18 ส.ค. 2020 เวลา 08:32 • อาหาร
ความเป็นมาและอัตลักษณ์ (ภูมิหลัง ความเชื่อ อัตลักษณ์ที่โดดเด่น ความสำคัญและคุณค่าทางสังคม จิตใจ วิถีการดำเนินชีวิตของชุมชน)
“ขนมไทย” นับเป็นเอกลักษณ์และวัฒนธรรมประจำชาติอยู่คู่กับสังคมไทยมาช้านาน ตามหลักฐานที่แสดงในกาพย์เห่เรือชมเครื่องคาวหวานของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ทรงกล่าวถึงอาหารคาวและขนมไทยนับร้อยชนิดที่นิยมทำในสมัยนั้น บางประเภทใช้ในสำรับเพื่อรับประทานกันเป็นของว่าง ขณะที่บางประเภททำกันในช่วงงานเทศกาล งานประเพณี งานทางศาสนา หรืองานที่มีการประกอบพิธีกรรมต่างๆ เท่านั้น นอกจากนี้ขนมไทยยังแฝงความหมายอันลึกซึ้งไว้ในชื่อของขนมไทยแต่ละชนิด ซึ่งอุปมานได้ถึงลักษณะนิสัยของคนไทยในสมัยนั้นว่านอกจากมีความละเอียดและลึกซึ้งในการตั้งชื่อ ยังมีอุปนิสัยละเอียดลออ เยือกเย็น อดทน และช่างสังเกตมีความพิถีพิถันในทุกขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การเลือกสรรวัตถุดิบชั้นดี เครื่องปรุงชั้นเลิศ ขั้นตอนการจัดสำรับที่ละเอียดลออ จนมาถึงวิธีการรับประทานที่มีละเมียดละไม เพราะเห็นคุณค่าของการทำอาหารและขนมแต่ละชนิด
สมัยโบราณกาลเริ่มตั้งแต่สมัยสุโขทัย ส่วนประกอบหลักในการทำขนมไทยมีเพียงสามอย่างได้แก่ แป้ง น้ำตาล มะพร้าว และพัฒนาเพิ่มส่วนผสมของไข่และน้ำตาลทรายผสมเข้ามาในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งขนมไทยหลายชนิดที่ยังคงอยู่ในปัจจุบัน เกิดจากการประยุกต์จากสูตรขนมของชาวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทยโดยผ่านความสัมพันธ์ทางการเมือง อาทิเช่น สูตรขนมของชาวโปรตุเกสโดยท้าวทองกีบม้า หรือ มารี กีมาร์ เดอ ปีนา ท่านผู้หญิงภรรยาของเจ้าพระยาวิชาเยนทร์กงสุลประเทศโปรตุเกสประจากประเทศไทย ซึ่งเป็นลูกครึ่งญี่ปุ่นผสมโปรตุเกส ได้ประยุกต์มาจากสูตรขนมของชาวโปรตุเกส ถูกดัดแปลงให้มีรูปรสลักษณะเป็นแบบไทยๆ จนกลายเป็นความเชื่อว่าขนมดังกล่าวเป็นขนมไทยแท้ดั้งเดิม
การแบ่งประเภทของขนมไทยสามารถใช้เกณฑ์ตามวิธีการทำให้สุก ได้แก่ กวน นึ่ง เชื่อม ทอด นึ่งหรืออบ และ การต้ม เกณฑ์แหล่งกำเนิดขนม ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน ภาคใต้ หรือเกณฑ์การมีส่วนร่วมในวิถีไทย ได้แก่ งานเทศกาลงานบุญ พิธีกรรมและความเชื่อ และการแสดงยศถา เป็นต้น ขนมไทยนับเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการนำเสนอความเป็นไทยให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งในเชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี และ ความเชื่อ ซึ่งสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารถ่ายทอดความเป็นไทยได้เป็นอย่างดี
ขนมตาล เป็นขนมไทยพื้นบ้าน เนื้อขนมมีลักษณะเป็นแป้งสีเหลืองเข้ม นุ่ม ฟู มีกลิ่นตาลหอมหวาน ขนมตาลทำจากเนื้อตาลจากผลตาลที่สุกงอม แป้งข้าวเจ้า กะทิ และน้ำตาล ผสมกันตามกรรมวิธี ใส่กระทงใบตอง โรยมะพร้าวขูด และนำไปนึ่งจนสุก เนื้อลูกตาลยีที่เป็นส่วนผสมในการทำขนมตาล ได้จากการนำผลตาลที่สุกจนเหลืองดำ เนื้อข้างในมีสีเหลือง มีกลิ่นแรง ซึ่งส่วนมากจะหล่นจากต้นเอง มาปอกเปลือกออก นำมายีกับน้ำสะอาดให้หมดสีเหลือง นำน้ำที่ยีแล้วใส่ถุงผ้า ผูกไว้ให้น้ำตกเหลือแต่เนื้อลูกตาล ในปัจจุบัน หาทานขนมตาลรสชาติดีได้ยาก เนื่องจากปริมาณการปลูกต้นตาลที่ลดลง ขนมตาลที่ขายตามท้องตลาดส่วนใหญ่ ผู้ประกอบการมักใส่เนื้อตาลน้อย เพิ่มแป้งและเจือสีเหลืองแทน ซึ่งทำให้ขนมตาลมีเนื้อกระด้าง ไม่หอมหวาน และไม่อร่อย
โฆษณา