23 ส.ค. 2020 เวลา 21:41 • ประวัติศาสตร์
‘กบฏเงี้ยว’ พ.ศ.2445 – การต่อต้านสยามของประเทศราชล้านนา
สยามปกครองดินแดนล้านนาโดยพยายามควบคุมให้อยู่ในพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่กรุงเทพฯ มาตลอด แต่ไม่ได้เข้าไปจัดการปกครองโดยตรงจนกระทั่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีพระราชดำริปรับปรุงการปกครองทั่วพระราชอาณาจักร อันเป็นการดึงอำนาจรัฐเข้าสู่ศูนย์กลางมากขึ้น เพื่อป้องกันภัยคุกคามจากลัทธิจักรวรรดินิยมจากอังกฤษและฝรั่งเศส การปฏิรูปในสมัยรัชกาลที่ 5 ทำให้เกิดความไม่พอใจของชนพื้นเมืองท้องถิ่นในดินแดนล้านนาหรือในขณะนั้นเรียกว่า ‘มณฑลพายัพ’ รวมถึงบรรดาชนชั้นผู้ปกครองท้องถิ่นที่ค่อย ๆ สูญเสียอำนาจไปเรื่อย ๆ ก็ได้สนับสนุนพวกเงี้ยวให้ก่อกบฏ จนนำไปสู่เหตุการณ์กบฏเงี้ยว พ.ศ. 2445
‘ไทยใหญ่’ หรือ ‘เงี้ยว’ คือกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่กระจายทั่วไปตามเทือกเขาทางภาคเหนือของไทย ลาว เมียนมา และตอนล่างของจีนในปัจจุบัน พวกเงี้ยวมีความใกล้ชิดกับชาวล้านนามานานหลายร้อยปี เพราะในอดีตไม่มีการแบ่งเขตแดนตามรูปแบบของรัฐสมัยใหม่ ผู้คนจึงสามารถเคลื่อนย้ายถิ่นฐานได้สะดวกโดยไม่สนใจเส้นแบ่งพรมแดน ซึ่งก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนและผสมผสานทางวัฒนธรรมระหว่างกันมาโดยตลอด ชาวล้านนาจึงมีความใกล้ชิดกับพวกเงี้ยวมากกว่าพวกไทย-สยาม
เล่ากันมาว่าในขั้นแรกของเหตุการณ์ ‘กบฏเงี้ยว’ เกิดจากกลุ่มเจ้านายและขุนนางล้านนา ทำการเบี่ยงเบนความสนใจของสยาม จากภายในนครเชียงใหม่ให้ออกไปจัดการปัญหาที่ชายแดน โดยใช้วิธีให้กลุ่ม ‘เงี้ยว’ (ไทใหญ่) คอยสร้างสถานการณ์ให้เกิดความวุ่นวายแถบบริเวณชายแดนระหว่างนครเชียงใหม่กับรัฐฉานและพม่าแต่ก็ไม่ได้ผลเพราะสยามยังดำเนินนโยบายการปฏิรูปต่อไป จึงปรับเปลี่ยนนโยบายมาทำการต่อต้านขึ้นภายในตัวเมืองนครเชียงใหม่โดยตรง ที่ทางฝ่ายสยามเรียกว่า ‘กบฏพระยาผาบ’ ซึ่งนำโดย ‘พญาปราบสงคราม’ หรือ ‘พญาปราบพลมาร’ แม่ทัพเมืองนครเชียงใหม่เชื้อสายไทเขิน โดยมีเจ้านายให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลังในปี พ.ศ.2432 ความไม่พอใจที่สยามเข้ามาแทรกแซงอำนาจของเมืองนครเชียงใหม่
ต่อมาในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2445 มีข่าวลือแพร่สะพัดไปทั่วว่ามีการซ่องสุมกำลังพวกโจร อันธพาล ที่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน ในแขวงเมืองลอง บ้านบ่อแก้ว (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่) ซึ่งเป็นแหล่งชุมชนของพวกเงี้ยว พระมนตรีพจนกิจข้าหลวงประจำเมืองลำปางจึงสั่งให้กวาดล้างเงี้ยวที่บ่อแก้ว แต่ฝ่ายทางการกลับพ่ายแพ้ต้องล่าถอยกลับลำปาง ทำให้พวกเงี้ยวได้ใจที่จะเข้ายึดเมืองแพร่ เหตุพวกเงี้ยวไม่พอใจรัฐบาลสยามอันเนื่องมาจากปัญหาเรื่องสิทธิจากสนธิสัญญาเบาว์ริง กล่าวคือ คนที่อยู่ในบังคับของอังกฤษห้ามมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย รวมถึงห้ามตัดไม้เพื่อสร้างบ้านหรือวัด ในราชอาณาจักรสยาม หากเงี้ยวคนไหนที่ไม่มีหนังสือรับรองว่าเป็นคนในบังคับของอังกฤษก็จะถือว่าเป็นคนของสยามและต้องเสียภาษีแทนการเกณฑ์แรงงาน 4 บาทต่อปี เงี้ยวบางพวกอาศัยอยู่ในสยามมานานแต่ต้องการได้สิทธิพิเศษจากอังกฤษ จึงเข้าไปเป็นคนในบังคับของอังกฤษ เมื่อสยามบังคับใช้กฎหมายตามสนธิสัญญาอย่างเคร่งครัด พวกเงี้ยวเหล่านี้จึงต้องเสียสิทธิจากสยามไปโดยปริยาย จึงก่อให้เกิดความไม่พอใจขึ้นโดยเฉพาะเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกิน
วันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2445 พวกเงี้ยวนำโดย ‘สล่าโปไชย’ และ ‘พะก่าหม่อง’ จำนวนหลายร้อยคนบุกเข้าเมืองแพร่ในเวลาเช้าตรู่ ได้ปล้นทรัพย์สินของชาวบ้าน ทำลายสถานที่ราชการ และห้างร้านเสียหายย่อยยับ และมุ่งสังหารคนไทย-สยามและคนลาวล้านนาที่ต่อต้าน โดยเฉพาะข้าราชการที่สยามส่งมาปกครองก็ถูกสังหารไปกว่า 20 คน หนึ่งในนั้นคือ พระยาราชฤทธานนท์ ข้าหลวงเมืองแพร่ก็ถูกพวกเงี้ยวสังหาร พวกเงี้ยวเหิมเกริมประกาศจะสังหารคนไทยไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ แต่จะละเว้นชาวต่างชาติและคนท้องถิ่นที่ไม่คิดต่อต้าน
สยามส่งเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) นำทัพใหญ่มาปราบกบฏเงี้ยว โดยใช้ระยะเวลาไม่นานพวกเงี้ยวก็ถูกปราบราบคาบแล้วยึดเมืองแพร่คืนมาได้สำเร็จ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ได้ตั้งศาลทหารขึ้นมาไต่สวนพิจารณาคดีอย่างเด็ดขาด ได้ปลดเจ้าพิริยเทพวงศ์ออกจากตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครแพร่ ซึ่งได้หลบหนีไปอยู่ที่หลวงพระบาง เจ้าราชวงศ์และภริยาก็ดื่มยาพิษฆ่าตัวตายหนีความผิด เจ้าราชบุตรซึ่งเป็นบุตรเขยของเจ้าพิริยเทพวงศ์ ในฐานะผู้บังคับกองตำรวงภูธรเมืองแพร่มีความผิดฐานรู้เห็นเป็นใจกับพวกเงี้ยว แต่ได้รับอภัยโทษโดยให้ไปปราบเงี้ยวที่หลบหนีแตกพ่ายเป็นการลบล้างความผิด พวกเงี้ยวในบังคับของสยามถูกประหาร 8 คน ในบังคับของอังกฤษถูกประหาร 2 คน อีก 16 คนถูกนำตัวมากรุงเทพฯ แยกนักโทษในบังคับสยามไปจำคุกที่กระทรวงยุติธรรมและนักโทษในบังคับอังกฤษไปจำคุกที่สถานทูตอังกฤษ
เมื่อปราบกบฏเงี้ยวเสร็จแล้ว สยามได้ดำเนินการ ‘เชือดไก่ให้ลิงดู’ ประหารชีวิตนักโทษที่คิดก่อการกบฏต่อสยาม และยกเลิกเจ้าผู้ครองนครแพร่ ทำให้บรรดาเจ้านายเมืองเหนือมีท่าทีโอนอ่อนลงและจำเป็นต้องยอมรับอำนาจของสยามมากขึ้น แต่เหตุการณ์นี้ทำให้สยามได้เห็นจุดอ่อนและข้อบกพร่องหลายประการจากการปฏิรูปในมณฑลพายัพที่ไม่สำเร็จผลเท่าที่ควร จึงได้พยายามปฏิรูปใหม่อีกครั้ง
อ้างอิง :
ศิลปวัฒนธรรม. (2562). การปฏิรูปมณฑลพายัพของสยาม บีบบังคับให้เงี้ยวก่อกบฏ เมื่อ พ.ศ. 2445 ???. สืบค้นเมื่อ 17 สิงหาคม 2563, จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_28848
ขอขอบคุณรูปภาพจากเพจ www.facebook.com/phrae.tv
โฆษณา