Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ลงทุนในบัญชีและภาษี
•
ติดตาม
17 ส.ค. 2020 เวลา 23:32 • หุ้น & เศรษฐกิจ
รายงานผู้สอบบัญชี
💥 ไม่อยากหนาวเหน็บอยู่บนดอย รายงานผู้สอบบัญชีก็ช่วยได้นะ
1
การที่จะลงทุนในบริษัทใดก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งเลยก็คือ รายงานงบการเงิน ที่นักลงทุนควรต้องศึกษา ตลอดจนศึกษาถึงรายละเอียดของตัวบริษัทด้วยว่าทำอะไร มีผลการดำเนินงานเป็นอย่างไร กำไรเท่าไร และมีแนวโน้มการเติบโตในอนาคตเป็นอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมาเราได้ลงบทความเกี่ยวกับงบการเงิน และอัตราส่วนทางการเงินมาก็ค่อนข้างเยอะพอสมควรนะคะ
แต่ข้อมูลเหล่านั้นล้วนเป็นข้อมูลเชิงปริมาณเกือบทั้งสิ้น ซึ่งอาจทำให้เราได้ข้อมูลไม่เพียงพอนัก สิ่งสำคัญอีกอย่าง ที่เป็นข้อมูลสำคัญในเชิงคุณภาพเลยก็คือ "รายงานผู้สอบบัญชี"
ซึ่งเป็นข้อมูลที่จะเป็นตัวช่วยให้เราสามารถเข้าใจงบการเงิน เข้าใจตัวบริษัทได้ดีมากยิ่งขึ้น โดยเวลาอ่านงบการเงินลำดับแรกเลยที่เราควรจะอ่านคือรายงานของผู้สอบบัญชี เพื่อที่เราจะได้เข้าใจภาพรวมของงบการเงินของบริษัท และรู้ว่าประเด็นไหนที่ควรดูและพิจารณาเป็นพิเศษ
รายงานผู้สอบบัญชี (Auditor’s Report) คือรายงานที่ผู้สอบบัญชีได้แสดงความเห็นในรายงานว่างบการเงินนั้นมีความถูกต้องในสาระสำคัญตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินหรือไม่ อย่างไรบ้าง เพื่อที่เราจะได้มีความระมัดระวัง และนำไปประกอบการตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนที่สำคัญยิ่งของรายงานผู้สอบบัญชี ที่เป็นตัวชี้วัดความเป็นความตายของงบการเงินเลยก็คือ ความเห็นของผู้สอบบัญชีนั่นเอง ซึ่งความเห็นของผู้สอบบัญชีนั้น จำแนกประเภทได้เป็น 4 ประเภท ดังนี้
📌 ความเห็นอย่างไม่มีเงื่อนไข (Unqualified)
เป็นความเห็นที่แสดงว่างบการเงินถูกต้องตามสมควรแล้ว ผู้สอบบัญชีไม่พบสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปในการจัดทำรายงานงบการเงินโดยผู้บริหารของบริษัท ผู้สอบบัญชีสามารถปฏิบัติงานตรวจสอบได้อย่างปกติ แปลง่ายๆ คืองบสะอาดไม่มีปัญหาอะไร (Clean)
1
📌 ความเห็นมีเงื่อนไข (Qualified)
4
เป็นความเห็นที่ผู้สอบบัญชีพบว่า มีความไม่แน่นอนอย่างมีสาระสำคัญที่เกี่ยวกับการรับรู้รายการที่เกิดขึ้นหรือการกำหนดมูลค่าของสินทรัพย์หรือหนี้สิน และแสดงถึงการมีข้อมูลที่ไม่ถูกต้องบางประเด็น หรือผู้สอบบัญชีอาจไม่สามารถหาหลักฐานการตรวจสอบในบางประเด็นซึ่งมีสาระสำคัญได้ แต่ประเด็นดังกล่าวไม่กระทบต่องบการเงินทั้งหมด กรณีนี้อาจมีวรรคเกณฑ์ในการให้ข้อสรุปอย่างมีเงื่อนไขเพิ่มเติมมาได้ เราจำเป็นต้องไปอ่านในวรรคนั้นต่อไปว่าเป็นประเด็นอะไรที่ส่งผลกระทบ
📌 ความเห็นว่างบการเงินไม่ถูกต้อง (Adverse)
คือผู้สอบบัญชีสามารถปฏิบัติงานตรวจสอบได้ แต่งบการเงินมีข้อมูลที่ไม่ถูกต้องอย่างมีสาระสำคัญ และข้อมูลที่ไม่ถูกต้องนั้นแผ่กระจาย ส่งผลกระทบต่อข้อมูลงบการเงินในภาพรวมอย่างมาก จึงทำให้ผู้สอบบัญชีไม่สามารถรับรองความถูกต้องของงบการเงินตามเกณฑ์มาตรฐานการบัญชีที่รับรองทั่วไปได้
📌 การไม่แสดงความเห็นหรืองดแสดงความเห็น (Disclaimer)
คือผู้สอบบัญชีไม่สามารถปฏิบัติงานตรวจสอบงบการเงินได้อย่างมีสาระสำคัญ ไม่สามารถหาหลักฐานการตรวจสอบได้อย่างเพียงพอในประเด็นที่กระทบต่อทั้งงบการเงิน จึงทำให้ไม่สามาถแสดงความเห็นต่อความถูกต้องตามที่ควรของงบการเงินได้
ความเห็นของผู้สอบบัญชี 4 แบบ
ในกรณีที่ผู้สอบบัญชีแสดงความเห็นว่างบการเงินไม่ถูกต้อง หรือไม่แสดงความเห็นนั้น ถ้าหากเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะถูก กลต. ขึ้นเครื่องหมาย SP (Trading Suspension) หรือเครื่องหมายแสดงการห้ามซื้อขายหลักทรัพย์เป็นการชั่วคราว เพราะถือว่ามีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นที่อาจส่งผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของนักลงทุนหรือการซื้อขายหลักทรัพย์ได้
ทั้งนี้ รายงานของผู้สอบบัญชี สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่
รายงานการตรวนสอบงบการเงิน
รายงานการสอบทานงบการเงิน
โดยวิธีการแบ่งประเภทนั้น จะวัดตามระดับการให้ความเชื่อมั่นของผู้สอบบัญชี ซึ่งระดับของการให้ความเชื่อมั่นจะสูงหรือต่ำ นั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้สอบบัญชีได้รวบรวมหลักฐานการสอบบัญชีได้มากน้อยเพียงใด
ประเภทของรายงานผู้สอบบัญชี
⛳ รายงานการตรวจสอบงบการเงิน หรืองบปี
เป็นรายงานที่ผู้สอบบัญชีให้ความเชื่อมั่นอย่างสมเหตุสมผล และได้รวบรวมหลักฐานการสอบบัญชีอย่างเพียงพอและเหมาะสม จึงสามารถที่จะแสดงความเห็นต่องบการเงินได้ รายงานประเภทนี้จะใช้สำหรับการสอบบัญชีของงบรายปี โดยในเนื้อหาของรายงาน จะแบ่งรายละเอียดที่สำคัญเป็น 9 วรรค ดังจะอธิบายต่อไปนี้ค่ะ
วรรค 1 : ความเห็น (ซึ่งเป็นวรรคสำคัญที่ได้อธิบายรายละเอียดไปแล้วข้างต้นบทความ)
👉 เป็นคีย์สำคัญในการสรุปความเห็นของผู้สอบบัญชีว่างบการเงินนั้นเชื่อถือได้หรือไม่ ซึ่งมีอยู่ 4 แบบ คือ ไม่มีเงื่อนไข / มีเงื่อนไข / งบการเงินไม่ถูกต้อง / ไม่แสดงความเห็น
วรรค 2 : เกณฑ์ในการแสดงความเห็น
👉 จะบอกถึงเหตุผล ว่าทำไมถึงให้ความเห็นไปแบบนั้น โดยระบุว่าได้ปฏิบัติงานตามมาตรฐานสอบบัญชี และผู้สอบบัญชีมีความเป็นอิสระตามมาตรฐานจรรยาบรรณ รวมทั้งหลักฐานการสอบบัญชีที่ผู้สอบบัญชีได้รับเพียงพอและเหมาะสมเพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการแสดงความเห็นแล้ว
วรรค 3 : ความไม่แน่นอนที่มีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานต่อเนื่อง (ถ้ามี)
👉 ส่วนใหญ่จะไม่มีวรรคนี้ เพราะกิจการตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่า บริษัทจะดำเนินงานต่อเนื่อง บริษัทจะไม่มีเจตนาจะเลิกกิจการ แต่ถ้าพบเจอวรรคนี้ นั่นอาจหมายถึง บริษัทอาจประสบปัญหามีภาระหนี้สินจำนวนมาก ถึงขั้นถูกฟ้องร้องล้มละลาย และอาจปิดกิจการได้
วรรค 4 : เรื่องสำคัญในการตรวจสอบ
👉 บอกถึงหัวข้ออะไรบ้าง ประเด็นไหนบ้าง ที่ผู้สอบบัญชีให้ความสำคัญในการตรวจสอบ
วรรค 5 : ข้อมูลและเหตุการณ์ที่เน้น (ถ้ามี)
👉 เป็นจุดสำคัญที่ผู้สอบบัญชีต้องการเน้น เพื่อให้ผู้ใช้งบการเงินต้องอ่าน เพราะช่วยให้เข้าใจประเด็นที่สำคัญ เช่น เรื่องของคดีความทางกฎหมาย ที่อาจจะมีผลสืบเนื่องต่อไปในอนาคต เป็นต้น
วรรค 6 : เรื่องอื่น (ถ้ามี)
👉 เป็นวรรคที่ผู้สอบบัญชีต้องการให้ข้อมูลเรื่องอื่นๆ ซึ่งยังไม่ได้ถูกเปิดเผยในงบการเงิน
วรรค 7 : ข้อมูลอื่น
👉 เป็นวรรคที่ผู้สอบบัญชีแจ้งให้ผู้ใช้งบการเงินทราบว่าข้อมูลในรายงานประจำปี มีข้อมูลในส่วนใดที่ไม่ถูกต้องตรงกันกับข้อมูลที่ผู้สอบบัญชีมีหรือไม่ ส่วนใหญ่จะกล่าวถึงรายงานประจำปี ซึ่งถือเป็นข้อมูลอื่น ที่มักจะออกมาหลังจากออกงบแล้ว ผู้สอบบัญชีจึงมักจะลงรายงานที่ตรวจสอบไว้ว่า ไม่ครอบคลุมถึงรายงานประจำปี
วรรค 8 : ความรับผิดชอบของผู้บริหารและผู้มีหน้าที่ในการกำกับดูแลต่องบการเงินรวมและงบการเงินเฉพาะบริษัท
👉 วรรคนี้อาจจะไม่ค่อยสำคัญนัก เป็นเนื้อหาที่อธิบายถึงความรับผิดชอบของผู้บริหารและคณะที่มีต่องบการเงิน รายละเอียดจะเหมือนกันทุกบริษัท
วรรค 9 : ความรับผิดชอบของผู้สอบบัญชีต่อการตรวจสอบงบการเงินรวมและงบการเงินเฉพาะบริษัท
👉 เป็นเนื้อหาที่อธิบายถึงความรับผิดชอบของผู้สอบบัญชีที่มีต่องบการเงิน รายละเอียดจะเหมือนกันทุกบริษัท แต่ถ้าหากมีความเห็นอื่นๆ อาจมีย่อหน้าอธิบายการปฏิบัติหน้าที่ของผู้สอบบัญชีเพิ่มได้
เพื่อให้มองเห็นภาพมากขึ้น ผู้เขียนขอนำรายงานผู้สอบบัญชี ของ CPF มานำเสนอให้ดูเป็นตัวอย่างนะคะ
หมายเหตุ : วรรคที่ไม่แสดงตัวอย่าง หมายถึง งบ CPF ไม่มีวรรคนั้น
⛳ รายงานการสอบทานงบการเงิน
1
เป็นรายงานที่ผู้สอบบัญชีให้ความเชื่อมั่นพอประมาณ มีการรวบรวมหลักฐานการสอบบัญชีอย่างจำกัด ผู้สอบบัญชีจึงไม่สามารถแสดงความเห็นต่องบการเงินได้ แต่จะให้ความมั่นใจในเชิงปฏิเสธหรืออย่างจำกัด รายงานประเภทนี้ใช้สำหรับการสอบบัญชีของงบไตรมาส ซึ่งรายงานการสอบทานงบการเงิน จะมีหลักๆ 2 วรรค คือ ขอบเขตการสอบทาน และ ข้อสรุป
ขอบเขตการสอบทาน
👉 วรรคนี้จะเหมือนกันทุกบริษัท สามารถข้ามได้ โดยในรายละเอียดจะบอกถึงว่า ผู้สอบบัญชีได้ปฏิบัติงานสอบทานนะ ไม่ใช่การตรวจสอบ ทำให้มีขอบเขตจำกัดว่า มีผลให้ผู้สอบบัญชีไม่สามารถแสดงความเห็นได้
ข้อสรุป
👉 เป็นการสรุปว่า หลังจากสอบทานแล้ว เจออะไรที่ไม่ปกติหรือไม่ได้จัดทำขึ้นตามมาตรฐานการบัญชีหรือเปล่า
ข้อมูลและเหตุการณ์ที่เน้น (ถ้ามี)
เรื่องอื่นๆ (ถ้ามี)
ตัวอย่างของรายงานสอบทานงบการเงิน ของ CPF
นอกจากรายงานของผู้ตรวจสอบบัญชีแล้ว นักลงทุนควรศึกษาทำความเข้าใจลักษณะสินค้าหรือบริการ เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุนอย่างระมัดระวังรอบคอบ เพราะผลการดำเนินงานในอดีตมิได้เป็นการยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
และผู้เขียนหวังว่า เมื่ออ่านบทความจบนี้แล้ว จะสามารถนำไปใช้ในการพิจารณาลงทุนได้ดีขึ้นนะคะ 😊
ขอให้ทุกท่านโชคดีในการลงทุนค่ะ 🎁
ที่มา :
https://www.investme.in.th/accounting/39-
https://www.finnomena.com/z-admin/auditors-report/
เรียบเรียงโดย : ลงทุนในบัญชีและภาษี
ขอบคุณทุกการมีส่วนร่วม และการติดตามนะคะ 🙏🙏😊😘
21 บันทึก
20
11
12
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
งบการเงินเพื่อการลงทุน
21
20
11
12
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย