23 ส.ค. 2020 เวลา 00:27 • ประวัติศาสตร์
เจ้าหลวงเมืองแพร่ กับ กรณีกบฏเงี้ยว
คนเมืองแพร่กำลังอยู่ในสังคมที่เปลี่ยนแปลงซึ่งโหยหาอัตลักษณ์และการถวิลหาอดีต อันเป็นส่วนหนึ่งของกระแส ท้องถิ่นนิยม [Localism] ในภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะในภาคเหนือทุกวันนี้ เมื่อพบว่าอดีตของพวกตนและเจ้าหลวงเมืองแพร่ถูกมองว่ามีความบกพร่องทางการเมืองในรัฐที่กำลังเปลี่ยนแปลงหัวเมืองประเทศราชให้กลายเป็นเพียงเมืองแห่งหนึ่ง ในสภาพสังคมของรัฐมีเป็นราชอาณาจักรเพียงหนึ่งเดียว
ความเป็นท้องถิ่นนิยมหรือชุมชนนิยมในที่นี้ไม่ได้หมายตามคำนิยามของนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องข้ามรัฐข้ามท้องถิ่นไปด้วยเสียทั้งหมด เพราะการกล่าวโดยสรุปว่ากระแสท้องถิ่นนิยมนั้นก็เหมือนกับกระแสชาตินิยมแต่เพียงย่อยให้มีขนาดเล็กลงมาและอาจทำให้เกิดผลร้าย เช่น การคลั่งท้องถิ่นหรือการใช้ความรุนแรงจัดการกับผู้ที่ตนไม่เห็นชอบด้วยได้ หากความเป็น “ท้องถิ่นนิยม” และกระบวนการที่เป็นการศึกษาชุมชนเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน สามารถเปลี่ยนมุมมองเพื่อสร้างความปรองดองในสังคม วัฒนธรรม สภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ การเมืองได้เช่นกัน
ผู้คนจำนวนมากที่มีสังคมวัฒนธรรมอันหลากหลายและแตกต่างกันจึงพยายามสร้าง เอกลักษณ์ทางชาติพันธุ์ [Ethnic Identity] ขึ้นมาใหม่ ท่ามกลางสังคมประเทศไทยที่เน้นศูนย์รวมความเป็นเชื้อชาติ “ไทย” เน้นวัฒนธรรมแบบศูนย์กลาง และการปกครองที่รวมศูนย์ ซึ่งไม่เปิดโอกาสให้ความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์และวัฒนธรรมในท้องถิ่นเติบโตและพัฒนาไปในแนวทางที่อยู่บนพื้นฐานดั้งเดิมของตนเองอย่างที่ควรจะเป็น ความสัมพันธ์ระหว่างอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ในเมืองแพร่และความเป็นคนไทยที่รัฐส่วนกลางพยายามสร้างขึ้น ลักษณะเช่นนี้อยู่ในภาวะ ชาติพันธุ์สัมพันธ์ [Ethnicity] ซึ่งเป็นนิยามที่อธิบายลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ในยุคสมัยที่เกิดระบบรัฐสมัยใหม่หรือรัฐชาติ [Modern state/Nation state] แล้ว โดยเฉพาะหลังช่วงยุคที่ตะวันตกแสวงหาอาณานิคม
ในขณะที่มีการพัฒนาระบบการค้าและระบบทุนแพร่กระจายไปทั่วโลก ในลักษณะที่เป็นโลกาภิวัตน์ที่มาพร้อมกับอำนาจทางการเมืองที่ต้องการแสวงหาทุนและกำไรในทางการค้าในสมัยยุคอาณานิคม การเข้าไปเป็นเจ้าอาณานิคมก็ทำให้เกิดความชัดเจนของพรมแดนมากขึ้นตามลำดับ เกิดการแบ่งแยกพื้นที่ของรัฐที่แน่นอนมากขึ้นจนกลายเป็นประเทศต่างๆ ในยุคปัจจุบัน รัฐสมัยใหม่โดยทั่วไปมักจะใช้อำนาจความชอบธรรมอ้างความเป็นตัวแทนของความเป็นชาติ โดยรวมเอาประชาชนที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เข้ามารวมอยู่ด้วยกัน แต่กลุ่มต่างๆ เหล่านี้ต้องการอยู่ด้วยกันบนพื้นฐานของความเท่าเทียม หรือไม่ก็หาหนทางเพื่อเป็นตัวของตัวเองหรือปกครองตนเอง บางครั้งก็เป็นการเรียกร้องเพื่อแบ่งแยกทางการเมืองเพื่อแยกออกมาเป็นรัฐชาติอิสระของตน ภายใต้สภาพเช่นนี้ กลุ่มทางชาติพันธุ์ [Ethnic group] จึงก่อตัวขึ้นโดยผู้คนซึ่งอ้างหรือแสดงอัตลักษณ์ความเป็นกลุ่มคนชาติหนึ่ง แต่ต้องอาศัยอยู่ในรัฐชาติอื่นนั่นเอง
แม้ประเทศไทยจะได้ชื่อว่าไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของผู้ใด และไม่เคยตระหนักในเรื่องการแสวงหาอัตลักษณ์ของชาติหรือกลุ่มชาติพันธุ์ในทางวัฒนธรรม ภาษา ศาสนา หรือการเมือง คุณค่าทางวัฒนธรรมต่างๆ ซึ่งมีลักษณะของการต่อต้านกลุ่มเจ้าอาณานิคม ทำให้ไม่คุ้นเคยหรือพยายามศึกษา ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์หรือ Ethnicity นัก แต่ในทางตรงกันข้าม วัฒนธรรมไทยซึ่งเป็นอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของกลุ่มการเมืองผู้ปกครองจากส่วนกลางก็เข้าไปครอบงำ และมีอิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจต่อกลุ่มชาติพันธุ์หรือกลุ่มวัฒนธรรมย่อยในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งก็เป็นการใช้อำนาจเข้าไปครอบครองในหัวเมืองประเทศราชและหัวเมืองชั้นนอกต่างๆ ในอดีตจนสามารถเรียกได้ว่าเป็นกรณีของการเป็น อาณานิคมภายใน ซึ่งทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ย่อยในท้องถิ่นต่างๆ นั้นรู้สึกต่อต้านและเรียกร้องความเท่าเทียมทั้งทางการเมืองและวัฒนธรรม แม้ในปัจจุบัน ความแตกต่างและการเรียกร้องเพื่อขอความเสมอภาคในภูมิภาคต่างๆ เช่นทางเหนือและอีสานจะถูกบูรณาการจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐชาติไทยไปอย่างไม่มีปัญหาเท่ากับในระยะเริ่มแรกนัก แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคใต้ก็คงพอมองเห็นได้ว่า ความแตกต่างของกลุ่มชาติพันธุ์และความสัมพันธ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ [Ethnicity] ที่ไม่เท่าเทียมกันนั้นนำไปสู่ปัญหาความรุนแรงได้เช่นไร
การมีมุมมองจากผู้ปกครองถูกนำไปอธิบายถึงประวัติศาสตร์เมืองแพร่เพียงมุมมองเดียวทำให้เกิดการต่อต้าน ปฏิกิริยานี้ก่อรูปมากขึ้นตามลำดับและส่งผลกระทบต่อสังคมเมืองแพร่ที่กำลังเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน แม้จะมีการบูรณาการจากรัฐไทยทางสังคมวัฒนธรรม การศึกษา และการเมืองมาโดยตลอดเวลาในช่วงร้อยปีที่ผ่านมาก็ตาม
ปฏิกิริยา “เจ้าหลวงของเราไม่ใช่กบฏ”
เสรี ชมภูมิ่ง ซึ่งเป็นนักเขียนและเป็นคนเมืองแพร่เป็นผู้เริ่มต้นนำเสนอข้อมูลจากท้องถิ่นอีกด้านหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติที่บันทึกเรื่องราวของเหตุการณ์เงี้ยวปล้นเมืองแพร่ หรือ “กบฏเงี้ยวเมืองแพร่” โดยอ้างว่าเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ฯ นั้นไม่ได้สมรู้ร่วมคิดกับพวกเงี้ยว จึงไม่มีความผิดและไม่ได้หลบหนีออกจากเมืองแพร่แต่อย่างใด และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการตีความและการหาข้อมูลสนับสนุนจากประวัติศาสตร์บอกเล่าเหตุการณ์ในช่วงนั้นต่อมาอีกมากมาย
เจ้าพิริยะเทพวงศ์ฯ เจ้านครแพร่่
เจ้าพิริยะเทพวงศ์ฯ ผู้นิราศเมืองแพร่ท่ามกลางทหารกองเกียรติยศ โดย เสรี ชมภูมิ่ง
“....ชาวเมืองแพร่จำนวนมากเชื่อว่าเจ้าหลวงพิริยะฯ เป็นกบฏจริง แต่ไม่ได้หลบหนีออกจากเมืองแพร่แต่อย่างใด การจากไปของท่านเป็นไปอย่างสมพระเกียรติ มีขบวนนำส่งจนพ้นเขตจังหวัดแพร่
เรื่องราวเหล่านี้เป็นการบอกเล่าของผู้ที่น่าเชื่อถือได้เท่านั้น เช่น แม่เจ้าพลอยเก้า อุตรพงษ์ ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลาวสาวแท้ ๆ ของเจ้าหลวงพิริยะฯ แม่เจ้าพลอยแก้วเป็นลูกสาวของเจ้ากาบคำ ธิดาคนหนึ่งของเจ้าหลวง เจ้ากาบคำเป็นน้องสาวเจ้าอินทรแปลง บิดาของยาขอบ หรือ โชติ แพร่พันธ์ สมัยที่เงี้ยวปล้น แม่เจ้าพลอยแก้วก็เริ่มเข้าสู่วัยรุ่นแล้ว รู้เห็นเหตุการณ์เป็นอย่างดี ว่าพวกเจ้าหลวงคงจะร่วมมือกับพวกเงี้ยวแน่นอน เพราะคืนก่อนที่เงี้ยวจะเข้าปล้นเมืองนั้น เจ้าหลวงได้ให้คนไปรับท่านจากจวนของพระยาไชยบูรณ์ให้กลับไปที่คุ้ม เพราะพระยาไชยบูรณ์และคุณหญิงมักจะขอเจ้าพลอยแก้วไปค้างคืนอยู่ด้วยที่คุ้มเป็นประจำ พอรุ่งเช้าเหตุการณ์จลาจลก็เกิดขึ้น จากนั้นทางกรุงเทพฯ ก็ได้ส่งพระยาสุรศักดิ์มนตรีเข้ามาปราบพวกเงี้ยวแล้วจับพวกที่สมรู้ร่วมคิดไปยิงเป้า แต่เจ้าหลวงก็ไม่ยอมหนีไป สุดท้ายจึงใช้วิธีเชิญออกจากเมือง
ผู้เล่าท่านที่สอง คือ พ่ออ่อง เล่าว่าพ่อของท่านเป็นทหารสังกัดกองทัพเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีที่ยกทัพมาปราบกบฏเงี้ยว ต่อมาก็ได้ภรรยาที่บ้านมหาโพธิ์และก็มีพ่ออ่องขึ้นมา แม่ของพ่ออ่องก็ได้เล่าให้พ่ออ่องฟังว่า การหลบหนีของเจ้าเมืองแพร่นั้นไม่เป็นความจริงอย่างที่ใครๆ เชื่อกัน วันที่เจ้าหลวงเสด็จออกจากเมืองแพร่นั้น แม่ของพ่ออ่องได้ตามไปดูด้วย ท่านเล่าว่าเจ้าหลวงได้เดินคู่กับเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีออกไป และได้รับการเคารพจากกองทหารด้วย
ท่านที่สามเป็นลูกชายคนโตของขุนอนุกูลราชกิจ คือ นายวงศ์ ชมภูมิ่ง ขุนอนุกูลราชกิจซึ่งเป็นพ่อของท่านเล่าให้ฟังว่า ในขณะนั้น บรรดาเจ้าหลวงหรือเจ้าผู้ครองเมืองทางเหนือกำลังถูกลิดรอนสิทธิ์ต่าง ๆ จากทางรัฐบาลจนเกิดความไม่พอใจเป็นอย่างมาก ซึ่งเจ้าหลวงเมืองแพร่นั้นดูจะออกหน้ากว่าเพื่อน อาจจะเป็นเพราะเจ้าหลวงมีสายสัมพันธ์เกี่ยวข้องเป็นญาติวงศ์กับเจ้าฟ้าเชียงตุง พวกเงี้ยวหรือไทใหญ่ที่เข้ามาก่อการจลาจลในครั้งนั้นก็คิดว่าน่าจะมาจากเชียงตุงที่ได้เข้ามาอยู่ในเมืองแพร่ก่อนแล้วในการอุปถัมภ์ของเจ้าหลวง โดยได้ตั้งเป็นกองตระเวน ทำเป็นขุดหาพลอยอยู่ที่บ่อแก้ว ซึ่งปัจจุบันอยู่ในท้องที่อำเภอเด่นชัย สาเหตุการเกิดกบฏขึ้นน่าจะมาจากรัฐได้สั่งให้พระยาไชยบูรณ์ซึ่งเป็นข้าหลวงเร่งรัดเก็บภาษีจากราษฎรที่บรรลุนิติภาวะแล้ว คนละ ๔ บาทต่อปี ซึ่งในขณะนั้นคงเป็นเงินจำนวนไม่น้อย เจ้าหลวงได้พบและเจรจากับพระยาไชยบูรณ์ ขอให้ขยายเวลาไปอีกระยะหนึ่ง เพราะขณะนั้นเศรษฐกิจเมืองแพร่ไม่ค่อยดีนัก แต่ก็ได้รับการปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงจากข้าหลวง จึงเกิดการกบฏขึ้น ซึ่งต่อมาพระยาสุรศักดิ์มนตรีก็ถูกส่งมาจากกรุงเทพฯ เพื่อทำการปราบปราม แต่ท่านก็ได้วางแผนให้เจ้าหลวงหลบหนีไปจากเมืองแพร่เพื่อให้พ้นอาญาแผ่นดิน
ที่ท่านทำเช่นนี้มีบางท่านอธิบายไว้ว่า น่าจะเป็นเพราะนโยบายจากทางรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจากกรุงเทพฯ ที่คงเกรงว่าถ้าต้องเอาโทษกับเจ้าหลวง อาจจะเกิดการกระทบกระเทือน และเกิดการแทรกแซงจากต่างชาติ ที่จ้องจะเข้ามาหาผลประโยชน์ ถึงกระนั้นเจ้าหลวงก็ไม่ได้หลบหนีไปแต่อย่างใด จนสุดท้ายพระยาสุรศักดิ์มนตรีต้องยอมเจรจาให้เจ้าหลวงออกไปจากเมือง และจัดให้ไปอย่างสมเกียรติ ซึ่งก็ได้มีผู้เล่าอีกว่า เรื่องนี้น่าจะเป็นความลับ จึงไม่มีหนังสือเล่มไหนหรือมีใครบันทึกอะไรไว้เลย” 1
ต่อมาเมื่อกลุ่มลูกหลานเมืองแพร่จัดกิจกรรมโครงการศึกษาอย่างมีส่วนร่วมเพื่อสร้างเสริมสุขภาพชุมชนในเขตกำแพงเมืองแพร่เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๖ ซึ่งในงานนี้เป็นการประกาศอย่างชัดเจนว่า มีคนกลุ่มหนึ่งในเมืองแพร่เชื่อว่าเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ฯ ไม่ได้เป็นกบฏ โดยนายรัตน์ วังซ้าย ซึ่งเป็นลูกหลานของเชื้อสายเจ้านายเมืองแพร่คนหนึ่ง เมื่อลุงรัตน์เสนอเรื่องราวของเจ้าหลวงจากประสบการบอกเล่าโดยตรงจากคนรุ่นนั้น จึงมีคนเชื่อถือจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ที่เป็นลูกหลานของเจ้าหลวง และบทความเรื่อง “เจ้าหลวงไม่ได้เป็นกบฏ” ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ก็กลายเป็นบทความที่ถูกคัดลอกต่อๆ กัน และเป็นเอกสารยืนยันอย่างเป็นทางการในการสัมภาษณ์นายรัตน์ วังซ้าย ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว ได้กล่าวว่าเมื่ออายุประมาณ ๓๐ ปีเศษ เจ้าแสงแก้ว มารดาได้บอกความลับนี้เมื่ออายุ ๗๗ ย่าง ๗๘ ปี และห้ามว่าอย่าบอกใคร เพราะกลัวจะโดนอาถรรพณ์เหมือนพ่อ แต่ท่านกลัวเรื่องนี้จะตายไปกับตัว2
เจ้าหลวงแพร่ไม่ได้เป็นกบฏ (ยุวดี มณีกุล, กรุงเทพธุรกิจ , ๓ เมษายน ๒๕๔๖.)
ชายชราวัย ๗๘ ปี ผู้คงบุคลิกกระฉับกระเฉงและมีความทรงจำแจ่มชัด นั่งอยู่เบื้องหน้าคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง ซึ่งแกเชื่อเหลือเกินว่าคนเหล่านี้ 'ถูกเลือก' ให้เป็นผู้เปิดเผยความลับสำคัญของตระกูล และเป็นความลับสำคัญของแผ่นดิน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นความลับที่คุณลุงรัตน์ วังซ้าย ทายาทคนสุดท้องในบรรดา ๑๒ คนของเจ้าน้อยหมวก (บุตรของเจ้าวังซ้าย) และเจ้าแสงแก้ว เก็บงำมาตลอดเพราะหวั่นอาถรรพณ์น้ำสาบานที่พระมหากษัตริย์รับสั่งให้ผู้รู้ความดื่มร่วมกัน สยามประเทศยุคนั้นมีผู้ร่วมดื่มน้ำสาบานและรู้ความลับนี้เพียง ๘ คน ยังสัญญาใจที่มารดากำชับไม่ให้บอกใคร จนกว่าจะถึงเวลาที่เหมาะสม แม้แกไม่ใช่ผู้ร่วมดื่มน้ำสาบานโดยตรง แต่อาถรรพณ์ที่เกิดกับบุพการีเป็นประจักษ์ อย่างไรก็ตามในวัยขนาดนี้แกไม่กลัวความตายอีกแล้ว ๒๔ มีนาคม ๒๕๔๖ คือเวลาเหมาะสมที่ชายชราเมืองแพร่ตัดสินใจเผยความลับนั้น ก่อนที่สังขารจะพรากความทรงจำไป
"เจ้าหลวงเมืองแพร่ไม่ได้เป็นกบฏ"
"ท่านเป็นคนทันสมัย ท่านอยากพัฒนาเมืองแพร่ให้เจริญ ตอนแรกท่านไม่รู้หนังสือภาษาไทย เขียนได้แต่ภาษาพื้นเมือง แต่ท่านคุ้นเคยใกล้ชิดกับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ท่านก็พาเจ้าหลวงไปเรียนภาษาไทยที่พระนคร เรียนรู้ระบบการปกครองแบบใหม่จนท่านเห็นดีงาม สมัยนั้นรัชกาลที่ ๕ เริ่มเปลี่ยนการปกครองเป็นแบบเทศาภิบาล เลิกระบบเจ้าหลวง มีแต่ข้าหลวงไปทำงาน เจ้าหลวงท่านเต็มใจทำตามรับสั่งนี้ ยอมสละยศ ตำแหน่งทุกอย่างเพื่อความเจริญของบ้านเมือง"
"เรื่องกบฏเงี้ยวเกิดเพราะอังกฤษกับฝรั่งเศสต้องการเฉือนแผ่นดินสยาม อังกฤษเฉือนภาคใต้กับอีสาน แล้วสมคบจะมาเอาทางเหนือจากเชียงรายไปสุดเขตแดนพม่า ภาคอีสานก็ข้ามโขงมาสมคบตั้งกองบัญชาการที่หลวงพระบาง สองชาตินี้หาเรื่อง ใช้วิธีหมาป่ากับลูกแกะ"
"หลังเจ้าหลวงตัดสินใจเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัชกาลที่ ๕ ก็ส่งเจ้าหน้าที่จากบางกอก คือพระยาไชยบูรณ์ ในนามข้าหลวงประจำจังหวัดมาฝึกงานให้ แล้วในปีหนึ่งๆ จะมีการตรวจเงินแผ่นดิน วันหนึ่งปรากฏว่าเขาเปิดประตูเซฟบนศาลากลางจังหวัดปรากฏว่าเงินขาดไป ๕๕,๐๐๐ บาท คนตรวจก็สั่งอายัดตัวเจ้าหลวงไปขัง เป็นเหตุให้อังกฤษเห็นเป็นช่องทางจะมาบังคับเรา ตอนหลังลูกหลานก็หาเงินมาใช้ให้ เจ้าหลวงจึงถูกปล่อยตัว คนแพร่โกรธกันมากเพราะเป็นการลงโทษโดยไม่ฟังความใดๆ"
"อังกฤษเอาปมนี้เป็นเหตุทำให้คนแตกสามัคคี เพราะคนเมืองแพร่ทั้งหมดเกลียดคนกรุงเทพฯ อังกฤษส่งเงี้ยวชื่อพะกาหม่องมาเกลี้ยกล่อมเจ้าหลวงว่าท่านโดนรังแก อังกฤษจะช่วยยึดแผ่นดินคืนให้ จะให้เงี้ยวมาก่อการกบฏ สมัยนั้นเงี้ยวอยู่ในความปกครองของอังกฤษ เพราะเป็นลูกจ้างทำไม้ให้ มีการตกลงกันว่าจะไม่ให้เจ้าหลวงเดือดร้อน เสบียง อาวุธ จะหามาเองทั้งหมด แผนของอังกฤษคือจะให้เราฆ่าเงี้ยวแล้วเรียกค่าเสียหาย"
"แต่เจ้าหลวงรายงานให้รัชกาลที่ 5 ทรงทราบ ท่านก็เรียกเจ้าหลวงไปพบ แล้วท่านก็สั่งเจ้าหลวงให้ยอมรับเงื่อนไขของอังกฤษ เป็นแผนซ้อนแผน บอกให้เจ้าหลวงยอมเป็นกบฏ เพื่อที่จะเป็นข้ออ้างปราบเงี้ยว เพราะถ้าไม่ยอมรับเป็นกบฏก็ไม่มีเหตุปราบ"
"พอตกลงกันดีแล้ว เจ้าหลวงกลับมาบอกอังกฤษขอเวลาสามเดือน อ้างว่าจะต้องตรวจสอบกำลัง ที่จริงก็เพื่อในหลวงจะได้เตรียมจัดกำลังสำรอง"
"ข้อตกลงร่วมกันในการก่อกบฏ อังกฤษมีข้อแม้ว่าจะไม่ทำอันตรายชีวิตและทรัพย์สินของคนเมือง จะทำเฉพาะคนไทยจากเมืองใต้ เจ้าหลวงเสนอกลับไปว่าตกลง แต่เพิ่มอีกข้อว่าห้ามฆ่าผู้หญิงกับเด็กไทยที่มาฝึกงาน ห้ามฆ่าตำรวจ ก่อนเงี้ยวปล้น คืนนั้นไม่ได้นอนกันทั้งคืนเพราะเตรียมรับมือ เจ้าหลวงก็วางแผนจัดกำลังไปซ่อนในป่า แล้วรัชกาลที่ ๕ ท่านบอกให้จัดคนที่ไว้ใจได้ประมาณ ๕-๖ คนมาร่วมงาน ให้ปิดเป็นความลับ หากความลับรั่วไหล เหตุจะอ้างว่าปราบเงี้ยวเพราะเป็นกบฏจะไม่เป็นผล"
"เจ้าหลวงท่านรับเป็นกบฏ แต่รัชกาลที่ ๕ ไม่ค่อยไว้ใจ ท่านให้เจ้าหลวงดื่มน้ำสาบานว่าไม่คิดคดทรยศ และให้นำน้ำสาบานนี้ติดตัวมาเมืองแพร่ด้วย ให้ทุกคนที่รู้เรื่องร่วมดื่ม แล้วกำชับว่าถ้าหากคนเหล่านี้ถูกจับไปข่มขู่ถึงตายก็ให้ยอมตาย ถ้าไม่ทำตามนี้หรือไปบอกใคร ขอให้ตายด้วยคมหอกคมดาบ คมเขี้ยวคมงา"
"เจ้าหลวงรับคำมาปรึกษากับเจ้าราชบุตร หรือบุตรเขยของท่าน ตกลงกันว่าจะเอาเจ้าวังซ้ายมาร่วมงานด้วย เรียกเจ้าวังซ้ายมาบอกว่าถ้าจะร่วมงานต้องดื่มน้ำสาบาน ถึงตอนนี้มีคนรู้แผนนี้ ๖ คน ที่กรุงเทพฯ มี ๓ คน คือ รัชกาลที่ ๕ กรมดำรงราชานุภาพ และกรมหมื่นพิชิตปรีชากร ที่แพร่มี ๓ คน คือ เจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ เจ้าราชบุตร ซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้าสุริยพงศ์ผริตเดช เจ้าเมืองน่าน และเจ้าวังซ้าย"
"อังกฤษบอกให้เจ้าหลวงอยู่เฉยๆ ไม่เอาอาวุธด้วย แต่ขอกำลังคนเมืองแพร่ เจ้าหลวงเลยหารือว่าให้เอาชายฉกรรจ์พร้อมอาวุธไปซ่อนในป่า ป้องกันไม่ให้เงี้ยวมาขอกำลังเสริม ท่านก็หารือกันว่าต้องมีคนคุมกำลังในป่า เจ้าวังซ้ายเสนอชื่อไปว่ามีสองคนคือไม่ลูกก็เมีย ในที่สุดท่านเลือกลูก คือเจ้าน้อยหมวกมาคุมกำลังรบ เจ้าน้อยหมวกนี้คือพ่อของผมเอง ท่านก็เรียกเจ้าน้อยหมวกไปดื่มน้ำสาบาน"
"เจ้าน้อยหมวกคิดเรื่องคนดูแลเสบียง เลยเลือกเมียคือเจ้าแสงแก้ว ก็กลับมาบอกสามคนแรกว่าได้ปรึกษาเมียแล้ว เขายอม ทางนี้จะยอมไหม เลยเรียกเจ้าแสงแก้วมาดื่มน้ำสาบานอีกที ตอนนี้มีคนรู้ความลับทั้งหมด ๘ คน"
"แต่การบอกเมียถือเป็นการเปิดเผยความลับแม้จะไม่ตั้งใจ พ่อผมเลยโดนอาถรรพณ์เป็นคนแรก คือพอแม่คลอดผมได้เพียง ๘ เดือน พ่อก็ถูกช้างเหยียบตาย ทั้งที่พ่อเป็นผู้เชี่ยวชาญการจับช้างตกมัน พ่อยังบอกว่ากลัวควายมากกว่าช้าง"
"เจ้าแสงแก้วรวบรวมลูกเมียข้าราชการไทยมาไว้ที่คุ้มของเจ้าวังซ้าย ซ่อนไว้บนเพดาน คืนนั้นก็เกณฑ์คนกับอาวุธมาเก็บไว้ในคุ้ม ป้องกันไม่ให้ทั้งสู้เงี้ยวและสู้ไทย ประมาณตีสองตีสาม เจ้าแสงแก้วจัดคนไปบ้านข้าราชการไทย เอาผู้หญิงที่เคยรับใช้บ้านข้าราชการมาเพื่อให้คนไทยเมืองใต้ไว้ใจ แต่มีจำนวนหนึ่งไม่มาเพราะพวกนี้ไม่ค่อยชอบเจ้าหลวง พวกที่มาก็เป็นห่วงสามียอมตายด้วยกัน"
"พอเงี้ยวปล้นโรงพัก ปล้นไปรษณีย์ ยึดศาลากลางจังหวัด ก็ยึดได้สบายเพราะไม่มีการต่อต้าน พวกเงี้ยวออกสำรวจทุกบ้านว่ามีคนไทยเท่าไร จะจับมาฆ่าให้หมด"
"จนไปถึงบ้านเจ้าวังซ้าย ซึ่งเจ้าแสงแก้วกำลังทำกับข้าวให้คนไทยที่หลบซ่อนตัวอยู่ มันก็ถามว่าทำให้ใครกินมากมาย แม่ผมบอกว่าตอนแรกก็ตกใจ แต่ทำใจดีสู้เสือ เพราะมันจะขอค้นว่ามีคนไทยไหม แม่บอกค้นไม่ได้ เจ้าหลวงกับเจ้าวังซ้ายสั่งห้ามค้น แล้วแม่ก็พูดไปว่าทำอาหารให้พวกสูกินนั่นละ เจ้าหลวงให้ทำ ถ้าพวกสูเสร็จธุระให้ไปรอที่ศาลากลางเดี๋ยวเอาไปให้ แล้วแม่ก็เรียกกำลังออกมา แกล้งพูดว่าจะเลี้ยงอาหารแล้วมันยังมาข่มขู่ ถ้าจะค้นบ้านก็ให้จัดการสู้กัน เงี้ยวฟังแล้วจึงยอมไป เจ้าแสงแก้วรีบส่งคนไปบอกเจ้าหลวง ท่านบอกให้ทำอาหารเพิ่มแล้วเอาไปเลี้ยงมันอย่างที่บอก"
"ในเอกสารจดหมายเหตุที่ว่ามีการส่งเสบียงให้พวกเงี้ยว สาเหตุที่แท้จริงเป็นอย่างนี้"
"ปรากฏว่าพวกเงี้ยวฆ่าผู้หญิงกับเด็กคนไทยที่ไม่ได้มาอยู่กับเรา เจ้าหลวงโกรธมาก เรียกหัวหน้าเงี้ยวมาคุย ชื่อพะกาหม่อง มาบอกว่าผิดสัญญา ท่านก็มีกำลังอยู่นะ พะกาหม่องขอโทษขอโพย พอรู้ว่าเจ้าหลวงพูดว่ามีกำลังก็เริ่มกลัว มันเลยเรียกเจ้าหลวงกับเจ้าวังซ้ายไปทำสัญญาร่วมรบกัน บอกเจ้าหลวงว่าถ้าเราทำตามที่ตกลงก็จะไม่มีอะไร แต่ถ้าเจ้าหลวงเอากำลังมาสู้เมื่อไร เงี้ยวจะเอาสัญญานี้ไปแฉให้รัชกาลที่ ๕ ทรงทราบ ซึ่งเจ้าหลวงได้บอกกับรัชกาลที่ 5 ว่าเงี้ยวบังคับทำ จำเป็นต้องทำ รัชกาลที่ ๕ ก็รู้"
"หลายวันต่อมากรุงเทพฯ ส่งกำลังมาปราบกบฏ โดยที่ได้เตรียมกำลังแถวอุตรดิตถ์ พิษณุโลก ไว้แล้ว จึงปราบได้ภายใน ๓-๔ วัน"
"รัชกาลที่ ๕ เอาประกาศนียบัตรกบฏของเจ้าหลวงไปอ้างกับอังกฤษ ตามกฎแล้วผู้เป็นกบฏต้องถูกประหารเจ็ดชั่วโคตร แต่มีการช่วยเหลือทางลับ คือรัชกาลที่ ๕ สั่งแม่ทัพว่าห้ามตั้งข้อหากับเจ้าหลวงและลูกหลานว่าเป็นกบฏ แต่ไม่บอกเหตุผล ท่านยังกำชับว่าการพิจารณาโทษกบฏต้องส่งเรื่องให้ท่านสั่งการเอง แล้วท่านยังให้นำลูกหลานของเจ้าหลวงไปเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ ในบรรดานี้มีคนสกุลศรุตานนท์ด้วย"
"ในสัญญาที่อังกฤษทำกับเจ้าหลวงระบุว่าถ้าทำการกบฏไม่สำเร็จจะพาเจ้าหลวงหนีไปที่กองบัญชาการใหญ่ของเงี้ยวที่หลวงพระบาง เมืองลาว ถ้าเจ้าหลวงไม่ยอมเป็นกบฏก็คงได้ตำแหน่งนายพล เพราะว่าตอนหลังเจ้าหลวงทางตอนเหนือได้เป็นนายพลกันหมดทุกคน"
"รัชกาลที่ ๕ ตอบแทนเจ้าหลวงในทางลับ นอกจากนี้ท่านยังเลี่ยงอาญาให้คนคุมตัวเจ้าหลวงไปส่งนอกประเทศ คือหลวงพระบาง ซึ่งนี่ก็เป็นแผนอีกข้อหนึ่ง รัชกาลที่ ๕ ต้องการให้เจ้าราชบุตรผูกสัมพันธ์กับเงี้ยว เพื่อเป็นตัวกลางสื่อสารระหว่างเจ้าหลวงกับรัชกาลที่ 5 ท่านให้เจ้าราชบุตรเอาเงินเดือนไปจ่ายให้เจ้าหลวงทุกเดือน แต่เป็นในนามว่าเจ้าราชบุตรเอาเงินไปให้พ่อตาใช้"
"อยู่ทางโน้นเจ้าหลวงก็ทำบันทึกใส่สมองเจ้าราชบุตรกลับมารายงานรัชกาลที่ ๕ เพราะรัชกาลที่ ๕ กำชับว่าอย่าบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เจ้าหลวงคอยรายงานแผนการของเงี้ยวที่จะพยายามไปเกลี้ยกล่อมเจ้าหลวงล้านนาอื่นๆ พอรู้ข่าวก่อนว่าจะไปจังหวัดไหนก็เตรียมการรับทัน ทำให้ไม่มีเหตุการณ์เงี้ยวกบฏได้สำเร็จ และเจ้าหลวงจังหวัดอื่นๆ ก็ได้เป็นนายพล"
"ผมยังมีหลักฐานบันทึกของพันตำรวจเอกชาวฝรั่งชื่อ พ.ต.อ.พระแผลงสะท้าน หรือ C.N Springer เขาแปลกใจว่าทำไมเห็นเจ้าหลวงเดินจากคุ้มหนีออกไปทางประตูศรีชุมคนเดียว บันทึกนี้ลูกของตำรวจฝรั่งผู้นี้เอามาให้ผม เป็นอดีตผู้อำนวยการโรงเรียนป่าไม้ ชื่อ อ.เทิด สุขปรีชากร"
"ตัวผมเองยังมีปืนสำคัญ ๒ กระบอกที่ ร.ต.ตาดกับภรรยาคือนางคำใช้ยิงต่อสู้กับพวกเงี้ยวจนตัวตาย เดี๋ยวนี้ทางจังหวัดก็ทำประตูตาดคำเป็นอนุสรณ์ให้ท่าน ปืนนี้เป็นมรดกตกทอดมาถึงผม และผมก็ได้ส่งมอบให้กับผู้ว่าฯ เพราะทราบมาว่าท่านมีโครงการบูรณะคุ้มเจ้าหลวงให้เป็นพิพิธภัณฑ์ ผมจึงอยากมอบเป็นสมบัติของส่วนรวม"
"เรื่องปืนนี่ก็มีที่มาเบื้องลึก เพราะเจ้าหลวงท่านขอให้ไม่ฆ่าตำรวจ แต่ท่านรู้นิสัยของ ร.ต.ตาด ว่าจะไม่ยอมหนี ปืนยาวนี้เจ้าหลวงมอบให้เจ้าวังซ้าย แล้วเจ้าวังซ้ายทำทีมามอบให้ ร.ต.ตาด ไว้ป้องกันตัว แต่จะบอกตรงๆ ไม่ได้ เลยบอกว่าปืนเสียให้ ร.ต.ตาด ช่วยซ่อมและให้ทดลองยิงดูจนแน่ใจว่าใช้การได้แล้ว คือให้กระสุนมาอีกเป็นย่าม ร.ต.ตาดก็ได้ใช้ปืนยาวนี้สู้เงี้ยว แล้วเอาปืนสั้นของตัวเองให้นางคำไว้ป้องกันตัว ในที่สุดเงี้ยวยิงถูก ร.ต.ตาด ตาย นางคำวิ่งหนีก็ถูกเงี้ยวไล่เอาดาบฟันตาย"
"ตามเอกสารจดหมายเหตุบอกว่าพระยาไชยบูรณ์ที่เป็นข้าหลวงวิ่งไปหาเจ้าหลวงให้ช่วย แต่เจ้าหลวงช่วยไม่ได้ ความจริงก็คือเจ้าหลวงส่งตัวลงเรือไปฝากไว้ที่บ้านกำนันบ้านร่องกาศ กลางคืนนอนบนบ้าน กลางวันลงไปซ่อนในป่า จนเงี้ยวประกาศล่าตัวให้ค่าหัว ๔๐ บาท นายวงศ์คนบ้านร่องกาศไปพบโดยบังเอิญเลยแจ้งพวกเงี้ยว พระยาไชยบูรณ์เลยถูกจับตัวไปตัดหัวที่บ้านร่องคาว...”
บทความดังกล่าวกลายเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของเมืองแพร่ในหมู่ผู้นิยมศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น โดยเฉพาะคนในท้องถิ่นเอง เพราะเป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือจากบุคคลที่ได้รับการนับถือเป็นอย่างยิ่งในเมืองแพร่คนหนึ่ง และเพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อไม่นานมานี้
ชาวเมืองแพร่หลายท่านเชื่อบทความและเรื่องเล่าของนายรัตน์ วังซ้าย มากกว่า และสิ่งเหล่านี้ถูกบอกเล่าปากต่อปากสู่กันฟังในเมืองแพร่ จนกลายเป็นความเคลื่อนไหวทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นบทใหม่ โดยเฉพาะคนชั้นกลางในเมืองผู้มีเชื้อสายเจ้านายเก่าในเมืองแพร่ และผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์บาดแผลของตนเอง อันเป็นปฏิกิริยาตอบโต้การเขียนประวัติศาสตร์ของรัฐอย่างชัดเจน และถูกนำมาตอกย้ำเรื่องราวของเจ้าหลวงไม่ได้เป็นกบฏอีกหลายครั้งในงานประชุมหรืองานชุมนุมต่างๆ เพราะเชื่อว่าเป็นความจริงของผู้เล่าก่อนที่จะสิ้นใจ
อาจารย์ผู้ศึกษาเรื่องราวของท้องถิ่นท่านหนึ่งกล่าวว่า
“การเกิดเหตุกบฏเงี้ยวเพราะรัฐบาลทางกรุงเทพฯ ส่งข้าหลวงเข้ามาปกครองเมืองแพร่ คนแพร่และชนกลุ่มน้อย เช่น เงี้ยวที่ไม่สามารถรับข้อบังคับที่กดดันและเข้มงวดไหวจึงได้ลุกขึ้นต่อต้าน เชื่อว่าเจ้าหลวงน่าจะสนับสนุนให้เงี้ยวมาปล้น เพื่อที่ตนเองจะได้เป็นอิสระ มีอำนาจเหมือนเดิม เพราะเมื่อข้าหลวงจากภาคกลางเข้ามาปกครอง เจ้าหลวงก็ถูกลิดรอนอำนาจ แต่กระแสของคนในเมืองแพร่ก็มีบางกลุ่มที่เชื่อว่าเจ้าเมืองแพร่ไม่ได้เป็นกบฏ เพราะเมื่อเจ้าหลวงจะไปอยู่ที่หลวงพระบางได้มีกองทหารส่งเสด็จ และเจ้าหลวงก็เดินคู่ไปกับเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี จึงทำให้เชื่อกันว่าถ้าเจ้าหลวงเป็นกบฏจริง ทำไมถึงต้องมีกองทหารส่งเสด็จ และสามารถเดินคู่ไปกับเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีได้
เรื่องเล่าที่ว่าทางกรุงเทพฯ ได้รับแม่เจ้าบัวไหลไปอยู่ด้วยที่กรุงเทพฯ นั้นก็แบ่งเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายที่เชื่อว่าเจ้าหลวงไม่ได้เป็นกบฏ หากเจ้าหลวงเป็นกบฏจริง ทำไมทางกรุงเทพฯ จึงรับแม่เจ้าบัวไหลไปอยู่ด้วย คนเมืองแพร่บางท่านเห็นว่าเป็นกุศโลบายของทางกรุงเทพฯ เพราะเมืองแพร่มีทรัพยากรที่สำคัญมาก คือ ไม้สักทอง ซึ่งเป็นที่ต้องการของต่างชาติ หากตัดสินประหารเจ้าเมืองแพร่ก็อาจจะทำให้ต่างชาติที่รออยู่สามารถเข้าแทรกแซงได้ง่าย จึงต้องการเอาใจเพื่อทรัพยากรที่มีค่ามหาศาล3
ชาวเมืองบางท่านกล่าวว่า
“ปัจจุบันมีการตื่นตัวกันมากในปัญหานี้ ทั้งหาข้อมูลหลักฐานต่าง ๆ มาพิสูจน์ว่าเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ฯไม่ได้เป็นกบฏ ในกรณีของลุงรัตน์ที่เป็นลูกหลานของเจ้าหลวงนั้น เปิดเผยคำพูดที่ว่าท่านไม่ได้เป็นกบฏอย่างที่ประวัติศาสตร์ได้จารึกไว้ เป็นการกู้ศักดิ์ศรีของเมืองแพร่ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏ เพราะการเป็นกบฏลึกๆ แล้วก็เหมือนกับเป็นการคิดไม่ดีกับประเทศชาติ และถ้ามีหลักฐานที่ว่าเจ้าหลวงไม่ได้เป็นกบฏก็คงจะทำให้เป็นศักดิ์ศรีของเมืองแพร่ถูกกู้กลับคืนได้” 4
แต่ชาวบ้านบางคนคิดว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างภาษา เพราะทางกรุงเทพฯ ต้องการกลืนชาติหรือต้องการรวมเอาเมืองแพร่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐสยาม
“เจ้าหลวงท่านยังคงรักษาไว้ซึ่งภาษา แต่ก่อนทางในเมืองบังคับให้ท่านเรียนเขียนภาษาไทย แต่ท่านคิดว่าเมืองแพร่มีภาษาของตนเองอยู่แล้ว จึงมีความรู้สึกว่าเป็นการกลืนภาษาคือกลืนชาติ จึงเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหา โดยขณะนั้นก็มีปัญหาเรื่องเงี้ยวกบฏเมืองแพร่ขึ้นมา เพราะเงี้ยวได้สัมปทานป่าไม้ และถ้ามีปัญหากับเงี้ยวจะไม่สามารถเอาผิดได้ ต้องไปขึ้นศาลที่อังกฤษเพราะเป็นเมืองขึ้นอยู่ จึงเอาเรื่องกบฏเงี้ยวเมืองแพร่มาเป็นข้อพิพาท”5
จากความรู้สึกของคนที่เป็นลูกหลานที่สืบเชื้อสายมาจากเจ้าหลวง ที่ประวัติศาสตร์ถือว่าท่านเป็นกบฏนั้น
“เมื่อก่อนไม่สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าตนเป็นลูกหลาน เพราะมีความรู้สึกว่า อดีตหรือประวัติความเป็นมาของบรรพบุรุษเป็นสิ่งที่คลุมเครือ เพราะประวัติศาสตร์ได้จารึกไว้แล้วว่าเจ้าหลวงที่เป็นบรรพบุรุษของเรานั้นเป็นกบฏ แต่ในปัจจุบันก็ได้มีลูกหลานหรือคนที่อยู่ในเหตุการณ์กบฏเงี้ยวเมืองแพร่นำเรื่องราวของตนมาตีแผ่ให้ลูกหลานได้รับรู้ จึงทำให้ลูกหลานในปัจจุบันมีความรู้สึกที่ดีขึ้น เมื่อเชื่อว่าบรรพบุรุษของตนไม่ได้เป็นกบฏ เพราะอย่างไรเสียประวัติศาสตร์ก็บอกไว้ว่าเจ้าหลวงเป็นกบฏ เพียงแค่ชาวแพร่มีความรู้สึกว่าเจ้าหลวงพิริยะฯ ไม่ได้เป็นกบฏก็เพียงพอแล้ว6
แต่ไม่ใช่คนเมืองแพร่ทั้งหมดที่มีความคิดเห็นไปในทางเดียวกับปรากฏการณ์ความเชื่อถือในข้อมูลเรื่องเจ้าหลวงเมืองแพร่ไม่ได้เป็นกบฏดังคำสัมภาษณ์ของนายรัตน์ วังซ้าย แต่ก็มีอีกหลายคนที่เห็นว่า
“เรื่องราวของกบฏเงี้ยวเมืองแพร่ไม่ค่อยมีผลกระทบกับคนที่นี่เท่าไหร่ แต่จะมีคำถามอยู่ในใจเท่านั้นว่า ทำไมเมืองแพร่ถึงไม่มีนามสกุล ณ แพร่ เพราะเมืองอื่นที่มีเชื้อสายของเจ้าก็มีกันหมด ผลกระทบที่ว่าเจ้าหลวงเป็นกบฏเงี้ยวน่าจะมีผลกับลูกหลานของเจ้าหลวงมากกว่า ภาพรวมที่มองหรือความรู้สึกของคนทางเหนือก็ไม่แตกต่างกัน เพียงแค่มีความรู้สึกที่ว่า ณ แพร่ หายไปไหนเท่านั้น ในขณะนั้นทางกรุงเทพฯ ได้ส่งข้าหลวง คือพระยาไชยบูรณ์มาปกครองเมืองแพร่ คนภาคกลางจึงเข้ามากันเยอะ มีหลายคนที่เป็นลูกหลานของข้าราชการจากภาคกลางที่แต่งงานกับสาวชาวเมืองแพร่และกลายเป็นคนแพร่ไปในที่สุด จึงไม่ได้รู้สึกมากมายกับเรื่องเจ้าหลวงนัก”7
เมื่อพระยาไชยบูรณ์หนีไปขอความช่วยเหลือจากเจ้าพิริยะเทพวงศ์ฯ เจ้าหลวงเมืองแพร่ที่คุ้มแต่ก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือ ข้อมูลจากกวี ศรีวิไจย โข้ ที่แต่ง ค่าวเรื่องประวัติเงี้ยวปล้นเมืองแพร่ ในปีต่อมาหลังจากเกิดเหตุและเป็นบุคคลร่วมสมัยที่เห็นเหตุการณ์ก็ยืนยันว่า เจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ฯ ไม่ได้ช่วยพระยาไชยบูรณ์ที่คิดจะสู้รบกับโจรแต่อย่างใด ทั้งยังบ่ายเบี่ยงและหนีหน้าหายไปจากคุ้มเจ้าหลวง ค่าวของศรีวิไจย โข้ เป็นเอกสารร่วมสมัยที่เขียนขึ้นภายหลังเหตุการณ์เงี้ยวปล้นเมืองแพร่ประมาณหนึ่งปี กล่าวถึงเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ฯ ว่าไม่ช่วยเหลือพระยาไชยบูรณ์จริง ซึ่งก็มีข้อเท็จจริงตรงกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่บันทึกไว้ แต่ค่าวเรื่องนี้ผู้แต่งหนังสือ “เล่าเรื่องเมืองแพร่ในอดีต พระยาพิริยวิไชยอุดรวิไสยวิปผาระเดช บรมนฤเบศร์สยามมินทร์สุจริตภักดีฯ เจ้าหลวงผู้ครองนครเมืองแพร่” พระครูวิทิตพิพัฒนาภรณ์ (มนตรี ธมมฺเมธี) เห็นว่า ศรีวิไจย โข้ “แต่งโดยห่างความจริงและไม่ใคร่ครวญเหตุผลความเป็นไป ตอนท้ายซอค่าวยิ่งพูดทับถมหนักยิ่งขึ้น” การที่กวีผู้นี้เป็นผู้มีชื่อเสียงมากทำให้คนทั่วไปเชื่อว่าเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ฯ เป็นกบฏ8
กระบวนการทางสังคมในเมืองแพร่มีแนวโน้มเป็นไปในทาง “ท้องถิ่นนิยม” มากขึ้นในช่วงราวเกือบสิบปีที่ผ่านมา แม้ว่าเหตุการณ์เงี้ยวปล้นเมืองแพร่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางการเมืองอย่างฉับพลัน และเป็นหัวเมืองประเทศราชแรกในล้านนาที่ถูกยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมืองใน พ.ศ. ๒๔๔๕ ทำให้เชื้อสาย “เจ้านาย” ในเมืองแพร่ต้องสิ้นสุดลง แต่สิ่งเหล่านี้มิได้ทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านลุกลามไปในหมู่เจ้านายชั้นสูงในหัวเมืองเหนืออื่นๆ หรือภายในกลุ่มชาวบ้านแต่อย่างใด
ทั้งนี้เป็นเพราะกระบวนการดึงอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองให้หัวเมืองต่างๆ มีลักษณะไม่ต่างจากกระบวนการทำให้เป็นอาณานิคมของชาวตะวันตก เจ้าประเทศราชหัวเมืองต่างๆ มีกำลังหรืออิทธิพลในการต่อรองไม่มาก เพราะถูกบั่นทอนอำนาจในการจัดการบ้านเมืองแบบสมัยใหม่ที่รัฐสยามส่งคนและเครื่องมือในการจัดการการปกครองแบบใหม่เข้าสู่หัวเมืองเหล่านั้นอย่างรวดเร็วและฉับพลัน ทำให้กลุ่มเจ้านายผู้ปกครองต้องทนอยู่ในภาวะจำยอม
เหตุผลอีกประการหนึ่งก็คือ สังคมในท้องถิ่นเองก็แบ่งกลุ่มคนของตนเองไว้เป็น ๒ ระดับ คือ เจ้านายหรือกลุ่มเชื้อสายเจ้านายของเมืองซึ่งเป็นกลุ่มคนชั้นสูงและมีสถานภาพ กับชาวบ้านทั่วไปที่เป็นไพร่บ้านพลเมือง ทำมาหากินอยู่กับการเกษตรเพื่อเลี้ยงตนเอง และส่งผลิตผลหรือภาษีเพื่อสนับสนุนกลุ่มคนชั้นสูงและกิจการของบ้านเมือง ทำให้เกิดช่องว่างของกลุ่มคนที่จะเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจที่เข้ามาใหม่จากการทำไม้ที่ต้องใช้เงินทุน กลุ่มบริษัทต่างชาติจึงนำคนกลุ่มใหม่ที่เป็นพ่อค้าและผู้ชำนาญการเข้ามาสู่เมืองแพร่ ทั้งที่เป็นไทใหญ่ พม่า จีน ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับคนท้องถิ่น มีทั้งอิสระและความชำนาญในการติดต่อค้าขายคนกลุ่มต่างๆ มากกว่า ในภายหลังเจ้านายเมืองแพร่หลายตระกูลก็ปรับตัวให้เข้ากับระบบทุนเหล่านี้ และกลายเป็นกลุ่มผู้ทำการค้าหรือธุรกิจรับจ้างเหมากับบริษัทของชาวยุโรปเช่นเดียวกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ที่เข้ามาสู่เมืองแพร่ในฐานะผู้ชำนาญการ เมื่อสิ้นสุดระบบเจ้าหลวงผู้ครองนครไปแล้ว ส่วนชาวบ้านที่เป็นคนเมืองแพร่เกือบทั้งหมดไม่ได้เข้าสู่ระบบแรงงานในการทำไม้เมืองแพร่ในระยะแรกแต่อย่างใด และวิถีชีวิตก็แทบจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจหลักของเมืองแพร่ในเรื่องไม้สักเลย จนถึงช่วงระยะหลังที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้และบริษัทผู้รับเหมาสัมปทานของไทยเข้าไปทำไม้ แรงงานรับจ้างจากภาคอื่นๆ โดยเฉพาะภาคอีสานจึงเข้ามา ส่วนชาวบ้านท้องถิ่นก็ลักลอบนำไม้สัมปทานออกมาขายเท่านั้น
เศรษฐกิจภายในตัวเมืองแพร่จึงขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ที่คนชั้นสูงได้รับจากการทำรับเหมาช่วง เช่น นำช้างไปรับลากไม้ออกจากป่า และกิจกรรมทำไม้ที่ต้องอาศัยขั้นตอนและแรงงานจำนวนมาก ผู้ที่สืบเชื้อสายเจ้านายในเมืองแพร่ที่ได้รับการศึกษาดีและสามารถเข้าถึงกลุ่มคนที่เป็นผู้บริหารในบริษัทของชาวยุโรปจึงมีฐานะดีเข้าขั้นเศรษฐีหลายคน และเป็นที่เล่าขานลือเลื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน หลักฐานที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบันคือบ้านเรือนจำนวนมากทั้งที่มีการบูรณะและทรุดโทรมลงแล้ว รวมถึงภาพถ่ายบ้านเรือนของคหบดีอีกหลายคนที่ถูกไฟไหม้หรือรื้อทิ้งไปแล้ว แสดงถึงฐานะอันมั่งคั่งของคนชั้นสูงที่ส่วนใหญ่เป็นเชื้อสายเจ้านายเมืองแพร่เก่าในยุคหนึ่งจากผลประโยชน์ในการทำสัมปทานป่าไม้ของบริษัทชาวยุโรปที่รุ่งเรืองในเมืองแพร่กว่าห้าสิบปี แต่ในปัจจุบันมรดกทรัพย์สินที่ถูกแบ่งและใช้จ่ายกันในกลุ่มสายตระกูลที่มีฐานะเหล่านี้ก็แทบจะไม่พบเห็นร่องรอยของความเจริญรุ่งเรืองหรือสืบต่อมากลายเป็นหลักฐานทางทรัพย์สมบัติหรือสร้างความเจริญให้บ้านเมืองอย่างมั่นคง นอกจากอาคารบ้านเรือนเก่าๆ ที่ยังพอเห็นอยู่บ้าง รวมถึงผู้คนที่เริ่มย้ายออกจากเมืองด้วยเหตุผลต่างๆ ทำให้เมืองแพร่ในปัจจุบันกลายเป็นเมืองที่แทบจะไม่หลงเหลือกลุ่มคนชั้นสูงในอดีตที่อยู่อาศัยในเมืองเท่าใดนัก
จนมาถึงวันนี้เมืองแพร่ที่เคยได้ชื่อว่ามีป่าไม้อุดมสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งในหัวเมืองเหนือต้องพบกับสภาพของป่าไม้ที่แทบไม่มีต้นไม้ใหญ่หลงเหลืออยู่ เหลือเพียงผลกระทบต่อชีวิตของชาวบ้านและสภาพแวดล้อมที่ไม่อาจเรียกกลับคืนได้ในเร็ววัน
คนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งกลายมาเป็นผู้มีบทบาททางการเมืองอย่างสูงในเมืองแพร่ทุกวันนี้ กลายเป็นกลุ่มคนเชื้อสายจีนที่อพยพเข้ามา หลังจากเกิดเหตุการณ์เงี้ยวปล้นเมืองแพร่แล้ว และไม่ได้มีส่วนร่วมหรือรู้เห็นในกระบวนการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางในยุคเปลี่ยนจากเจ้าผู้ครองนครมาเป็นระบบมณฑลเทศาภิบาลแต่อย่างใด กลุ่มคนเหล่านี้ต้นตระกูลเริ่มต้นจากการเป็นแรงงานและพ่อค้า รวมถึงการประมวลเป็นเจ้าภาษีทำให้เป็นกลุ่มคนที่มีทุนสะสมมากกว่าคนกลุ่มอื่นๆ และสามารถเข้าถึงการประมูลระบบสัมปทานของรัฐในเรื่องต่างๆ จนกลายเป็นผู้มีฐานะทางการเงินและขยายอิทธิพลมาสู่การเมือง จนกลายเป็นผู้มีอิทธิพลทางการเมืองอย่างเต็มรูปแบบในเมืองแพร่ทุกวันนี้
ตัวแทนทางการเมืองของคนเมืองแพร่ในกลุ่มคนเหล่านี้จึงไม่มีประวัติศาสตร์ร่วมหรือความรู้สึกในเชิงชาติพันธุ์สัมพันธ์ต่อรัฐไทย ความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่จะนำไปสู่ประเด็นทางการเมืองของความเป็นคนแพร่ในลักษณะท้องถิ่นนิยมที่เชิดชูอัตลักษณ์ของความเป็นคนเมืองแพร่แต่ดั้งเดิมจึงไม่ใช่ประเด็นทางการเมืองที่นักการเมืองจากท้องถิ่นจะนำไปเป็นเหตุผลในกระบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองแต่อย่างใด
ส่วนชาวบ้านดังตัวอย่างจากพื้นที่สะเอียบ จากหมู่บ้านที่ลักลอบนำไม้จากป่าสัมปทานมาขายกลายเป็นหมู่บ้านที่ต้องรักษาป่า เพราะผลกระทบจากการทำลายสภาพแวดล้อมที่ทำให้การทำมาหากินเป็นไปได้ยาก และผลกระทบทางการเมืองของการสร้างเขื่อน ทำให้ชาวบ้านซึ่งไม่เคยได้รับผลประโยชน์แต่อย่างใดในการทำไม้ในอดีตไม่ได้รู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับคนชั้นกลางในเมืองที่ต้องการฟื้นอัตลักษณ์ความเป็นคนแพร่ รวมทั้งไม่เข้าใจว่าเหตุการณ์เงี้ยวปล้นเมืองแพร่หรือที่ถูกเรียกว่า กบฏเงี้ยวเมืองแพร่จะเกี่ยวข้องในความรับรู้หรือความรู้สึกของคนแพร่ในปัจจุบัน เพราะคนในเมืองแพร่เอง โดยเฉพาะในตัวเมืองก็กล่าวโทษคนสะเอียบว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้ไม่ได้สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น และเป็นฝ่ายที่ทำให้น้ำท่วมเมืองแพร่อย่างสม่ำเสมอในช่วงหลังๆ ทั้งที่ข้อเท็จจริงนั้นน้ำท่วมเมืองแพร่เกิดจากสาเหตุการขยายตัวของเมืองที่ไม่สามารถรองรับน้ำหลากจากสภาพความเป็นแอ่งพื้นที่ราบในหุบเขาในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปนั่นเอง
ดังนั้นความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ย่อยที่แสดงอัตลักษณ์ของความเป็นคนแพร่จึงวนเวียนอยู่เฉพาะคนกลุ่มหนึ่งที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นคนชั้นกลางในเมืองแพร่ทุกวันนี้เท่านั้น คนกลุ่มนี้เป็นลูกหลานของคนเมืองแพร่ชั้นสูงที่เคยอยู่อาศัยในเวียงและนอกเวียงที่เป็นตัวเมืองแพร่มาแต่ดั้งเดิม และเคยเก็บเกี่ยวผลประโยชน์และได้อานิสงส์จากบริษัททำไม้สัมปทานของชาวยุโรป ทำให้มีฐานะความเป็นอยู่และได้รับการศึกษาขั้นสูงแตกต่างจากชาวบ้านโดยทั่วไป
โดยการแสดงออกมาถึงการรื้อฟื้นอดีตของเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ฯ เจ้าหลวงองค์สุดท้ายของเมืองแพร่ที่พยายามบอกแก่สังคมว่า เจ้าหลวงเมืองแพร่ไม่ได้เป็นกบฏ ดังที่ประวัติศาสตร์ของรัฐกล่าวถึงและสังคมคนไทยทั่วไปเข้าใจว่าเป็นเช่นนั้น
กรณีความพยายามสร้างอนุสาวรีย์เจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ฯ ขึ้นที่หน้าคุ้มเจ้าหลวงโดยลูกหลานตระกูลเชื้อสายเจ้าหลวงเมืองแพร่ซึ่งประสบปัญหามากกับทางราชการ และการไม่ยอมรับอนุสาวรีย์ของพระยาไชยบูรณ์9
ความพยายามสร้างพิพิธภัณฑ์ที่คุ้มเจ้าหลวงซึ่งได้รับกลับคืนมาจากกระทรวงมหาดไทย การตั้งกลุ่มชำระประวัติศาสตร์เมืองแพร่10 การจัดทำบ้านวงศ์บุรีให้เป็นพิพิธภัณฑ์ของเมืองและเป็นตัวแทนของเชื้อสายเจ้านายเมืองแพร่อย่างเป็นรูปธรรมที่สุด เมื่อมีการบูรณะบ้านวงษ์บุรีขึ้นใหม่และกลายเป็นตัวแทนของผู้ที่จัดการเรื่องการท่องเที่ยวเมืองแพร่โดยการสนับสนุนของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จึงเปิดบ้านเพื่อให้เยี่ยมชม แต่ก็ประสบปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการดูแล ซึ่งต่อมาก็มีโครงการทำเป็นพิพิธภัณฑ์บ้านวงศ์บุรี และเนื้อหาส่วนใหญ่ก็เป็นการนำเสนอเรื่องราวของเจ้านายเมืองแพร่ เครื่องใช้ของเจ้านาย แบ่งเป็นห้องๆ เพื่อที่จะแสดงวิถีชีวิตของเจ้านายและชีวิตของผู้คนในอดีตเมืองแพร่11
การจัดเวทีและกลุ่มพูดคุยฟื้นเรื่องความสัมพันธ์ของสายตระกูล และความเป็นเจ้านายเมืองเหนือทั้งในวงวิชาการท้องถิ่นและในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในอินเตอร์เน็ตที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วและมีมากขึ้น โดยเฉพาะหนังสืออ้างอิงเรื่องสายตระกูลเจ้านายเมืองแพร่ที่รวบรวมตระกูลต่างๆ ในเมืองแพร่ไว้มากมาย คือหนังสือรวมสายเครือญาติโดย บัวผิน วงศ์พระถาง และเจ้าไข่มุกต์ ประชาศรัยสรเดช (วงศ์บุรี) และดวงแก้ว รัตนวงศ์ เรื่อง เชื้อสายเจ้าหลวงเมืองแพร่ ๔ สมัย (พ.ศ. ๒๓๖๑-๒๔๔๕) เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๗ จนกลายเป็นหลักฐานอ้างอิงเรื่องเจ้าเมืองแพร่เล่มสำคัญ เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่ากระบวนฟื้นอัตลักษณ์ของคนเมืองแพร่ที่ยังติดยึดอยู่กับความเป็นท้องถิ่นนิยมมากกว่าที่จะพยายามศึกษาท้องถิ่นหรือชุมชนในบริบทของความเป็นเมืองแพร่ทั้งหมดที่รวมกลุ่มคนหลากหลายกลุ่ม คนที่อยู่อาศัยทั้งในเมืองและนอกเมือง คนที่มีอาชีพหลากหลายที่ต้องพึ่ง น้ำ ป่า เขา สภาพแวดล้อมทั้งหมดของเมืองแพร่ ไม่ใช่ติดอยู่เพียงคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดในเวียงแพร่ หรือประวัติศาสตร์เฉพาะของเจ้านายและคนชั้นสูงตระกูลต่างๆ ในเมืองแพร่เท่านั้น
ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองแพร่ประกอบไปด้วย ประวัติศาสตร์โบราณคดีที่เป็นเรื่องในอดีตที่สืบค้นไปไกลเกินกว่าคนรุ่นปัจจุบันในเมืองแพร่จะสืบเรื่องราวที่เกี่ยวข้องได้ และประวัติศาสตร์สังคมมีเรื่องราวมากมายที่ถูกบันทึกไว้ในเอกสารทางประวัติศาสตร์และอยู่ในความทรงจำของผู้คนในเมืองแพร่ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์บาดแผลที่เกี่ยวกับเจ้าหลวงเมืองแพร่ การดำเนินสัมปทานป่าไม้ในยุคอาณานิคม อย่างไรก็ตามประวัติศาสตร์โบราณคดีเมืองแพร่ถูกเล่าและเขียนถึงมีความสับสนและปนเปไปด้วยการนำเรื่องราวจากตำนานพระธาตุและตำนานพระเจ้าเลียบโลกมาเทียบเคียงกับความน่าจะเป็นของประวัติศาสตร์ในล้านนายุคต่างๆ ทำให้เห็นข้อบกพร่องของการเปรียบเทียบอายุ เมื่อนำเวลาที่ต่างความเข้าใจในโลกที่ต่างกันมาใช้ ประวัติศาสตร์ของเมืองแพร่ที่ถูกเขียนขึ้นโดยนักประวัติศาสตร์ยุคแรกๆ บ้าง และนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นบ้างก็เกิดความสับสนมากเพราะมีการอ้างถึงเวลาในประวัติศาสตร์ที่ห่างไกลเสียจนเกินกว่าหลักฐานของการตั้งถิ่นฐานจะรองรับได้ คนเมืองแพร่กำลังอยู่ในสังคมที่เปลี่ยนแปลงซึ่งโหยหาอัตลักษณ์และการถวิลหาอดีต อันเป็นส่วนหนึ่งของกระแสท้องถิ่นนิยม [Localism] ในภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะในภาคเหนือ เมื่อพบว่าอดีตของพวกตนและเจ้าหลวงเมืองแพร่มีความบกพร่องทางการเมืองในรัฐที่กำลังเปลี่ยนแปลงหัวเมืองประเทศราชให้กลายเป็นเพียงเมืองแห่งหนึ่งเท่านั้น ปฏิกิริยานี้ก่อรูปมากขึ้นตามลำดับ แม้จะมีการบูรณาการทางสังคมวัฒนธรรม การศึกษาและการเมืองมาโดยตลอดเวลาในช่วงร้อยปีที่ผ่านมาก็ตาม อย่างไรก็ตามกระบวนการนี้คนเมืองแพร่ส่วนใหญ่ที่ประกอบไปด้วยกลุ่มคนที่มีภูมิหลังแตกต่างจากชนชั้นกลางในเมืองก็ไม่ได้รู้สึกร่วมไปด้วยในกรณีการฟื้นประวัติศาสตร์เพื่อแก้ข้อกล่าวหาเรื่องเงี้ยวปล้นเมืองแพร่หรือกบฏเงี้ยวเมืองแพร่ อันเป็นกระบวนการซึ่งคนชั้นกลางที่สืบเชื้อสายเจ้านายเมืองแพร่กำลังสร้างความเป็นท้องถิ่นนิยมอยู่ในขณะนี้
[1] เสรี ชมพูมิ่ง. “เจ้าพิริยะเทพวงศ์ ผู้นิราศเมืองแพร่ท่ามกลางทหารกองเกียรติยศ, “ใน ศิลปวัฒนธรรม, สิงหาคม ๒๕๒๔
[2] Sanitsuda Ekachai. Retelling history with a twist Outlook Bangkok Post, 16 Apr 2003. และบทความของ ยุวดี มณีวงศ์, กรุงเทพธุรกิจ, ๓ เมษายน ๒๕๔๖. เรื่อง “เจ้าหลวงเมืองแพร่ไม่ได้เป็นกบฏ” ทำให้คนคัดลอกส่งต่อเผยแพร่ในอินเตอร์เน็ตอย่างมากมาย และเป็นข้อมูลสำคัญที่ถูกอ้างอิงอย่างมากในระยะหลังเรื่องความลับที่ถูกเปิดเผยว่าเจ้าหลวงไม่มีส่วนรู้เห็นหรือเป็นกบฎต่อรัฐสยามดังที่ประวัติศาสตร์จากรัฐกล่าวหาแต่อย่างใด
[3] สัมภาษณ์ สิริกร ไชยมา, ชุมชนบ้านพระนอน, ๑๒ ตุลาคม ๒๕๔๘.
[4] สัมภาษณ์ สิทธิเดช กันทาธรรม, ๑๖ ตุลาคม ๒๕๔๘
[5] สัมภาษณ์ วรท ศรีใจลม, รับราชการเป็นรองปลัดเทศบาลเมืองแพร่, ๙ ตุลาคม ๒๕๔๘
[6] สัมภาษณ์ กลุ่มลูกหลานเชื้อสายเจ้าหลวงเมืองแพร่หน้าอนุสาวรีย์เจ้าพิริยเทพวงศ์ หน้าคุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่, ๒๕๔๙
[7] สัมภาษณ์ เจ้าอาวาสวัดพระร่วง, องุ่น ดำเกิงธรรม, ๑๔ ตุลาคม ๒๕๔๘
[8] พระครูวิทิตพิพัฒนาภรณ์ (มนตรี ธมมฺเมธี) เจ้าอาวาสวัดพระธาตุสุโทนมงคลคีรี, เล่าเรื่องเมืองแพร่ในอดีต พระยาพิริยวิไชยอุดรวิไสยวิปผาระเดช บรมนฤเบศร์สยามมินทร์สุจริตภักดีฯ เจ้าหลวงผู้ครอบครองนครเมืองแพร่, ๒๕๔๘
[9] “ปัจจุบันชาวแพร่ให้ความสนใจอนุสาวรีย์แห่งนี้น้อย แม้ทางราชการได้จัดพิธีวางพวงมาลาทุกปี เนื่องจากชาวแพร่ยังคงถือว่าพระยาไชยบูรณ์ไม่ได้เป็นวีรบุรุษในความรู้สึกของชาวแพร่ และเหตุการณ์กบฎเงี้ยวครั้งนี้ทำให้สิ้นสุดยุคที่เมืองแพร่มีเจ้าเมืองปกครอง” กรมศิลปากร, หนังสือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่อง วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดแพร่, ๒๕๔๒
[10] แถลงข่าวองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ จัดทำหนังสือชำระประวัติศาสตร์เมืองแพร่ ๒๕ มกราคม ๒๕๕๐ เพื่อพิมพ์หนังสือ “ชำระประวัติศาสตร์เมืองแพร่” ซึ่งคณะทำงาน ๑๗ คน ร่วมกันรวบรวมและเรียบเรียงข้อมูลหนังสือชำระประวัติศาสตร์เมืองแพร่จากแหล่งข้อมูล เช่น คลังข้อมูลล้านนา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หอสมุดแห่งชาติ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร หอสมุดวชิรญาณ สถาบันพระปกเกล้า และจากคัมภีร์โบราณลานนาต่างๆ เพื่อรวบรวมข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเมืองแพร่ตั้งแต่สมัยเริ่มตั้งถิ่นฐานจนถึงสมัยของการปกครองที่หมดสมัยผู้ครองนคร และการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย
[11] สหยศ วงศ์บุรี, ตุลาคม ๒๕๔๘
คัดลอกมาจากประวัติศาสตร์ท้องถิ่นสู่ประวัติศาสตร์แบบท้องถิ่นนิยม
บทความโดย วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
โฆษณา