17 ส.ค. 2020 เวลา 12:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
BPS (Basis Points) คืออะไร?
Credit: Pixabay.com
หากคุณเคยเปิดดูข่าวเศรษฐกิจตามช่องต่างๆ หรือแม้แต่บทวิเคราะห์หลักทรัพย์ที่เขียนโดยบริษัทหลักทรัพย์ คุณคงเคยได้เจอกับคำว่า “Basis Points” หรือตัวย่อ “BPS” ที่ทำเอางงไปพักนึงว่ามันแปลว่าอะไรกัน?
BPS คือ คือหน่วยที่ใช้ในแวดวงการเงิน การลงทุน ใช้บอกถึงความเปลี่ยนแปลงของสัดส่วนเป็นเปอร์เซ็นต์ในทางการเงินว่าเปลี่ยนแปลงไปเท่าไร เช่น กนง. ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลง 25 BPS เหลือ 0.25% และคาดว่าจะทรงตัวในระดับนี้ ตลอดปี 2563 เป็นต้น
แล้ว BPS 1 มีค่าเท่ากับเท่าใด?
1 BPS มีค่าเท่ากับ 0.01% (1 ÷ 100 = 0.01%) หรือแปลงกันแบบง่ายๆ ให้เป็นเปอร์เซ็นต์ก็แค่เอาไปหารด้วย 100
ตัวอย่างเช่น กนง. ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลง 25 BPS ก็จะเท่ากับลดลงไป 0.25% (25 ÷ 100 = 0.25%) นั่นเองครับ
Credit: Pixabay.com
ลองมาดูตัวอย่างเพิ่มเติมหากเทียบ Basis Points (BPS) vs เปอร์เซ็นต์ (%) ดังนี้
1 Basis Point = 0.01%
5 Basis Points = 0.05%
100 Basis Points = 1%
1000 Basis Points = 10%
10000 Basis Points = 100%
คำถามคือเมื่อเราก็มีหน่วยเปอร์เซ็นต์ (%) ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย และนิยมใช้กันในวงกว้างอยู่แล้ว ทำไมเรายังต้องนำเอา BPS มาใช้เพิ่มกันให้ปวดหัวอีกละ
จริงๆ แล้วมันกลับตรงกันข้ามเพราะประโยชน์ของมันก็คือจะช่วยลดการปวดหัว และความสับสนกรณีที่มีการพูดถึงตัวเลขที่มีการเพิ่มหรือลด
เช่น หากบอกว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยลดดอกเบี้ยนโยบายจาก 2% เหลือ 1.75% ถ้ามองเผินๆ ส่วนใหญ่ก็จะเข้าใจว่าลดดอกเบี้ยไป 0.25% เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยส่วนที่ลดลงไปคือ 0.25%
เรื่องของเรื่องคือ...มันอาจจะทำให้เกิดความสับสนหากนำไปคำนวณด้วย “วิธีเปอร์เซ็นต์ส่วนต่าง”
โดยถ้าคุณบอกว่า “ดอกเบี้ยมันลดลงไป 0.25%” มันจะกลายเป็นว่า “ลดลง 0.25% ของ 2%” ซึ่งหมายความว่ามันลดลงไป -0.005% ผิดไปจากความหมายตอนต้นที่ต้องการจะสื่อว่า ดอกเบี้ยลดลงจาก 2% เหลืออยู่ที่ 1.75% นั่นเอง
Credit: Pixabay.com
และนี่ก็เป็นเหตุผลว่าทำไม BPS (Basis Points) ถึงได้ (นิยม) ถูกนำมาใช้บอกถึงการเปลี่ยนแปลงของตัวเลข โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแวดวงเศรษฐกิจ การเงิน และการลงทุน
และนอกจากการเขียนอักษรย่อด้วย BPS จะหมายถึง Basis Points แล้ว บางครั้ง/บางแห่งก็อาจจะใช้ว่า BIPS และ BP ก็มีให้เห็นเหมือนกัน ซึ่งเป็นตัวย่อที่สื่อถึง Basis Points ทั้งสิ้นครับ
ทั้งนี้ BPS ยังเป็นตัวย่ออีกความหมายหนึ่งของ “ราคาตามบัญชีหุ้น” (Book Value Per Share: BPS) ยกตัวอย่างเช่น สมมุติหากกรณีบริษัทมีการชำระบัญชีเพื่อเลิกกิจการ และสามารถจะนำสินทรัพย์ที่มีอยู่แปรเป็นเงินสดตามมูลค่าที่ระบุในงบดุล (งบแสดงฐานะการเงิน)
และชำระหนี้สินต่างๆ ให้เจ้าหนี้ตามยอดหนี้ที่ปรากฏ ณ วันที่ในงบดุลแล้ว ผู้ถือหุ้นจะได้รับเงินทุนต่อหุ้นคืนในจำนวนเท่ากับมูลค่าตามบัญชีต่อหุ้น
หรือพูดง่ายๆ คือขายของใช้หนี้หมดแล้ว ก็หารคืนผู้ถือหุ้นด้วยมูลค่าตามบัญชีต่อหุ้นเท่าที่เหลืออยู่นั่นเองแหละครับ
Credit: www.tnmoc.org
ขอบคุณที่ติดตามอ่าน หากชอบบทความนีน้ รบกวนกดไลค์ กดแชร์เป็นกำลังใจให้ด้วยนะครับ
โฆษณา