20 ส.ค. 2020 เวลา 07:52 • ประวัติศาสตร์
นายพลเนวิน อดีตผู้นำพม่า ผู้พาประเทศดำดิ่งสู่เหวลึก
บททดสอบอันแสนรันทดของชาวพม่าได้เริ่มขึ้นเมื่อปี 1962 ระบอบสังคมนิยมเริ่มต้น เนวินผู้นำกองทัพยึดอำนาจจากรัฐบาลเลือกตั้ง (นายพลอูนุ) ซึ่งมาแทนที่อังกฤษ เนวินจัดตั้งสภาปฏิวัติขึ้น ขณะนั้นประเทศอยู่ในสภาวะวุ่นวายไร้ระเบียบ เมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 พม่าเคยเป็นสมรภูมิสำคัญระหว่างญี่ปุ่นกับสัมพันธมิตร ระบบสาธารณูปโภคเสียหายยับเยิน กองทัพคอมมิวนิสต์ลุกขึ้นโค่นล้มรัฐบาล กลุ่มชาติพันธุ์ก็ติดอาวุธต่อสู้กู้อิสรภาพ
เมื่อทหารเข้าปกครองประชาชนโล่งใจที่กองทัพควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ แต่ท้ายที่สุด เนวินมิใช่ผู้นำใจบุญอย่างที่ประชาชนคาดหวัง เขาสถาปนา “ระบอบสังคมนิยมวิถีพม่า” ขึ้น นำลัทธิมาร์กซิสต์มาผสมผสานกับพุทธศาสนา พรรคการเมืองอื่น ๆ ถูกประกาศว่าผิดกฎหมาย ฝ่ายตรงข้ามเนวินล้วนถูกจับกุมคุมขัง ธุรกิจต่าง ๆ ของเอกชนถูกยึด ชาวต่างชาติถูกบีบให้เดินทางออกนอกประเทศ ละทิ้งทรัพย์สิน .... พม่าได้ปิดประเทศลงแล้ว
ทหารที่ไร้ประสบการณ์ทางธุรกิจได้รับอำนาจเป็นผู้ดูแลเกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม ของพม่า ได้ผลาญทุนสำรองระหว่างประเทศจนหมด จนไม่สามารถนำเข้าสินค้าจำเป็นใด ๆ ได้อีกแม้แต่แปรงสีฟัน ชิ้นส่วนอะไหล่ที่จะนำมาผลิตสินค้าก็ขาดแคลน ประชากรชีวิตตกต่ำต้องเข้าแถวรอรับปันส่วนข้าวปลาอาหาร ผืนดินที่เคยเต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติกลายเป็นผืนดินว่างเปล่า
เพียงแค่ 25 ปีภายใต้การปกครองของเนวิน องค์กรสหประชาชาติประกาศให้พม่าเป็นประเทศด้อยพัฒนามากที่สุดในโลก ไล่เลี่ยกับประเทศในเขตแอฟริกาและเขตทะเลทรายซาฮาร่า
เมื่อความอดอยากยากแค้นเข้ามาเยี่ยมเยือน รัฐพม่าแก้ปัญหาง่าย ๆ ด้วยการปกครองที่เรียกว่า “ยุคแว่นสีเขียว” ความหมายคือ บังคับให้มองสิ่งเลวร้ายกลายเป็นสิ่งดีไปหมด สำนวนนี้มีที่มาจากเมื่อคราวสงครามโลก ไร่นาของพม่าเสียหายย่อยยับ ผืนดินแห้งแล้ง พืชพันธุ์กลายเป็นสีขาว บรรดาม้า ลา ก็ไม่ยอมกินอาหาร ญี่ปุ่นจึงผลิตแว่นตากระจกสีเขียว เอาลวดทำเป็นขาคล้องกับหูลา เมื่อลา ม้า เห็นอาหารเป็นสีเขียวก็ยอมกิน ....คนพม่าถูกบังคับให้ใส่แว่นสีเขียว ให้เห็นสิ่งที่เลวร้ายกลายเป็นดี
เนวินเป็นคนปากเสีย เก็บตัว แต่งงานหลายครั้ง เขาหมกมุ่นกับเรื่องไสยศาสตร์มาก มากถึงขนาดพาประชาชนไปสู่ความวิบากที่รุนแรง ในปี 1987 เนวินยกเลิกธนบัตรบางชนิด แล้วออกธนบัตรใหม่มูลค่า 45 และ 90 จั๊ด ด้วยเหตุผลว่าต้องเป็นมูลค่าที่หารด้วยเลข 9 ลงตัว (เป็นเลขมงคลทางโหราศาสตร์ และเป็นเลขโปรดของเนวิน) มีผลทำให้เงินออมอันน้อยนิดที่มีในกระเป๋าประชาชนสูญค่าไปในชั่วข้ามคืน เหล่านี้เป็นผลให้เกิดการลุกฮือขึ้นของประชาชนในปี 1988
เนวินตายที่บ้านพักของเขาในเมืองร่างกุ้งเมื่อปี 2002 ด้วยวัย 91 ปี ศพของเขาไม่ได้รับการเชิดชู ไม่มีพิธีกรรมให้สมฐานะ อาจเพราะช่วงปลายชีวิตเขาสูญเสียอำนาจทางการเมืองไปแล้ว สังเกตได้จากศาลมีคำสั่งพิพากษาประหารชีวิตลูกเขยและหลานชายของเนวิน ความผิดฐานวางแผนโค่นล้มพลเอกอาวุโส ตาน ฉ่วย
แต่การตายของเขาก็ไม่ทำให้พม่าเปลี่ยนแปลงอะไร เนื่องจากประชาชนก็ยังอึดอัดที่จะออกเสียงหรือพูดคุยถึงเขาในร้านน้ำชาเหมือนเคย
(จากหนังสือ จิบพม่า ตามหาจอร์จ ออร์เวลล์ ประวัติศาสตร์ระหว่างบรรทัดในร้านน้ำชา ของ Emma Larkin แปลโดย สุภัตรา ภูมิประภาส)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา