22 ส.ค. 2020 เวลา 01:44 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ออมให้เงินโต ภาคกองทุนรวม EP14
“กองทุนตราสารหนี้ตอนที่ 1 รู้จักกับตราสารหนี้”
สวัสดีครับ วันนี้เราขยับมารู้จักกับกองทุนที่เสี่ยงขึ้นมาอีกระดับ (เสี่ยงระดับ 3-4) นั่นคือกองทุนตราสารหนี้ ซึ่งแน่นอนว่าก่อนเราจะไปคุยกันถึงเรื่องของกองทุน เราต้องไปรู้จักสินทรัพย์ที่กองทุนนั้นไปลงทุนกันก่อน ซึ่งก็คือตราสารหนี้นั่นเอง
(ถาม) ตราสารหนี้คืออะไร?
(ตอบ) ตราสารหนี้ คือสินทรัพย์รูปแบบหนึ่ง ที่พอเราไปซื้อมาปุ๊ปเราจะกลายเป็นเจ้าหนี้ ส่วนคนขายจะกลายเป็นลูกหนี้เรา ในวงการเรียกคนที่ทำตราสารหนี้ออกขายว่า ผู้ออกตราสาร หรือ ผู้ออก เฉยๆ
สิ่งที่เราจะได้ก็เหมือนเจ้าหนี้ปล่อยกู้ทั่วๆไป นั่นคือดอกเบี้ย และ ได้เงินต้นคืนเมื่อตราสารหนี้ครบอายุ ในวงการบางทีจะเรียกว่า “ถึงกำหนดไถ่ถอน” นะครับ
ตราสารหนี้ ถ้าออกโดยรัฐบาลเราจะเรียกว่าพันธบัตร หรือ พันธบัตรรัฐบาล สำหรับพันธบัตรที่อายุสั้นๆ ไม่เกิน 1 ปี มันจะมีคำเรียกแบบเจาะจงไปเลยว่า ตั๋วเงินคลัง
แต่ถ้าตราสารหนี้นั้นออกโดยเอกชน เราจะเรียกว่าหุ้นกู้ สำหรับหุ้นกู้ที่อายุสั้นๆไม่เกิน 1 ปี จะเรียกว่าตั๋วแลกเงิน หรือ ตั๋วสัญญาใช้เงิน
ซึ่งถ้าว่ากันตามตำราแล้ว การลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ (ต่อไปนี้ขอเรียกว่าพันธบัตร ขี้เกียจพิมพ์ยาว 555) นั้นจะถือว่าเป็นการลงทุนที่ไม่มีความเสี่ยง (Risk Free) หรือ ความเสี่ยงเป็น 0 นั่นเอง
เฮ้ย จริงดิ?
จริงครับ แนวคิดนี้มาจากความจริงที่ว่า รัฐบาลเป็นสิ่งสุดท้ายที่จะล้มในประเทศนั้นๆ
อย่างเราไปฝากเงินเนี่ย เกิดธนาคารล้มขึ้นมา คนที่รับประกันเงินฝากเราก็คือรัฐบาลนะครับ ซึ่งในปัจจุบันการคุ้มครองเงินฝากนั้นมีการคุ้มครองที่ 5 ล้านบาทต่อคนต่อสถาบันการเงิน จนถึงวันที่ 10 สิงหาคม 2564 หลังจากนั้นวงเงินคุ้มครองจะเหลือ 1 ล้านบาท
จะเห็นว่าต่อให้ธนาคารล้มขึ้นมา คนที่จะเข้ามาอุ้มก็คือรัฐบาลนั่นเอง ด้วยความที่ตัว ”ผู้ออก” ล้มยาก ทำให้พันธบัตรเป็นสินทรัพย์ที่ถือว่าไม่มีความเสี่ยง
มันเทพขนาดนี้ ลองมาดูในรายละเอียดกันดีกว่า
ในกรณีที่เราไปซื้อตราสารหนี้ด้วยตัวเอง ตัวตราสารหนี้จะมีการระบุรายละเอียดตามนี้
1.ตัวมันเองมีราคาเท่าไหร่ ในวงการจะเรียกว่าราคาพาร์ (Par value) ซึ่งเมื่อถึงกำหนดไถ่ถอน (ครบอายุ) เราจะได้เงินคืนเท่าราคาพาร์
2. อายุของตราสารหนี้ (พอครบอายุถึงจะไถ่ถอนได้) ปกติจะดูได้จากชื่อของมันเลย อารมณ์เหมือนรหัสบอกวันเดือนปี
3. อัตราดอกเบี้ยของตราสารหนี้ (Coupon rate) เรียกแบบเกร๋ๆว่า ดอกเบี้ยหน้าตั๋ว
4. ความถี่ในการจ่ายดอกเบี้ย
ยกตัวอย่างจากในรูป พันธบัตรรัฐบาลรุ่น A มีราคาพาร์ 100 บาท จะครบอายุปี 2022 อัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน
แปลว่า เราซื้อพันธบัตรนี้ในราคา 100 บาท เราจะได้ดอกเบี้ยทุก 6 เดือน ครั้งละ 2.5 บาท (รวมเป็น 5% ต่อปี) และพอถึงปี 2022 เราก็จะได้เงินต้นคืน 100 บาท
อันนี้เป็นแบบเบสิค ไม่มีความซับซ้อน ถ้ากูรูในวงการเห็นตัวอย่างนี้เขาจะบอกว่า ผลตอบแทน (Yield) เท่ากับ อัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว (Coupon rate) ที่ 5%
ถึงตรงนี้บางคนอาจจะมีคิดในใจว่า หลักการของมันก็ดูง่ายๆไม่เห็นจะมีอะไร
หึหึหึ แต่บางกรณีมันจะมีความซับซ้อนอยู่ครับ โดยเฉพาะเรื่องผลตอบแทน “ไม่เท่า” ดอกเบี้ยหน้าตั๋ว
เฮ้ย มีด้วยเหรอ?
มีครับ แต่มันจะเริ่มไม่เบสิคละนะ สูดหายใจลึกๆ ฮึบๆ
เรื่องนี้ต้องอธิบายยาวหน่อย เพราะมันมีความเกี่ยวข้องไปถึงวัฏจักรของเศรษฐกิจโน่นเลย
เศรษฐกิจในบ้านเรารวมไปถึงทั่วโลกนั้น มันจะมีความเป็นวัฏจักรคือ มีขึ้นและมีลงสลับๆกันไป รัฐบาลของแต่ละประเทศก็จะต้องคอยดูแลเศรษฐกิจของตัวเอง
ดูแลแบบไหน?
1. ถ้าเศรษฐกิจเป็นขาขึ้น เขาจะระวังไม่ให้มันขึ้นแรงเกิน เพราะเดี๋ยวเงินจะเฟ้อมากไป
เราอาจจะสงสัยว่า เศรษฐกิจขาขึ้นไม่ดีเหรอ จะไปลดความแรงมันทำไมครับพี่
คืองี้ครับ ลองนึกภาพเศรษฐกิจดีๆ คนมีรายได้เยอะ เงินเดือนเยอะ สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือข้าวของมีราคาแพงขึ้น (เงินเฟ้อเพิ่ม) ทีนี้มันไม่ได้แปลว่าทุกๆคนจะมีรายได้ดีเหมือนกันหมดนะครับ ถ้าข้าวของแพงขึ้น มันก็จะมีคนกลุ่มนึงที่เดือดร้อน ดังนั้นรัฐบาลจะต้องคอยทำให้เศรษฐกิจไม่โตเร็วพรวดๆจนเกินไป
2. ถ้าเศรษฐกิจเป็นขาลง ทีนี้ต้องพยายามให้กลับมาเป็นขาขึ้นละครับ เพราะเดี๋ยวคนจะตกงานกันหมด อันนี้น่าจะเข้าใจไม่ยาก
ทั้ง 2 แบบ รัฐบาลสามารถควบคุมได้โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “อัตราดอกเบี้ยนโยบาย” ซึ่งเป็นตัวที่คอยกำหนดดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ของธนาคารทั่วประเทศ ถึงดอกเบี้ยทุกธนาคารจะไม่เท่ากันเป๊ะๆ แต่ถ้าอัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลง ธนาคารก็จะต้องลดดอกเบี้ย(ทั้งฝากและกู้) ในทางกลับกัน ถ้าอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่ม ธนาคารก็ต้องเพิ่มดอกเบี้ย(ทั้งฝากและกู้)
ซึ่งการเพิ่มและลดอัตราดอกเบี้ยทำตอนไหน และจะมีผลกับเศรษฐกิจอย่างไร อธิบายให้เข้าใจง่ายๆได้แบบนี้ครับ
ถ้าเศรษฐกิจดีเกิน >> รัฐจะขึ้นดอกเบี้ย >> คนไม่อยากกู้มาลงทุนเพราะดอกแพง >> เศรษฐกิจก็จะโตช้าลง
ถ้าเศรษฐกิจแย่ >> รัฐจะลดดอกเบี้ย >> เพื่อให้คนอยากกู้มาลงทุนเพราะดอกถูก >> เศรษฐกิจก็จะโตมากขึ้น
ขออธิบายคร่าวๆแค่นี้นะครับ กลับไปเรื่องตราสารหนี้ต่อ
สิ่งที่ทำให้ตราสารหนี้ไปเกี่ยวกับดอกเบี้ยนโยบายก็คือ ผลตอบแทนของตราสารหนี้จะอ้างอิงตามดอกเบี้ยนโยบาย
และเนื่องจากดอกเบี้ยนโยบายสามารถเปลี่ยนแปลงได้ (เพิ่ม/ลด) ทำให้ราคาและผลตอบแทนของตราสารหนี้มีการเปลี่ยนแปลงได้ด้วย ทำให้เกิดเหตุการณ์ที่ผลตอบแทน (Yield) ไม่ตรงกับดอกเบี้ยหน้าตั๋ว (Coupon rate) ตามตัวอย่างนี้ครับ
สมมติว่าเราซื้อพันธบัตรรุ่น A ราคาพาร์ 100 บาท อัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปี
ผ่านไปไม่นานเกิดเศรษฐกิจซบเซา รัฐจึงประกาศลดอัตราดอกเบี้ย ทำให้พันธบัตรรุ่นใหม่ๆ มีดอกเบี้ยหน้าตั๋วลดลง
สมมติพันธบัตรรุ่นใหม่ที่ออกมาเป็นแบบนี้
พันธบัตรรัฐบาลรุ่น B มีราคาพาร์ 100 บาท อัตราดอกเบี้ย 2.5% ต่อปี
สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ คนจะมาแย่งกันซื้อพันธบัตรรุ่น A เพราะดอกสูงกว่า
พอคนมาแย่งกันซื้อ ทำให้เราที่มีพันธบัตรรุ่น A สามารถตั้งราคาขายที่มากกว่า 100 บาทได้ (ราคาเพิ่ม)
เพราะต่อให้ขายที่ 150 บาท คนที่มาซื้อต่อก็จะได้ดอกเบี้ย (5/150)*100 = 3.33%
จะเห็นว่าต่อให้ซื้อที่ราคา 150 บาท คนซื้อก็ยังได้ผลตอบแทนเยอะกว่าดอกเบี้ยพันธบัตร B อยู่ดี
อะแฮ่มๆ ตอนนี้จะเห็นว่า ผลตอบแทนมันไม่เท่ากับดอกเบี้ยหน้าตั๋วแล้วนะครับ
เดี๋ยวยังไงๆ ตามไม่ทัน
คือสำหรับคนที่ซื้อพันธบัตร A ที่ราคามากกว่า 100 บาท
ผลตอบแทน (Yield) ก็จะน้อยกว่า ดอกเบี้ยหน้าตั๋ว (Coupon rate) น่ะสิครับ
(เช่นถ้าซื้อ 150 บาท ผลตอบแทนเหลือแค่ 3.33% จากดอกเบี้ยหน้าตั๋ว 5%)
(ถาม) ตราสารหนี้สามารถซื้อขายได้ด้วยเหรอ
(ตอบ) ได้ครับ ตราสารหนี้จะมีตลาดรอง เรียกว่า BEX คล้ายๆตลาดหุ้น แต่วิธีการซื้อขายจะต่างกัน ตรงนี้ขอไม่ลงรายละเอียดเนาะ
ในทางตรงข้าม ถ้าเราไปซื้อตราสารหนี้ แล้วหลังจากนั้นรัฐบาลประกาศเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ก็จะทำให้มูลค่าของตราสารหนี้ที่เราถืออยู่ ลดลงไปด้วยเช่นกัน
จากที่อธิบายมาจะเห็นว่า ตราสารหนี้เป็นสินทรัพย์ที่มีความซับซ้อนพอสมควร เอาเป็นว่าอ่านให้พอเห็นภาพละกันเนาะ แต่ถ้าใครไม่เห็นภาพอะไรเลย ให้เข้าใจตามที่สรุปสั้นๆแค่นี้ก็พอ
1. ตราสารหนี้รายละเอียดหลักๆจะมีอายุ ราคาหน้าตั๋ว (Par value) และ อัตราดอกเบี้ย (Coupon rate)
2. ตราสารหนี้ซื้อขายเปลี่ยนมือได้
3. ยิ่งตราสารหนี้อายุยาวนาน จะยิ่งเสี่ยงกับอัตราดอกเบี้ยที่อาจจะขึ้น หรือ ลงในระหว่างอายุของมัน
4. จากข้อ 3 เนื่องจากยิ่งอายุยาวยิ่งเสี่ยง ดังนั้นผลตอบแทนตราสารหนี้ที่อายุยาว จะมากกว่า ตราสารหนี้ที่อายุสั้น
5. ยิ่งเราซื้อตราสารหนี้มาแพงกว่าราคาพาร์ ผลตอบแทนที่เราได้จะน้อยกว่าดอกเบี้ยหน้าตั๋ว (เพราะดอกเบี้ยเขาจ่ายเท่าเดิม)
6. ความเสี่ยงจะขึ้นกับผู้ออกตราสารหนี้ด้วย ยิ่งผู้ออกสามารถเจ๊งได้ง่ายเท่าไหร่ความเสี่ยงจะยิ่งสูง
- ออกโดยรัฐบาลจะเสี่ยงน้อยสุด หรือ ไม่เสี่ยงเลย
- ออกโดยสถาบันการเงิน เช่น ธนาคาร จะเสี่ยงรองลงมา
- เสี่ยงมากสุดคือออกโดยเอกชน
ซึ่งความเสี่ยงตรงนี้เราสามารถดูได้จากเครดิตเรตติ้ง โดยปกติแล้วตราสารหนี้ที่เกรดต่ำกว่า BBB จะไม่น่าลงทุนแล้วนะครับ ในวงการเรียกตราสารหนี้เกรดต่ำๆแบบสุภาพว่าเป็นเกรดสำหรับเก็งกำไร และเรียกแบบหยาบคายว่า Junk Bond
ถ้าใครอ่านแล้วเข้าใจหมดเลย หรือ พอจะมองเห็นภาพ มันจะทำให้เราอ่านข่าวเศรษฐกิจได้สนุกและเข้าใจมากขึ้น อย่างช่วงปลายปีที่แล้ว (ธันวาคม 2562) มันมีเรื่องของ Invert Yield Curve มันคืออะไร?
ลองแปลทีละคำก่อน
Invert = กลับด้าน (เช่น แทนที่น้ำจะไหลจากที่ต่ำมาสูง กลายเป็นไหลจากสูงไปต่ำ)
Yield = ผลตอบแทน
Curve = เส้นโค้ง ในที่นี้หมายถึงกราฟ
แปลได้ว่า กราฟผลตอบแทนกลับด้าน
กลับด้านอย่างไร?
อย่างที่เราคุยกันมาทั้งหมด ปกติผลตอบแทนตราสารหนี้อายุยาวๆจะสูงกว่าตราสารหนี้อายุสั้นๆ
แต่ทว่าเหตุการณ์นี้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ผลตอบแทนของตราสารหนี้อายุสั้นดันทะลึ่งมากกว่าตราสารหนี้อายุยาว
จากความรู้พื้นๆที่มี เราก็จะพอเดาได้ว่า ช่วงนี้เศรษฐกิจซบเซา รัฐบาล(หลายๆประเทศ)ลดดอกเบี้ย ดังนั้นตราสารหนี้ที่ออกใหม่ดอกมันลดลงดิ ทีนี้คนก็แห่ไปซื้อตราสารหนี้เก่าที่มีอายุยาวๆกัน (เพราะอายุสั้นมันครบอายุไปหมดแล้ว)
พอคนแห่ไปซื้อเยอะๆ ราคาก็เลยสูงขึ้น ผลตอบแทนก็ลดลง
แบบนี้เป็นต้น
จากรูปแนบจะเห็นว่าผลตอบแทนตราสารหนี้อายุ 2 ปีกลับมากกว่าตราสารหนี้อายุ 10 ปี
ที่มา: https://www.cnbc.com/2019/08/14/the-inverted-yield-curve-explained-and-what-it-means-for-your-money.html
(ถามต่อ)ทำไมคนสนใจเรื่อง Invert Yield Curve
(ตอบ) เพราะว่าทุกครั้ง ย้ำว่าทุกครั้ง ก่อนที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ มันจะเกิด Invert Yield Curve ก็ไม่แปลกที่คนจะตื่นเต้นกัน
อย่างไรก็ตาม บางครั้งที่เกิด Invert Yield Curve มันก็ไม่เกิดวิกฤตนะ
งงมั๊ยครับ คืองี้
สมมุติว่า วิฤตคือฝนตก
Invert Yield Curve คือเมฆสีดำมืดลอยมา
ทุกครั้งก่อนฝนตก จะมีเมฆสีดำลอยมา
แต่บางครั้งมีเมฆสีดำลอยมา ฝนก็ไม่ตก
ประมาณนี้ครับ
อีกเรื่องที่น่าสนใจ อยากให้ลองเดาดูด้วยความรู้แค่นี้ (มันพอเดาได้นะ)
ก่อนหน้านี้มีข่าวรัฐบาลบางประเทศ ออกตราสารหนี้ที่ผลตอบแทนติดลบ แต่ก็ยังมีคนซื้อ (เชดเขร้) ทำไมอ่ะ?
ผมก็ไม่รู้แน่ๆหรอกครับ 5555
แต่มันก็พอจะเดาได้ว่า เขา(คนซื้อ) ไม่สนผลตอบแทนน่ะสิ
แล้วเขาสนอะไร ก็น่าจะสนที่ขายต่อได้แพงขึ้น หรือ อาจจะเป็นการทำกำไรค่าเงินก็ได้
เพราะรัฐบาลหลายๆประเทศจะมีลิมิตไม่ให้ต่างชาติถือเงินของเขาไว้เยอะ พวกนี้ก็จะเลี่ยงไปถืออย่างอื่นแทนเงินสด เช่น ตราสารหนี้ แนวๆนี้ครับ
คิดว่าวันนี้น่าจะมึนงงก็พอสมควร เอาเป็นว่าพอแค่นี้ดีกว่า 555 EP หน้าเราจะไปดูกองตราสารหนี้ที่เรียกว่า Term Fund กันนะครับ
วันนี้สวัสดีครับ ชุบ ชุบ
ออมให้เงินโต วางแผนการเงินด้วยตัวเอง ใช้ภาษาบ้านๆ เข้าใจง่าย อ่านฟรีครับ
อ่านแล้วมีคำถาม ถามได้ที่เพจตลอดเวลา ยินดีตอบคำถามอย่างมากๆครับผม
ถ้าอ่านแล้วชอบ สั่งซื้อหนังสือออมให้เงินโตได้จากช่องทางต่อไปนี้นะครับ
Line : @proudorder
คลิก > https://bit.ly/33z7RLe
หรือ > Lazada : PROUD

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา