26 ส.ค. 2020 เวลา 01:15 • การศึกษา
ทศบารมี หรือ บารมี ๑๐ ทัศ มีอะไรบ้าง?
น้ำใจพระบรมโพธิสัตว์ขนาดนั้น พร้อมสละแม้กระทั่งชีวิต เพื่อการสร้างบารมี แล้วในการสร้างบารมี ท่านต้องสร้างบารมี ๑๐ ทัศ
ทานบารมี คือ
มีน้ำใจกว้างขวางพร้อมสละแบ่งปันให้ผู้อื่น ทั้งทรัพย์สินเงินทอง อวัยวะ และชีวิต เพราะในการสร้างบารมียาวนาน ต้องมีเสบียง ถ้าเราเดินทางไกล เช่น จะเดินทางไปเชียงใหม่ถ้าไม่มีเสบียงลำบากหรือไม่ ลำบากนะ ไม่รู้จะเอาอะไรกินเดี๋ยวก็หมดแรง สร้างบารมีในวัฏสงสารที่ยาวนานก็ต้องมีเสบียงเหมือนกัน
แล้วเสบียงจะมาอย่างไร มาจากการสร้างทานบารมี เมื่อเราได้สร้างทานบารมีไว้ บุญกุศลเกิดขึ้นจะดึงดูดสมบัติทั้งหลายเป็นเสบียงในการสร้างบารมี ทานบารมีจึงเป็นข้อแรกเพราะมีความจำเป็นอย่างนี้
ศีลบารมี คือ
นิสัยที่ละเว้นจากความชั่วละบาปทั้งหลาย เพราะเดินทางไกล เราจะไปเจออะไรก็ไม่รู้ คนภัยคนพาล สารพัดที่จะมาแกล้งมาทำร้ายเรา เกราะแก้วคุ้มครองภัยก็คือศีล เรามีศีลมั่นคงเมื่อไหร่ ภัยอันตรายต่าง ๆ ก็จะลดลงไป ด้วยอานุภาพแห่งศีลที่รักษาไว้ดีแล้วข้ามภพข้ามชาติ เช่น เราไม่ได้ไปทำปาณาติบาต ก็จะไม่มีวิบากกรรมให้ใครมารังแกเรา ศีลนี้เองเป็นเกราะแก้วคุ้มครองภัยเรารอบด้าน
เนกขัมมะบารมี คือ
การออกบวชไม่พัวพันในกาม กามมีอานุภาพที่ร้ายแรงมาก พอกามกำเริบขึ้นมาอย่างอื่นมันคิดไม่ออก ใจมันจะมุ่งไปเรื่องนั้นอย่างเดียว
อย่างคำกล่าวที่ว่า “จะหักอื่นขืนหักก็จักได้ หักอาลัยนี้ไม่หลุดสุดจะหัก สารพัดตัดขาดประหลาดนัก แต่ตัดรักนี้ไม่ขาดประหลาดใจ” ยิ่งหนุ่มรักสาว สาวรักหนุ่มยิ่งหัวใจผูกพัน มันจะคอยดึงรั้งไป ถ้าจะควบคุมกามให้อยู่ได้ เราต้องตั้งใจสร้างเนกขัมมะบารมีให้มาก
ปัญญาบารมี
เพราะการเดินทางไกลต้องไปให้ถูกทิศ แม้ตั้งใจเดิน แต่ถ้าเดินผิดทิศก็ไม่ถึงเป้าหมายปลายทาง เช่น ตั้งใจว่าจะไปเชียงใหม่กลับไปถึงเบตง อย่างนี้ไม่ถึงปลายทางแน่ ดังนั้น ตั้งเป้าหมายจะไปที่ไหนต้องไปให้ถูก คือ ต้องมีปัญญาเป็นเครื่องส่องนำทางให้เราประพฤติปฏิบัติได้ถูกต้อง
วิริยะบารมี คือ
มีความเพียรไม่ย่อท้อ เราดูคำศัพท์ให้ดี “วิริยะ” คำนี้เป็นรากศัพท์เดียวกับคำว่า “วีระ” คำเดียวกับที่เรานำมาใช้ว่า “วีรบุรุษ วีรสตรี” วีระ แปลว่า กล้าหาญ วีรบุรุษ คือ บุรุษที่กล้าหาญ ทำไมความเพียร จึงใช้ศัพท์ว่า วีระ หรือ ความกล้า คือมีความกล้าที่จะชนะใจตัวเองนั่นเอง คนที่ขาดความเพียรจะทำอะไรสักอย่าง จะมีเหตุอ้างไม่ทำงาน เช่น บอกร้อนไป หนาวไป หิวไป อิ่มไป นั่นคือคนเกียจคร้าน แต่คนที่มีความเพียรกล้าที่จะปฏิเสธข้ออ้างเหล่านี้ เดินหน้าทำความดีไม่มีความกลัวต่อความยากลำบาก
ขันติบารมี คือ
ความอดทนอดกลั้นต่อเรื่องราวที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นดินฟ้าอากาศ ทุกขเวทนา คือการเจ็บไข้ได้ป่วย ทนต่อการกระทบกระทั่ง ทนต่อสิ่งที่เย้ายวนใจได้ จึงจะสร้างบารมีอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้
เพราะในโลกเรานี้ คนเรามีนิสัยแตกต่างกัน คนจะติก็ติได้ทุกเรื่อง เราต้องไม่ถือสาหาความอะไรมาก จนมีคำกล่าวว่า “การนินทากาเลเหมือนเทน้ำ ไม่ชอกช้ำเหมือนเอามีดลงขีดหิน” ขนาดพระพุทธรูปองค์หนึ่งปั้นแต่งได้งามตามพุทธลักษณะอย่างไม่มีที่ติ ยอดนักติก็บอก “สวยดีอยู่หรอก เสียแต่ว่า...พูดไม่ได้” ดังนั้น ถ้าหากคิดจะสร้างบารมีแล้วต้องมีขันติบารมี อดทนต่อการกระทบกระทั่ง อดทนต่อการล่วงเกินของบุคคลที่ไม่รู้
สัจจะบารมี
เมื่อตั้งใจอะไรแล้วต้องเด็ดเดี่ยวมั่นคงต่อสิ่งนั้นไม่โลเลเปลี่ยนใจไปมา เหมือนอย่างโลกเราหมุนรอบตัวเองหนึ่งรอบ ๒๔ ชั่วโมง สม่ำเสมอเที่ยงแท้แน่นอน โคจรรอบดวงอาทิตย์ ๓๖๕ วันตลอดไป
อธิษฐานบารมี
การวางแผนระยะยาว ทำความดีอะไรแล้วก็อธิษฐาน ด้วยบุญนี้ให้ข้าพเจ้าได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งต่อไปในอนาคต ไม่ว่าจะสร้างกี่บุญก็อธิษฐานย้ำกำกับลงไป มุ่งไปทางเดียว
บางคนสร้างบุญแต่อธิษฐานผิด ด้วยบุญนี้ขอให้ข้าพเจ้าเกิดมารวย สวย หล่อ ใครเห็นใครหลง อย่างนี้อธิษฐานผิด เกิดมารวยจริงหล่อจริงสาวเห็นสาวหลงเลยไปผิดศีลกาเมสุมิจฉาจาร เจ้าชู้ ด้วยวิบากกรรมนี้ต้องตกนรกเสียย่ำแย่เพราะสร้างบุญแล้วอธิษฐานไม่เป็น
แต่พระบรมโพธิสัตว์สร้างบุญแล้วจะอธิษฐานกำกับเสมอว่า ด้วยบุญนี้ขอให้ข้าพเจ้าได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคต วางโครงการระยะยาวมีเป้าหมายปลายทางที่ชัดเจน
พวกเราก็เหมือนกันมาฝึกตัวเองสร้างบุญสร้างกุศลแล้วต้องอธิษฐานให้เป็นด้วย จะอธิษฐานอะไรก็ตั้งไปแต่ให้กำกับท้ายไว้ด้วยว่า ด้วยบุญนี้ให้ข้าพเจ้าได้บรรลุธรรม ได้ดวงตาเห็นธรรมแล้วมุ่งตรงต่อพระนิพพานถ้าทำอย่างนี้จะไม่พลาด อย่าอธิษฐานแค่หล่อ แค่สวย แค่รวย มันผิวเผินนัก เป็นแค่เป้าหมายระยะสั้น แต่เป้าหมายจริง ๆ จะต้องมุ่งไปสู่ที่สุดแห่งธรรม
เมตตาบารมี
ถ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ต้องการเป็นแค่พระอรหันต์ ไม่ต้องสร้างบารมียาวนานขนาดนี้ เพียงไม่กี่ชาติพระองค์ก็หมดกิเลสเป็นพระอรหันต์พ้นทุกข์ไปแล้ว ที่ต้องสร้างบารมีนานขนาดนี้เพราะความเมตตาต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย
พระองค์คิดว่าจะมีประโยชน์อันใดเล่าที่เรารู้แล้วจะรู้ หลุดพ้นเพียงคนเดียว เรารู้แล้วจะให้ผู้อื่นรู้ตามด้วย เราพ้นแล้วจะสอนให้ผู้อื่นพ้นตามด้วย นี่คือหัวใจของพระบรมโพธิสัตว์
พระองค์จึงสร้างเมตตาบารมีสั่งสมมาอย่างยาวนาน แล้วความเมตตาของพระองค์ที่มีต่อคนที่ดีกับพระองค์และคนที่ไม่ดีต่อพระองค์เสมอกัน อย่างพระอานนท์เป็นพุทธอุปัฏฐากดูแลพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตลอดมาเป็นสิบ ๆ ปี
ความเมตตาที่พระองค์มีต่อพระอานนท์กับที่มีต่อพระเทวทัตนั้นเสมอกัน คนหนึ่งคืออุปัฏฐากที่คอยดูแล อีกคนคือคนที่คอยก่อเรื่อง จะปล่อยช้างมาฆ่า กลิ้งก้อนหินมาทับ สร้างสังฆเภท ก่อเรื่องตลอด แต่พระองค์ยังคงมีความเมตตาต่อทั้งสองคนเสมอกัน นี่คือเมตตาบารมีของพระพุทธองค์
บารมีข้อสุดท้าย คือ
อุเบกขาบารมี
ต้องวางอุเบกขาเป็น ไม่ใช่มีแต่เมตตาอย่างเดียว ถึงตอนที่ต้องวางอุเบกขาก็ต้องวางได้ เราช่วยเต็มที่แล้วถ้าไม่ได้ไม่ใช่ว่านั่งเสียอกเสียใจน้ำตาตกใน ใจนิ่ง ๆ มีอุเบกขา
เพราะเรื่องราวในโลกจะให้ได้อย่างใจเราหมดมันไม่ได้หรอก มันก็ได้บ้างไม่ได้บ้าง เผลอ ๆ ผิดหวังมากกว่าสมหวัง ถ้าผิดหวังแล้วมัวแต่มานั่งกลุ้มนั่งร้องไห้เศร้าโศกเสียอกเสียใจ ก็ไม่ต้องสร้างบารมีกันพอดี ดังนั้น ต้องมีอุเบกขาบารมีเพียงพอ สามารถวางใจนิ่งให้ใจหยุดได้ ไม่กระเพื่อมไปกับแรงกระทบจากสิ่งภายนอก
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้คือ ทศบารมี หรือ บารมี ๑๐ ทัศ โดยย่อของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เจริญพร
โฆษณา