Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เรื่องเล่ารัฐฉาน ล้านนา ล้านช้างและสยามประเทศ
•
ติดตาม
23 ส.ค. 2020 เวลา 01:31 • ประวัติศาสตร์
ย้อนรอย อนุสาวรีย์พระยาไชยบูรณ์ จ. แพร่
ในเมืองไทยมีอนุสาวรีย์วีรบุรุษผู้เสียสละมากมาย เป็นสิ่งที่สร้างไว้เป็นที่ระลึกถึงบุคคลหรือเหตุการณ์สำคัญ เพื่อเตือนใจให้รู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีต เพื่อให้เข้าใจอดีต และใช้อดีตเป็นบทเรียนในบางเรื่องราว ดังเช่นอนุสาวรีย์พระยาไชยบูรณ์ กับ เรื่องราวที่หลายคนเรียกว่า เหตุการณ์กบฏเงี้ยว พ.ศ. 2445 ในการย้อนรอยศึกษาผู้เขียนจะนำเสนอแบบกว้างๆ พอให้เห็นภาพ หากใครสนใจในเรื่องลักษณะของเหตุการณ์ และลำดับเหตุการณ์เชิงลึก สามารถค้นคว้าต่อไปได้ครับ
สำหรับประวัติพระยาไชยบูรณ์ นั้น เดิมมีชื่อว่า ทองอยู่ สุวรรณบาตร เป็นบุตรของพระยาศรีเทศาบาล และคุณหญิงกมลจิตร เป็นชาวเมืองพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ เริ่มรับราชการ เมื่ออายุ 21 ปี ในตำแหน่งเสมียนอำเภอพิชัย ต่อมาได้เลื่อนเป็นปลัดอำเภอ นายอำเภอ และผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก และได้เลื่อนเป็นปลัดมณฑลพิษณุโลก และในปี พ.ศ.2440 ย้ายไปเป็นข้าหลวงจังหวัดแพร่ และต่อมาได้เลื่อนยศเป็นพระยาไชยบูรณ์ในปี 2443
ภายหลังการเสียชีวิตพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์พระยาไชยบูรณ์เป็น พระยาราชฤทธานนท์พหลพลภักดี ส่วนภริยาคุณหญิงเยื้อน ก็ได้รับพระราชทานบำนาญตลอดชีวิต สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้สร้างอนุสาวรีย์ไว้ตรงที่ท่านถูกฆ่าตาย เพื่อเป็นที่ระลึกถึงความกล้าหาญ และความรักเกียรติยศหน้าที่ยิ่งชีวิต อนุสาวรีย์พระยาไชยบูรณ์ แห่งนี้ตั้งอยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดแพร่ ประมาณ 4 กิโลเมตร
#หลายคนอาจสงสัย ใคร คือ เงี้ยว?
เงี้ยว คือ ชื่อหนึ่งของชนชาวไทใหญ่ที่ใช้เรียกกันเป็นสามัญในประเทศไทยสมัยก่อน (แต่เป็นคำที่ไม่สุภาพ) ตามข้อมูลที่ชาวบ้านล้านนาทั่วไปเข้าใจกัน เงี้ยวก็คือ ชาวพม่า หรือกลุ่มคนที่มาจากฝั่งพม่า ในอดีตชาวพม่ากับชาวล้านนาก็ติดต่อค้าขาย เดินทางไปมาหาสู่กัน และบางส่วนก็ได้มาลงหลักปักฐานอยู่ในล้านนา ดังนั้นจึงมีวัด มีชุมชนของชาวพม่าอยู่ทั่วไปในล้านนา ซึ่งชาวล้านนามักเรียกวัดพม่าว่า วัดเงี้ยว เพราะสร้างโดยชาวพม่า แม้ในปัจจุบันก็ยังคงหลงเหลืออยู่ แต่ถ้าจะกล่าวอย่างเป็นทางการหน่อย อาจารย์เกรียงศักดิ์ ชัยดรุณ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “ครบรอบ 100 ปี เหตุการณ์เงี้ยวก่อการจลาจลในมณฑลพายัพ พ.ศ. 2445” “เงี้ยว” หมายถึง กลุ่มไทใหญ่ เป็นกลุ่มชนชาติไต เผ่าหนึ่งที่อาศัยอยู่ในรัฐฉาน ประเทศพม่า ซึ่งในรัฐฉานก็มีคนไตอยู่หลายกลุ่มด้วยกัน ในเหตุการณ์กบฏเงี้ยว พ.ศ. 2445 ที่ จ.แพร่ เข้าใจว่า เงี้ยวกลุ่มนี้คงได้รับผลกระทบ และถูกลิดรอนสิทธิ์ในบางเรื่อง โดยการนำของ พะกาหม่อง และ สะลาโปไชย ที่เป็นชาวไทใหญ่ เป็นหัวหน้าผู้ก่อการ ผู้คนจึงติดปากเรียกว่า กบฏเงี้ยว (ไทใหญ่)
#บริบทสยามในช่วงปี พ.ศ. 2429 - 2445
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สยามถูกบีบจากสถานการณ์การล่าอาณานิคมของชาติตะวันตกอย่างหนัก เพราะกำลังถูกคุกคามดินแดนจากประเทศมหาอำนาจ เห็นได้จากในช่วงระยะเวลานั้นทางอังกฤษสามารถยึดครองพม่าได้และฝรั่งเศสก็สามารถยึดครองลาวได้ ทำให้ทางสยามอยู่ในภาวะล่อแหลมที่จะถูกคุกคามจากทั้งอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งล้านนาถือว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์ ที่มีความสำคัญตั้งแต่อดีต อีกทั้งล้านนายังเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของสยาม โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ล้านนามีทรัพยากรธรรมชาติคือ ป่าไม้สัก แร่เหล็ก อัญมณี ที่มีมูลค่ามหาศาล จึงเป็นที่หมายตาของประเทศมหาอำนาจ
ในปี พ.ศ. 2429 กองทัพอังกฤษได้บุกยึดเมืองมัณฑะเลย์ ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่สุดท้ายของพม่าได้สำเร็จ และได้ใช้พม่าเป็นฐานในการรุกรานดินแดนล้านนา โดยในช่วงแรกได้เข้ามาในรูปของการขออนุญาตจัดตั้งบริษัททำป่าไม้ โดยยอมจ่ายค่าสัมปทานให้กับทางเจ้านายฝ่ายเหนือ
ในปี พ.ศ. 2435 สยามได้สูญเสียดินแดนหัวเมืองเงี้ยวทั้งห้าและหัวเมืองกระเหรี่ยง รวม 13 หัวเมืองให้แก่อังกฤษ ได้แก่ เมืองหาง เมืองสาด เมืองต่วน เมืองทา และเมืองจวด ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน ซึ่งแต่เดิมอยู่ภายใต้การปกครองของเชียงใหม่ เนื่องด้วยพื้นที่ดังกล่าวมีป่าไม้สักที่อุดมสมบูรณ์ เนื่องจากในขณะนั้นทางสยามถูกฝรั่งเศสคุกคามทางดินแดนด้านตะวันออก จึงจำต้องยอมยกดินแดนดังกล่าวให้เพราะไม่ต้องการเปิดศึกสองด้าน
แต่ในที่สุดสยามก็ต้องเสียดินแดนลาวฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2436 ทำให้อิทธิพลของฝรั่งเศสขยายมาจรดดินแดนตะวันออกของล้านนาคือแถบจังหวัดน่าน
จะเห็นได้ว่า สยามถูกคุกคามจากประเทศมหาอำนาจอย่างหนัก จึงต้องรีบเร่งดำเนินการปฏิรูปการปกครองในล้านนา โดยรัฐบาลสยามได้ตั้งเป็นมณฑลลาวเฉียงแทนหัวเมืองลาวเฉียงเดิม โดยแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 3 เมือง คือ เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง และได้ดำเนินนโยบายต่างๆ ทั้งลดเงินผลประโยชน์เจ้านายฝ่ายเหนือจากที่เคยได้รับ การถอดถอนเจ้านายฝ่ายเหนือออกจากตำแหน่งแล้วแต่งตั้งคนจากส่วนกลางแทน การให้ข้าหลวงใหญ่มณฑลเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด ซึ่งแต่เดิมอำนาจสูงสุดเป็นของเจ้าผู้ครองนคร ถึงแม้เจ้านายฝ่ายเหนือจะเรียกร้องขออำนาจคืนแต่ก็ไม่เป็นผล ในปี พ.ศ. 2443 รัฐบาลสยามได้เปลี่ยนมณฑลลาวเฉียงมาเป็นมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ และเปลี่ยนมาเป็นมณฑลพายัพในปีเดียวกัน
จากการที่สยามได้เร่งปรับนโยบายการปกครองในล้านนา โดยการส่งข้าหลวงใหญ่ขึ้นมาประจำ เพื่อควบคุมการบริหารงาน และเพื่อต้องการเข้าไปควบคุมผลประโยชน์ในล้านนาอย่างเบ็ดเสร็จ จึงสร้างความไม่พอใจแก่เจ้านายฝ่ายเหนือไม่น้อย เพราะถูกลิดรอนอำนาจและสูญเสียผลประโยชน์ โดยเฉพาะการให้สัมปทานป่าไม้ในเขตภาคเหนือ ซึ่งแต่เดิมเป็นรายได้หลักของเจ้านายฝ่ายเหนือ นอกจากนี้การเก็บภาษีทางสยามก็เป็นผู้ดำเนินการจัดเก็บเอง และได้ใช้วิธีการจัดเก็บภาษีที่เป็นระบบโดยมีการแต่งตั้งเจ้าภาษีนายอากร มีหน้าที่เก็บภาษีโดยตรง ดังนั้นจึงเกิดความคิด #ต่อต้านสยาม ขึ้นในล้านนา โดยเชื่อว่า มีเจ้านายฝ่ายเหนือเป็นผู้หนุนหลัง เพราะเกิดจากความไม่พอใจในอำนาจของสยาม เช่น กรณีกบฏพระยาปราบสงคราม (ผญาผาบ) ในปี พ.ศ. 2432 ซึ่งถือว่าเป็นการส่งสัญญาณการต่อต้านอำนาจรัฐบาลสยามอย่างรุนแรงเป็นครั้งแรก
เมื่อเหตุการณ์ปราบกบฏเงี้ยวสงบลง เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) จึงทำการสอบสวนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ โดยได้สอบสวนพยานหลายคน เมื่อสอบสวนพยานเสร็จไปหลายคน ก็พบหลักฐานต่างๆ ผูกมัดเจ้าเมืองแพร่และเจ้านายบุตรหลานบางคนที่มีส่วนรู้เห็นเป็นใจกับกบฏเงี้ยวในครั้งนี้ ทำให้เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ (เจ้าน้อยเทพวงศ์) เจ้าผู้ครองนครแพร่ ได้เสด็จลี้ภัยการเมืองไปประทับอยู่ที่นครหลวงพระบาง (ลาว) สยามได้ปลดออกจากการเป็นเจ้าผู้ครองนครแพร่ถอดราชศักดิ์ลงเป็นไพร่ ให้เรียกพระองค์ว่า “น้อยเทพวงศ์” พร้อมยึดคุ้มหลวงและราชสมบัติ
จากที่กล่าวมาพอสรุปเหตุการณ์โดยรวมได้ว่า ทางรัฐบาลสยามได้ถูกคุกคามจากประเทศมหาอำนาจ เพื่อหมายเข้ายึดครองดินแดนล้านนา โดยมีผลประโยชน์ด้านทรัพยากรเป็นสิ่งดึงดูด จึงทำให้รัฐบาลสยามต้องเร่งปฏิรูปการปกครองในล้านนา ผลจากการปฏิรูปการปกครองดังกล่าว ก็สร้างความไม่พอใจให้แก่เจ้านายฝ่ายเหนือที่ถูกลิดรอนอำนาจและสูญเสียผลประโยชน์ โดยเฉพาะจากการให้สัมปทานป่าไม้ นอกจากนี้จากนโยบายการเก็บภาษีก็สร้างความไม่พอใจให้กับชาวบ้านที่ส่วนใหญ่มีฐานะยากจน และจากการปฏิรูปการปกครองได้มีการกำหนดเขตแดนชัดเจน ทำให้การเดินทางผ่านแดนของชาวเงี้ยวได้รับผลกระทบ แถมยังถูกลิดรอนสิทธิ์อื่นๆ จนในที่สุดปัญหาต่างๆ ก็นำไปสู่การต่อต้านอำนาจรัฐบาลสยามในที่สุด ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมอย่างรุนแรงต่อข้าราชการไทยในครั้งนั้น.
Cr : ขอบคุณข้อมูล
https://www.gotoknow.org/posts/493541
Cr : ขอบคุณ ภาพจากอินเตอร์เนต
บันทึก
4
2
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
กบฏเงี้ยวเมืองแพร่
4
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย