Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ออมให้เงินโต แบบเข้าใจง่ายๆ
•
ติดตาม
29 ส.ค. 2020 เวลา 01:23 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ออมให้เงินโต ภาคกองทุนรวม EP15
“กองทุนตราสารหนี้ตอนที่ 2 กองทุนตราสารหนี้แบบกำหนดอายุ (Term fund) และ แบบโรลโอเวอร์ (Roll Over)”
สวัสดีครับ หลังจากรู้จักตราสารหนี้กันไปแล้ว จริงๆแล้ววันนี้เราควรจะมาคัดกองทุนตราสารหนี้กัน แต่เดี๋ยวก่อน ทำเสียงแบบทีวีไดเร็คต์ 55555
คือตอนที่เราคัดกองตราสารหนี้ เราจะได้เห็นกองตราสารหนี้ที่มีชื่อแปลกๆ เพื่อจะได้ไม่ต้องเกิดคำถามในเวลานั้น วันนี้เรามารู้จักกองตราสารหนี้กลุ่มนี้ก่อนนะครับ
กองทุนตราสารหนี้กลุ่มนี้ก็คือ กองทุนตราสารหนี้แบบกำหนดอายุ ซึ่งเรามักจะได้ยินการเรียกทับศัพท์ว่า เทิร์มฟันด์ (Term Fund) และ โรลโอเวอร์ (Roll Over)
กองโรลโอเวอร์ขอยกไปพูดถึงตอนหลังนะครับ คือมันจะคล้ายๆกัน ถ้าเข้าใจเทิร์มฟันด์แล้ว แบบโรลโอเวอร์คุยกันแป้ปเดียวจบ
ลักษณะของเทิร์มฟันด์ ก็ตามชื่อเลย นั่นคือมันมีกำหนดอายุ และ ทันทีที่เราซื้อกองทุนแบบนี้ เราจะไม่สามารถขายกองทุนได้ จนกว่ากองทุนจะครบอายุของมัน อารมณ์คล้ายๆฝากประจำ หรือ กองทุนปิด แต่ทว่าเทิร์มฟันด์จะใช้ชื่อว่ากองทุนเปิดครับ 555
วิธีการดูว่ากองทุนเปิดที่เราเห็นมันใช่ Term Fund หรือเปล่า ไม่ยากๆดูได้จากชื่อกองทุนเลย สมมุติเรากำลังคัดกรองหากองทุนตราสารหนี้ แล้วเห็นชื่อกองที่มีระยะเวลาอยู่ในชื่อ ให้รู้ไว้เลยว่ามันคือเทิร์มฟันด์นะ
ถ้าเห็นในโบรชัวร์ตามเคาท์เตอร์ธนาคารมีเขียนบอกว่า “ล็อคผลตอบแทน” อันนี้ก็เดาได้ว่าเป็นเทิร์มฟันด์แหงๆ
ที่มา: https://www.morningstarthailand.com/
ยกตัวอย่างจากในรูปกองทุน KFI1YI
ชื่อกองทุนคือ KFI
อายุกองทุนคือ 1 ปี มาจาก 1Y โดย Y ย่อมาจาก Year ซึ่งในกรณีที่เป็นตัว M นั้นจะย่อมาจากเดือน (Month) นั่นเอง
ตัว I เป็นลำดับของกองทุนที่ใช้ชื่อเดียวกัน (ไล่มาตั้งแต่ A, B, C, D,....) ซึ่ง บลจ. บางแห่งอาจจะใช้ตัวเลขแสดงลำดับแทนตัวอักษรก็ได้
มาดูอีกตัวอย่าง กองนี้ใช้ตัวเลขบอกอันดับ
ที่มา: https://www.morningstarthailand.com/
ชื่อกองทุนคือ ASP-AITF อายุ 5 ปี (5Y) และเป็นกองทุนชื่อนี้ลำดับที่ 1 (เลข1) ที่ใช้ชื่อนี้
อย่างไรก็ตามมีเทิร์มฟันด์หลายกองที่ไม่ได้ตั้งชื่อตามนี้ ให้เราดูจาก Fund Fact Sheet มันจะมีระยะเวลากำหนดบอกไว้ในหน้าแรกสุดตามรูป
ส่วนกองทุนแบบโรลโอเวอร์ก็จะเหมือนกับเทิร์มฟันด์น่ะแหละ ชื่อกองทุนก็เขียนเหมือนๆกัน มีกำหนดระยะเวลาเหมือนกัน แต่ความแตกต่างคือ ทาง บลจ. จะเอาเงินเราไปลงทุนต่อไปเรื่อยๆ ถ้าเราไม่บอกให้หยุด
เช่น กองทุนอายุ 3 เดือน พอครบ 3 เดือนแล้ว ถ้าเป็นเทิร์มฟันด์ปกติ บลจ. จะขายคืนเอาเงินเข้าบัญชีธนาคารให้เราโดยอัตโนมัติ แต่ถ้าเป็นแบบโรลโอเวอร์ ทาง บลจ. จะเอาเงินเราไปลงทุนต่ออีก 3 เดือน เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆตามชื่อโรลโอเวอร์
ซึ่ง โรล แปลว่าหมุนหรือกลิ้ง ส่วนโอเวอร์คือทับซ้อนไปเรื่อยๆ รวมแปลได้ว่าหมุนไปเรื่อยๆ
(ถาม) แล้วดูยังไงถึงจะแยกออก ว่านี่มันเทิร์มฟันด์ หรือ โรลโอเวอร์?
(ตอบ) ก่อนอื่นต้องชัวร์ว่ามันเป็นกองทุนที่มีกำหนดอายุแน่ๆนะ จากนั้นให้ไปดู Fund Fact Sheet หน้าท้ายๆในส่วนของ ข้อมูลอื่นๆ ถ้าเจอว่า กองทุนนี้ไม่มีกำหนดอายุโครงการ นั่นคือกองทุนโรลโอเวอร์ครับ (ตามรูป)
วิธีการเลือกกองทุนตราสารหนี้แบบเทิร์มฟันด์และโรลโอเวอร์นั้น เราไม่สามารถทำตารางเปรียบเทียบได้นะครับ เพราะการจะหากองทุนประเภทนี้ที่มีช่วงเวลาลงทุนตรงกันนั้นค่อนข้างวุ่นวาย (เริ่มวันเดียวกัน และ จบวันเดียวกัน)
ถ้าสนใจจะเลือกซื้อกองแบบนี้จริง แนะนำว่าไปคัดกองตราสารหนี้ก่อน แล้วหาดูว่าเทิร์มฟันด์และโรลโอเวอร์ มีให้ผลตอบแทนเยอะกว่าหรือเปล่า ถ้ามีก็ค่อยเอาสัดส่วนตราสารหนี้ที่ไปลงทุนมาเปรียบเทียบกันว่าอันไหนเสี่ยงกว่า
อย่างไรก็ตามด้วยความที่สภาพคล่องต่ำ ซื้อแล้วอีกนาน (ต่ำๆก็ 3 เดือน) กว่าจะขายได้ ส่วนตัวเลยไม่ค่อยแนะนำกองประเภทนี้ครับ
ข้อดีของกองทุนแบบเทิร์มฟันด์ และ โรลโอเวอร์
1. ผลตอบแทนมักจะได้ตามที่บอกไว้ ไม่ค่อยพลาด (ขนาดช่วงโควิด เทิร์มฟันด์หลายๆกองแทบไม่โดนผลกระทบ) เรื่องนี้ทำให้เมื่อก่อนมีเทิร์มฟันด์หลายกองบอกว่าเป็นกองทุนคุ้มครองเงินต้นเลยทีเดียว ซึ่งในความเป็นจริงการลงทุนในกองทุนรวมมันมีโอกาสขาดทุนเงินต้นนะครับ
2. ลักษณะมันจะคล้ายๆฝากประจำ ทำให้เราคุ้นเคย และ เข้าใจมันได้ง่าย
ข้อเสียของกองทุนแบบเทิร์มฟันด์ และ โรลโอเวอร์
1. ข้อเสียที่ร้ายแรงมากของเทิร์มฟันด์และโรลโอเวอร์คือสภาพคล่องแย่มาก เรื่องนี้เรื่องเดียวก็พอแล้วที่จะไปซื้อกองตราสารหนี้ทั่วๆไปดีกว่า
2. มีกำหนดวันเวลาซื้อขาย ทำให้ไม่สะดวกในการลงทุนเท่าไหร่ คือลักษณะมันเหมือนกองทุนปิดเลย (แต่ชื่อเป็นกองทุนเปิดนะ) และในกรณีที่เป็นเทิร์มฟันด์เราจะไม่รู้แน่ๆว่ากองจะครบอายุวันไหนเป๊ะๆ จะรู้ก็ต่อเมื่อเงินเข้าบัญชีแล้ว ถึงตอนนั้นถ้าอยากลงทุนต่อก็ต้องไปหากองทุนที่เปิดขายในช่วงนั้นอีก ซึ่งค่อนข้างวุ่นวาย
วิธีการใช้งานเทิร์มฟันด์และโรลโอเวอร์
กองแบบนี้เหมาะสำหรับกรณีที่เรามีเงินเหลือๆ ไม่มีแผนจะเอาไปทำอะไรในเร็วๆนี้แน่ๆ ก็ใส่ไปในเทิร์มฟันด์ได้ หรือ ใครที่ต้องการจะบังคับตัวเอง ช่วง 3 เดือน หรือ 1 ปีนี้ จะไม่แตะเงินก้อนนี้เด็ดขาด ก็ใช้ได้นะ
สรุป ผลตอบแทนพอๆกับกองตราสารหนี้ แต่สภาพคล่องไม่ดี มีกำหนดระยะเวลาในการซื้อขาย สำหรับใครที่มีวินัยการเงินดีๆ แนะนำกองตราสารหนี้แบบทั่วๆไป สลับไปมากับกองตลาดเงินดีกว่า
จบแล้ววันนี้ EP ต่อไปเราจะไปคัดกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นและระยะกลางกันนะครับ ไว้เจอกันครับ
วันนี้สวัสดีครับ ชุบ ชุบ
ออมให้เงินโต วางแผนการเงินด้วยตัวเอง ใช้ภาษาบ้านๆ เข้าใจง่าย อ่านฟรีครับ
https://bit.ly/3mBhhio
อ่านแล้วมีคำถาม ถามได้ที่เพจตลอดเวลา ยินดีตอบคำถามอย่างมากๆครับผม
https://www.facebook.com/EzyFinPlan
ถ้าอ่านแล้วชอบ สั่งซื้อหนังสือออมให้เงินโตได้จากช่องทางต่อไปนี้นะครับ
Line : @proudorder
คลิก >
https://bit.ly/33z7RLe
หรือ > Lazada : PROUD
คลิก >
https://s.lazada.co.th/s.ZRnKa
บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ออมให้เงินโต ภาคกองทุนรวม
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย