Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เรื่องเล่ารัฐฉาน ล้านนา ล้านช้างและสยามประเทศ
•
ติดตาม
22 ส.ค. 2020 เวลา 10:25 • ประวัติศาสตร์
เจ้าเทพกัญญา บูรณะพิมพ์( ณ เชียงใหม่) เกิดเมื่อวันที่ ๕ มีนาคม พ.ศ.๒๔๒๒ ที่บ้านสันป่าข่อย(ที่ตั้งค่ายกาวิละทุกวันนี้) อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ พระบิดามีนามว่า เจ้าน้อยเทพวงศ์ หรือเจ้าอุตรการโกศล มารดา คือ แม่เจ้าคำเอื้อย ณ เชียงใหม่ มีพี่น้องรวมกันทั้งหมด ๑๑ คน คือ
๑. เจ้าน้อยวงศ์ษา(เพี้ยว)
๒. เจ้าจันทร์สม
๓. เจ้าเขียด
๔. เจ้าเว้อ
๕. เจ้าน้อยศรีโหม้
๖. เจ้าน้อยหมิว
๗. เจ้าหนานอินทยศ
๘. เจ้าคำเครือ(ถวายตัวเป็นนางในของสมเด็จพระพันปีหลวง)
๙. เจ้าเทพกัญญา
๑๐. เจ้ากรรณิกา
๑๑. เจ้าวรรณา
ในระหว่าง พ.ศ.๒๔๒๖ เจ้าทิพเกสร พระธิดาของเจ้าราชวงศ์นครเชียงใหม่(เจ้าสุริยะ)กับเจ้าสุวรรณาถูกส่งลงมาถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เพื่อเป็นบาทบริจาริกา
พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงโปรดฯให้เจ้าคุณจอมมารดาแพเป็นผู้อภิบาล ทั้งโปรดให้เจ้าพระยานรรัตนราชมานิต(โต) เป็นผู้อุปการะเช่นธิดาบุญธรรมด้วย คนเก่าๆยังเล่าลือกันติดปากว่า เจ้าหญิงเชียงใหม่องค์บาทบริจาริกาทรงพระสิริโฉมวิลัยเลิศลักขณา มีผิวบางพรรณวรรณะเหลืองดังการะเกด เป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยิ่งผู้หนึ่ง
เจ้าทิพเกสรทรงประสูติพระโอรสให้กับพระพุทธเจ้าหลวงองค์หนึ่ง เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๒๗
สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงรักใคร่พระเจ้าลูกเธอ ที่ประสูติจากเจ้าเมืองเหนือองค์นี้มาก ในตอนค่ำวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๒๗ ซึ่งเป็นวันพระราชพิธีสมโภชเดือนพระเจ้าลูกเธอพระองค์นี้ หลังจากออกประชุมขุนนางแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯได้เสด็จไปพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาพระบรมราชเทวีและทรงประทานพระนามราชโอรสองค์ที่ ๔๔ ของพระองค์ว่า“พระองค์เจ้าชายดิลกนพรัฐ” พระนามนี้พระบรมราชเทวีได้ทรงแปลความหมายให้แก่เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิส สยามมกุฎราชกุมารฟังในวันนั้นว่า“ศรีเมืองเชียงใหม่” และเจ้าทิพเกสรก็ได้รับสถาปนาเป็น“เจ้าจอมมารดา”ขึ้นพร้อมกันด้วย
จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๔๓๔ เจ้าจอมมารดาทิพเกสรเริ่มมีพระพลานามัยไม่แข็งแรง จึงได้แจ้งไปยังเจ้าอุตรการโกศลผู้เป็นอาว์(น้องชายของเจ้าสุวรรณา) เพื่อขอเจ้าเทพกัญญา ซึ่งเวลานั้นมีอายุเพียง ๑๒ ปีมาอยู่ใกล้ชิดและดูแลหลาน
เมื่อเจ้าเทพกัญญามาอยู่กรุงเทพฯ เจ้าจอมมารดาทิพเกสรได้เลี้ยงดูน้องและทนุถนอมเป็นอย่างดี โดยให้ศึกษาหนังสือไทยและการดนตรีในสำนักครูหม่อม ผิว มานิตยกุล ภรรยาของพระยานรรัตนราชมานิต(โต)ผู้เป็นบิดาบุญธรรมของเจ้าทิพเกสร จนมีความชำนาญแล้วจึงให้ไปศึกษาซอสามสายต่อกับพระยาประสานดุริยศัพท์(คุณครูแปลก ประสานศัพท์)บ้านตรอกไข่ เสาชิงช้า จนมีความสามารถและช่ำชองในด้านดนตรี และได้เป็นต้นห้องของเจ้าจอมมารดาทิพเกสรติดต่อกันมา
ในรัชสมัยของพระพุทธเจ้าหลวงนั้น พระองค์ทรงโปรดการถ่ายรูปและชักชวนพระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนถึงเจ้าจอมหม่อมห้ามถ่ายรูปอยู่เป็นประจำ พอถึงปีใหม่ก็ส่ง ส.ค.ส.เป็นรูปถ่ายต่างๆถวายพระพรและอวยพรกันอยู่เกือบจะเป็นราชประเพณี ดังนั้นเจ้าจอมมารดาทิพเกสรจึงส่งเจ้าเทพกัญญาไปเรียนถ่ายรูปอยู่กับห้างโรเบิต เลนซ์ ซึ่งเป็นช่างภาพหลวงชาวเยอรมัน เข้ามาเปิดร้านครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๓๙ ร้านตั้งอยู่หัวมุมถนนเจริญกรุงกับถนนพาหุรัต ซึ่งไม่ไกลจากสำนักของพระยานรรัตนราชมานิต(โต)เท่าใดนัก
เจ้าเทพกัญญาใช้เวลาศึกษาวิชาถ่ายรูปอยู่นานถึง ๒ ปี จนเห็นว่าใช้การได้แล้ว เจ้าจอมมารดาทิพเกสรจึงได้สนับสนุนให้ตั้งห้องถ่ายและล้างอัดขึ้นในพระตำหนัก เพื่อถ่ายรูปเจ้านายฝ่ายในและพระราชพิธีต่างๆและรับงานของโรเบิต เลนซ์ที่เกี่ยวกับในวังมาทำด้วย เพราะกฎมณเฑียรบาลได้ตราไว้ ห้ามมิให้ผู้ชายเข้าไปในราชสำนักอย่างเด็ดขาด
นับว่าเจ้าเทพกัญญาในราชสำนักที่เป็นช่างถ่ายรูปอาชีพก็ว่าได้ ด้วยเหตุนี้จึงมีเพื่อนที่สนิททั้งที่เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนขุนนางข้าราชการ มหาดเล็กและจ่าโขลนอย่างกว้างขวาง
ชีวิตกลางวัยของเจ้าจอมมารดาทิพเกสรได้เริ่มป่วยกระเสาะกระแสะลง จึงได้รับพระมหากรุณาให้พักผ่อนรักษาตัว และเตร็ดเตร่ไปสุดแต่จะชอบ โดยโปรดเกล้าฯให้จัดขบวนเรือไฟและเรือปิ๊กนิ๊ก ท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆมากแห่งในภาคกลาง ถ้าจะไปทะเลก็โปรดเกล้าให้ใช้เรือหลวงมกุฎราชกุมารไปตามจังหวัดชายทะเลฝั่งตะวันออก และพักแรมรักษาตัวอยู่ที่อ่างศิลา ณ ที่นี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ก็ได้เสด็จไปเยี่ยมถึงที่นั่น อันเป็นพระมิ่งมหานโยบายอันลึกซึ้งที่ผูกน้ำใจชาวเชียงใหม่ ผู้คนก็เล่าลือกันว่าพระเจ้าอยู่หัวโปรดปรานเป็นพิเศษ ทั้งโปรดเกล้าให้พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าดิลกนพรัตน์ฯ ซึ่งยังทรงศึกษาอยู่ในประเทศเยอรมันนี กลับมาเยี่ยมเจ้าจอมมารดาถึงอ่างศิลา ซึ่งเจ้าเทพกัญญาติดตามประคับประคองพี่สาวไปทุกหนทุกแห่ง
พระมหากรุณานี้พระเจ้าอินทรวิชยานนท์ ทรงปราบปลื้มในพระจริยาวัตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยิ่งนัก และได้ทรงส่งพระธิดา คือ เจ้าดารารัศมีมาถวายเป็นบาทบริจาริกาอีกองค์หนึ่ง
เมื่อเจ้าจอมมารดาทิพเกสรเริ่มป่วยหนักลง จึงได้มอบหมายฝากฝังเจ้าเทพกัญญากับเจ้าดารารัศมีแบบฉันญาติสนิท เจ้าดารารัศมีจึงรับอุปถัมภ์เจ้าเทพกัญญาแทนเจ้าจอมมารดาทิพเกสรแต่นั้นเป็นต้นมา และยังคงทำหน้าที่ช่างภาพฝ่ายในติดต่อกันมา
ครั้น พ.ศ.๒๔๔๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯโปรดให้มีการอวดรูปขึ้นเป็นครั้งแรก ในงานฤดูหนาวที่วัดเบญจมบพิตร
ต่อมา พ.ศ.๒๔๔๘ พระองค์ทรงโปรดให้มีการประชันรูปขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในคราวนั้นมีผู้ส่งรูปเข้าประชันถึง ๑๔๐ คน จำนวนรูป ๑,๑๘๔ รูป
นอกจากนี้บรรดาเจ้านายจะต้องไปตั้งร้านจำหน่ายสินค้าต่างๆ ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชชายา เจ้าดารารัศมีก็ออกร้านถ่ายรูปและอัดให้เดี๋ยวนั้น โดยมีเจ้าเทพกัญญาเป็นช่างภาพอยู่ทุกปี
ขณะนั้นเจ้าเทพกัญญาทรงเป็นสาวรุ่นวัย ๒๐ ปีเศษ ด้วยการวางตัวเป็นกุลสตรีทางเชียงใหม่ จึงเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่เรียกความสนใจจากเจ้านายฝ่ายหน้า บรรดาเจ้านายทุกคนชอบเยือนร้านของพระราชชายา เจ้าดารารัศมีและมักจะรับสั่งเป็นเชิงสัพยอกว่า มีกล้องดีมากใคร่ขอประทานกล้อง ใคร่ขอประทานช่างภาพไปกับกล้องด้วย อันเป็นเหตุหนึ่งที่เจ้าเทพกัญญารู้จักเจ้านายฝ่ายหน้าอย่างสนิทสนมหลายพระองค์ อันเป็นทุนที่นำมาใช้ช่วยลูกหลานว่านเครือได้มากในภายหลัง
เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๙ เจ้าเทพกัญญาได้ทูลขอเจ้าดารารัศมีเพื่อออกมาอยู่“เรือนนอก”(คือการเลิกเป็นชาววัง) เพื่อสมรสกับนายร้อยตำรวจเอกหนุ่มที่เคยตามให้ความคุ้มครองขบวนเรือที่เจ้านายชอบประพาสในน่านน้ำภาคกลาง เช่น สุพรรณ, ผักไห่, ทุ่งหันตรา, และมหาราชอยู่เนืองๆ คือ ขุนราญทุระชน รักษาการผู้บังคับตำรวจภูธรกรุงเก่า(ต่อมาก็เลื่อนเป็นตัวผู้บังคับการ) เพราะขณะนั้นเจ้าเทพกัญญามีอายุถึง ๒๖ ปีแล้ว
อยุธยาเมื่อ ๔๐-๕๐ ปีก่อนโน้นเป็นจังหวัดที่เจ้านายโปรดไปพักผ่อนอยู่เสมอ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็โปรดไปทรงพระสำราญที่พระราชวังบางปะอิน ความมักคุ้นเดิมที่เคยมีมาแต่เยาว์วัยในครั้งอยู่ในวัง ย่อมทำให้เจ้านายฝ่ายในรู้สึกเป็นกันเอง ที่สามีของคนที่เป็นเพื่อนหรือเป็นข้าหลวงมาคอยต้อนรับ และพิทักษ์รักษาอยู่และโปรดให้เข้านอกออกในได้โดยสะดวก
ในชีวิตสมรสกับนายตำรวจ ซึ่งต่อมาเป็นนายพันตำรวจโทพระราญทุระชน(แม้น บูรณะพิมพ์) อันเป็นความผาสุกราบรื่นนี้ ได้มีบุตรและธิดารวมด้วยกัน ๔ คน ในสามคนแรกได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระบรมราชินีพันปีหลวง คือ
๑. นายพันตำรวจตรี แม้นเทพ บูรณะพิมพ์
๒. นายร้อยตำรวจเอก แม่นไทย บูรณะพิมพ์(ถึงแก่กรรม)
๓. ทิพย์อวล บูรณะพิมพ์ สมรสกับนายโป๊ะ บูรณะพิมพ์(ถึงแก่กรรม)
๔. นาวาอากาศเอก สมุทร์ บูรณะพิมพ์
ได้ร่วมชีวิตสมรสกับสามีเพียง ๑๒ ปี จนถึง พ.ศ.๒๔๖๑ สามีก็ถึงแก่กรรม ซึ่งบุตรชายคนเล็กก็มีอายุเพียง ๑ ขวบเท่านั้น เจ้าเทพกัญญาต้องต่อสู้ชีวิตด้วยความกล้าหาญอดทนอย่างน่าสรรเสริญ cr.ชมรมรักษ์ฝ่ายเหนือ
บันทึก
4
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
เจ้าหลวงเชียงใหม่ เชื้อเจ้าเจ็ดตน
4
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย