6 ก.ย. 2020 เวลา 14:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
นักศึกษา: แล้วอย่างงี้ถ้าเกิดสิ่งที่เรียกว่า Deleveraging ขึ้น และเราสามารถรักษาสมดุลได้ดี
Deleveraging สามารถเป็นสิ่งที่สวยงามได้อย่างไรครับ
นักเศรษฐศาสตร์: อย่างที่เราได้ พูดคุยกัน และ "เล่า" ที่ผ่านมา
การเกิด Deleveraging เป็นช่วงเวลาที่โหดร้าย แต่มันก็ยังสามารถทำให้เป็นเรื่องที่ สวยงามได้ ด้วยการจัดการอย่างรอบคอบ และมีวินัย
ซึ่งแน่นอนว่า มันดีกว่าที่จะปล่อยให้เศรษฐกิจขยายตัวเกินไป ด้วยการก่อหนี้มากมาย โดยไม่รู้ตัว
นักศึกษา: ผมคิดไม่ออกเลยว่าจะออกมาสวยงามได้อย่างไร พี่ลองยกตัวอย่างให้เห็นภาพหน่อยได้ไหมครับ
นักเศรษฐศาสตร์: ใน Deleveraging ที่สวยงาม หนี้สินลดลงในสัดส่วนที่พอๆ กับ รายได้ที่ลดลง
การเติบโตที่แท้จริง (Real Economic Growth) เป็นบวก (คือไม่ต้องพึ่งหนี้สิน)
และอัตราเงินเฟ้อ ไม่ก่อให้เกิดปัญหา (คือไม่โตเร็วเกินไป)
ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ จากความสมดุลทาง นโยบายเศรษฐกิจ
ความสมดุล หมายถึง ความพอดีในการลดการใช้จ่าย ลดหนี้ กระจายความมั่งคั่ง กับการพิมพ์เงินเพิ่ม
เพื่อก่อให้เกิดความมั่นคงทั้งทาง เศรษฐกิจ และ สังคม
นักศึกษา: ถ้าอย่างงี้การพิมพ์เงินจะไม่ทำให้เกิดเงินเฟ้อ หรอครับ
นักเศรษฐศาสตร์: มันจะไม่เกิดเงินเฟ้อ หากเราพิมพ์เงินแค่ทดแทน เครดิตที่ลดลง
อย่าลืมครับว่า "การใช้จ่าย" คือสิ่งที่สำคัญ
การใช้จ่ายที่เกิดจากการใช้เงินสด มีผลไม่ต่างจากการใช้จ่ายจากการใช้เครดิต
การพิมพ์เงินทำให้ธนาคารสามารถทดแทน เครดิตที่หายไป (จากการลดหนี้ต่างๆ) ด้วยปริมาณเงินสดที่เพิ่มขึ้น (สภาพคล่องเท่าเดิม แต่หนี้หายไป)
ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ธนาคารจำเป็นต้องก่อให้เกิดรายได้ที่เติบโต "มากกว่า" การเติบโตของหนี้สิน
นักศึกษา: รายได้จำเป็นต้องเติบโต มากกว่า การเติบโตของภาระหนี้สิน อยู่เสมอ
นักเศรษฐศาสตร์: ใช่แล้วครับ ยกตัวอย่างเช่น
มีประเทศหนึ่งกำลังอยู่ในภาวะ Deleveraging โดยมี อัตราส่วนหนี้ต่อรายได้ (Debt-to-Income Ratio) 1:1
นั้นหมายความว่า ในหนึ่งปี ประเทศนั้น สร้างรายได้ เป็นสัดส่วนเท่ากับ การก่อหนี้
เรามายกตัวอย่างให้มากขึ้น โดยเรามาลองคิดถึง ดอกเบี้ย ที่เกิดขึ้นจากการก่อหนี้ ให้เป็น 2% โดยดอกเบี้ยเป็นส่วนเพิ่มของหนี้สิน และรายได้เติบโตเพิ่มขึ้น 1%
เราคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นครับ
นักศึกษา: ถ้าผมคิดเร็วๆ เราก็ไม่สามารถลด ภาระหนี้สินได้ เพราะหนี้สินเติบโตมากกว่ารายได้
นักเศรษฐศาสตร์: ถูกต้องละครับ เราจึงจำเป็นต้องพิมพ์เงิน (เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ) ให้รายได้สามารถเติบโตในอัตราส่วนที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยของหนี้สิน
อย่างไรก็ตาม การพิมพ์เงิน ก็อาจมองว่าเป็นการแก้ปัญหาที่มักง่ายเพียงเพราะมันทำได้ง่ายๆ และถูกคาดหวัง มากกว่าทางเลือกอื่น (เช่น ลดหนี้ หรือลดการใช้จ่าย)
ประเด็นคือ เราต้องพยายามไม่พิมพ์เงินมากเกินไป เพราะจะทำให้เกิดเงินเฟ้อมากเกินไป (Hyperinflation) ได้
หากผู้กำหนดนโยบายสามารถคงความสมดุลได้ Deleveraging ก็จะไม่น่ากลัว แม้การเติบโตจะอยู่ในระดับต่ำ แต่ภาระหนี้สินก็จะลดลงเรื่อยๆ
เมื่อรายได้ของทุกคนเริ่มฟื้นตัว ผู้ขอกู้ก็เริ่มมี ความน่าเชื่อถือ (มีรายได้มาจ่ายแล้ว) ผู้ให้กู้ก็พร้อมปล่อยเงินกู้อีกครั้ง
ภาระหนี้สินลดลงในที่สุด... เมื่อผู้คนสามารถกู้ยืมได้ และใช้จ่ายได้ตามปกติอีกครั้ง
สุดท้ายเศรษฐกิจก็จะเติบโตอีกครั้ง กลับเข้าสู่การขยายตัวในวงจรหนี้สินระยะยาว (Reflation)
1
ถึงแม้สภาวะ Deleveraging จะดูโหดร้ายมาก หากไม่ได้รับมืออย่างถูกวิธี แต่หากรับมือดีๆ ปัญหาต่างๆ ก็จะไม่เกิดตามมา
นักศึกษา: ถ้าเป็นอย่างงี้พอจะประมาณได้ไหมครับว่ามันจะกินเวลากี่ปี
นักเศรษฐศาสตร์: เราก็ไม่รู้เหมือนกัน มันอาจใช้เวลามากถึงทศวรรษ (10-20ปี) เพื่อให้ภาระหนี้สินลดลง และเศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมา (บางครั้งเราจะได้ยินในชื่อ Lost Decade เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นปี 1991-2000)
เศรษฐกิจอาจดูเข้าใจลำบาก อย่างไรก็ตามการเอาวงจรหนี้ระยะสั้น กับวงจรหนี้ระยะยาว มาวางซ้อนบน การเติบโตของกำลังการผลิต
และคอยดูว่าเราเคยอยู่ตรงไหน?
ตอนนี้เราอยู่ตรงไหน?
และกำลังไปทางไหน?
มันจะเป็นเครื่องมือที่คอยช่วยให้เราดำเนินชีวิตได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น
นักศึกษา: สุดท้ายนี้อะไรคือสิ่งที่ผมควรจดจำ และคอยระวังบ้างครับ
นักเศรษฐศาสตร์:
1. อย่าปล่อยให้การเติบโตของหนี้สิน "มากกว่า" การเติบโตของรายได้ เพราะจะทำให้มีภาระหนี้สินล้นตัวในที่สุด
2. อย่าปล่อยให้การเติบโตของรายได้ "มากกว่า" การเติบโตของกำลังการผลิตที่แท้จริง เพราะมันแสดงว่าเรากำลังสูญเสียความสามารถในการแข่งขันโดยไม่รู้ตัว
3. พยายามทำทุกวิถีทาง เพื่อเพิ่ม "กำลังการผลิต (Productivity = Innovation + Activities + Products) เพราะในระยะยาว กำลังการผลิต คือสิ่งที่สำคัญที่สุด
ขอให้ "เล่า" นี้เป็นหนึ่งในกำลังใจ หนึ่งในแนวทางความคิด และหวังว่าจะเป็นประโยชน์กับเราทุกคนครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา