7 ก.ย. 2020 เวลา 03:00 • ประวัติศาสตร์
#กบฏเงี้ยว ผลของการต่อต้านสยามครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมทั้ง “เงี้ยว” (ไทใหญ่ ไทเขิน ไทลื้อ(ไทยอง) ไทเหนือ) ไทยวน (คนเมือง) พม่า ขมุ ต่องสู้ กะเหรี่ยง ลาว รวมถึงพระสงฆ์สามเณร หรือแม้แต่คนสยามเองก็เข้าร่วมด้วย เช่น พระไชยสงคราม(นายจอน) ซึ่งได้เป็นราชบุตรเขยของเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ ก็ได้เกณฑ์ข้าวทุกหลังคาเรือนให้เงี้ยวไว้เป็นเสบียง แต่ภายหลังด้วยการขาดความร่วมมือระหว่างหัวเมืองต่างๆ ของล้านนาอย่างจริงจังจึงกระทำการไม่สำเร็จ สยามจึงได้ทำการปราบปรามและลงโทษผู้ต่อต้านที่นครแพร่อันเป็นเมืองเกิดเหตุการณ์ชัดเจนกว่าเมืองนครประเทศราชอื่นอย่างรุนแรงดังนี้คือ
(๑) เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์(เจ้าน้อยเทพวงศ์) เจ้าผู้ครองนครแพร่ ได้เสด็จลี้ภัยการเมืองไปประทับอยู่ที่นครหลวงพระบาง(ลาว) สยามได้ปลดออกจากการเป็นเจ้าผู้ครองนครแพร่ ถอดราชศักดิ์ลงเป็นไพร่ ให้เรียกว่าพระองค์ว่า “น้อยเทพวงศ์” พร้อมกับยึดคุ้มหลวงและราชสมบัติ
 
(๒) แม่เจ้าบัวไหล พระชายาของเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ ถูกถอดออกจากสามัญสมาชิกาตติยจุลจอมเกล้า ริบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และถูกควบคุมลงไปกักตัวไว้ที่กรุงเทพฯ พร้อมกับราชบุตรราชธิดา
(๓) พระยาบุรีรัตน์(เจ้าน้อยหนู) น้องเขยเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ ถูกภาคทัณฑ์ ให้ย้ายออกจากนครแพร่ชั่วคราว และงดสิทธิพิเศษต่างๆ จนกว่าจะแสดงความจงรักภักดีให้สยามพอใจ
(๔) พระยาราชบุตร(เจ้าน้อยยอดฟ้า) สวามีเจ้าหญิงสุพรรณวดี ราชบุตรเขยของเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ ถูกถอดยศศักดิ์ ริบทรัพย์สมบัติ ให้ชดใช้ค่าเสียหายต่างๆ และให้ย้ายออกจากนครแพร่
(๕) พระไชยสงคราม(นายจอน) สวามีเจ้าหญิงยวงคำ ราชบุตรเขยของเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ ถูกถอดยศศักดิ์ และจำคุกไม่มีกำหนดที่กรุงเทพฯ ภายหลังลดเหลือ ๗ ปี
(๖) พระเมืองไชย(เจ้าน้อยไชยลังกา) น้องชายของพระยาบุรีรัตน์ ถูกถอดยศศักดิ์ และจำคุกไม่มีกำหนดที่กรุงเทพฯ ภายหลังลดเหลือ ๓ ปี
(๗) เจ้าน้อยพุ่ม บุตรของพระจันทราชา ถูกจำคุกที่กรุงเทพฯ ๕ ปี
(๘) เจ้าน้อยสวน ถูกปลดออกจากตำแหน่งผู้พิพากษารองนครแพร่และจำคุก ๓ ปี
(๙) พญาชนะ ขุนนางคนสนิทของเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ ถูกจำคุกไม่มีกำหนด และภายหลังได้ผูกคอตายในคุก
(๑๐) พญายอด พ่อแคว้น พร้อมกับแก่บ้าน คนเงี้ยว คนเมือง คนต่องสู้ จำนวนหลายคนถูกตัดสินประหารชีวิต
(๑๑) คนเงี้ยว คนเมือง คนพม่า คนแขก จำนวน ๑๖ คนถูกส่งลงไปจำคุกมหันตโทษอย่างไม่มีกำหนด ที่กรุงเทพฯ
เมื่อสยามปราบปรามอย่างรุนแรง เจ้านายนครแพร่ก็เกิดความกลัวและอยู่ในภาวะตึงเครียด ดังเช่น เจ้าหญิงยวงคำ เมื่อสยามทำการสอบสวน ก็ได้ให้การซัดทอดว่า เจ้าหญิงเวียงชื่น ผู้เป็นพี่สาว และเจ้าแม่บัวไหล ผู้เป็นมารดาเป็นผู้มีส่วนสำคัญที่สุด เจ้านายบางองค์ก็หลบลี้หนีภัยออกจากนครแพร่ไปอยู่แถบเมืองชายแดนที่ติดกับพม่า เช่น เมืองตากหรือเมืองที่ห่างไกลจากนครแพร่ และเจ้านายบางองค์ก็ถึงกับต้องปลงพระชนม์ชีพตนเอง เช่น พระยาราชวงศ์ (เจ้าน้อยบุญศรี) พร้อมกับชายา (เจ้าหญิงเวียงชื่น) ดื่มยาพิษฆ่าตัวตาย
คัดลอกมาบางส่วนจาก“กบฏเงี้ยว พ.ศ.๒๔๔๕” การต่อต้านสยามของประเทศราชล้านนา เริ่มที่เมืองลอง เมืองต้า แต่ถูกมองข้ามจะกล่าวถึง
โดย ภูเดช แสนสา

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา