16 ส.ค. 2020 เวลา 08:59 • ท่องเที่ยว
เจดีย์ติโลมินโล
บนความหมายของคำว่า...กษัตริย์ฉัตรตั้ง
chapter 2
นางงามเดินดิน
เรากำลังออกเดินทางมุ่งไปชมเจดีย์แห่งหนึ่ง
เช้าๆอย่างนี้ ชาวบ้านร้านช่อง ตั้งโต๊ะจับกลุ่มกินชาใต้ต้นไม้ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย เงาทอดยาวของผู้หญิงเทินของไว้บนหัว ขณะเดินผ่านแดดอ่อนๆ มีให้เห็นเป็นระยะ จะว่าแปลกก็ใช่นะ ไม่ยักกะเห็นผู้ชายทำแบบนี้บ้าง หรือฉันไม่ได้สังเกต!
ผู้หญิงพม่านี่ถ้าไปประกวดนางงาม ต้องได้รางวัลบุคลิกภาพแน่นอน เพราะการเดินพร้อมกับมีสัมภาระบนหัว ต้องเดินตัวตรงแน่ว ใบหน้าเชิดในระดับตรง ยิ้มทักทายเมื่อเจอคนรู้จัก และแม้แต่คนแปลกหน้าอย่างเรา ก็ยังยิ้มและโบกมือให้ หรือว่าจะขอติดรถไปด้วย อันนี้เป็นข้อสงสัยเอาฮาในหมู่เรา
สาวๆพม่าไม่ว่าจะสาวอ่อน หรือ สาวแก่ ต้องมีลำคอที่แข็งแรงเป็นแน่ ดูจากข้าวของที่บรรทุกไว้บนหัว
นอกจากนี้ สาวๆพม่าไม่ว่าจะสาวอ่อน หรือ สาวแก่ ต้องมีลำคอที่แข็งแรงเป็นแน่ ดูจากข้าวของที่บรรทุกไว้บนหัว ไม่ว่าจะเป็นหม้อไห กระบุงกระจาด ขนาดมือว่างยังเอาของไว้บนหัวเลย ฉันเห็นคุณป้าคนหนึ่งเทินกิ่งไม้ (ซึ่งอาจจะน้ำหนักเบา) ปริมาณขนาดมือสองข้างโอบใหญ่ๆ เดินฉิวโดยไม่ตกไม่หล่น
เจดีย์ติโลมินโล
เจดีย์ติโลมินโล
อาม คนขับรถของเราจอดรถตรงทางเข้า เจดีย์ติโลมินโล เหมือนเดิมคือถอดรองเท้าไว้ในรถ ทางเดินเข้าเจดีย์เต็มไปด้วยของที่ระลึก ขายตลอดทาง
ของที่ระลึกสไตล์พม่าแท้ๆ
เราเดินเท้าเปล่าสัมผัสกับความเย็นชื้นของทางเดินรอบเจดีย์ ด้านขอบข้าง มีร่มไม้ประปรายไปทั่ว ให้เป็นที่อาศัยผู้ที่วางแผงขายของเก่าบ้าง ของหมู่ศิลปินเขียนภาพบ้าง มือเจ้ากรรมดันไปลูบๆคลำๆ กระดิ่งทองเหลือง ส่วนเพื่อนอีกคนก็มือคัน ลองแกว่ง ลองเคาะระฆัง แถมถามราคาอีกต่างๆหาก สาวเจ้าบอกราคาระฆังใบจิ๋ว
“ 25 เหรียญดอลล่าร์”
“อู๊ยยย!” คุณพี่หันมาทำปากจู๋ใส่ฉัน ส่งเสียงร้องราวกับจับของร้อน แล้วรีบแหมะระฆังไว้ที่เดิม
“ไปกันเหอะพี่” ฉันมุ่งหน้าไปซุ้มภาพเขียน เสียงแว่วคล้อยหลังมาว่า “สิบห้าเหรียญก็ได้”
ธุรกิจครอบครัวศิลปินข้างวัด
เรามาหยุดที่ชายหนุ่มคนหนึ่งกำลังลงสีทรายบนผืนผ้าฝ้ายดิบ เป็นรูปเศียรพระ เขาเงยหน้ามองเราแล้วแปลงร่างเป็นเซลแมน ราวกับกำลังสาธิตน้ำยาเคลือบสีรถ เขาทั้งขยี้ทั้งบิดภาพวาดที่ใช้ทรายเป็นวัสดุหลักในการทำสีสัน ว่านี่นะเป็นของจริง ไม่ร่วงไม่หลุด ไม่ลอก
“ เชื่อแร้วว!” พวกเราหยุดเขาด้วยเสียงเกือบพร้อมกัน
ฉันลองเลือกรื้อดูภาพต่างๆ แม้รู้ว่าแต่ละภาพเขียนออกมาด้วยใจ (คิดไปเองรึเปล่าไม่รู้) แต่ก็ต้อง’เฟ้น’ กันเลยทีเดียว ใต้ภาพลงชื่อศิลปินเอาไว้
“ชื่อพี่เหรอ”
“ไม่ใช่ครับ เป็นชื่อครอบครัวผม” ทำท่าภูมิใจ
“นั่นลูกล่ะซิ” ฉันทำเป็นรู้ดี
“เปล่าครับ นั่นน้องชาย ครอบครัวผมวาดรูปเป็นทุกคนครับ ” !!
กวงซาน บอกว่านี่เป็นธุรกิจครอบครัวเลยเชียวละ
องค์ที่ได้เป็นกษัตริย์ก็เลยสร้างเจดีย์ให้มีสัญลักษณ์เป็นรูปฉัตรอยู่บนยอดวิหาร
ครูไกด์เรียกพวกเราให้ไปฟังคำบรรยายเสียที ฉันตั้งใจฟังเหมือนนักเรียนถูกเรียกตัวมาดุ คุณครูบอกว่า Htilo ติโลแปลว่า..ร่มหรือฉัตร ส่วน Minlo มินโลแปลว่า..กษัตริย์
“อ๋อ กษัตริย์ฉัตรตั้ง!” ฉันกับหนุ่มเพื่อนซี้ต่างวัย หันมาร้องอ๋อใส่กัน เพราะอ่านตำรามาเล่มเดียวกันนี่แหละ
ครูเล่าอีกว่า เจดีย์นี้สร้างตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 มีกษัตริย์องค์หนึ่ง มีลูกชาย 5 คน และทำการเสี่ยงทายโดยการใช้ร่มหรือฉัตร หากไปตกอยู่ที่ลูกชายคนใด คนนั้นจะได้เป็นกษัตริย์ ปรากฎว่า ร่มหรือฉัตรไปตกอยู่กับน้องชายคนเล็กสุด องค์ที่ได้เป็นกษัตริย์ก็เลยสร้างเจดีย์ให้มีสัญลักษณ์เป็นรูปฉัตรอยู่บนยอดวิหาร
ฟังท่านว่า แล้วก็ต้องมาอ่านข้อมูลอีกครั้ง แต่ละเล่มก็ไม่เหมือนกัน แต่ฉันว่าแบบที่ครูเล่านี่สนุกดีนะ
ลวดลายจิตรกรรมบนผนัง ส่วนใหญ่ลางเลือนไปมากแล้ว
แสงเงาที่มาปะทะตามซอกเสาช่วยให้วัดนี้มีมิติน่าค้นหา
ครูชี้ให้ดูรูปลายบนผนัง ส่วนใหญ่ลางเลือนไปมากแล้ว ฉันว่าฉันได้ยินเสียงตะโกนแว่วๆ ด้านหลังว่า “ระฆังสิบเหรียญ ก็ได้ มาเอาสิ” เห็นคนพูดโบกมือหยอยๆ
เราเดินไปรอบเจดีย์ด้านซ้ายดูร่มรื่นกว่าด้านหน้า ซุ้มภาพวาดมีให้ชมตลอดทาง แต่ละภาพเน้นใช้สีฉูดฉาด ส่วนใหญ่เป็นรูปพระ รูปคนแสดงสีหน้าอารมณ์ต่างๆ รูปเจดีย์ รูปวิว ไม่นานก็มีคนปรี่มาขายทับทิบแดงเม็ดโตให้กับเพื่อนหนุ่มคนเดิม
“เฮ้ย ทำไมมันมาขายแต่พี่วะ” ไม่น่าถามเล้ย ก็พี่เล่นทำท่าสนใจใคร่รู้นะซี
น่าเสียดายประติมากรรมปูนปั้นสวยๆที่ถูกโจรตัดศีรษะไป
เราเดินเข้าภายในตัววิหาร พร้อมขบวนติดตามแฝงเร้นมาอย่างเงียบกริบ อันมีคนขายระฆัง คนขายภาพ คนขายอัญมณี ฯลฯ
แสงลอดผ่านซุ้มประตูด้านที่พระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ เพิ่มความเคร่งขรึม แต่อ่อนโยนอยู่ในที เสียงกระซิบบอกราคาทับทิบแดงจาก 150 เหรียญ เหลือ 50 เหรียญ
สีทองมลังมเลืองขององค์พระประธานในวิหารดูแล้วเพิ่มความเข้มขลังมากขึ้น
เราเดินไปถึงซุ้มประตูอีกด้าน แสงตรงนี้สวยกว่าช่องที่ผ่านมา สะท้อนความเปล่งปลั่งให้กับพระพุทธรูปให้งดงามยิ่งขึ้น ราคาทับทิบแดงบัดนี้เหลือค่าเพียงขอแลกกับนาฬิกาบนข้อมือเท่านั้น
“เอาดีมะ นาฬิกาอันนี้พี่ได้มาฟรี” ถามเป็นเชิงปรึกษา
“ได้มาฟรี แต่ก็ของจริงนะ แต่ทับทิมน่ะ ปลอมแหงๆ”
ฉันเดินออกมาคอยอยู่ด้านนอกตัวเจดีย์ ส่วนคุณพี่ถูกสาวๆ จูงมือหายไปหลังร้าน กลับออกมาด้วยใบหน้าผ่องไปด้วยแป้งทานาคา ที่สาวๆ พาไปเสริมหล่อให้ฟรีๆ ถึงหลังร้าน
“ห้าเหรียญ เอาไปซี ระฆังที่คุณชอบน่ะ” เสียงตะโกนเธอมาตอนไหนไม่รู้ แต่รถเราออกไปแล้ว ...เฮ้อ! ช่างเป็นการขายที่มาราธอนจริงๆ
เจดีย์ชเวสิกอง..เจดีย์แห่งศรัทธา
รถพามาจอดหน้าทางเข้า เจดีย์ชเวสิกอง 1 ใน 5 มหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งพม่าโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว เราเข้ามาตามโถงทางเดินที่รายล้อมด้วยแผงขายของที่ระลึกมากมาย ลายตาไปหมด
คนเฒ่าคนแก่ที่มาที่นี่ด้วยศรัทธาที่มีต่อองค์เจดีย์ชเวสิกอง
เสียงทักทายอย่างคุ้นเคยระหว่างคุณครูกับคนขายของในละแวกนั้น ก็พอจะเดาได้จากความเป็นคนมีอัธยาศัยไมตรีของตัวคุณครูเอง หรือว่าด้วยอาชีพไกด์ที่ต้องมาเกือบทุกวันก็ว่าได้
“แหม สาวแก่แม่หม้าย ทักกันเกรียวเลยนะครู” ฉันอดแซวไม่ได้
ครูขยับแว่น แล้วหัวเราะ เห็นเหงือกแดงแจ๋ ด้วยน้ำหมากที่คุณครูแอบย่องมาเคี้ยว ระหว่างรอพวกเราเดินดูของ เมื่อเห็นพวกเรามากันครบแล้ว ก็พาเดินต่อไปยังด้านใน
ที่พม่าทุกคนเมื่อได้เข้ามาในวัดหรือศาสนสถานจะต้องถอดรองเท้าทุกคน
แดดจ้าตัดกับองค์เจดีย์เหลืองทอง เสียงบรรยายจากครูไกด์ เล่าความแรกเริ่มการสร้างเจดีย์แห่งนี้ คล้ายกับเจดีย์ดอยสุเทพ เพราะมีการอัญเชิญพระธาตุเขี้ยวแก้วไว้บนหลังช้างเผือก เมื่อช้างไปหยุดที่ใด ก็ให้สร้างเจดีย์ตรงนั้น
มีตำนานเล่าว่าพระเจ้าอนิรุทธ์ หรือ พระเจ้าอโนรธามังช่อ ปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรพุกามเป็นผู้สร้าง แต่สร้างไม่เสร็จ มาแล้วเสร็จในรัชกาลพระเจ้าจานสิตาแห่งอาณาจักรพุกามประมาณ 900 ปีก่อน
วันที่เราไปถึงนั้น ชเวสิกอง กำลังมีงานบูรณปฎิสังขรณ์ มาดูจากหนังสือภายหลังจึงเข้าใจว่า จะต้องทำเป็นประจำ โดยเฉพาะงานปิดทององค์เจดีย์ ซึ่งต้องสร้างนั่งร้านเพื่อคลุมแดดเวลาปฎิบัติงาน
ตามหนังสือว่า..
"ที่นีมีหอนัต ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมนัตทั้ง 37 ตน ด้วยดำริของกษัตริย์ในครั้งกระโน้น ที่ต้องการให้คนค่อยๆ เปลี่ยนการนับถือผี มานับถือพุทธ แม้คนไม่มาที่นี่เพราะนับถือพุทธ แต่ก็มาเพราะเทพที่พวกเขาบูชา นานไปก็จะมาเพราะศรัทธาพุทธไปเอง นับเป็นกษัตริย์ที่เจริญด้วยอุบายที่เป็นกุศลโดยแท้ ปัจจุบันประเพณีฉลองพระเจดีย์ที่นี่ นับว่ายิ่งใหญ่ที่สุดและมีคนพม่าจากทั่วประเทศมาร่วมงานบุญจำนวนมาก"
หอนัต ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมนัตทั้ง 37 ตน
ฉันก้าวเท้าลงบนแผ่นหิน เพื่อเดินรอบองค์เจดีย์ แต่ต้องเขย่งเท้าโหย่งเป็นพัลวัล และเดินไปหลบร้อนตรงชายขอบศาลาข้างหน้า ร่มเงาของอาคารทำให้ฉันเงยหน้ามองยอดชเวสิกอง ตัดกับท้องฟ้าสีน้ำเงิน ได้ถนัดมากขึ้น แหงนมากจนเอน จากเอนก็กลายเป็นหงาย ฉันและเพื่อนๆ นอนหงายมองฝูงนกบินโฉบชเวสิกอง อย่างสบายอารมณ์ โดยมีครูนั่งแกว่งขาอย่างอารมณ์ดีอยู่ข้างๆ
พวกเราเดินต่อไปให้ครบรอบ ด้วยอาการร้อนฝ่าเท้า แต่ครูแกเดินอย่างสบายเท้า แล้วหันมาบอกว่าให้เดินตามแผ่นหินอ่อนกลางแดดนี่ซิ อืม เย็นจริงด้วย ฉันแกล้งเดินตากแดดให้เพื่อนทักเล่น
“เฮ้ย ไม่ร้อนเท้าเหรอเดินกลางแดดอย่างนั้น” พอรู้เคล็ดลับแล้ว ก็ลงมาเดินกันเป็นแถว
ตะวันชิงพลบที่...บูพยาเจดีย์
เรามาถึงบูพยาก่อนเวลาอาทิตย์ตกน้ำพอควร จึงมีเวลานั่งเล่น เชยชม ลำน้ำเอยาวดี โดยมีเจดีย์ทรงส้มโออยู่ด้านหลัง นึกถึงเมื่อตอนบ่ายล่องเรือผ่านหน้าบูพยา ยืนอวดองค์เด่นสง่า เหลืองอร่าม คนเดินเรือสมัยก่อนใช้เป็นสัญลักษณ์ว่าถึงพุกามแล้ว
พูดถึงความเก่าแก่แล้วละก็ บ้างก็ว่าสร้างมาแต่ศตวรรษที่ 3 ถ้าอย่างนั้นก็คงเก่าน่าดู สีเหลืองทองที่เห็นนี้เป็นสีขาวมาก่อน ทั้งหมดทรุดตัวลงเมื่อคราวแผ่นดินไหวปี 1975 และถูกบูรณะใหม่อย่างที่เห็น
รถม้าคือพาหนะนำเรามาชมพระอาทิตย์ตกที่ริมน้ำเอยาวดี
บูพยา ดูเล็กกว่าทุกเจดีย์ที่ผ่านมา ฉันมองเห็นความสงบนิ่ง ทว่าเจือความแจ่มใสเบ่งบานอยู่ในที บูพยาที่เห็นตรงหน้าไม่มีทีท่าถือเนื้อถือตัว แลดูเป็นกันเองจนเราอาจเอื้อมมือสัมผัสได้ กวาดตามองไม่เห็นนักท่องเที่ยวอื่น นอกจากคนพื้นเมืองที่มานั่งหย่อนใจ ฉันนั่งไกวขารับลมเย็นโชยเอื่อย มองเห็นเรือลำเล็กแล่นไปอย่างช้าๆ บนผิวน้ำกว้างใหญ่เบื้องล่าง
พวกเราต่างกระเซ้าเหย้าแหย่กันอย่างสนุกสนาน ถือโอกาสให้คุณครูถ่ายรูปพวกเรา และสำหรับครูเองเป็นที่ระลึก ภารกิจนำเที่ยวของคุณครูกำลังจะหมดลงที่นี่ ความสุภาพอ่อนโยนของผู้สูงวัยเช่นครู ทำให้มิตรภาพระหว่างไทยพม่าเกิดขึ้นโดยไม่เสแสร้ง เมื่อถึงคราวต้องลาจาก ใครบางคนถึงกับต้องสละของรักอย่างหมวกใบโปรดตรา “นักสำรวจโลก” เมื่อครูเอ่ยขอเบาๆอย่างเกรงใจ
แสงสุดท้ายโบกมืออำลาพวกเราสำหรับการมาเยือนพุกามแห่งนี้
รอยยิ้มแบบตรงไปตรงมาของครู บอกเราได้ว่าครูมีความสุขแค่ไหนกับหมวกมีสัญลักษณ์ใบนั้น พวกเราหันไปมองหน้าคนที่เพิ่งเสียของรักไปหยกๆ เห็นเพื่อนหนุ่มยืนยิ้มด้วยความเต็มใจแกมเสียดาย มันกลายเป็นหัวข้อให้หยอกล้อคลอไปกับแสงตะวันที่คล้อยต่ำลงขอบน้ำทุกที ทุกที โดยมีบูพยาเจดีย์ ยืนสนิทชิดใกล้ ส่งท้ายตะวันร่วมกัน
ครั้งหน้าติดตามพวกเราไปเยือน...ตลาดยองอู แล้วขึ้นภูเขาโปปา (Mount Popa) ไปชมที่สถิตของมหาคีรีนัต แห่งพุกาม
เรื่องราวที่เกิดขึ้นและภาพถ่ายทุกภาพถูกบันทึกเมื่อเดือนตุลาคม 2549 ด้วยกล้องnikon D200 เป็นการเดินทางเที่ยวพม่าในขณะที่ประเทศนี้ยังไม่เปิดรับการท่องเที่ยวเต็มรูปแบบเหมือนในปัจจุบัน
เล่าเรื่องโดย สีละมัน
ถ่ายภาพโดย อนุพันธ์ สุภานุสร
#ถ่ายรูปเล่าเรื่อง #fototeller #keepshooting #เที่ยวพม่า #เที่ยวมัณฑเลย์ #เที่ยวเมียนมาร์ #เที่ยวอังวะ #เที่ยวพุกาม #เที่ยวภูเขาโปปา #เที่ยวตลาดยองน์อู #เที่ยวสะกาย #เที่ยวมินกุน #เที่ยวอินเล

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา