การปฏิรูปมณฑลพายัพของสยาม บีบบังคับให้เงี้ยวก่อกบฏ เมื่อ พ.ศ. 2445 ???
สยามปกครองดินแดนล้านนาโดยพยายามควบคุมให้อยู่ในพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่กรุงเทพฯ มาตลอด แต่มิได้เข้าไปจัดการปกครองโดยตรงจนกระทั่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีพระราชดำริปรับปรุงการปกครองทั่วพระราชอาณาจักร อันเป็นการดึงอำนาจรัฐเข้าสู่ศูนย์กลางมากขึ้น เพื่อป้องกันภัยคุกคามจากลัทธิจักรวรรดินิยมจากอังกฤษและฝรั่งเศส
การปฏิรูปในสมัยรัชกาลที่ 5 ทำให้เกิดความไม่พอใจของชนพื้นเมืองท้องถิ่นในดินแดนล้านนาหรือในขณะนั้นเรียกว่ามณฑลพายัพ รวมถึงบรรดาชนชั้นผู้ปกครองท้องถิ่นที่ค่อย ๆ สูญเสียอำนาจไปเรื่อย ๆ ก็ได้สนับสนุนพวกเงี้ยวให้ก่อกบฏ จนนำไปสู่เหตุการณ์กบฏเงี้ยว พ.ศ. 2445
การปฏิรูปในดินแดนล้านนา
การปฏิรูปการปกครองเริ่มต้นในช่วง พ.ศ. 2427 คือการปฏิรูปหัวเมือง “ลาวเฉียง” รัชกาลที่ 5 ทรงดำเนินพระราโชบายค่อยเป็นค่อยไปในการปฏิรูป เนื่องจากทรงทราบดีว่าบรรดาเจ้านายเมืองเหนือยังคงมีอำนาจการปกครองและควบคุมไพร่พลได้ระดับหนึ่งอยู่ รัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร เป็นข้าหลวงใหญ่ไปปฏิรูปหัวเมืองลาวเฉียง
ในการนี้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร ที่ปฏิบัติราชการในล้านนาเป็นเวลาปีเศษ ก็ได้ขอตัว “เจ้าดารารัศมี” พระธิดาในเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ไปเป็นพระราชชายาในรัชกาลที่ 5 อีกด้วย
พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร ได้นำการปฏิรูปการปกครองจากกรุงเทพฯ มาเป็นต้นแบบในการปฏิรูปด้านต่าง ๆ ในล้านนา เช่นการตั้งกรม 6 กรมขึ้นมา คือ กรมมหาดไทย กรมทหาร กรมคลัง กรมยุติธรรม กรมวัง และกรมนา เพื่อดูแลกิจการในหัวเมืองลาวเฉียง โดยดึงเอาเจ้านายท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองเพื่อการประนีประนอมอำนาจในท้องถิ่น นอกจากนั้นยังปฏิรูปการจัดเก็บภาษี โดยให้มีเจ้าภาษีนายอากรจัดเก็บภาษี ให้ยกเลิกนำผลผลิตมาเสียภาษีโดยให้จ่ายเป็นเงินแทน และให้เพิ่มการจัดเก็บภาษีอากรหลายอย่างเพื่อให้มีเงินเข้าคลังมากยิ่งขึ้น
การปฏิรูปภาษีทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน และเจ้านายเมืองเหนือสูญเสียผลประโยชน์ แต่ความไม่พอใจเหล่านี้ถูกเก็บงำไว้เพราะต่างก็เกรงใจพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร ซึ่งเป็นพระอนุชาในรัชกาลที่ 5 แต่เมื่อพระองค์เสด็จกลับกรุงเทพฯ ก็มีความพยายามสลายการปฏิรูปเหล่านั้น แม้จะมีการส่งข้าหลวงใหญ่พิเศษขึ้นมาควบคุมแต่ก็ไม่สามารถจัดการปฏิรูปให้สะดวกได้
ครั้นเมื่อสยามต้องเสียหัวเมืองเงี้ยวทั้งห้าให้อังกฤษ ใน พ.ศ. 2435 และในปีถัดมาก็เกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ที่เสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้ฝรั่งเศสอีก รัชกาลที่ 5 จึงต้องเร่งปฏิรูปการปกครองหัวเมืองลาวเฉียงอย่างจริงจัง
ใน พ.ศ. 2436 ได้จัดตั้งมณฑลลาวเฉียงแล้วโปรดเกล้าฯ ให้พระยาทรงสุรเดช (อั้น บุนนาค) เป็นข้าหลวงใหญ่ประจำหัวมณฑลเพื่อปฏิรูปล้านนาอีกครั้ง พระยาทรงสุรเดชส่งข้าหลวงไปประจำยังเมืองต่าง ๆ เพื่อเป็นที่ปรึกษาแก่เจ้าเมืองท้องถิ่นเพื่อให้ดำเนินนโยบายสอดคล้องกับสยาม ส่วนการปฏิรูปการคลังและภาษีนั้น พระยาทรงสุรเดชเข้าควบคุมการคลังเอง ไม่ให้เจ้าเชียงใหม่มีอำนาจใช้จ่ายเงินแผ่นดินอย่างอิสระ
ใน พ.ศ. 2439 ได้ตั้งกรมป่าไม้เพื่อควบคุมการทำป่าไม้ในมณฑลลาวเฉียง สยามเจรจาต่อรองให้เจ้านายเมืองเหนือโอนกรรมสิทธิ์สัมปทานป่าไม้มาเป็นของรัฐบาลสยาม เรื่องสัมปทานนี้ทำให้เจ้านายฝ่ายเหนือยิ่งเสียผลประโยชน์ เพราะการค้าไม้เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงเจ้านายเมืองเหนือมายาวนาน แม้จำยอมโอนกรรมสิทธิ์ให้สยาม แต่เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์รวมกับชนชั้นผู้ปกครองท้องถิ่นมีหนังสือกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 5 ให้ย้ายข้าหลวงใหญ่ออกไป รัชกาลที่ 5 จึงจำเป็นต้องเรียกตัวพระยาทรงสุรเดชกลับกรุงเทพฯ แล้วส่งข้าหลวงคนใหม่ไปปฏิบัติงานแทน
ข้าหลวงใหญ่คนใหม่คือพระยานริศราราชกิจ (สาย โชติกเสถียร) โดยมีพระยาศรีสหเทพ (เส็ง วิรยศิริ) เป็นข้าหลวงพิเศษดำเนินการปฏิรูปอีกคนหนึ่ง ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2442 ได้พยายามปฏิรูปการปกครองเป็นแบบมลฑลเทศาภิบาล คือการจัดตั้งมณฑลพายัพ กระทั่งรัฐบาลได้ออกกฎข้อบังคับสำหรับปกครองมณฑลพายัพ ร.ศ. 119 สาระสำคัญคือ มีข้าหลวงใหญ่ประจำมณฑลและข้าหลวงในระดับรองเพื่อช่วยดูแลกิจการต่าง ๆ ในมณฑล ข้าหลวงใหญ่มีอำนาจควบคุม “เค้าสนามหลวง” ซึ่งเป็นรูปแบบของคณะการปกครองประจำเมือง ประกอบไปด้วยเจ้าผู้ครองนครซึ่งเป็นเจ้านายเมืองเหนือ ข้าหลวงประจำนคร และข้าหลวงผู้ช่วย
สยามพยายามจำกัดอำนาจของเจ้านายเมืองเหนือโดยการยกเลิกการเกณฑ์แรงงานไพร่ โดยชาวบ้านที่เป็นชายอายุ 18-60 ปี ต้องเสียภาษีคนละ 4 บาทต่อปี แทนการเกณฑ์แรงงาน และเพื่อป้องกันความไม่พอใจของบรรดาเจ้านายเมืองเหนือที่เคยมีอำนาจในการควบคุมการเกณฑ์แรงงาน รัฐบาลสยามจึงยอมจ่ายเงินชดเชยให้เจ้านายเมืองเหนือแทน อย่างไรก็ตาม บางครั้งก็มักมีการเกณฑ์แรงงานมาทำงานเพื่อสาธารณะประโยชน์ เช่น ทำถนนและสร้างสะพาน ซึ่งทำให้ชาวบ้านไม่พอใจเพราะถือว่าตนได้เสียภาษีไปแล้ว ซ้ำยังไม่ได้รับค่าตอบแทนรายวันที่สมควรจะได้อีกด้วย
กบฏเงี้ยว พ.ศ. 2445
ไทยใหญ่หรือเงี้ยวคือกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่กระจายทั่วไปตามเทือกเขาทางภาคเหนือของไทย ลาว เมียนมา และตอนล่างของจีนในปัจจุบัน พวกเงี้ยวมีความใกล้ชิดกับชาวล้านนามานานหลายร้อยปี เพราะในอดีตไม่มีการแบ่งเขตแดนตามรูปแบบของรัฐสมัยใหม่ ผู้คนจึงสามารถเคลื่อนย้ายถิ่นฐานได้สะดวกโดยไม่สนใจเส้นแบ่งพรมแดน ซึ่งก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนและผสมผสานทางวัฒนธรรมระหว่างกันมาโดยตลอด ชาวล้านนาจึงมีความใกล้ชิดกับพวกเงี้ยวมากกว่าพวกไทย-สยาม
พวกเงี้ยวไม่พอใจรัฐบาลสยามอันเนื่องมาจากปัญหาเรื่องสิทธิจากสนธิสัญญาเบาว์ริง กล่าวคือ คนที่อยู่ในบังคับของอังกฤษห้ามมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย รวมถึงห้ามตัดไม้เพื่อสร้างบ้านหรือวัด ในราชอาณาจักรสยาม หากเงี้ยวคนไหนที่ไม่มีหนังสือรับรองว่าเป็นคนในบังคับของอังกฤษก็จะถือว่าเป็นคนของสยามและต้องเสียภาษีแทนการเกณฑ์แรงงาน 4 บาทต่อปี เงี้ยวบางพวกอาศัยอยู่ในสยามมานานแต่ต้องการได้สิทธิพิเศษจากอังกฤษ จึงเข้าไปเป็นคนในบังคับของอังกฤษ เมื่อสยามบังคับใช้กฎหมายตามสนธิสัญญาอย่างเคร่งครัด พวกเงี้ยวเหล่านี้จึงต้องเสียสิทธิจากสยามไปโดยปริยาย จึงก่อให้เกิดความไม่พอใจขึ้นโดยเฉพาะเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกิน
ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2445 มีข่าวลือแพร่สะพัดไปทั่วว่ามีการซ่องสุมกำลังพวกโจร อันธพาล ที่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน ในแขวงเมืองลอง บ้านบ่อแก้ว (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่) ซึ่งเป็นแหล่งชุมชนของพวกเงี้ยว พระมนตรีพจนกิจข้าหลวงประจำเมืองลำปางจึงสั่งให้กวาดล้างเงี้ยวที่บ่อแก้ว แต่ฝ่ายทางการกลับพ่ายแพ้ต้องล่าถอยกลับลำปาง ทำให้พวกเงี้ยวได้ใจที่จะเข้ายึดเมืองแพร่
วันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2445 พวกเงี้ยวนำโดยสล่าโปไชยและพะก่าหม่องจำนวนหลายร้อยคนบุกเข้าเมืองแพร่ในเวลาเช้าตรู่ ได้ปล้นทรัพย์สินของชาวบ้าน ทำลายสถานที่ราชการ และห้างร้านเสียหายย่อยยับ และมุ่งสังหารคนไทย-สยามและคนลาวล้านนาที่ต่อต้าน โดยเฉพาะข้าราชการที่สยามส่งมาปกครองก็ถูกสังหารไปกว่า 20 คน หนึ่งในนั้นคือ พระยาราชฤทธานนท์ ข้าหลวงเมืองแพร่ก็ถูกพวกเงี้ยวสังหาร พวกเงี้ยวเหิมเกริมประกาศจะสังหารคนไทยไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ แต่จะละเว้นชาวต่างชาติและคนท้องถิ่นที่ไม่คิดต่อต้าน
สยามส่งเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) นำทัพใหญ่มาปราบกบฏเงี้ยว โดยใช้ระยะเวลาไม่นานพวกเงี้ยวก็ถูกปราบราบคาบแล้วยึดเมืองแพร่คืนมาได้สำเร็จ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ได้ตั้งศาลทหารขึ้นมาไต่สวนพิจารณาคดีอย่างเด็ดขาด ได้ปลดเจ้าพิริยเทพวงศ์ออกจากตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครแพร่ ซึ่งได้หลบหนีไปอยู่ที่หลวงพระบาง เจ้าราชวงศ์และภริยาก็ดื่มยาพิษฆ่าตัวตายหนีความผิด เจ้าราชบุตรซึ่งเป็นบุตรเขยของเจ้าพิริยเทพวงศ์ ในฐานะผู้บังคับกองตำรวงภูธรเมืองแพร่มีความผิดฐานรู้เห็นเป็นใจกับพวกเงี้ยว แต่ได้รับอภัยโทษโดยให้ไปปราบเงี้ยวที่หลบหนีแตกพ่ายเป็นการลบล้างความผิด
พวกเงี้ยวในบังคับของสยามถูกประหาร 8 คน ในบังคับของอังกฤษถูกประหาร 2 คน อีก 16 คนถูกนำตัวมากรุงเทพฯ แยกนักโทษในบังคับสยามไปจำคุกที่กระทรวงยุติธรรมและนักโทษในบังคับอังกฤษไปจำคุกที่สถานทูตอังกฤษ
อย่างไรก็ตาม จากรายงานของ ดร. โทมัส มิชชันนารีชาวอเมริกันได้เขียนรายงานเหตุการณ์กบฏนี้โดยให้การยืนยันว่าเจ้าพิริยเทพวงศ์และเจ้านายเมืองแพร่ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นกับการกบฏเลยแม้แต่น้อย เมื่อคราวพวกเงี้ยวยึดเมืองแพร่นั้น พวกเงี้ยวได้ปล่อยนักโทษออกจากคุกแล้วสวมเครื่องแต่งกายของพวกข้าหลวงก่อนที่จะออกไปบุกทำลายปล้นทรัพย์สินในเมืองแพร่ต่อไป
แต่รายงานของมิสเตอร์ซี โรบินซ์ ที่ปรึกษากฎหมายกระทรวงมหาดไทยได้เขียนรายงานถึงสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยว่าพวกเงี้ยวไม่มีทางกระทำได้สำเร็จเลยหากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากเจ้านายเมืองแพร่ และเจ้าพิริยวงศ์ก็ล่วงรู้มาโดยตลอดก่อนเกิดเหตุการณ์ว่าพวกเงี้ยวจะปล้นเมือง แต่ก็มิได้เตรียมดำเนินการปกป้องเมืองแต่อย่างใด
ใครหนุนเงี้ยวก่อการกบฏ?
พวกเงี้ยวนั้นย่อมไม่พอใจการปฏิรูปของสยามเฉกเช่นเดียวกับชาวล้านนาที่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน แต่เป็นที่น่าสงสัยว่าพวกเงี้ยวน่าจะได้รับการสนับสนุนให้ก่อกบฏอย่างแน่นอน ซึ่งสามารถตั้งข้อสันนิษฐานผู้สนับสนุนโดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่หนึ่ง คือ เจ้านายฝ่ายเหนือ เพราะเป็นกลุ่มที่สูญเสียผลประโยชน์มหาศาลจากการปฏิรูปการปกครองและเศรษฐกิจดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือเจ้านายเมืองแพร่ ที่ได้ให้การสนับสนุนกับพวกเงี้ยว แต่ไม่มีหลักฐานว่าเจ้านายเมืองเหนือเมืองอื่น ๆ ให้การสนับสนุนพวกเงี้ยว
กลุ่มที่สอง คือ อังกฤษ เพราะอังกฤษอาจเข้ามาแทรกแซงจากความวุ่นวายที่เกิดขึ้น โดยอาจอ้างถึงความปลอดภัยในทรัพย์สินและคนในบังคับของอังกฤษ ซึ่งเงี้ยวบางคนก็เป็นคนในบังคับของอังกฤษด้วย หรืออาจหาข้ออ้างเรียกร้องค่าชดเชยได้ว่าพวกเงี้ยวในบังคับของอังกฤษที่ถูกจับไปนั้นทำให้เกิดผลกระทบต่อการทำงานในบริษัทค้าไม้ของอังกฤษ จึงเรียกร้องเงินชดเชยจากรัฐบาลสยาม
กลุ่มที่สาม คือ สยาม เพราะต้องการลดอำนาจของเจ้านายเมืองเหนือลง เพื่อจะได้เข้ามาจัดการผลประโยชน์และควบคุมล้านนาได้อย่างเบ็ดเสร็จ โดยอาจทำการสนับสนุนให้เงี้ยวก่อการกบฏ หรือกดดัน บีบบังคับ หรือยุยงให้พวกเงี้ยวก่อการณ์นี้ขึ้นมาก็ได้ ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนว่าผลจากเหตุการณ์นี้ทำให้สยามเข้ามาปฏิรูปในล้านนามากขึ้น ปราบปรามอำนาจเจ้านายเมืองเหนือ และสามารถผนวกล้านนาได้ในที่สุด
กลุ่มที่สี่ คือ ฝรั่งเศส เพราะต้องการเข้ามามีอิทธิพลเหนือล้านนาแข่งกับอังกฤษและสยาม เนื่องจากหมายปองดินแดนล้านนาที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่มีมูลค่ามหาศาล
กบฏเงี้ยวในมณฑลพายัพ
หลังจากพระมนตรีพจนกิจข้าหลวงประจำเมืองลำปางปราบเงี้ยวที่บ่อแก้วไม่สำเร็จ ก็ทำให้เกิดความวิตกกังวลไปทั่วทั้งมณฑลพายัพว่าพวกเงี้ยวจะเข้าปล้นและยึดเมืองต่าง ๆ เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปางไปโทรเลขไปขอกำลังมาจากเชียงใหม่มาช่วยป้องกันเมือง ระหว่างที่รอกำลังทหารตำรวจมาช่วยรักษาความสงบนั้น ชาวเมืองลำปางต่างขวัญหนีดีฟ่อ บ้างก็ถึงกับหนีเข้าป่าไปก็มี
กระทั่งร้อยเอกแฮนซ์ มาร์เวิด เยนเซน ชาวเดนมาร์ก ครูฝึกตำรวจภูธรจากเชียงใหม่พร้อมกองกำลังประมาณ 50 คนเดินทางมาถึงเมืองลำปาง ที่ส่งมาจำนวนเท่านี้เพราะเมืองเชียงใหม่ก็กลัวว่าจะโดนพวกเงี้ยวบุกปล้นเมืองเช่นกัน เงี้ยวจากเมืองแพร่ได้แบ่งกำลังหมายจะบุกยึดเมืองลำปาง ในต้นเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2445 ก็เดินทางถึงเมืองลำปาง แล้วจุดไฟเผาบ้านเรือนทำลายขวัญ ร้อยเอกเยนเซนพร้อมทางการฝ่ายเมืองลำปางก็ได้ช่วยกันตั้งเครื่องกีดขวางและยิงต่อสู้กับพวกเงี้ยวอย่างสุดความสามารถ จนพวกเงี้ยวไม่สามารถบุกยึดเมืองได้จึงล่าถอยไป
นับเป็นความโชคดีของฝ่ายทางการสยามที่ได้มีการพัฒนาคมนาคมและการสื่อสารที่ดีขึ้นจนสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือและแจ้งเตือนกันได้อย่างทันท่วงที ดังจะเห็นได้ว่าหลังจากข่าวที่พวกเงี้ยวยึดเมืองแพร่สำเร็จแล้วนั้นเกิดความวิตกไปทั่วมณฑลพายัพ แม้ชาวบ้านจะหวาดกลัวแต่ทางการก็พยายามติดต่อขอความช่วยเหลือและวางแผนป้องกันเมืองอย่างสุดกำลัง เพราะวิตกกังวลว่าพวกเงี้ยวที่มีอยู่ทั่วไปในล้านนาจะคิดก่อการณ์เช่นเดียวกับเงี้ยวที่เมืองแพร่ อย่างไรก็ตาม พวกเงี้ยวที่แตกพ่ายจากเมืองแพร่ ยังได้ก่อจลาจลในเมืองอื่น ๆ อีกเช่น เมืองพะเยา เมืองสอง เมืองงาว แต่สุดท้ายก็สามารถปราบปรามกบฏได้สำเร็จ
การปฏิรูปมณฑลพายัพหลังเหตุการณ์กบฏเงี้ยว
เมื่อปราบกบฏเงี้ยวเสร็จแล้ว สยามได้ดำเนินการ “เชือดไก่ให้ลิงดู” ประหารชีวิตนักโทษที่คิดก่อการกบฏต่อสยาม และยกเลิกเจ้าผู้ครองนครแพร่ ทำให้บรรดาเจ้านายเมืองเหนือมีท่าทีโอนอ่อนลงและจำเป็นต้องยอมรับอำนาจของสยามมากขึ้น แต่เหตุการณ์นี้ทำให้สยามได้เห็นจุดอ่อนและข้อบกพร่องหลายประการจากการปฏิรูปในมณฑลพายัพที่ไม่สำเร็จผลเท่าที่ควร จึงได้พยายามปฏิรูปใหม่อีกครั้ง
ด้านการปกครองได้มีการแบ่งแยกเขตการปกครองใหม่ โดยแบ่งให้มีเขตและแขวงที่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ นอกจากนั้น ใน พ.ศ. 2458 ก็ได้แยกเมืองลำปาง แพร่ และน่าน รวมจัดตั้งเป็นมณฑลมหาราษฎร์ เพื่อความสะดวกในการปกครองให้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น
ด้านภาษีก็พิจารณาลดหย่อนภาษีแทนการเกณฑ์แรงงานเหลือ 2 บาทต่อปีในบางพื้นที่ ด้านทหารได้จัดตั้งกรมบัญชาการทหารมณฑลพายัพ ใน พ.ศ. 2446 ที่เมืองเชียงใหม่ เพื่อดูแลความสงบเรียบร้อย
ด้านการศึกษาก็มีการจัดตั้งโรงเรียนโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อนำคนไปใช้ในระบบราชการในมณฑล วิธีการเชิงบังคับวิธีหนึ่งคือ การกำหนดให้ข้าราชการท้องถิ่นต้องใช้ภาษาไทย ทำให้การเรียนการสอนในโรงเรียนจึงค่อย ๆ มีแบบแผนเหมือนในกรุงเทพฯ แม้จะมีการเรียนภาษาถิ่นอยู่ แต่ก็จะค่อย ๆ หมดความสำคัญลงไป แต่เจ้านายเมืองเหนือก็ให้การสนับสนุนการศึกษาอย่างแข็งขัน เช่น การก่อตั้งโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย จังหวัดลำปาง และโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น
การปฏิรูปและการพัฒนามณฑลพายัพของสยามหลังจากเหตุการณ์กบฏเงี้ยวได้นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ดินแดนล้านนาอย่างมาก ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือการสร้างทางรถไฟสายเหนือที่มาถึงเมืองเชียงใหม่ ใน พ.ศ. 2464 ซึ่งเป็นการตอกย้ำอย่างชัดเจนว่าสยามเล็งเห็นถึงความสำคัญของล้านนาและต้องการผนวกเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ
นโยบายการกลืนชาติตลอดหลายปีของสยาม เริ่มจากการปฏิรูปการปกครองและเศรษฐกิจเพื่อลดอำนาจของเจ้านายท้องถิ่น แล้วจึงขยายอำนาจจากรัฐบาลสยามสู่มณฑลพายัพ เมื่อปัจจัยพื้นฐานเอื้อแล้วจึงปฏิรูปด้านสังคม วัฒนธรรม และการศึกษา จนในที่สุดก็สามารถผสมกลมกลืนให้ชาวล้านนา หรือที่ในอดีตคนไทยจะเรียกว่า พวกลาว หรือพวกลาวพุงดำ ให้กลายเป็นคนไทยได้สำเร็จ
บรรณานุกรม:
พระธรรมวิมลโมลี. (2545). 100 ปี เหตุการณ์เงี้ยวก่อการจลาจลในมณฑลพายัพ พ.ศ. 2445. พะเยา: นครนิวส์การพิมพ์.
สวัสวดี อ๋องสกุล. (2557). ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 10. กรุงเทพฯ: อมรินทร์.
คัดลอกมาจาก #ศิลปวัฒนธรรม
วันพฤหัสที่ 23 เมษายน พ.ศ.2563