16 ส.ค. 2020 เวลา 22:56 • อาหาร
เผยที่มาทำไม? พายสับปะรด จึงเป็นขนมยอดฮิตสร้างรายได้ให้ไต้หวันหลายหมื่นล้านช่วงนี้ถ้าใครไปตลาดอตก.จะเห็นสับปะรดวางเป็นกองๆ ขนาดใหญ่ภายในเต๊นท์ที่ขึ้นป้าย “จุดจำหน่ายสับปะรดเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร” เหตุเนื่องมาจากภาวะสับปะรดล้นตลาดหลายหมื่นตัน โรงงานแปรรูปสับปะรดกระป๋องชะลอการรับซื้อวัตถุดิบ เพราะความต้องการในตลาดโลกลดลง ส่งผลให้ราคาสับปะรดตกต่ำเหลือแค่กิโลละบาทกว่าๆ เท่านั้น จึงต้องมีการส่งเสริมให้บริโภคสดภายในประเทศ ปัญหานี้ดูเหมือนจะเกิดซ้ำซาก เวียนกลับมาให้เห็นอยู่บ่อยๆ ทำให้เกิดความสงสัยว่านอกจากป้อนโรงงานอุตสาหกรรม เราน่าจะมีหนทางอื่นที่เพิ่มมูลค่าและเป็นการระบายสับปะรด เช่น การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร อาทิ สับปะรดอบแห้ง แยมสับปะรด น้ำสับปะรด เครื่องดื่ม และขนมต่าง ๆ เข้าใจว่ามีการดำเนินการแปรรูปเหมือนกันแต่อาจจะไม่มากพอ
การแก้ไขปัญหาสับปะรดล้นตลาดและราคาตกต่ำทำให้นึกถึงกรณีศึกษาที่ไต้หวัน หากไทยมีข้าวเหนียวมะม่วงเป็นที่เชิดหน้าชูตา ไต้หวันเองก็มีพายสับปะรดที่เป็น signature ประจำชาติ ใครมาแล้วไม่ชิมหรือซื้อ ถือว่ายังไม่ถึงไต้หวัน พายสับปะรดหรือ pineapple cake, pineapple shortbread นั้นเป็นหนึ่งในของฝากยอดนิยมที่นักท่องเที่ยวไปเยือนไต้หวันต้องซื้อติดไม้ติดมือกลับมา เพราะนอกจากรสชาติอร่อย แพ็กเกจจิ้งสวยงาม ราคายังไม่แพงอีกด้วย จึงเหมาะเป็นของฝากอย่างยิ่ง
เห็นเป็นสินค้าที่ราคาค่างวดไม่ได้แพงมากมาย แต่เชื่อหรือไม่ว่าพายสับปะรดนี่แหละที่ช่วยชุบชีวิตภาคการเกษตรไต้หวันให้แข็งแกร่งและสร้างรายได้ให้ไต้หวันมโหฬาร ข้อมูลระบุยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เบเกอรีที่ทำจากสับปะรดของไต้หวันในปี 2013 นั้นมีมูลค่าสูงถึง 40,000 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน หรือราว 43,000 ล้านบาท นั่นเป็นยอดขายเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เชื่อว่าตัวเลขปัจจุบันจะเพิ่มขึ้นอีก เพราะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไต้หวันกำลังบูม และยอดขายพายสับปะรดไม่ได้มาจากการซื้อขายในประเทศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการส่งออกไปยังต่างประเทศอีกด้วย
ย้อนกลับมาที่มาที่ไปว่าจากที่เคยผลิตแต่ขนมไหว้พระจันทร์ ไฉนพายสับปะรดจึงแซงหน้ากลายเป็นขนมประจำชาติของไต้หวันไปได้ อันนี้ต้องเท้าความไปถึงปี 1895-1945 ซึ่งเป็นยุคที่ไต้หวันตกอยู่ใต้อาณานิคมของญี่ปุ่น เจ้าอาณานิคมได้นำสับปะรดพันธุ์ต่างๆ เข้ามาเผยแพร่และปลูกในไต้หวันบริเวณภาคกลางและภาคใต้จนกลายเป็นพืชเศรษฐกิจ โดยมีการแปรรูปเป็นสับปะรดกระป๋อง เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้งดงาม ช่วงพีคสุดคือปี 1971 ที่ไต้หวันเป็นผู้ส่งออกสับปะรดกระป๋องเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
แต่แล้วยุคทองของอุตสาหกรรมสับปะรดกระป๋องไต้หวันก็สิ้นสุดลง เมื่อต้องเผชิญกับการแข่งขันจากผู้ผลิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ต้นทุนการผลิตต่ำกว่า ค่าแรงถูกกว่า กอปรกับช่วงนั้นไต้หวันเริ่มหันไปสนใจอุตสาหกรรมอื่น เช่น การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิก ส่งผลให้เกิดภาวะสับปะรดล้นตลาด จากที่เน้นส่งออกสับปะรดกระป๋องจึงต้องหันมาเน้นบริโภคภายในประเทศ โดยหน่วยงานด้านการเกษตรของไต้หวันยื่นมือเข้ามาช่วยหาหนทางต่างๆ ให้เกิดการบริโภคมากขึ้น ณ จุดนั้น พายสับปะรดจึงได้กำเนิดขึ้นเพื่อเป็นการกำจัดวัตถุดิบที่มีมากล้น
บริษัทต่างๆ ก็ทะยอยเปิดตัวผลิตขนมประเภทนี้อย่างจริงจัง กลายเป็นขนมมงคลที่นิยมใช้ในพิธีหมั้นและพิธีแต่งงาน นอกจากความอร่อยที่ทำให้มีการบอกต่อ ปัจจัยที่ทำให้พายสับปะรดเป็นที่รู้จักกว้างขวาง คือการที่หน่วยงานต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชนให้ความสำคัญ โดยกระทรวงท่องเที่ยวไต้หวันร่วมกับสมาคมเบเกอรีไทเปได้ร่วมกันจัดงาน Pineapple Cake Festival ขึ้นทุกปีต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 10 ปี การจัดงานดังกล่าวไม่เพียงส่งเสริมการท่องเที่ยวแต่ยังเป็นการโปรโมทผลิตภัณฑ์พายสับปะรด ของดีจากไต้หวันให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายอีกด้วย
นอกจากได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐอย่างจริงจัง เอกชนที่เป็นผู้ผลิตเองก็ไม่หยุดที่จะพัฒนาสินค้า ไม่ว่าจะเป็นการแนะนำพายสับปะรดสูตรใหม่ๆ ไปจนถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สวยงามดึงดูดลูกค้า พร้อมกันนั้นก็เพิ่มผลิตภัณฑ์อื่นจากสับปะรดขายพ่วงด้วย เช่น แยมสับปะรด น้ำสับปะรด เป็นต้น และในแต่ละเมืองหลักของไต้หวัน จะมีพายสับปะรดแบรนด์ดังประจำถิ่นไว้บริการ ยกตัวอย่าง แบรนด์ที่ขึ้นชื่อในไทเปได้แก่ Chia Te, Din Tai Fung, Hsin Tung Yang, Lee Chi และ Kuo Yuan Ye ส่วนแบรนด์ที่เชิดหน้าชูตาในไท้จง ประกอบด้วย Sunny Hills, Drawn Cake, Jiunn Meei และ Red Sakura ที่เกาสงต้องยกให้ Japazi และ Jiu Zhen Nan สุดท้ายที่คีหลุง แบรนด์ที่ขายดีสุดคือ Li Hu
จะเห็นว่าการที่พายสับปะรดกลายเป็นหนึ่งในสินค้าหลักทำเงินเข้าประเทศไม่ได้เกิดจากความบังเอิญหรือโชคช่วย หากมาจากการผลักดันอย่างจริงจังของภาครัฐ และความร่วมมือจากเอกชนนั่นเอง
โฆษณา