2 ต.ค. 2020 เวลา 23:06 • ท่องเที่ยว
ช๐๗๖_ วัดพระสิงห์ สง่าดุจสิงห์
◇ตามรอยโคลงครู นิราศหริภุญชัย◇ ตอน๒
สเก็ตช์ในสถานที่
หภ๑๐ ๏นบวรเชฐสร้อย สิหิงส์
ลาเทพเบญจาจริง จึ่งผ้าย
เชิญวานเทพดลถลิง ถลากระหม่อม เรียมเอย
เทาดำเนินเยื้อนย้าย พร่ำพร้อมเดินเดียว ฯ
หภ๑๑ ๏ลาถึงปราสาทสร้อย สิงห์สอง
โอนต่ำลุง*ทิพทอง ที่อ้าง
เบญจาจำเนียรปอง ปดต่ำ งนรา
จากจ่ำเลวแล้วร้าง ราศนั้นฤๅดี ฯ
นิราศหริภุญชัย
*น่าจะเป็น อำรุง
*หภxxx อ้างอิงไปยังโคลงหิริภุญชัยหมายเลข
น้อยคือมากงาม
วัดพระสิงห์คัดลอกลายเส้นจากรูปวิหารหลวงหลังเก่า สร้างสมัย 2467 ขอบคุณเพจ เชียงใหม่ที่คุณไม่เคยเห็น
.....โคลงบทที่สิบและสิบเอ็ดนี้เป็นบทแรกที่ครู(หมายถึงผู้เขียนโคลงนิราศหริภุญชัย ซึ่งไม่ปรากฏนาม) กล่าวถึงวัดเป็นแห่งแรกนั่นคือวัดพระสิงห์ โดยไม่ได้พูดว่าเป็นวัดพระสิงห์ แต่พูดถึงพระพุทธคู่บ้านคู่เมืองคือพระพุทธสิหิงส์ ชื่อวัดเดิมไม่ได้ชื่อวัดพระสิงห์แต่ชื่อ วัดลีเชียงพระ คำว่าลีแปลว่าตลาดชุมชน ลีเชียงก็คือตลาดกลางหรือตลาดในเวียงซี่งคงเป็นตำแหน่งหลักของเมือง หรือเป็นพื้นที่กว้างที่คนมาซิ้อขายกัน และมีพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองก็อยู่ตรงนั้น
.....ว่ากันว่าตอนนั้นกษัตริย์ล้านนาเสวยราชอยู่ที่เชียงแสนและเมืองลูกหลวงอยู่เชียงใหม่ พอพญาคำฟูสิ้น เจ้าผายูก็เอาอัฐิบิดาลงมาสร้างวัดที่นี่และหลังจากนั้นเป็นรุ่นหลานอีกทีคือพระเจ้าแสนเมืองมาได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงส์องค์นี้มาจากเชียงแสนด้วย
คำว่า ประสาทสร้อยสิงห์สอง ก็คง ไม่ได้แตกประเด็นเรื่องการตีความไปที่อื่นนอกจากที่ตรงนี้
๑๒.เจ้าผายูลำดับห้า มังรายวงศ์
แปงกู่อัฐิบิดาลง เจดียแก้ว
กตัญญูพญาคำฟูจง สบสรวง
เสริมสง่าอารามแล้ว ชื่อนี้วัดพระเชียงฯ
๑๓.พุทธศกพันแปดร้อย แปดสิบ แปดเอ่
วัดคู่เวียงเก่าลิบ สมัยกล้า
”แสนเมืองมา”เชิญทิพย สิหิงค์
จากเชียงรายนำจ้า ชื่อคั้นวัดพระสิงห์ฯ
๑๔.อังเชิงเทียบท่าขึ้น วังสิงห์คำ
ผินบุษบกพระเจ้านำ รังสีไล้
สาดแจ้งแสงเรืองล้ำ ฟ้าอร่าม
ต่อตามแปงวัดไว้ วัดฟ้าฮ่ามเอ่ฯ
๑๕.มณีแก้วอันส่องล้ำ โปรดสัตว์
หลากเวียงหลากคามจัด กรานน้อม
สีหฬะลังกาน้าวสวัสดิ์ เสกมณี
ผ่านนครศรีฯส่งค้อม ร่วงเจ้าสุโขทัยฯ
๑๖.หมดยุคอุทัยลับฟ้า มัวหม่น
ผ่านศรีอยุธยาชน ชาวน้อม
กำแพงเพชรเชียงรายหล่น พิงคนคร
กลับศรีฯคืนพิงคค้อม กอบกล้าพุทไธสวรรย์ฯ
๑๗.วิหารหลวงใหญ่ท้า สง่าเมือง
กาวิละต้นวงศ์เรือง เตชกล้า
ธัมมลังกาสองเจื่อง เสกปธาน
ใหญ่โตพระเจ้าจ้า บังฟ้าฝ่าฝัน ฯ
๑๘.รอยอดีตอันเคยเรื้อง เรืองแสง
มณีส่องเคยสำแดง ยังจ้า
รังสีวิสุทธิ์แจรง ยังจรัส
อังคีรสเอ่ออาจท้า รอยแก้วยังกรุ่น ฯ
๑๙.วิหารลายคำพริ้ง แพรวพราย
สัดส่วนกระชับหมาย เหมาะแล้ว
พอดีงามคือถวาย มณีฟ้า
พุทธสิหิงค์สิงห์แก้ว สง่าแม้นเวียงฝันฯ
๒๐.ปราสาทวิหารแต้ม ลายคำ
มกรคายนาคนำ พาเข้า
สังข์ทองสุวรรณหงส์จำ ฮูปแต้ม
หยดงามโขงพระเจ้า โถงรั้งแท่นพระสิงค์ ฯ
มกรคายนาค
พระเจ้าทองทิพย์หรือพระสิงห์น้อย พระประธานในพระอุโบสถ
พระเจ้าทองทิพย์หล่อสำหรับการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๘ ซึ่งครั้งนั้นหล่อพระเจ้าไว้สององค์คือ พระเจ้าทองทิพย์กับพระเจ้าแค่งคม( ซึ่งจะกล่าวถึงอีกครั้งหนึ่่งที่วัดศรีเกิด ) ยุคนั้นเป็นยุคที่ศาสนารุ่งเรืองมากที่สุดในเชียงใหม่ คือสมัยเจ้าลกหรือพระเจ้าติโลกราช การสังคายนาเกิดขึ้นได้แปลว่ามีผู้รู้มาก
๒๑.คือมณีคู่ค่าค้ำ เวียงพิงค์
คือแสงอันสุกมิ่ง ขวัญคุ้ม ใจชาว
คือศรีอันสลายสิ่ง มัวมาย
คือสิหิงค์พุทธอุ้ม เจตน้าวฝั่งโพ้นฯ
๒๒.สบสายกุโนด*แจ้ง ใจสว่าง
งามราวเพ็งกระจ่าง เต็มฟ้า
อังคีรสมเลืองทาง ข้ามฝัน
กี่มั่นฝ่าทางกล้า กัปปนี้อาจฝันฯ
๒๓.ขีดปราสาทสูงล้อม พุทธะ
ลายคำผูกร้อยจะ ลิ่วล้ำ
โปรยเพยียนบพระ ตรลบ กลิ่นเอ่
เสริมสิหิงค์สิงห์ค้ำ ปัดก้ำเอกมณีฯ
*กุโนด=กรุณา
คัดลอกจากรูปเก่าวัดพระสิงห์
.....ผมว่าเกือบทุกคนที่ไปเชียงใหม่คงได้ไปกราบพระพุทธสิหิงส์ที่วัดพระสิงห์มาแล้ว พระพุทธสิหิงส์อยู่ในวิหารลายคำ ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง พระพุทธสิหิงส์เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของเชียงใหม่มานานตั้งแต่สมัยพระเจ้าแสนเมืองมาหรือกษัตริย์ในรัชกาลที่๗ของราชวงศ์มังราย ตัววิหารลายคำนี้จะทำให้เราได้เห็นคติความเชื่อของสองรัฐที่แตกต่างกัน คือแม้แต่ในวิหารที่มีพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองอยู่ ก็สร้างให้สัดส่วนของวิหารกระทัดรัดขนาดพอดี เดิมจะเป็นพระอุโบสถ์หรือเปล่าก็ไม่ทราบ ในขนาดที่อาคารหลังหน้าสุดของวัดพระสิงห์(เข้าใจว่าเป็นพระอุโบสถ)มีขนาดใหญ่โตเป็นเครื่องปูน ดูจากประวัติสร้างสมัยหลังพระเจ้ากาวิละซึ่งตอนนั้นเป็นยุคต้นรัตนโกสินทร์แล้ว ก็คงใช้แบบอย่างของพระอุโบสถอันใหญ่โตในความคิดของรัตนโกสินทร์มาประกอบบางที่ถ้าเราไปตามชนบทโดยเฉพาะในเมืองเหนือ เราอาจจะเคยเห็นพระอุโบสถหลังเล็กๆขนาดพอดี คำว่าขนาดพอดีนี่หมายถึงพอดีต่อการทำพิธีกรรมต่างๆของพระภิกษุตามธรรมวินัยผมจำไม่ได้แน่ว่าเป็นกี่รูป ถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็น๒๐รูป(ในพิธีบวช)อยากจะข้อข้อมูลความรู้ต่อผู้รู้ด้วยครับ ผมหมายถึงขนาดตัวพระอุโบสถ์ก็ของเพียงให้พระ๒๐รูปนั่ง(เบียด)ได้คติหนึ่งวัดมีพระอุโบสถเพียงเพื่อเอื้อต่อการทำพิธีกรรม กับอีกคติหนึ่งพระอุโบสถที่ใหญ่โตอาจจะเอื้อต่อพิธีกรรมและราษฎร์ที่เข้าร่วมพิธีกรรมนั้นด้วย
รูปชุดบน นี้ถ่าย ช่วงก่อนที่ วัดพระสิงห์จะบูรณะ หลังจากบูรณะแล้ว เจดีย์ที่อยู่ด้านข้างวิหารลายคำ กลายเป็นสีทองสุกอร่าม ตามรายละเอียดรูปด้านล่างนี้
เจดีย์สีทอง
....ครั้งสุดท้ายที่ไปวัดพระสิงห์ เมื่อ 3 ปีที่แล้ว การบูรณะ ด้านในและด้านนอกแล้วเสร็จ ในภาพรวม วัดพระสิงห์นี้เป็นจุดหลักของการท่องเที่ยวในเชียงใหม่ ความปราณีต และรายละเอียดที่ปรับปรุง ถือว่าสมบูรณ์แบบ แต่ในส่วนตัว ในมุมมองของสถาปนิก คนหนึ่ง กลับมีความรู้สึกแปลกๆ กับเจดีย์ องค์หลักของวัด ที่ถูกตกแต่งด้วย ทอง ดูทุกคนที่รู้จักรอบตัว เขาชื่นชมกัน แต่จากคน ต่างถิ่นที่เห็นวัดพระสิงห์มาแต่เด็ก เห็นเจดีย์สีขาวสวยเด่น จึงรู้สึกขัดเขิน ที่มาเห็นความเป็นสีทองคำเหลืองอร่าม แม้แต่ละรายละเอียด เช่นช้าง ที่อยู่บัวชั้นล่าง ทั้ง 4 มุมของเจดีย์ ก็ถูกจำแลงเป็นสีทองคำอร่ามเช่นกัน ความงามของล้านนา ไม่ใช่คุณค่าความงามเช่นนี้ สีทองนั้น แม้จะดูเลิศวิเศษ แต่เมื่อใช้มากเกินไป กลับทอนคุณค่าลง
ทางแก้ว
โคลงชมวัด
เขียนวัด
๒๕๕๕_๒๕๖๐_๒๕๖๓
วัดพระสิงห์ยังมีต่อครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา