกที่นี่เก่าแก่ที่สุดในล้านนาแต่ก็เก่าได้แต่ในรุ่นพระสุมนเถระในยุคพญากือนาเชียงใหม่แล้ว เสียดายผมเข้าไปที่นี่สองครั้งแต่ละครั้งก็ไม่ได้เข้าไปกราบพระในอุโบสถ คงเพียงเข้าไปดูองค์เจดีย์แบบพม่าหลังนี้และจารึก ด้วย ด้วยตอนนั้นกำลังหัดอ่านและร่ำเรียนจารึกสุโขทัยอยู่
.....ที่นี่ เป็นวัดสำคัญของการตั้งเมืองหริภุญไชย ถ้าสายของพระนางจามเทวีที่จะมาสร้างเมืองเป็นลพบุรีหรือชั้นความคิดของพราหมณ์ การตั้งเมืองภูมิสถานของเมือง การสร้างศาสนสถานรอบกรอบเวียงก็เป็นเรื่องราวที่คนรุ่นหลังต้องอ่านและพยายามทำความเข้าใจกรอบคติวิธีคิดของคนรุ่นนั้น ก่อนที่จะตีความประวัติศาสตร์ของหริภุญไชยได้ รูปทรงสถาปัตยกรรมจะไม่เหลือแล้วแต่เราก็เจอประติมากรรมและจารึกพอสมควรในพื้นที่ ตลอดจนการขุดค้นที่ก้าวหน้าในยุคหลังๆก็ทำให้เราเห็นมุมมองที่กว้างขวางขึ้น คงสามารถประติดประต่อเรื่องราวต่างๆได้เป็นพื้นฐานต่อการตีความ แม้เรายังมีทฤษฏีที่มาที่ไปของพระนางจามเทวีอีกหลายทฤษฏี
ทางแก้ว โคลงชมวัด วาดวัด
2561~ 2563

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา