ภาพนี้เข้าใจว่าคงถ่ายเมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธเสด็จราชดำเนินเยือนเชียงใหม่ เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๔๔๘ จะสังเกตเห็นธงช้างเผือกประดับอยู่ตลอดระเบียงคุ้มทั้งบนและล่าง ติดป้ายเฉลิมพระเกียรติ “ขอจงทรงพระเจริญ” หน้ามุขทั้งสองของคุ้ม
คุ้มนี้เป็นที่ประทับของพลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ อดีตเจ้าหลวงองค์สุดท้ายของเชียงใหม่ เดิมเป็นบ้านของหมอชีคมัชชันนารีชาวอเมริกัน ได้ออกแบบก่อสร้างเอง แล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๔๓๓ (ปีเดียวกับการสร้างขัวกุลาเสร็จ) ต่อมาภายหลังขายให้กับพลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ
มองในภาพเป็นเรือนไม้สูงสองชั้น หันหน้าไปทางแม่น้ำปิง สร้างด้วยไม้สักล้วนทั้งหลัง ด้านล่างก่ออิฐ หลังคาทรงสูงคล้ายแบบยุโรป มุงด้วยกระเบื้องดินเผา มีบันไดขึ้นลงชั้นสองทั้งด้านซ้ายและด้านขวา ต่อมาได้รื้อบันไดทั้งสองลงเมื่อนายชู โอสถาพันธุ์หรือเถ้าแก่โอ้ว ซื้อไปได้ไม่นาน เปลี่ยนไปขึ้นลงทางด้านหลังที่เดียว มีระเบียงล้อมรอบทั้งสองชั้น ไม้ระเบียงฉลุลวดลายสวยงาม ชั้นล่างเป็นห้องรับแขกและห้องครัว ส่วนชั้นบนเป็นพักใหญ่รวม ๗ ห้อง มีมุขบนหลังคาคล้ายห้องใต้หลังคาแบบบ้านชาวยุโรป ฝาบ้านใช้ไม้สักแผ่นตีเป็นเกล็ดทับซ้อนกันไป หน้ามุขมีลานสนามหญ้ากว้าง ด้านขวามือมีทางเดินจากหน้าคุ้ม
จากหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพเจ้าวงศ์จันทร์ (ณ เชียงใหม่) คชเสนีย์ พ.ศ. ๒๕๔๐ ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานปู่พลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ ได้กล่าวบันทึกถึงสภาพภายในคุ้มขณะนั้นว่า ".ทางท้ายคุ้มมีโรงเลี้ยงม้าใหญ่ คนเลี้ยงม้ามีห้องที่อยู่ในโรงนั้นด้วย มีม้าประมาณ ๓๐ ตัว มีรถเทียมม้าหลายคัน ต่อจากโรงม้าเป็นโรงยาวปลูกติดกัน มีครกไม้เป็นครกใหญ่ขุดตรงกลางท่อนไม้ทำเป็นที่ตำข้าว ทางเหนือเรียกว่า "มอง“ตำข้าว มีมองเรียงกัน ๖ ที่ มีคนตำข้าวมองละ ๒ คน เวลาตำใช้เหยียบปลายไม้ให้กระดกขึ้นแล้วปล่อยลงในครกส่วนปลายครกอีกทางด้านหนึ่งเอาสากใส่ไว้ คนตำข้าว ๒ คนมีคนคอยดูแลคอยกวนข้าวพลิกข้างล่างขึ้นข้างบนคนหนึ่ง ตำกันทุกวัน พอถึงฤดูเอาข้าวมาจากนาเอาข้าวเปลือกใส่เกวียนมาส่ง เกวียนเป็น ๒๐ เล่ม มียุ้งข้าวปลูกอยู่หลังโรงตำ ต่อจากยุ้งข้าวมีโรงสำหรับเก็บเครื่องช้างทั้งหมด มีสัปคับ โซ่ช้าง เชือกบาทและอื่นๆเกี่ยวกับช้าง ต่อจากโรงช้างเป็นเรือนผู้ดูแลและสัมภาระทั้งหมด ต่อจากนั้นเป็นเรือนแถวยาวสำหรับพวกพิณพาทย์และเป็นที่เก็บเครื่องดนตรีทั้งหมด มีครูอยู่ที่นั่นสำหรับดูแลเครื่องฝึกซ้อมดนตรีอยู่เสมอ”
เจ้าแก้วนวรัฐประทับอยู่ที่คุ้มแห่งนี้จนถึงพิราลัยใน พ.ศ. ๒๔๘๒ เจ้าบัวทิพย์บุตรีได้ขายคุ้มแห่งนี้ให้กับนายชู โอสถาพันธ์พ่อค้าชาวจีน ต่อมาได้รื้อคุ้มแห่งนี้ลงแล้วนำไปสร้างใหม่ที่ท่าสะต๋อย โดยย่อส่วนให้เล็กลง
บริเวณคุ้มเดิมได้สร้างตลาดสดขึ้นแทน สร้างเสร็จเมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๐๐ ให้ชื่อว่า “ตลาดนวรัฐ” เพื่อเป็นเกียรติและเป็นอนุสรณ์แก่ เจ้าแก้วนวรัฐเจ้าของสถานที่เดิม บริเวณคุ้มที่ถูกรื้อลงคือร้านทองในปัจจุบัน
คุ้มแห่งนี้ได้เป็นที่ประทับของพลตรีเจ้าแก้วนวรัฐเป็นเวลานานถึง ๔๙ ปีเศษ.