Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
คลังความรู้ by SpokeDark
•
ติดตาม
23 ส.ค. 2020 เวลา 09:00 • การเมือง
เรากำลังจะพูดถึงข้อเสียของระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาว่า จริงๆ แล้ว มันไม่ใช่การเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน
หลายๆ คนอาจจะยังไม่รู้ว่า การแพ้ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่า ใครได้คะแนนเสียงจากประชาชนมากที่สุด ยกตัวอย่างเมื่อปี ค.ศ. 2000 “จอร์จ ดับเบิลยู บุช” ได้คะแนนเสียงน้อยกว่า “อัล กอร์” ประมาณ 5 แสนกว่าเสียง แต่ก็ยังได้เป็นประธานาธิบดีเฉยเลย
ไฉนถึงเป็นเช่นนั้น ?
ขอแนะนำให้รู้จักระบบ "Electoral College" ซึ่งเป็นวิธีที่เขาใช้เลือกประธานาธิบดีกันมาตั้งแต่สมัยก่อตั้งประเทศจนถึงทุกวันนี้
คือไอ้การลงคะแนนเสียงนั้นมันไม่ใช่การไปลงคะแนนเลือกระหว่างผู้สมัครแต่ละคนของแต่ละพรรค แต่มันเป็นการไปลงคะแนนเสียงเลือกตัวแทนในแต่ละรัฐซึ่งเรียกว่า "Electors" แล้วกลุ่มคนพวกนี้ก็จะไปเลือก
1
ประธานาธิบดีอีกที และถ้าใครที่ได้รับการโหวต 270 เสียงขึ้นไป ก็จะได้เป็นประธานาธิบดี (จากจำนวน Elector ทั้งหมด 537 เสียง)
อ้าว...แล้วมันมาแบบนี้ได้ยังไง ?
ทำไมไม่ให้ประชาชนเลือกเองโดยตรง ?
ทั้งที่ตำแหน่งอื่นๆ เช่น ส.ส., ส.ว. ในสภาคองเกรสก็ยังเลือกตั้งตรงได้ ?
คือมันต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ตอนก่อตั้งประเทศอเมริกา...
ย้อนกลับไปเมื่อ 200 กว่าปีมาแล้ว สมัยที่บ้านเมืองยังไม่มีกฎหมายแม่บท ไม่มีขื่อไม่มีแป ยังเป็นแบบโบๆ บ้านๆ คนใหญ่คนโตและทหารที่เพิ่งรบชนะอำนาจเก่า (อังกฤษ) เสร็จ ก็มารวมตัวช่วยกันร่างรัฐธรรมนูญเพื่อแบ่งปันอำนาจ และจัดสรรการปกครอง การใช้ระบบ ส.ส. และ ส.ว. นั้นไม่ยาก เพราะเลียนแบบและปรับมาจากของประเทศแม่ คือ ประชาชนเลือก ส.ส. ได้โดยตรง แต่ ส.ว. ถูกเลือกแบบอ้อมๆ คือเลือกมาจากรัฐบาลท้องถิ่นของแต่ละรัฐอีกที (แต่ภายหลังเปลี่ยนเป็นให้เป็นเลือกตั้งตรง) อันนี้ก็ทำไปเพื่อเป็นการถ่วงดุลอำนาจระหว่างประชาชน กับผู้มีอิทธิพลทั้งหลาย
และเมื่อถึงเวลาต้องสร้างกฎ และวิธีการเลือกประมุขของประเทศ ซึ่งไม่เคยมีตัวอย่างมาจากโลกเก่า ซึ่งเป็นระบบกษัตริย์ ก็เลยต้องมีการตีกันเล็กน้อย มีไอเดียต่างๆ มาหักล้างกันว่า จะให้ "ส.ส. และ ส.ว. เป็นคนเลือกประธานาธิบดี" ดีไหม ? แต่ก็กลัวสภาคองเกรสจะตีกันเอง
2
"ให้รัฐบาลของแต่ละรัฐเลือกประธานาธิบดี" ดีไหม ? แต่ก็กลัวรัฐบาลท้องถิ่นจะมามีอำนาจมากกว่ารัฐบาลกลาง
หรือ "จะให้ประชาชนเลือกประธานาธิบดีโดยตรง" ดีไหม ? แต่ก็กลัวประชาชนที่มีข้อมูลไม่พอ จะเลือกคนที่ไม่เหมาะสม
1
ดูเหมือนว่าการเลือกตั้งโดยตรงจะสร้างความวุ่นวายมาก เพราะจะมีคนจากถิ่นต่างๆ ออกมาหาเสียงแข่งกันทำให้คะแนนแยกย่อยเป็นเบี้ยหัวแตก ในที่สุดก็จะได้คนที่เป็นใครก็ไม่รู้มาเป็นประธานาธิบดี ไม่เหมาะกับการเป็นประมุข ท่านผู้มีอำนาจทั้งหลายก็เลยเอาไอเดียเหล่านี้มายำรวมๆ กันให้เกิดเป็นระบบ Electoral College ขึ้น
โดยแต่ละรัฐจะได้จำนวน Electors เท่ากับจำนวนสมาชิก ส.ส. และ ส.ว. ตัวอย่างเช่น รัฐนิวยอร์กมีจำนวน ส.ส. 27 คน บวกกับ ส.ว. 2 คน จะมีคะแนนเสียง Electoral Votes 29 คะแนน รัฐแคลิฟอร์เนียมีจำนวน ส.ส. 53 คน บวกกับ ส.ว. 2 คน มีคะแนนเสียง Electoral Votes 55 คะแนน เป็นต้น (จำนวน ส.ส. ของแต่ละรัฐจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับจำนวนประชากร ในขณะที่จำนวน ส.ว. จะได้เท่าๆ กันทุกรัฐคือ รัฐละ 2 คน)
ทีนี้แต่ละรัฐจะเลือก Electors กันยังไง ?
เขาให้ไปจัดการกันเอง เพราะแต่ละรัฐก็มีรัฐบาลและกฎหมายของตัวเองอยู่แล้ว แต่คนที่จะมาสมัครเป็น Elector ส่วนใหญ่ก็เป็นพวกอดีตนักการเมือง ผู้มีอิทธิพล และผู้ที่มีความจงรักภักดีต่อพรรคสูง
โดยที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งแรกในปี 1789 มีแค่สองรัฐเท่านั้นที่ให้ประชาชนที่มีคุณสมบัติสามารถเลือก Electors ได้ ซึ่งคุณสมบัติที่ว่านี่ก็คือ ต้องเป็นชายผิวขาวที่มีที่ดินเท่านั้นแหละ ใครไม่มีก็อด ส่วนผู้หญิงและทาสนี่ไม่ต้องพูดถึงได้รอกันมาอีกนาน สำหรับรัฐที่เหลือใช้ระบบรัฐบาลท้องถิ่นแต่ละรัฐเป็นคนเลือก
สรุปง่ายๆ ประธานาธิบดี 6 คนแรกของอเมริกานั้น ประชาชนธรรมดาตาน้ำข้าวแทบไม่ได้เลือกหรอก
ในที่สุด แต่ละรัฐก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปให้เป็นระบบประชาชนมาเลือก Electors โดยตรงจนเหมือนกันหมดทุกรัฐอย่างในปัจจุบัน
1
เกือบทุกรัฐจะมีระบบที่ผู้ชนะคะแนนจากประชาชนจะได้คะแนน Electoral Votes ไปหมดทั้งกระบุง เช่น รัฐนิวยอร์กที่กล่าวไว้ข้างต้น มีคะแนน Electoral Votes อยู่ 29 คะแนน ผลการเลือกตั้งจากรัฐนิวยอร์กครั้งที่แล้วเมื่อปี 2012 โอบาม่าได้ 4 ล้านเสียง ส่วนรอมนีย์ได้ 2.4 ล้าน โอบาม่าชนะ และได้คะแนน Electoral Votes ทั้ง 29 คะแนนไปหมดเลย ส่วนรอมนีย์ไม่ได้อะไรเลย (ยกเว้นรัฐเมน และ รัฐเนบราสก้า ซึ่งมีการแบ่งจำนวน Electoral Votes ตามเปอร์เซ็นต์ของคะแนนที่ได้รับจากประชาชน)
เดิมทีเขาต้องการป้องกันไม่ให้เกิดกรณี นักเลงคุมการเมืองข่มขู่ ใช้เสียงข้างมากลากไป หรือ กุ๊ยคุมเมือง เขาก็ออกกฎให้ Electors ไม่จำเป็นต้องเลือกประธานาธิบดีตามคะแนนที่ประชาชนโหวตไว้ด้วยก็ได้
Electors สามารถเลือก"คนดี" แทนได้ เช่น สมมติว่าประชาชนในรัฐนิวยอร์กเลือก Electors จากพรรครีพับลิกันเป็นตัวแทนไปเลือก ทรัมป์ แต่ว่า Electors ก็ยังมีสิทธิ์เปลี่ยนใจทรยศพรรคตัวเองและเสียงประชาชนไปเลือก ฮิลลารีได้ ซึ่งกฎหมายนี้ยังมีอยู่ใน 24 รัฐ จนถึงทุกวันนี้
นักวิชาการบางท่านเขาบอกว่าไอ้ระบบ Electoral College มันก็เป็นประโยชน์ทีเดียว ช่วยทำให้อะไรมันง่ายขึ้นไม่ต้องมานั่งตามนับคะแนนกันจนเม็ดสุดท้าย แล้วที่ผ่านมา 200 กว่าปี มันก็มีการสะอึกทำให้มีปัญหาแค่ 3-4 ครั้ง เท่านั้นเอง
1
แต่ครั้งสุดท้ายที่มันสะอึก หรือเรียกว่าอาเจียนดูจะเหมาะกว่า ก็ทำเรื่องเอาไว้ใหญ่โตมโหระทึก จนทำให้มีคนออกมา รณรงค์ให้ยกเลิกระบบ Electoral College กันเลยทีเดียว
เพราะเมื่อตอนปี 2000 ระบบนี้ทำให้ อัล กอร์ ไม่ได้เป็นประธานาธิบดี แม้จะมีเสียงข้างมากจากประชาชน แต่เขาแพ้ Electoral Votes ให้กับ จอร์จ ดับเบิลยู บุช (271 ต่อ 266 คะแนน) หลายคนไม่พอใจโดยให้เหตุผลว่า ท้ายที่สุดเสียงของประชาชนควรเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในประเทศที่อ้างว่าตัวเองอยู่ในระบอบประชาธิปไตย จากนั้นก็จะมีการเถียงกันมาตลอดทุกๆ 4 ปี ว่าควรจะมีการยกเลิกหรือแก้ระบบ Electoral College นี้ไหม
1
โดยปกติผู้ร่างรัฐธรรมนูญของสหรัฐจะได้รับการชื่นชมยกย่องจากคนรุ่นหลังกันอย่างท่วมท้น ว่าวางรากฐานไว้อย่างดีสำหรับการปกครอง แต่หลายคนตอนนี้เริ่มสงสัยว่า ไอ้ระบบประชาธิปไตยไม่เต็มใบสุกๆ ดิบๆ อย่าง Electoral College จะเป็นหนึ่งในมรดกเฮงซวยไม่กี่ชิ้นจาก 200 กว่าปีที่แล้ว ที่บรรพบุรุษของอเมริกันชนทิ้งไว้ให้ลูกหลานหรือเปล่า ? น่าคิด...
1
5 บันทึก
20
1
5
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ประวัติศาสตร์ I
5
20
1
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย